xs
xsm
sm
md
lg

"ฟีฟา" ชี้ไทยลีกมีแววบูมเช่น 3 ลีกใหญ่เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มิเชล ค็อกซ์ (ซ้าย) หนึ่งในวิทยากรที่มาอบรมเรื่องการตลาดฟุตบอล
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมปภ์ จับมือกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) จัดงานอบรมการตลาดสำหรับพัฒนาฟุตบอลอาชีพ โดยเชิญตัวแทนจากทีมในไทยพรีเมียร์ลีก และดิวิชัน 1 เข้าร่วม ซึ่งฟีฟาเห็นการเติบโตของลีกลูกหนังสยามแล้วเอ่ยปากชมว่าอนาคตมีสิทธิ์บูมได้ไม่แพ้ เอ-ลีก ออสเตรเลีย, เจ-ลีก ญี่ปุ่น และ เค-ลีก เกาหลีใต้

เมื่อเวลา 9.00 น. วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ที่ห้องทรัพย์เพิ่มพูน โรงแรมทาวน์อินทาวน์ ลาดพร้าว 94 มีการจัดอบรมเรื่องการตลาดสำหรับฟุตบอลโดย สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) ซึ่งเชิญเจ้าหน้าที่การตลาดของทั้ง 16 สโมสรในศึกไทยพรีเมียร์ลีก 2010 รวมถึง 7 ทีมจากดิวิชัน 1 ได้แก่ ขอนแก่น, ศรีราชา เอฟซี, นครปฐม เอฟซี, สุพรรณบุรี, ทหารอากาศ, จุฬา ยูไนเต็ด และ ศุล,กากร สุพรรณบุรี มาเข้ารับการอบรม ทว่ามี 4 ทีมจากไทยลีกอย่าง เมืองทอง-หนองจอก ยูไนเต็ด, ทีโอที เอฟซี, สมุทรสงคราม เอฟซี และ บุรีรัมย์-กฟภ. ที่ไม่ได้มาร่วมงาน

สำหรับการอบรมครั้งนี้มี ดร.กษม ชนะวงศ์ รองเลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และประธานโครงการ Vision Thailand ของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) เป็นผู้จัดงาน รวมถึง องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฯ และ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ที่มาให้เกียรติร่วมกล่าวเปิดงาน ขณะที่ ฟีฟา จัดให้ มิเชล ค็อกซ์ อดีตแข้งสาวทีมชาตินิวซีแลนด์ กรรมการพัฒนาฟุตบอลหญิง, ฮามิช มิลเลอร์ ที่ปรึกษาด้านการตรลาด และ สจวร์ต รามาลิงกัม วิทยากรของฟีฟาเป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาดในเชิงลูกหนัง

ทั้งนี้ ฟีฟา ให้เหตุผลถึงการเข้ามาอบรมการตลาดฟุตบอลให้กับลีกอาชีพของไทยว่าหลังจากลงมือสำรวจลีกที่มีการเติบโตพบว่า ไทยพรีเมียร์ลีก มีอัตราการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในเรื่องของการมีส่วนร่วมจากแฟนบอล ซึ่งมีความตื่นตัวเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วง 3 แมตช์สุดท้าย ซึ่งมองว่ามีแนวโน้มเป็นที่รู้จักในระดับสากลได้ เฉกเช่น เอ-ลีก ออสเตรเลีย, เจ-ลีก ญี่ปุ่น และ เค-ลีก เกาหลีใต้ ทำให้องค์กรผู้ควบคุมลูกหนังโลกประกาศว่าจะจัดหางบประมาณมาสนับสนุนลีกอาชีพของไทยอย่างจริงจัง นับจากนี้เป็นต้นไป และจะคอยติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

สำหรับในส่วนของการบรรยาย เริ่มที่ช่วงเช้า มิเชล ค็อกซ์ พูดถึงการพัฒนาด้านการตลาดของฟุตบอลหญิง ซึ่ง ไทย ถือเป็นประเทศแรกที่มีการทำการตลาดฟุตบอลหญิงเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมภูมิภาคอาเซียน ส่วน ฮามิช มิลเลอร์ อธิบายถึงหลักการตลาดเบื้องต้น ก่อนจะโยงเข้าสู่เรื่องของการตลาดฟุตบอลลีกอาชีพ ซึ่งสโมสรจะต้องวางลำดับงานเป็นขั้นตอนว่าจะต้องค้นหาตัวตนของทีมให้ได้ก่อนว่าต้องการสร้างอะไรเป็นจุดขาย, จะขายให้ใคร, มีช่องทางใดบ้าง และเจาะกลุ่มไปยังผู้สนับสนุนของทีม หรือแฟนคลับ โดยมีการสร้างอารมณ์ร่วมกับคนในท้องถิ่นที่จะเป็นฐานกองเชียร์ ตลอดจนคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์

ถัดมา สจวร์ต รามาลิงกัม วิทยากรฟีฟาชาวเมเลเซียได้หยิบยกเอาตัวอย่างของการตลาดในลีก เมียนมาร์ มาบรรยาย โดยเน้นไปที่ ยาดานาร์บอน เอฟซี แชมป์ฤดูกาลล่าสุด ที่มีแผนการตลาดที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ก่อนเปิดซีซัน การดึงแฟนคลับเข้ามาเชียร์ในสนามเป็นจำนวนมาก และการจัดขบวนแห่ฉลองแชมป์ไปทั่วเมือง เพื่อสร้างความรู้สึกผูกพันกับแฟนบอล

จากนั้นได้มีการเชิญตัวแทนจาก บางกอกกล๊าส เอฟซี ขึ้นมานำเสนอรูปแบบการจัดการที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ของความนิยม ทั้งที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในวงการเพียงปีเดียว พร้อมทั้งเผยถึงโครงการสร้างสนามลีโอ สเตเดียม ที่จะใช้เป็นรังเหย้าในฤดูกาล 2010 ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงโดยวางแปลนงานระยะยาว 5 ปี

เข้าสู่ช่วงบ่าย มิเชล ค็อกซ์ ได้ขึ้นมาบรรยายเกี่ยวกับกรณีศึกษาเพื่อการส่งเสริมการตลาดลูกหนังโดยสมาคมฟุตบอล ซึ่งหยิบยกตัวอย่างจากส.บอลไอร์แลนด์ ที่มีการโปรโมตผ่านสื่อชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ของสมาคม, สื่อท้องถิ่น และ สื่อชั้นนำภายในประเทศ ก่อนที่จะมีการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อระดมสมองหาแนวคิดในการประชาสัมพันธ์ทีมฟุตบอลและไทยพรีเมียร์ลีกให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มแรกเสนอการจัด โรด โชว์ และกิจกรรมพบปะแฟนบอล กลุ่มที่สองเสนอการทำแบรนดิง (Branding) อาทิ การออกแบบโลโก้, ตราสัญลักษณ์, ตัวนำโชค, เพลงประจำสโมสร และพรีเซนเตอร์

ส่วนกลุ่มสุดท้ายเสนอแนวทางการหารายได้ในช่องทางต่างๆ เช่น การให้บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก เพิ่มมูลค่าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รวมถึงไฮไลท์การแข่งขัน, ทำช่องทีวีไทยพรีเมียร์ลีก ผลิตรายการเป็นของตัวเอง, หาสปอนเซอร์เพิ่มมากขึ้น โดยมีทั้งเจ้าใหญ่และรายย่อย, มีฝ่ายสิทธิประโยชน์ดูแลเรื่องหารายได้เข้าบริษัท, จัดทำสินค้าที่ระลึกของไทยพรีเมียร์ลีกขึ้นมาจำหน่าย อาทิ ลูกฟุตบอล, ธง และจัดตั้งสถาบันผู้ตัดสินขึ้นมา พร้อมทั้งจดทะเบียนเป็นิติบุคคล เพื่อสร้างให้มีผู้ตัดสินอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้จากการลงทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม แนวทางทุกอย่างยังเป็นเพียงแค่การเสนอความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งต้องรอเสนอหลักการให้ บ.ไทยพรีเมียร์ลีก รับทราบต่อไป

ฮามิช มิลเลอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น