วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการ รมว.กีฬาฯ ยอมรับมีแนวคิดเพิ่มเงินอัดฉีดเหรียญทองกีฬาพาราลิมปิกเป็น 4 ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้ 2 ล้านบาท
เมื่อเวลา 8.00 น. ของวันศุกร์ที่ 19 กันยายน 2551 คณะนักกีฬาทีมชาติไทย ที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มพิธีฉลองความสำเร็จด้วยการยกขบวนแห่งจากการกีฬาแห่งประเทศไทย มาสู่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน
โดยภายในขบวนแห่ครั้งนี้ใช้เส้นทางผ่านรามคำแหง ขึ้นทางด่วนพระราม 9 ลงทางด่วนเพลินจิตฝั่งเหนือ สู่ถนนสุขุมวิท ผ่านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สยามสแควร์ สี่แยกปทุมวัน มาบุญครองเซ็นเตอร์ เข้าสู่อาคารนิมิบุตร ด้วยขบวนรถยนต์กระบะโตโยตา จำนวน 20 คัน ซึ่งตลอด 2 ข้างทางมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
จากนั้นเข้าสู่พิธีต้อนรับโดยมี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง "เสธ.หนั่น" กล่าวแสดงความยินดี พร้อมทั้งขอบคุณคณะนักกีฬาทีมชาติไทยที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในครั้งนี้
ภายหลังพิธีแสดงความยินดี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า อาจจะมีการเพิ่มเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ให้กับนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลจากกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้
"ผมมีแนวความคิดที่ต้องการให้ทุกคนหันกลับมามองความสำเร็จของนักกีฬาพาราลิมปิก เนื่องจากต้องยอมรับว่าเขา และเธอเหล่านี้ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติเป็นอย่างดี ควรได้รับสิ่งตอบแทนที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากเดิมเหรียญทองที่นักกีฬาผู้พิการได้รับจากพาราลิมปิก จะได้ 2 ล้านบาท ซึ่งดูห่างไกลจากนักกีฬาโอลิมปิกที่ได้ 10 ล้านบาท ถ้าเพิ่มให้เป็น 4 ล้านบาท ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังรับปากไม่ได้ ขอนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ ก็จะมอบเป็นเงินสด 2 ล้านบาท แล้วเป็นสวัสดิการรายเดือนอีก 2 ล้านบาท รวมเป็น 4 ล้านบาทต่อไป"
"การเพิ่มเงินครั้งนี้ทำเพื่อให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของนักกีฬาเหล่านี้ อย่างนักกีฬาวีลแชร์ที่เขาได้อันดับ 1 ในประเภท 100 เมตร ทำสถิติ 14 วินาทีกว่าๆ ผมยังสงสัยว่าหากให้ผมไปวิ่งแข่งกับเขาก็น่าจะแพ้แน่ๆ เพราะผมคงวิ่ง 100 เมตร ไม่ได้ภายใน 15 วินาทีแน่" นายวีระศักดิ์ กล่าว
ด้าน ประวัติ วะโฮรัมย์ ยอดนักกีฬาวีลแชร์ที่คว้า 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ในพาราลิมปิกเกมส์ 2008 กล่าวเปิดใจกับสื่อมวลชนว่า "การแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจกับผลงานของตัวเองมากที่สุด เพราะผมคว้าเหรียญมาได้ 5 รายการจากการแข่งขันครั้งนี้"
ขณะที่ "น้องแวว" สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบที่คว้าเหรียญทองแดงมาได้นั้น กล่าวยอมรับว่ารู้สึกกดดันมาก จากที่เคยได้เหรียญทองในพาราลิมปิกครั้งที่แล้ว ทำให้พลาดเหรียญรางวัลไปในท้ายที่สุด "ก่อนแข่งขันก็มีอาการเครียดมากๆ เพราะคนคาดหวังกับเราเยอะมาก ถึงกับมีอาการอาเจียนออกมาช่วงก่อนลงแข่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดเมื่อลงแข่งขันจริง ต้องขอโทษแฟนๆ กีฬาด้วยที่ทำไม่ได้ตามที่หวังกันไว้"
สำหรับทัพนักกีฬาทีมชาติไทย ทำได้ 1 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง โดย 1 เหรียญทอง ได้จากประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิง 5,000 ม.ชาย ที 54 ส่วน 5 เหรียญเงิน ได้จาก ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิง 1,500 ม.ชาย ที 54, วีลแชร์เรซซิงผลัด 4x100 ม.ชาย ที 53-54 (ศุภชัย โกยทรัพย์, สายชล คนเจน, ประวัติ วะโฮรัมย์ และพิเชษฐ์ กรุงเกตุ), วีลแชร์เรซซิ่งผลัด 4x400 ม.ชาย ที 53-54 (ศุภชัย โกยทรัพย์, ประวัติ วะโฮรัมย์, พิเชษฐ์ กรุงเกตุ และสายชล คนเจน), สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิ่ง 100 ม.ชาย ที 54, สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิ่ง 200 ม. ชาย ที 54 และ 7 เหรียญทองแดง ได้จากสายสุนีย์ จ๊ะนะ ฟันดาบเอเปบุคคลหญิง, สมควร อนนท์ ยกน้ำหนัก 52 กก.หญิง, ณรงค์ แคสนั่น ยกน้ำหนัก 52 กก.ชาย, สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิง 400 ม.ชาย ที 54, ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิง 800 ม.ชาย ที 54, ศุภชัย โกย-ทรัพย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 ม.ชาย ที 54, เพ็ชร รุ่งศรี วีลแชร์เรซซิ่ง 200 ม.ชาย ที 52
ซึ่งจากหลักเกณฑ์เงินรางวัลพาราลิมปิกเกมส์ ของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ กำหนดไว้เหรียญทองละ 2 ล้านบาท เหรียญเงิน 1 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 5 แสนบาท
จากผลงานดังกล่าวทำให้ยอดเงินอัดฉีดรวมอยู่ที่ 16.5 ล้านบาท ขณะที่เฉพาะในส่วนของประวัติ วะโฮรัมย์ ที่ทำได้คนเดียว 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จะรับไปคนเดียว 5.5 ล้านบาท