xs
xsm
sm
md
lg

ไคโรส เพื่อวงการฟุตบอล / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

แม้ว่าจะเกิดปัญหาการตัดสินผิดพลาดในเกมฟุตบอลอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งมีผลเสียหายร้ายแรง อย่างกรณีการใช้มือของ ติเอรี อ็องรี ( Thierry Henry ) กัปตันทีมชาติฝรั่งเศส ใน เกมเพลย์-อ็อฟ นัดที่ 2 ระหว่าง ฝรั่งเศส กับ อายร์แลนด์ ที่ทำให้ยักษ์เขียวต้องกระเด็นร่วงไปอย่างไม่ยุติธรรม ต่อหน้าสายตานับพันล้านคนทั่วโลก แต่ ฟีฟา ก็ยังปฏิเสธการใช้อุปกรณ์ในการช่วยตัดสินอยู่ดี

เมื่อไม่กี่วันก่อน บอร์ดบริหารของ ฟีฟา เพิ่งประชุมถกปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยหยิบยกเรื่องการชี้ขาดกรณี ลูกบอลผ่านเส้นประตูหรือไม่ มาพิจารณาเป็นประเด็นสำคัญแค่เรื่องเดียว ส่วนกรณีอื่นนั้น ยังไม่ได้พูดถึง

โดยได้มีการกล่าวถึงอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ 2 ค่ายคือ ฮ็อค อาย ( Hawk-Eye ) กับ ไคโรส ( Cairos ) ฮ็อค อาย นั้น ถูกคิดค้นโดย ด็อกเตอร์ โพล ฮ็อคคินส์ ( Paul Hawkins ) อดีตนักกีฬาคริกเก็ตทีมบัคกิงแฮมเชอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นระบบ “ ภาพจำลองเชิงคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติ ” ( 3D computer simulation ) โดยใช้กล้องวีดิโอความเร็วสูงถึง 10 ตัวในการเก็บภาพจากมุมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นทิศทางการวิ่ง จุดตกของลูกบอล แถมยังประมวลผลอื่นๆได้อีกด้วย เช่น ความเร็วของลูกบอล หรือแม้กระทั่งคาดการณ์ล่วงหน้าว่า ลูกบอลจะไป ณ จุดใด มันมีความแม่นยำถึง 3.6 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าจะมีโอกาสผิดเพี้ยนก็เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เครื่องนัยน์ตาเหยี่ยวนี้ ใช้เพื่อช่วยชี้ขาดในการแข่งขันเทนนิสรายการสำคัญๆบางรายการ เช่น สเตลลา อาร์ตัว วิมเบิลดัน ออสตราเลียน โอเพน มาสเตอร์ส คัพ รวมทั้งเดวิส คัพ

ส่วน ไคโรส เป็นของ เจอรมานี มีอุปกรณ์เด่นคือ ระบบตรวจวัดที่เส้นประตู เรียกว่า จีแอลที ซิสทึม ( Goal Line Technology หรือ GLT system ) โดยก่อนอื่นต้องมีการวางสายไฟใต้พื้นสนามฟุตบอลตรงบริเวณกรอบเขตโทษ รวมทั้ง พื้นที่เท่าๆกันตรงด้านหลังประตูด้วย เพื่อสร้างสนามแม่เหล็ก แล้วก็ฝังตัวตรวจวัด ( Sensor ) และเครื่องส่งสัญญาณเข้าไปในลูกบอล เมื่อลูกบอลผ่านเข้ามาในบริเวณสนามแม่เหล็กก็จะสามารถวัดระยะ แล้วส่งข้อมูลไปยังเสาอากาศ 2 เสาที่ติดตั้งอยู่นอกสนามใกล้กับเสาประตูทั้งสองข้าง โดยมีเครื่องรับที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลอีกที คราวนี้เมื่อผลจากคอมพิวเตอร์ปรากฏออกมาว่า ลูกบอลผ่านเส้นประตูทั้งใบ ก็จะส่งคลื่นวิทยุไปที่นาฬิกาข้อมือของผู้ตัดสิน

เรื่องการใช้อุปกรณ์ในการช่วยชี้ขาดในเกมฟุตบอลนั้น มีกรรมการ 4 คนที่ลงคะแนนไม่เอาด้วยเด็ดขาด โดยเฉพาะ เชโรม วัลก์ ( Jerome Valcke ) เลขาธิการฟีฟาชาวฝรั่งเศสยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า ฟุตบอลจะต้องคงความเป็นกีฬาอย่างมนุษย์ธรรมดา มีความเป็นธรรมชาติ ไอ้เรื่องเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีเท็คนอลลอจีล้ำยุคไม่เอาทั้งสิ้น

แต่คนที่เห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการตัดสินก็มีไม่น้อย พวกเขาให้เหตุผลประกอบหลายประการทีเดียว ที่ชัดๆก็เรื่องความถูกต้อง ยุติธรรม ถ้ามีเครื่องช่วย มันก็จะไม่มีพื้นที่สำหรับความผิดพลาดอีกแล้ว แต่ทำไม ฟีฟา ยังต้องการให้เกิดความไม่แน่นอนในเกมการแข่งขันขึ้น อันนี้น่าสงสัยว่า ฟีฟา คงต้องการเก็บโอกาสในการชักใยผลการแข่งขันเอาไว้ โดยทีมยักษ์ๆที่มีผู้ชมให้ความสนใจติดตามกันมาก จะต้องได้หลุดเข้าไปสู่รอบลึกๆ ถ้าเป็นนัดชิงชนะเลิศถ้วยยุโรปก็ไม่อยากให้คู่ชิงเป็นสโมสรจากชาติเดียวกัน ขืนเป็นอย่างนั้น มันจะกร่อย

บางคนบอกว่า ฟีฟา หัวโบราณและคิดไม่ครบ เพราะบัดนี้โลกพัฒนาไปไกลแล้ว และความจริงหลายสิ่งหลายอย่างก็พัฒนามาจากสิ่งที่ กาลีเลโอ กาลีเลอี ที่เป็นทั้งนักฟิสิกซ์ นักคำณวน นักดาราศาสตร์ นักปรัชญาชาวอิตาลีได้คิดค้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-17 ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีการพัฒนา กีฬารักบีก็ยังยอมรับการนำเอากล้องโทรทัศน์เข้ามาช่วยชี้ขาด ถ้า ฟีฟา คิดอย่างนี้ นักฟุตบอลต้องกลับไปใส่รองเท้าธรรมดา อย่ามาใช้รองเท้ามีปุ่ม ลูกบอลก็ต้องเป็นหนังแท้ๆทั้งใบ อย่ามาใช้สารสังเคราะห์ ไฟสป็อตไลท์ส่งสว่างภายในสนามก็ไม่ต้องมี เพราะเหล่านี้มันเป็นเท็คนอลลอจีสมัยใหม่ทั้งนั้น พูดไปแล้ว นาฬิกาจับเวลาก็ควรใช้นาฬิกาแดดซะด้วยเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น