สำหรับนักกอล์ฟส่วนใหญ่ซึ่งถนัดขวา มักเกิดปัญหากับข้อเข่าซ้าย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
จากการวิเคราะห์วงสวิงของนักกอล์ฟถนัดขวาพบว่า เวลาขึ้นแบ็คสวิงจะมีการถ่ายน้ำหนักตัวไปที่ขาขวา ทำให้เข่าขวาได้รับแรงกดและแรงบิด ขณะหมุนลำตัวไปทางขวา และเมื่อดาวน์สวิงลงมา น้ำหนักตัวจะถูกถ่ายมาทางซ้าย ทำให้เข่าซ้ายได้รับแรงกดจากน้ำหนัก และแรงบิดเนื่องจากกระดูกต้นขา (FEMUR) หมุนและกดลงบนหัวกระดูกหน้าแข้ง (TIBIA) ผ่านหมอนรองกระดูก (MINISCUS) ซึ่งช่วยรองรับและกระจายแรงกดออกไป ลดแรงกระแทกและบดขยี้ต่อกระดูกอ่อนผิวข้อโดยตรง
แต่เมื่อถูกแรงกระทำลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เข่าซ้ายจึงมักเกิดการอักเสบขึ้นได้บ่อยๆ และสำหรับนักกอล์ฟที่มีพละกำลังและลีลาการเล่นที่ดุดันอย่างไทเกอร์ วูดส์ ด้วยแล้ว โอกาสที่เข่าซ้ายจะบาดเจ็บก็เป็นไปได้มาก ไทเกอร์เคยเล่าไว้ในหนังสือ “HOW I PLAY GOLF” ของเขาไว้ว่า เมื่อเขาต้องการตีให้ไกลขึ้นอีก 20 หลา เขาจะใช้วิธีสะบัดหมุนเข่าซ้ายให้เหยียดตรงออกไป (Snap left leg straight)
ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดการบดขยี้จากแรงกดและแรงบิดในข้อเข่าซ้ายอย่างมากกว่าปกติหลายเท่า และจากการที่เข่าซึ่งอยู่ในท่างอแล้วเปลี่ยนมาเป็นเหยียดอย่างแรงและเร็ว จะทำให้เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate ligament) ต้องรับแรงกระชากหรือกระตุกอย่างแรง จึงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของทั้งเอ็นและหมอนรองกระดูกได้ง่ายๆ และนี่คือปัญหาที่ไทเกอร์ ประสบกับการบาดเจ็บของข้อเข่าซ้ายของเขาตลอดมา
เราจะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดการบาดเจ็บและการรักษาข้อเข่าซ้ายของไทเกอร์ตามที่รวบรวมข้อมูลได้ดังนี้
-ปี 1994 (ก่อนเทิร์นโปร 2 ปี) ไทเกอร์ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าซ้ายเป็นครั้งแรกด้วยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Knee Surgery) เข้าไปสำรวจภายในข้อพบว่า สาเหตุการปวดเข่าอยู่ที่บริเวณเอ็นไขว้หน้า โดยพบลักษณะของก้อนเนื้องอกขนาดเล็ก จึงได้ทำการผ่าตัดออกไป และผลตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Tumor)
-ปี 2002 ไทเกอร์ วูดส์ มีอาการปวดข้อเข่าซ้ายขึ้นอีก จนต้องกินยาแก้ปวดก่อนการเล่น เขาได้รับการส่องกล้องผ่าตัดอีกครั้งพบว่า ข้อเข่ามีการอักเสบบวมน้ำ และพบลักษณะของ cyst อยู่บริเวณเอ็นไขว้หน้า ตำแหน่งเดียวกับที่เคยพบเนื้องอก และได้ผ่าตัดก้อน cyst ออกไป ข่าวบางกระแสบอกว่า พบการยืดและฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าด้วย
-ปี 2008 ไทเกอร์ มีอาการปวดเข่ามาตั้งแต่กลางปี 2007 เรื่อยมา แพทย์แนะนำให้ส่องกล้องผ่าตัดอีก เพราะเชื่อว่าจะเป็นอาการของข้อที่เสื่อมเร็วกว่าปกติ เนื่องจากผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้ง และใช้ข้อเข่ามากเกินกว่าคนปกติ ซึ่งจะทำให้ผิวข้อเข่าซึ่งเป็นกระดูกอ่อนเกิดสภาพขรุขระไม่เรียบเหมือนผิวข้อปกติ ในที่สุดเขาตัดสินใจนัดหมายทำการผ่าตัดส่องกล้องอีกครั้งที่รพ.แห่งหนึ่งในมลรัฐยูทาห์ โดยนพ.โทมัส โรเซนเบอร์ก แพทย์คนเดิมที่เคยผ่าตัดให้เมื่อปี 2002
การผ่าตัดบอกเพียงว่า เป็นการซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อ (Cartilage Repair) ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวจะมีผลทำให้ผิวข้อราบเรียบ กลับมาเคลื่อนไหวได้คล่องกว่าเก่า ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของข้อได้ง่ายด้วย