On one cold and bitter Thursday in Munich, Germany,
Eight great football stalwarts conceded victory,
Eight men who will never play again who met destruction there,
The flowers of British football, the flowers of Manchester
คือส่วนหนึ่งของเนื้อร้องในเพลงชื่อ "The Flowers of Manchester" ที่แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงหายนะครั้งประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษ และสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือวินาศภัยทางอากาศที่มิวนิค เมื่อปี 1958 ที่คร่าชีวิตนักเตะไปถึง 8 ราย ซึ่งเมื่อวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ถือเป็นวันครบรอบ 50 ปีแห่งการสูญเสียครั้งนั้นพอดี
แมนฯยูไนเต็ด ถือโอกาสเลือกเกมที่จะทำศึกดาร์บีแมตช์กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี อริร่วมเมืองในวันที่ 10 ก.พ.นี้ ให้เป็นการเตะเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เครื่องของสายการบิน บริติช ยูโรเปียน แอร์ไลน์ ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ อันนำมาซึ่งโศกนาฎกรรมดังกล่าว ในวันนั้นยังมีสิ่งที่สุดพิเศษนอกจากการยืนสงบนิ่งคือ "ผีแดง" จะสวมชุดแข่งย้อนยุคในปี 1950 แบบไม่มีสปอนเซอร์คาดอก ไม่มีชื่อนักเตะ เบอร์ยังเรียงตั้งแต่ 1-16 ส่วน "เรือใบสีฟ้า" ก็จะใส่ชุดแข่งพิเศษด้วยเช่นกัน
แน่นอนหากเลือกได้ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องเศร้าสลดเช่นนั้น เพราะ แมนฯยูไนเต็ด ในยุคนั้นสร้างทีมได้อย่างมั่นคงและกำลังไขว่คว้าความสำเร็จในยุคตั้งแต่ 1950 โดยคว้าแชมป์ ดิวิชั่น 1 ได้ถึง 3 สมัย รวมถึงแพ้ รีล มาดริด ในรอบรองชนะเลิศเมื่อปี 1956-57 ทั้งที่เป็นทีมจากอังกฤษ ที่ได้ลงแข่งบอลยุโรปเป็นครั้งแรก
จนมาถึงในปี 1958 แมนฯยู ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในศึก ยูโรเปียน คัพ อีกครั้ง หลังเอาชนะ เรด สตาร์ เบลเกรด ด้วยผลรวม 2 นัด 5-4 แต่ว่าเที่ยวกลับเครื่องบิน อลิซาเบธัน ที่แวะเติมเชื้อเพลิงที่ มิวนิค หลังเหินฟ้ามาจาก เบลเกรด ก็ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่เต็มไปด้วยหิมะหลังพยายามนำเครื่องขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในเวลาบ่าย 3 โมง 4 นาที
"A great team dies" คือพาดหัวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น พร้อมกับคราบน้ำตาและหัวใจอันแตกสลายของสาวก เรด เดวิลส์ ในยุคนั้น 7 ผู้เล่นที่เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุคือ โรเจอร์ เบิร์น, เอ็ดดี้ โคลแมน, ทอมมี่ เทย์เลอร์, มาร์ค โจนส์, เดวิด เพ็กก์, บิลลี วีแลน, เจฟฟ์ เยนท์ และอีกคนที่บาดเจ็บสาหัสเสียชีวิตในอีก 15 วันให้หลังคือ ดันแคน เอ็ดเวิร์ด ปีกดาวรุ่ง นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สโมสร นักข่าวอีก 8 ชีวิตและอื่นๆ อีกรวม 23 คนที่เสียชีวิตจาก 44 คนบนเครื่องบินลำนั้น
แมนฯยูไนเต็ด ในเวลานั้นแทบไม่เหลืออะไรเลยมีเพียงความบอบช้ำทางด้านร่างกายและจิตใจ แน่นอนพวกเขาตกรอบฟุตบอลยุโรปด้วยน้ำมือของ เอซี มิลาน แกนหลักที่รอดชีวิตในเวลานั้นนำโดย เซอร์ แม็ตต์ บัสบี้ กุนซือที่ต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้มถึง 2 เดือนและ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ต้องกระเสือกกระสนอยู่นานจนกระทั่งกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ยุโรปในปี 1968 ซึ่งเป็นสโมสรแรกจากเมืองผู้ดีที่ทำสำเร็จ ทำให้ทีมยุคนั้นรวมถึงทุกคนที่เสียชีวิตถูกเรียกว่าเป็นทีมชุด "บัสบี เบ็บส์"
บ็อบบี้ ชาร์ลตัน นักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ เพราะเคยคว้าแชมป์โลกในปี 1966 ยังจำความเศร้าโศกในวันนั้นได้ดี เพราะเป็นการคร่าชีวิตนักฟุตบอลฝีเท้าดีของ แมนฯยู มากมายโดยเฉพาะ เอ็ดเวิร์ดส์ ที่ขณะนั้นวัยเพียงแค่ 21 ปี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวรุ่งจรัสแสงในยุคนั้น "ถือเป็นโศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง ยังคงน่าเศร้าใจแม้จนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับผมที่ได้บอกทุกคนถึงความยอดเยี่ยมของพวกเขา ผมไม่อยากจะคิดว่าทุกคนลืมกันไปหมดแล้ว"
"นักเตะทุกคนมีพรสวรรค์ที่เหลือเชื่อ แต่ เอ็ดเวิร์ดส์ โดดเด่นกว่านั้นอีก มีรูปถ่ายทีมเยาวชนชุดนั้นติดอยู่ข้างกำแพง เขาดูเหมือนกับว่าจะตัวใหญ่กว่าทุกคนเป็น 2 เท่าแข็งแกร่งและบึกบึน เมื่อรวมเข้ากับทักษะของเขาที่มีอยู่แล้ว ทำให้เขาสามารถเล่นได้ทุกตำแหน่งที่ต้องการเลยทีเดียว เมื่อคุณได้เห็นรูปถ่ายของเขา เห็นความยิ่งใหญ่ มันก็ทำให้คุณหวนระลึกถึงความหลังอีกครั้งหนึ่ง" ชาร์ลตัน ปัจจุบันในวัย 70 ปีเผย
ไรอัน กิ๊กส์ กัปตันทีม แมนฯยู ก็หวังพาทีมคว้าแชมป์ยุโรปในปีนี้ให้ได้เพื่อสดุดีนักเตะในยุค "บัสบี เบ็บส์" โดยกล่าวว่า "การคว้าแชมป์ยุโรปอีกครั้งในโอกาสครบรอบ 50 ปี โศกนาฏกรรมที่ มิวนิค น่าจะเป็นการสดุดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผมคิดว่าบรรดานักเตะต่างต้องการทำผลงานให้ดีในฤดูกาลนี้เนื่องด้วยช่วงเวลาดังกล่าวที่มาบรรจบและเหล่ากองเชียร์ก็คงจะอยากได้แชมป์รายการใหญ่เพื่อสดุดีให้กับการครบรอบดังกล่าวเช่นกัน"
หากว่า แมนฯยู ยุคปัจจุบันคว้าแชมป์ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ในปีนี้มาครองได้จริง ก็คงไม่อาจชะล้างความสะเทือนใจบทนี้ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสร เพราะทุกครั้งที่เหลือมมองแผ่นโลหะจารึกชื่อนักเตะที่เสียชีวิตรวมถึงนาฬิกาที่สนาม โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ก็เหมือนเป็นการเตือนให้นึกถึงการสูญเสียครั้งนี้อยู่ร่ำไป