xs
xsm
sm
md
lg

ลูกหนัง “เกรท บริเทน” เลือดต่างสี ไม้ต่างกอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์ ลอนดอนเกมส์ 2012
ดูเหมือนว่าแฟนฟุตบอลเมืองผู้ดีในเวลานี้กำลังฝันหวานถึงความสำเร็จใหม่ๆของทีมชาติตนเองหลังมีข่าวว่า ลอร์ด เซบาสเตียน โค ประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกปี 2012 ทำการทาบทาม เซอร์ อเลกซ์ เฟอร์กูสัน ยอดกุนซือของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาคุมทีมฟุตบอลแห่งเครือจักรภพอังกฤษเพื่อลุยศึก “ลอนดอนเกมส์” แต่ความฝันดังกล่าวอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นอารมณ์ค้างได้ในทันทีเช่นกันหากแฟนบอลจะตื่นขึ้นมาพบความจริงว่าทีมฟุตบอลแห่งสหราชอาณาจักรนั้นหยุดส่งนักเตะลงสังเวียนโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1974 หากคิดจะหวนมาทวงคืนความยิ่งใหญ่หนทางในอีก 4 ปีข้างหน้าดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หลังจากที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือไอโอซีประกาศให้กรุงลอนดอน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 2012 ชาวเมืองผู้ดีต่างรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจกับเกียรติที่ได้รับทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเตรียมพร้อมที่จะลงทุนลงแรงเพื่อหวังให้ “ลอนดอนเกมส์” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศเช่นเดียวกับชาติเจ้าภาพประเทศอื่น และในฐานะเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาตินี่โอกาสสำคัญที่ “เครือจักรภพฯ” หวังจะฟื้นทีมลูกหนังแห่ง “เกรท บริเทน” ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งนี้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหราชอาณาจักร (บีโอเอ) ต่างเห็นพ้องกับความแนวความคิดดังกล่าวที่จะฟื้นฟูทีมฟุตบอลสหราชอาณาจักร (Great Britain national football team หรือ GB) ให้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขัน “ลอนดอนเกมส์” ขณะที่ กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่สนับสนุนความคิดนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงผลสำรวจที่จัดทำโดย “บีโอเอ” ก็ออกมาระบุว่าชาวเมืองผู้ดีกว่าร้อยละ 69 ต้องการเห็นทีมฟุตบอล “เกรท บริเทน” (Great Britain) กลับมาอีกครั้ง

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับการกลับมาของทีมฟุตบอลแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อผลสำรวจอีกด้านของ บีโอเอ ระบุว่ามีชาวอังกฤษไม่ถึงร้อยละ 50 ที่มั่นใจว่าจะเห็นทีมฟุตบอล “เกรท บริเทน” ในอีก 4 ปีข้างหน้า

ย้อนกลับไปในต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงปี 1972 อังกฤษเคยส่งทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกภายใต้ทีมสหราชอาณาจักร (Great Britain national team หรือ GB) อันประกอบไปด้วยประเทศในเครือจักรภพคือ อังกฤษ, เวลส์, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ เช่นเดียวกับนักกีฬาประเภทอื่นและผลงานของทีมฟุตบอลในการแข่งระดับนี้ก็ไม่ขี้ริ้วแต่อย่างใดเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองได้ถึงสองสมัยติดต่อกันในปี 1908 ที่ประเทศตนเองเป็นเจ้าภาพ และ ปี1912 ที่ประเทศสวีเดน

แต่หลังจากที่ สมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือเอฟเอ มีการแยกอำนาจการบริหารออกจากกันระหว่างนักฟุตบอลอาชีพและนักฟุตบอลสมัครเล่นในปี 1974 ทีมฟุตบอลจากสหราชอาณาจักรก็ถูกยกเลิกไป แม้ว่าในภายหลังกฎข้อบังคับของโอลิมปิกจะผ่อนผันให้มากขึ้นเมื่ออนุญาตให้นักกีฬาอาชีพเข้าร่วมการแข่งขันได้ก็ตาม แต่ทีมฟุตบอล “เกรท บิรเทน” ก็ไม่สามารถย้อนกลับมารวมตัวเหมือนเก่าได้อีก

อันที่จริงก็มีความพยายามจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะจากประเทศอังกฤษที่ต้องการจะให้มีการรื้อฟื้นทีมฟุตบอลแห่งสหราชอาณาจักรให้กลับมาอีกครั้งแต่มีปัญหาสำคัญก็คือ สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ต่างก็ไม่เห็นพ้องกับความคิดดังกล่าวเนื่องจากกลัวจะเกิดผลกระทบต่อสถานะของทีมฟุตบอลประเทศตนเอง เพราะเมื่อปี 1947 นี่เองที่ทั้งสามประเทศเพิ่งจะได้รับสิทธิพิเศษจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ให้สามารถแยกทีมฟุตบอลออกมาจากสหราชอาณาจักรและส่งเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆของฟีฟ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ มหากาพย์ลูกหนังอย่างศึก “ฟุตบอลโลก” บรรดาประเทศในเครือจักรภพย่อมไม่อยากสูญเสียโอกาสของตนเองไป

การแยกทีมฟุตบอลออกมาเป็น 4 ประเทศที่ยาวนานกว่า 30 ปี หากกลับมารวมกันใหม่อีกครั้งแม้ว่าจะเป็นเพียงการแข่งขันโอลิมปิกซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนก็ตาม แต่ก็อาจถูกประเทศอื่นเรื่องนี้เอามาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกดดันฟีฟ่าให้ยกเลิกสิทธิ์ที่มองให้กับทั้งสี่ประเทศในเครือจักรภพ จนเหลือเพียงทีมฟุตบอลจากสหราชอาณาจักรเท่านั้น

ซึ่งท่าทีของฟีฟ่าจนถึงเวลานี้เรียกได้ว่ายังไม่ชัดเจน เพราะตัวประธานอย่าง “เซปป์ แบล็ตเตอร์” ออกมาแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันในสองวาระ ครั้งแรกคือให้ความสนับสนุนที่ทีมกีฬาเครือจักรภพจะส่งทีมฟุตบอลในนาม เกรท บริเทน ลงสู่สนาม "ลอนดอนเกมส์" พร้อมกับยืนยันว่าการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษจะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางฟีฟ่าของแต่ละทีมอย่างแน่นอน แต่ความคิดเห็นครั้งล่าสุดกลายเป็นว่าประธานฟีฟ่าเสนอให้ทีมฟุตบอล “เกรท บริเทน” น่าจะเป็นทีมจากประเทศอังกฤษเท่านั้นก็พอ

ความสับสนในการให้ความสนับสนุนจากฟีฟ่า รวมไปถึงความไม่แน่ใจของผู้จัดเองว่าจะสามารถควบรวมประเทศในเครือจักรภพให้เห็นคล้อยตามกันได้มากเท่าใด ทั้งหมดนี้ทำให้ทีมฟุตบอลแห่งสหราชอาณาจักรที่สิ้นชื่อไปกว่าสามสิบปีจะหาทางกลับมาเกิดใหม่ได้ลำบากยิ่ง เพราะเอาเข้าจริงแล้วสถานภาพของประเทศอื่นในเครือจักรภพ รวมไปถึงผลประโยชน์ที่โยงใยอยู่กับฟีฟ่าอาจจะทำให้ “ทีมเกรท บริเทน” ที่หลายคนฝันจะได้เห็นอีกครั้งนั้นเหลือเพียงอดีตให้ได้จดจำ
กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ
ทีมฟุตบอล เกรท บริเทน ปี 1908
ลูกหนังแห่งเครือจักรภพเมื่อครั้งรับเหรียญปี 1948
ลอร์ด เซบาสเตรีย โค ประธานจัดการแข่งขันลอนดอนเกมส์
โอลิมปิกสเตเดี้ยมของปี 2012
กำลังโหลดความคิดเห็น