xs
xsm
sm
md
lg

แมนฯ ยู พลาด 3 ถึงตาย / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

หลังจากที่เริ่มต้นฤดูกาล 2007-2008 ได้ต่ำกว่ามาตรฐานเอามากๆ แมนเชสเตอร์ ยูนายเต็ด ค่อยๆไต่ขึ้นมา จนไล่แซง อาร์เซนอล ขึ้นนำเป็นจ่าฝูงได้ตอนปลายเดือนธันวาคม แต่ก็มาพลาดท่า ให้ปืนใหญ่แซงกลับไปถึง 2 ครั้ง ยิ่งทีก็จะยิ่งไล่ตามลำบากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ อาร์เซนอล เป็นทีมที่แพ้ยากแค่เชียร์ให้เสมอยังมีโอกาสน้อยเลย นี่ถ้า แมนฯ ยู เกิดโชคดี แซงขึ้นนำได้อีกครั้ง แล้วทำพลาดอีกเป็นหนที่ 3 ก็โทษใครไม่ได้แล้ว

แม้วันนี้ การไล่ล่าเก็บคะแนนทุกเม็ดของ 2 ทีมยักษ์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษต้องหยุดพักไว้ก่อน เพื่อเปิดทางให้ทีมชาติต่างๆในทวีปยุโรปได้อุ่นเครื่อง ก่อนที่จะไปเตะ ยูโร 2008 แต่ผมก็ยังอดคิดถึงเรื่องราวในอดีตไม่ได้ โดยเฉพาะใครที่เป็นแฟนแมนฯ ยู ก็คงจะรู้ดีว่า 6 กุมภาพันธ์ วันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน เป็นวันที่ปีศาจแดงเกิดความสูญเสียครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเลยทีเดียว เขาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า มิวนิค แอร์ ดิแซสเทอร์ ( Munich air disaster ) หรือ วินาศภัยทางอากาศที่เมืองมิวนิค

ย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษ สมัยนั้น ฟุตบอล ยูโรเปียน คัพ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ ยูเอ็ฟฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปัจจุบัน เริ่มแข่งกันครั้งแรกก็คือ ปี 1955 แต่ทีมจากอังกฤษยังไม่ได้ไปร่วมกับเขาด้วย แมนฯ ยู เป็นทีมจากแดนผู้ดีทีมแรกที่เข้าร่วมเตะตั้งแต่ฤดูกาล 1956-1957 ซึ่งก็ทำผลงานได้ดีเหลือเกิน โดยกรุยทางไปจนเจอ เรอัล มาดริด แชมป์เก่าจากสเปนในรอบรองชนะเลิศ แม้จะแพ้ราชันชุดขาว อดเข้าชิงชนะเลิศ แต่ก็ทำให้ทีมของ เซอร์ แมทท์ บัสบี ( Sir Alexander Matthew Busby ) เริ่มถูกจับตามอง และใครๆก็ยกให้เป็นเต็งแชมป์ร่วมกับ เรอัล มาดริด ในฤดูกาลถัดไป

เหล่านักเตะ แมนฯ ยู ยุคนั้น ล้วนเป็นเด็กสร้างของสโมสรเอง โดย จิมมี เมอร์ฟี ( Jimmy Murphy ) ผู้ช่วยของ แมทท์ บัสบี ไปคัดมาฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย พอฝีมือได้ที่ก็จับมาเล่นให้ทีมใหญ่ ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อตัวมาจากสโมสรอื่นๆ เด็กพวกนี้มีอายุเฉลี่ย 21-22 ปี และโชว์ฟอร์มเฮี้ยนจริงๆ คว้าแชมป์ดิวิชัน 1 หรือ เพรอมิเอชิพในปัจจุบัน ในฤดูกาล 1955-1956 และ 1956-1957 ทอม แจ็คสัน นักข่าวหนังสือพิมพ์ Manchester Evening News จึงเรียกพวกเขาว่า บัสบี เบบส์ ( Busby Babes )

มาถึง ยูโรเปียน คัพ ฤดูกาล 1957-1958 ตอนนั้น ลีกภายในประเทศอังกฤษ เขาจะเตะกันทุกวันเสาร์ ส่วนฟุตบอลยุโรปก็ไปเตะกันกลางสัปดาห์ ดังนั้นโปรแกรมการแข่งขันสำหรับ แมนฯ ยูจึงค่อนข้างชุก แมนฯ ยู ต้องเดินทางไปแข่งขันรอบก่อนรองชนะเลิศนัดที่ 2 กับ เรดสตาร์ เบลเกรด ( Red Star Belgrade ) ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นประเทศยูโกสลาเวีย โดยนัดแรก แมนฯ ยู ชนะในบ้านตนเอง 2-1 คราวนี้ต้องไปเยือนถึงกรุงเบลเกรด ซึ่งการไปทางรถยนต์นั้น ต้องเสียเวลามาก นักเตะจะอ่อนล้าจากการเดินทาง ถ้าหวังจะให้นักเตะโชว์ฟอร์มดี คือ ลีกในประเทศก็จะเอา ถ้วยยุโรปก็จะเอา ก็ต้องตัดสินใจไปเครื่องบิน ซึ่งยุคนั้นเรื่องการบินก็ใช่ว่าจะชัวร์ มีตกอยู่บ่อยๆ ซึ่งในที่สุด เด็กของ บัสบี ก็บุกไปยันเสมอ เรดสตาร์ ได้ 3-3 รวม 2 นัดก็ชนะ 5-4 ได้เข้ารอบรองชนะเลิศไปเจอกับ เอซี มิลาน ต่อไป

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เครื่องบินของ British European Airways ที่เหมาลำมา ได้เวลาขน เดอะ บัสบี เบบส์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทีม นักข่าว รวมกัปตันและลูกเรือ 44 ชีวิตกลับบ้านด้วยไฟลท์ 609 วันนั้น มีเหตุให้ต้องออกเดินทางล่าช้าไป 1 ชั่วโมง เพราะ จอห์นนี เบอร์รี (Johnny Berry ) ดันทำพาสปอร์ตหาย พวกเขาออกจากเบลเกรดไปแวะเติมน้ำมันที่สนามบิน มิวนิค รีม ( Munich-Riem Airport ) สนามบินแห่งนี้เคยใช้เป็นสนามบินหลักของมิวนิค ก่อนที่จะย้ายมาที่ Munich International Airport หรือในชื่อใหม่ว่า ฟรานซ์ โยเซฟ ชเตราส์ ( Franz Josef Strauss ) ในปี 1992

หลังจากเติมน้ำมันเรียบร้อย เจมส์ เทน ( James Thain ) กัปตันก็เตรียมนำเครื่องขึ้น เพื่อมุ่งหน้ากลับสู่เมืองแมนเชสเตอร์ มันเป็นวันที่อากาศไม่ดีเลย หิมะตก แถมเครื่องยนต์ยังกระตุกก่อนที่จะเหินขึ้นสู่ท้องฟ้า ทำให้ต้องกลับมาทำการเทค-ออฟใหม่เป็นครั้งที่ 2 เครื่องยนต์ก็ยังกระตุกอีก หลังจากปล่อยผู้โดยสารลงจากเครื่อง เพื่อซ่อมเครื่องยนต์ไม่กี่นาที กัปตันก็พยายามครั้งที่ 3 ตอนนั้นเป็นเวลา 15.04 นาฬิกา คราวนี้เชิดหัวขึ้นไปจนได้ แต่ความเร็วลดลงเหลือเพียงแค่ 194 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เครื่องลอยลำอยู่ในอากาศ เครื่องบิน 2 ใบพัดค่อยๆเสียระดับ ร่วงกลับลงมา แล่นทะลุรั้วสนามบิน ก่อนที่จะพุ่งเข้าชนบ้านคน โชคดีไม่มีใครอยู่ในบ้านตอนนั้น

จากเหตุเครื่องบินตกวันนั้น นักเตะ แมนฯ ยู เสียชีวิตทันที 7 คน ไปตายโรงพยาบาลอีก 1 คนหลังจากนั้น 15 วัน เมื่อรวมกับคนอื่นๆแล้ว ไฟลท์นี้สังเวยชีวิตไป 23 คน ในจำนวนที่รอดตาย เป็นนักเตะ 9 คน จอห์นนี เบอร์รี กับ แจ็คกี บลานช์ฟลาวเออร์ แม้รอดตาย แต่ก็ได้รับบาดเจ็บหนัก จนเล่นฟุตบอลไม่ได้ตลอดชีวิต ในขณะที่ เดนนิส วิโอลเล็ต กับ บ็อบบี ชาร์ลตัน ที่รอดมาได้นี่ทีเด็ดเลย เดิมน่ะนั่งอยู่ตอนท้ายลำ แล้วตอนกลับมาขึ้นเครื่อง มีนักเตะอีก 2 คนมาขอสลับไปนั่งแทน เพราะคิดว่าตรงท้ายลำน่าจะปลอดภัยกว่า แต่กลับต้องดับชีวิตแทน ส่วน แมทท์ บัสบี ผู้จัดการทีมเองก็สาหัส ต้องนอนบักโกรกอยู่ในโรงพยาบาลร่วม 2 เดือน

บ็อบบี ชาร์ลตัน เมื่อฟื้นตัวจากเหตุการณ์ มิวนิค แอร์ ดิแซสเทอร์ เขาโชว์ฟอร์มเหลือร้าย กลายเป็นฮีโร่ของทั้งกับทีม แมนฯ ยู และทีมชาติอังกฤษกว่าทศวรรษ จนมีชื่อสลักเชิดชูเกียรติบนแผ่นโลหะภายในอาคารใต้ถุนสนามโอลด์ แทรฟเฟิร์ด และเมื่อปี 1994 เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน กลายเป็น เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน ปัจจุบันนี้ เขาเป็น 1 ใน 5 นักเตะรอดตายและยังมีชีวิตอยู่ อ้อ ถ้าใครได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน โอลด์ แทรฟเฟิร์ด แล้วพยายามหาชื่อ บ็อบบี ชาร์ลตัน ที่เขาสลักเป็นเกียรติน่ะ ไม่มีนะครับ เพราะเขาจะสลักเป็นชื่อจริงว่า โรเบิร์ต ชาร์ลตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น