xs
xsm
sm
md
lg

“เช ยอง ซุก” ปฏิบัติการล่าฝันเทควันโดไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เช ยอง ซุก โค้ชเทควันโดทีมชาติไทยที่เปิดใจว่าภารกิจยังไม่ถึงฝัน
แม้กีฬาเทควันโดจะเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ทว่ากว่าที่กีฬาชนิดนี้จะได้รับความนิยมในวงกว้าง พร้อมปลุกกระแสให้ลูกเล็กเด็กแดงเลือดเนื้อเชื้อไขของนายขนมต้ม ก็ต้องรอให้ สาวน้อยหน้าใส "น้องวิว" เยาวภา บุรพลชัย คว้าเหรียญทองแดงจากกีฬาขาตั้งเตะในโอลิมปิกเกมส์ 2004

จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ทีมชาติไทยมีนักกีฬาเทควันโดรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น และต่อยอดมาถึงการแข่งขันโอลิมปิก 2008 ด้วยเหรียญเงินของ "น้องสอง" บุตรี เผือดผ่อง ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากฝีมือของ "โค้ชเช" เช ยอง ซุก ยอดโค้ชหนุ่มชาวเกาหลีใต้ ที่ยอมเปิดใจกับการตัดสินใจมาทำหน้าที่โค้ชในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 หลังจบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

"ผมยอมรับเลยว่าตอนที่ทราบว่าสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ติดต่อมาทางสหพันธ์เทควันโดเกาหลี เพื่อขอโค้ชไปช่วยฝึกสอน ซึ่งทางเกาหลีก็มาบอกผมว่าให้เตรียมตัวไปเมืองไทย โดยมีเวลา 8 เดือนให้เตรียมความพร้อมตอนนั้นผมก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกันว่าจะมาทำงานในเมืองไทยได้อย่างไร ซึ่งก่อนมาก็ทราบว่าที่เมืองไทยใช้เคยใช้โค้ชชาวเกาหลีมาแล้ว"

โดย "โค้ชเช" กล่าวถึงการเดินทางมาทำงานในเมืองไทยเมื่อระยะเวลา 6 ปีก่อนว่า นับเป็นยุคมืดของเทควันโดไทยอย่างแท้จริง "ช่วงนั้นไม่มีใครสนใจกีฬาเทควันโดมากเท่าทุกวันนี้ นักกีฬาทีมชาติไทยก็ซ้อมกันไปแบบไม่มีใครมาสนใจ แม้แต่ ' บิ๊กหอย' ธวัชชัย สัจจกุล ที่เป็นนายกสมาคมฯ ในขณะนั้นก็ไม่ได้ลงมาดูแลใกล้ชิดเท่าใดนัก"

"ตอนนั้นลำบากมาก ลองผิด ลองถูกมาเยอะ ถึงขนาดมีการนำเอานักมวยไทยมาฝึกซ้อมเทควันโดด้วย เพราะหวังว่าจะเป็นทางลัดเนื่องจากนักมวยไทยมีการเตะที่รุนแรง แต่ก็ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากมวยไทย กับเทควันโด มีวิธีการเตะที่แตกต่างกัน ทำให้การทดลองครั้งนั้นต้องล้มเหลว และท้ายที่สุดนักกีฬาที่เราคัดเลือกมาจากระดับเยาวชนที่พอจะมีแวว ประกอบกับการฝึกซ้อมอย่างหนักสุดท้ายมันก็แสดงผลออกมาเมื่อทีมเทควันโดไทยได้เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004 ที่เอเธนส์ จาก วิว เยาวภา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงกับวงการเทควันโดไทย"

"ผู้ใหญ่ในวงการกีฬาหันมาสนใจนักกีฬาเทควันโดมากขึ้น จนเราได้คุณพิมล ศรีวิกรม์ มาทำหน้าที่นายกสมาคมฯ ในปัจจุบัน การทำงานของผมก็ได้รับการสนับสนุน มีผู้สนับสนุนเข้ามามากจนเราสามารถออกไปแข่งขันในต่างประเทศเพื่อให้นักกีฬาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มากกว่าเก่า"
ทั้งนี้ยอดโค้ชจอมโหดรายนี้ยอมรับว่าทุกวันนี้รู้สึกดีกับการทำงานในเมืองไทยมากขึ้นทุกวันโดยกล่าวว่า "ผมมาอยู่ที่นี่หลายปีแล้ว และผมก็ชอบคนไทย เพราะมีลักษณะนิสัยไม่ต่างกับคนเกาหลี ซึ่งที่ผ่านมาทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับคนไทยได้ดี รวมทั้งยังรู้สึกผูกพันกันนักกีฬาไทยมาก เพราะพวกเขาตั้งใจฝึกซ้อมกัน ทำให้เราก็อยากสอนเขา"

"อย่างผมเป็นคนเกาหลี ไม่ทราบเลยว่าวันไหนจะเป็นวันหยุดของเมืองไทย บางครั้งก็มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ผมก็สั่งให้นักกีฬามาซ้อม ซึ่งทุกคนก็มาซ้อมตรงตามเวลา ไม่มีใครขาดหรือลา แต่เราก็รู้สึกผิดสังเกตบ้างเหมือนกันเพราะบรรยากาศวันทำงานกับวันหยุดมันไม่เหมือนกัน ถามนักกีฬาเขาก็บอกว่าเป็นวันหยุด แต่ก็ยังมาซ้อมกันอยู่ครบทุกคน"

ส่วนเรื่องที่มีหลายฝ่ายอยากให้ "โค้ชเช" โอนสัญชาติเป็นคนไทยนั้น เจ้าตัวยอมรับรู้สึกยินดีมากทีเดียว "ผมบอกตามตรงว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้ทราบว่ามีความพยายามจะขอสัญชาติไทยให้กับผม เพราะเท่าที่ทราบมาคือสัญชาติไทยนั้นขอยากมาก แต่ผมขอเวลาตัดสินใจอีกสักระยะในเรื่องนี้ เนื่องจากถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับตัวผมทีเดียว"

นอกจากนี้ “โค้ชเช” ยังเปิดเผยว่าได้รับการทาบทาบจากหลายชาติไปทำหน้าที่ผู้ฝึกสอน โดยเฉพาะช่วงหลังการแข่งขันกีฬาเอเชียเกมส์ 2006 ที่ประเทศกาตาร์ ที่แม้ทีมเทควันโดไทยจะไร้เหรียญทอง แต่ด้วยผลงาน 3 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดงนับได้ว่าการันตีฝีมือโค้ชจากแดนกิมจิผู้นี้ไม่น้อย ซึ่งเจ้าตัวได้เปิดใจว่า

"ผมยอมรับว่าได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เขาต้องการให้ไปเป็นผู้ฝึกสอนให้ รวมถึงเกาหลีใต้บ้านเกิดของผมก็เริ่มกลัวนักกีฬาไทย อยากให้กลับประเทศ แต่ผมยังมีสัญญากับทีมชาติไทย และเป้าหมายของตัวเองที่ยังไปไม่ถึงจุดสูงสุดที่วางไว้กับนักกีฬาไทย"

เป้าหมายในใจของโค้ชเช คงเหมือนกับสิ่งที่ผู้ฝึกสอนทุกคนหวังเหมือนกันซึ่งเจ้าตัวได้กล่าวทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า "เหรียญทองโอลิมปิกกับทีมชาติไทยเป็นเป้าหมายสูงสุดของผม แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เรามีนักกีฬาที่ดีอยู่แล้ว ขอเพียงได้ออกไปแข่งขันในต่างประเทศมากๆ เจอนักเทควันโดระดับสากลเยอะๆ เพื่อให้นักกีฬามีพัฒนาการ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องมีนักกีฬาไทยได้เหรียญทองมาครองแน่นอน"
โค้ชเช กับผลงานชิ้นแรกเมื่อครั้งสร้างน้องวิว เยาวภา บุรพลชัย
ลีลาของบุตรี เผือดผ่อง ในปักกิ่งเกมส์
ความสำเร็จชิ้นที่สองของ เช ยอง ซุก
กำลังโหลดความคิดเห็น