ฤดูกาลปกติของศึกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) งวดเข้ามาทุกขณะ นอกจากต้องเบียดตัวเองเข้าสู่พื้นที่เพลย์ออฟ การขับเคี่ยวเพื่อซิวตำแหน่ง “ผู้เล่นทรงคุณค่า” (MVP) ประจำซีซั่น 2008/09 สนุกสูสีเช่นกันชนิดที่ว่าเลือกพี่ก็เสียดายน้อง แม้ โคบี ไบรอันท์ กับ เลอบรอน เจมส์ ถือเป็นตัวเต็ง แต่คงประมาทม้ามืดอย่าง ดีเวน เหว็ด ไม่ได้
บรรดานักข่าว 125 คนจากสื่อกีฬาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีการบ้านชิ้นใหญ่ให้ขบคิดตลอดทั้งเดือนนี้แน่นอนกับการค้นหา MVP (Most Valuable Player) ประจำปี 2008/09 หรือ รางวัลจะที่ส่งมอบให้แก่ผู้เล่นทรงคุณค่าช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจาก โคบี ไบรอันท์ เจ้าของรางวัลเมื่อปีก่อนยังคงนำทัพ แอลเอ เลเกอร์ส ประกาศความเกรียงไกร ขณะที่ เลอบรอน เจมส์ มีลุ้นพา คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ประสบความสำเร็จสูงสุด ส่วน ดีเวน เหว็ด พลิกสถานการณ์ ไมอามี ฮีท จากหน้ามือเป็นหลังมือเพียงแค่ชั่วข้ามปี
ตามผลสำรวจของโพลต่างๆ ในสหรัฐฯ คอยัดห่วงยังชี้ไปที่ โคบี-เลอบรอน ว่ามีโอกาสรับตำแหน่ง MVP แม้ว่า เหว็ด โชว์ฟอร์มได้ยอดเยี่ยมที่สุดนับตั้งแต่เข้าลีกก็ตาม แต่ในสายตาของนักวิเคราะห์วิจารณ์แล้ว เหว็ด ได้รับเครดิตไม่น้อยหากมองประเด็น “ตัวบุคคล” เพียงอย่างเดียว ไม่นำผลงานของต้นสังกัดมาเกี่ยวข้อง โดยเขาคือผู้เล่นทำคะแนนเฉลี่ยต่อเกมสูงสุดของลีก ณ เวลานี้ (29.8 แต้ม) ตามด้วย เลอบรอน (28.4 แต้ม) และ โคบี (27.3 แต้ม)
ที่น่าชมเชยคือ เหว็ด ซึ่งเล่นตำแหน่งการ์ดจ่ายแต่สามารถบล็อกการทำคะแนนของคู่แข่งอยู่ในอันดับ 16 ของลีก เฉลี่ย 1.4 ครั้งต่อเกม ส่วนการขโมยบอลและจ่ายให้เพื่อนทำแต้มล้วนอยู่ท็อปเทน สตีล 2.3 ครั้งต่อเกม (อันดับ 2) กับอีก 7.5 แอสซิสต์ต่อเกม (อันดับ 8) ตามสถิติแล้วดีกว่าทั้ง เลอบรอน และ โคบี ด้วยซ้ำ กอปรกับหากมองกันที่ “ความช่วยเหลือ” จากเพื่อนร่วมทีมต้องบอกว่า เหว็ด สมควรได้เครดิตไปเต็มๆ
ในขณะที่ เลเกอร์สมีขุมกำลังที่พร้อมพรั่ง อาทิเช่น เพา กาซอล, ดีเร็ค ฟิสเชอร์ หรือ ลามาร์ โอดอม คอยสนับสนุน โคบี ตลอดเวลา ด้าน เลอบรอน ก็ได้คู่หูอย่าง โม วิลเลียมส์ เข้ามาเติมเต็มคาวาเลียร์ส มองมาที่ เหว็ด หันซ้ายมีเพียง ไมเคิล บีสลีย์ แลขวาต้องพึ่งความช่วยเหลือจาก มาริโอ ชาลเมอร์ส์ ซึ่งเป็นแค่สองผู้เล่นรุคกี และที่น่าทึ่งเหนือสิ่งอื่นใด เหว็ด พาฮีทจากที่เคยจบซีซั่นก่อนด้วยสถิติชนะ 15 แพ้ 67 เกม กลับมามีสถิติ 39-34 เกม ณ ปัจจุบัน โอกาสเข้าเพลย์ออฟอยู่แค่เอื้อม นี่ถือเป็นผลงานที่คู่ควรหรือไม่กลับรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง MVP ?
อย่างไรก็ตาม หากถามไถ่ไปยังคนในวงการ ชาร์ลส บาร์คลีย์ อดีตตำนาน ฟีนิกซ์ ซันส์ และบุคลากรของสถานีโทรทัศน์ช่อง TNT แสดงทรรศนะไว้ใน “แอลเอ ไทมส์” สื่อชั้นนำ “โคบี คือสุดยอดผู้เล่น แต่เรายังจะไม่ให้รางวัล MVP แก่เขาจนกว่า เลเกอร์ส จะจบฤดูกาลปกติด้วยสถิติดีที่สุดของลีก เช่นเดียวกับ เลอบรอน ส่วน ดีเวน มีปีที่น่าทึ่ง แต่คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานได้หรอก เพราะเรามักจะให้รางวัลแก่คนที่สามารถพาทีมเป็นผู้ชนะ”
ด้าน ชาคิว โอนีล เซ็นเตอร์ตัวเก๋าของซันส์ กล่าวบ้างผ่าน “อริโซนา รีพับลิก” สื่ออีกแหล่ง “ทั้งสามคนล้วนแล้วแต่เล่นบาสฯ ได้น่าดู ผมมักนั่งชมเกมการเล่นของพวกเขากับลูกของผม เด็กๆ ชอบ เลอบรอน ผู้เล่นคนนี้คือปรากฏการณ์ ทั้งรวดเร็ว แข็งแกร่ง ใจเต็มร้อย แต่ โคบี ก็ยังเล่นได้ดี ดีเวน มีปีที่สุดยอดเช่นกัน”
นี่อาจเป็นปีที่ดีที่สุดของ เหว็ด แต่การ์ดวัย 27 ปี ยังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปถึงแม้เคยพาฮีท เถลิงแชมป์ NBA มาแล้วเมื่อฤดูกาล 2005/06 ไม่มีใครปฏิเสธว่า โคบี สุดยอดเพียงใด แต่จอมทัพเลเกอร์ส ต้องรอถึง 12 ปีกว่าจะได้โอบ “มัวริซ โพโดลอฟฟ์ โทรฟี” อย่างเต็มภาคภูมิ ขณะที่ เลอบรอน ซึ่งเข้าลีกในปีเดียวกัน (ปี 2003) กับ เหว็ด ไม่มีใครปฏิเสธความเป็น “ซูเปอร์สตาร์” ความเป็นประชานิยมล้มหลาม อีกทั้งฝีไม้ลายมือเข้าขั้นสุกงอม
คงน่าเสียดายไม่น้อยหาก เหว็ด ต้องเข้าไปอยู่ในลิสต์ผู้เล่นชั้นดีของ NBA ที่ไม่เคยสัมผัสกับ MVP ดั่งเช่น เจอร์รี เวสต์, เอลจิน เบย์เลอร์, ริค แบร์รี, จอห์น สต็อคตัน หรือว่า จอห์น ฮาฟลิเซ็ค อย่างไรก็ดี เหว็ด เพิ่งอายุ 27 ปี มีโอกาสก้าวหน้าได้อีกในเมื่อ ฮีท มีเพดานค่าจ้างเหลือเฟือสำหรับต่อสัญญากับเขาในซีซั่น 2010 ปีที่มีฟรีเอเย่นต์ฝีมือดีอยู่เต็มตลาด หรือถ้าเลือกย้ายจาก อเมริกัน แอร์ไลน์ส อารีนา สถานีต่อไปต้องเป็นทีมชั้นดีที่พร้อมส่งเสริมให้ เหว็ด กวาดความสำเร็จส่วนตัวมาครอบครองให้ได้เสียที