xs
xsm
sm
md
lg

ทั่วโลกจับตา “ไข้หวัดนก-ไวรัส HMPV-อหิวาต์” “นพ.ธีระวัฒน์” ชี้สถานการณ์ในไทยไม่น่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอนามัยโลก และนานาชาติต่างวิตกสถานการณ์โรคระบาด ทั้งไข้หวัดนก อหิวาตกโรค รวมถึงไวรัส HMPV ที่กำลังแพร่ระบาดในจีน ด้าน “นพ.ธีระวัฒน์” แนะ อย่าตื่นตระหนก มั่นใจไทยเอาอยู่ ชี้โรคทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น HMPV-ไข้หวัดใหญ่-โควิด รักษาได้ด้วยฟ้าทะลายโจร ขณะที่อหิวาต์-โรคหูดับ ป้องกันโดยการรักษาสุขอนามัยในการกิน เตือนฉีดวัคซีน “ไข้หวัดนก” อาจเกิดอาการแทรกซ้อน!

กล่าวได้ว่าขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เนื่องจากมีสัญญาณเตือนจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องโรคไข้หวัดนกและอหิวาตกโรค หรือรัฐบาลไทยที่ออกมาแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง 6 โรค ที่มีโอกาสติดต่อและแพร่ระบาดในช่วงปีใหม่ 2568

ส่วนว่าจะมีโรคใดบ้างที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ละโรคมีความร้ายแรงหรือไม่ มีทางป้องกันหรือเปล่า? คงต้องไปฟังความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
โรคระบบทางเดินหายใจ
ใช้สมุนไพรรักษาได้


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยแจกแจงรายละเอียดในแต่ละโรคไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

“เชื้อไวรัส HMPV-โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ” สำหรับเชื้อไวรัส HMPV (ไวรัสที่ก่ออาการในระบบทางเดินหายใจ) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีนอยู่ในขณะนี้นั้น จริงๆ แล้วมีการพบเชื้อดังกล่าวในประเทศไทยมาเป็นสิบปีแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และจากที่ได้สอบถามคนที่อยู่ในประเทศจีนได้รับการยืนยันว่าไม่มีสถานการณ์อะไรที่น่าเป็นห่วง นอกจากนั้น คนไทยที่เพิ่งกลับมาจากจีนให้ข้อมูลว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่ในช่วงฤดูหนาวจะมีการแพร่ระบาดของไวรัส HMPV โดยผู้ป่วยส่วนมากจะเป็นเด็กและผู้สูงวัย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ไม่ได้มีแค่ไวรัส HMPV แต่ยังมีไวรัสที่พบในประเทศไทยอยู่แล้วคือ RSV (ไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B และโรคโควิด แต่โควิดตัวนี้ไม่ได้รุนแรง โดยลักษณะอาการของโรคทางเดินหายใจหล่านี้นั้นจะมีความคล้ายคลึงกัน คือเริ่มต้นด้วยอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวแล้วมุ่งแต่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นเชื้ออะไรอาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยถ้าอยากรู้ว่าป่วยด้วยเชื้ออะไรต้องแยงจมูก ปากและลำคอ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบเดียวกับที่ตรวจเชื้อโควิดซึ่งค่าตรวจแพงมาก คืออยู่ที่ 6,000-8,000 บาท อีกทั้งระหว่างที่เดินทางไปพบแพทย์อาจจะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างทำให้การแพร่ระบาดของโรคขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญเชื้อบางตัว เช่น HMPV ยังไม่มียารักษาที่ชัดเจน ขณะที่ยาต้านไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเต็มร้อยในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนัก แต่ทำให้หายเร็วขึ้น ส่วนยารักษาโควิดโดยตรงนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ที่สำคัญหากเป็นประชาชนทั่วไปการที่จะตรวจให้รู้ว่าเป็นเชื้ออะไรนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ดังนั้น ข้อปฏิบัติที่แนะนำคือ หากมีอาการข้างต้น อันดับแรกต้องแยกตัวจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด และลดจำนวนเชื้อโรคด้วยการใช้น้ำเกลือล้างจมูก ล้างคอ และบ้วนปากบ่อยๆ โดยสามารถทำเองได้ง่ายๆด้วยการเอาน้ำเปล่าใส่เกลือให้มีระดับความเค็มเท่ากับน้ำทะเล แล้วนำไปกลั้วปาก กลั้วคอ หรือล้างจมูก ซึ่งการลดจำนวนเชื้อโรคโดยใช้น้ำเกลือนั้นมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นจากการทดลองในหลอดทดลองหรือการรักษาจริง พร้อมกันนี้ให้กินฟ้าทะลายโจรควบคู่ไปด้วย โดยปริมาณการใช้นั้นให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในฉลากยาเนื่องจากฟ้าทะลายโจรแต่ละยี่ห้อมีปริมาณความเข้มข้นไม่เท่ากัน ซึ่งการใช้ฟ้าทะลายโจรนั้นมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองชัดเจนว่าสามารถบรรเทาอาการไข้ แก้ไอและแก้เจ็บคอได้ ทำให้หายเร็วขึ้น เหมือนกับที่ใช้รักษาโควิดในช่วง 3 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนั้น อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันมานานนับร้อยปีคือการใช้หัวหอมแดงต้มในน้ำเดือด แล้วสูดดมน้ำมันหอมระเหยของหอมแดงจากควันที่ระเหยขึ้นมา ซึ่งน้ำมันอัลลิลิกไดซัลไฟด์จากหัวหอมแดงนั้นมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการหวัด ที่สำคัญการรักษาโดย 3 วิธีดังกล่าวนั้นเป็นวิธีธรรมชาติที่ปลอดภัย และไม่มีผลแทรกซ้อน

แต่ทั้งนี้ ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าว 1-2 วัน แล้วอาการกลับแย่ลงต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่ อาการข้างต้นอาจจะไม่ใช่โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัส HMPV ไวรัส RSV ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด แต่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น หรือมีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องวินิจฉัยเป็นแต่ละกรณีไป

“การรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัส HMPV ไวรัส RSV ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สายพันธุ์ B หรือแม้แต่โควิด ด้วยน้ำเกลือ ฟ้าทะลายโจร หรือหอมแดงนั้น อย่างน้อยที่สุดก็สามารถบรรเทาอาการได้ ไม่จำเป็นต้องไปแออัดเสี่ยงทั้งแพร่เชื้อและติดเชื้อในโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ และหากมีไข้สูงมากและปวดเมื่อยเนื้อตัวก็สามารถกินยาแผนปัจจุบันอย่างพาราเซตามอลเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ควรกินมากเกินไปเพราะจะมีผลต่อตับ เช่น ในผู้ใหญ่ถ้ากินยาพาราเซตามอล 500-1,000 มิลลิกรัม ต่อเนื่องกัน 4 ครั้งต่อวัน ในวันรุ่งขึ้นไม่สามารถกินซ้ำได้เพราะอาจจะทำให้ตับอักเสบได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว


“ไข้หวัดนก-อหิวาต์” ไม่น่าวิตก

สำหรับ “โรคไข้หวัดนก” ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และนานาชาติมีความเป็นห่วง ขณะที่องค์การเภสัชกรรมของไทยเตรียมแผนที่จะผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก 100,000-400,000 โดส/ปี นั้น “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า ขณะนี้แม้แต่ในสหรัฐอเมริกายังไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงวัวเนื้อวัวนม เนื่องจากรายงานที่ผ่านมาจนถึงต้นปี 2568 พบว่าเชื้อไข้หวัดนกไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก ยังมีความเสี่ยงต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่เสียชีวิต ซึ่งคนที่เสียชีวิตนั้นพบว่ามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว จึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน ยกเว้นแต่ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งมีการแนะนำให้มีการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกในกลุ่มผู้ที่ทำงานในโรงงานขนสัตว์ซึ่งต้องสัมผัสกับขนสัตว์อย่างต่อเนื่อง

“วัคซีนไข้หวัดนกตัวใหม่นั้นเป็นวัคซีน mRNA ซึ่งเรามีความวิตกกังวลอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีของ mRNA ที่เคยนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิดส่งผลให้ผู้รับวัคซีนเกิดอาการแทรกซ้อน โดยพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 ปี หรือ 3 ปีก็ตาม ยังเกิดผลแทรกซ้อนอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการจะใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

ส่วน “โรคท้องร่วงและอหิวาตกโรค” ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแสดงความวิตกนั้น “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ว่า สถานการณ์ในไทยไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นโรคที่มีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วและมีการรักษาที่ได้ผล ส่วนวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันอหิวาตกโรคนั้นเป็นวัคซีนที่ใช้เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว และเป็นวัคซีนแบบฉีด ซึ่งมีข้อสังเกตว่าไม่น่าจะได้ผลมากนัก เพราะการที่จะได้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคจะต้องเป็นภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเยื่อบุผนังลำไส้ ซึ่งการฉีดไม่น่าจะให้ผลอย่างที่เราต้องการ ดังนั้นวิธีป้องกันจึงต้องเน้นที่การดูแลสุขลักษณะในการกิน คือ กินร้อนช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ ถ้ามีอาการท้องเสียต้องไปพบแพทย์และแยกตัวจากครอบครัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ

“การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจเพราะเป็นโรคที่คนไทยรู้จักกันมานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันเรารู้ว่าจะรักษาอย่างไร โดยวิธีการรักษาแบบมาตรฐานคือให้ดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งมีส่วนผสมของกลูโคส ซึ่งกลูโคสตัวนี้จะไปขัดขวางเชื้ออหิวาตกโรคไม่ให้ไปบังคับให้น้ำรั่วเข้ามาในลำไส้ ถ้าร่างกายยังได้กลูโคสไม่พอต้องให้เกลือแร่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งอหิวาตกโรคยังมียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษา ซึ่งจากสถิติในช่วง 30-40 ปีมานี้อาจจะมีการดื้อยาเป็นระยะๆ แต่เชื้อดังกล่าวไม่ได้ถึงขนาดผ่าเหล่าผ่ากอ ฉะนั้นยาปฏิชีวนะที่ใช้อยู่ในขณะนี้จึงยังได้ผลอยู่” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ


สำหรับโรคอื่นๆ ที่รัฐบาลไทยแสดงความเป็นห่วง นั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของ “โรคไอกรน” อาจเกิดขึ้นได้ในคนที่อายุมากขึ้นและภูมิคุ้มกันตก และอาจจะมีแรงงานต่างชาติที่นำโรคไอกรนเข้ามาแพร่ สำหรับคนที่ฉีควัคซีนป้องกันโรคไอกรนแล้วไม่น่ามีปัญหามากนัก แต่หากใครที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันตกอาจจะต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันไอกรน ที่สำคัญหากคนใกล้ชิดป่วยไม่ควรเข้าไปสัมผัสใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ปัญหาคือหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วยิ่งมากเข็มเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันด้อยลง ซึ่งส่งผลให้ความต้านทานไอกรนแย่ลงด้วย

ส่วน “โรคไข้หูดับ” หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการกินเนื้อหมูดิบ เช่น ลาบหมูดิบ ก้อยหมูดิบ เสือร้องไห้ที่ไม่สุก หรือการกินหมูกระทะซึ่งเกิดจากการนำตะเกียบที่ใช้คีบอาหารเข้าปากไปคีบหมูดิบเพื่อย่างในกระทะ แล้วนำตะเกียบนั้นมาคีบอาหารกินต่อซึ่งทำให้เชื้อที่อยู่ในหมูดิบเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนอกจากเชื้อดังกล่าวจะทำให้เป็นโรคหูดับแล้ว เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิต หรือเชื้อเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยวิธีป้องกันคือกินอาหารที่สุกแล้วเท่านั้น เวลากินชาบู-หมูกระทะต้องแยกระหว่างตะเกียบที่ใช้คีบอาหารเข้าปากหรือที่คีบที่ใช้คีบอาหารสุกใส่จาน กับอุปกรณ์ที่ใช้คีบเนื้อสัตว์ดิบไปย่างในกระทะ

ขณะที่ “ไข้เลือดออก” เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยระวังอย่าให้ยุงกัด ระวังอย่าให้มีน้ำขังเนื่องจากยุงจะไปไข่และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งยุงที่มากัดต้องเป็นยุงที่ไปกัดคนที่เป็นโรคก่อนและนำเชื้อไวรัสมาแพร่อีกที และเนื่องจากปัจจุบันไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา ดังนั้น ทุกคนจึงต้องเน้นการป้องกันเป็นหลัก

นอกจากนั้น ยังมี “โรคฝีดาษลิง” ซึ่งหลายคนกำลังตื่นตระหนก เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้วองค์การอนามัยโลกได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก แต่เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีการระบาดรุนแรงอย่างที่วิตกกัน โดยฝีดาษลิงเป็นโรคที่มีการติดต่อกันระหว่างผู้ที่มีความใกล้ชิดกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะทางเพศสัมพันธ์ทั้งในเพศเดียวกันและต่างเพศ สำหรับประเทศไทยนั้นโรคฝีดาษลิงได้เข้ามาในไทยนานแล้ว แต่อยู่ในวงจำกัด และอยู่ในชุมชนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกันอย่างเข้มข้นเท่านั้น ส่วนการป้องกันนั้นอาจใช้วิธีฉีดวัคซีน แต่มีข้อควรระวังเพราะจากการประเมินพบว่าวัคซีนฝีดาษลิงนั้นส่งผลให้เกิดอาการหัวใจอักเสบได้

“ถ้าเรารู้จักโรคเหล่านี้และรักษาสุขอนามัยแบบ 100% ก็ไม่น่าตื่นตกใจอะไร เรามีวิธีที่สามารถป้องกันโรคได้ ขณะเดียวกัน โรคเหล่านี้มีมาตรฐานในการรักษาอยู่แล้ว นอกจากนั้นประเทศไทยเราโชคดีที่เรามีสมุนไพรมากมายที่สามารถใช้รักษาโรคต่างๆได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว




ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น