xs
xsm
sm
md
lg

ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 66 / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ กลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2477 นี่เป็นครั้งที่ 66 แล้ว โดยคราวนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ในวันเสาร์ที่ 16 มกราคมนี้

ทางด้านเกมการแข่งขันนั้น ตามปกติทุกๆปี ทั้ง 2 ทีมจะขนเอานักเตะระดับสุดยอดลงมาสู้กัน บางคนเป็นผู้เล่นทีมชาติด้วย แต่เนื่องจากในปีนี้ ถัดจากงานฟุตบอลประเพณีฯ เราจะมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 40 ที่จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงวันที่ 17-23 มกราคม ซึ่งทีมชาติไทยต้องเจอกับ เดนมาร์ค โปแลนด์ และซิงคโปร์ ดังนั้น อย่าหวังว่า บรายอัน ร็อบซึน โคชทีมชาติไทย จะปล่อยบรรดานักเตะมาลงเล่นฟุตบอลประเพณีให้เกิดบาดเจ็บเลย มันจะไม่ใช่มืออาชีพครับ ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ทาง จุฬาฯ จะมี สมปอง สอเหลบ ธีรเทพ วิโนทัย และปิยะชาติ ถามะพันธ์ และของ ธรรมศาสตร์ จะมี พิชิตพงษ์ เฉยฉิว พวกนี้ลืมไปได้เลย เพราะทั้ง 4 คนนี้มีชื่ออยู่ในทีมชาติไทยชุด คิงส์ คัพ

ถึงกระนั้น ตัวผู้เล่นของทั้ง 2 สถาบันก็ยังคับคั่งไปด้วยนักเตะอาชีพที่ค้าแข้งอยู่กับสโมสรต่างๆ ใน ไทย พรีเมียร์ ลีก ของจุฬาฯ มี อดิศักดิ์ ดวงศรี ณรัฐ มุนินทร์นพมาศ ธฤติ โนนศรีชัย ประสิทธิ์ เทาดี กิตติภูมิ ปาภูงา ไพฑูรย์ นนทะดี วุฒิชัย ทาทอง และอาจได้ ชัยณรงค์ ทาทอง น้องชาย มายืนหน้าคู่กัน ทางจุฬาฯ เน้นเพลย์เซฟ จะใช้ระบบ 4-4-2 ไม่อยากแพ้ เพราะหมอเมา ทพ.พิชัย ปิตุวงศ์ โคชทีมจุฬาฯ บอกว่า เคยคุมทีมจุฬาฯ ประเพณี มาแล้ว 3 หน ไม่เคยแพ้ ยังไม่อยากเสียสถิติ ส่วนทาง ธรรมศาสตร์ เชิดศักดิ์ ชัยบุตร โคชที่นำทีมเอาชนะ จุฬาฯ 2-0 เมื่อปีที่แล้ว ก็จะมีนักเตะดีกรีพอๆกันไว้ใช้งานคือ อภิเชษฐ์ พุฒตาล กัปตันทีม อัมรินทร์ เยาว์ดำ ชาคริต บัวทอง ไกรเกียรติ เบียดตะคุ อภิภู สุนทรพนาเวส และศิวะเมตร ธนูศร

ผมอยากเรียนท่านผู้อ่านว่า ที่เขาเรียกว่า งานฟุตบอลประเพณี ก็เพราะไม่ได้มีเพียงเกมการแข่งขันฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมีการประชันกันด้านการเชียร์ โดยเฉพาะเชียร์ลีดเดอร์ของทั้ง 2 สถาบันที่ซุ่มซ้อมกันตั้งแต่เย็น ยัน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน นานร่วม 2 เดือน เพื่อวันนี้วันเดียว โดยเฉพาะของทางจุฬาฯ ปีนี้นอกจากจะมีเพลงเชียร์ของสถาบันตามปกติแล้ว ที่ผมได้ยินกับหูตอนที่พวกเขาซ้อมกันนั้น มีเพลง รักแท้ยังไง ของ น้ำชา ชีรณัฐ ยูสานนท์ ซะด้วย นอกจากนั้น ก็มีขบวนพาเหรดล้อการเมือง ที่ประกอบด้วยหุ่นและป้ายข้อความล้อการเมืองต่างๆ มีการแปรอักษร ทั้งแซวกันไปแซวกันมาเรื่องเกมการแข่งขัน และมีเสียดสีการเมืองเป็นระยะ เอาเป็นว่า นักการเมืองคนไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล หากเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไป หรือมีเรื่องฉาวโฉ่ ก็ต้องถูกนำมาล้อเลียนกันอย่างแน่นอน และปีนี้ เสื้อเชียร์ของ ธรรมศาสตร์ ก็เน้นความสามัคคีของคนในชาติด้วย ไม่ต้องการใส่สีเหลือง-แดง อันเป็นสีของ มหาวิทยาลัย เดี๋ยวจะไปพ้องสีกับพวกเสื้อเหลือง เสื้อแดง จึงทำเป็นสีแดง ขาว น้ำเงิน ธงชาติไทย ซะให้เข็ด อันนี้ออกแบบโดย นางสาว เติมพร จงทิวาวัฒน์ เด็กนักศึกษาปี 3 คณะสังคมสงเคราะห์ฯ ครับ

ก่อนหน้าการแข่งขัน 1 วัน จะมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ของบรรดาอดีตนักเตะของทั้ง 2 สถาบัน เรียกว่า “ โดมชรา-จามจุรีโรย ” โดยมีกติกาว่า แต่ละคนต้องมีอายู 40 ปีขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์ลงเล่นในรายการนี้ ซึ่งก็มักจะมีอดีตนักเตะที่ปัจจุบันอายุ 50 กว่าปี 60 กว่าปี มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ แต่ละคนก็ยังมีเรี่ยวแรง วิ่งกันไหว ดังนั้น ในปัจจุบัน เขาจะจัดแบ่งเป็นรุ่นอายุ 40 ปี 50 ปี และ วีไอพี โดยแข่งกันที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น.

สำหรับสถิติของการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 65 ครั้งที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ ชนะ 22 ครั้ง จุฬาฯ ชนะ 13 ครั้ง นอกนั้น เสมอกัน 30 ครั้ง ศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบัน และท่านที่สนใจในงานฟุตบอลประเพณีที่ถือว่าเป็น 1 ในรายการที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็ขอเชิญเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ที่ สนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ประตูเปิดตั้งแต่ 12.30 น. ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น