xs
xsm
sm
md
lg

ฮือต้าน ! ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเถื่อน เอเจนซี่”เมียนมา”พาเข้าไทย ฟันรายได้มหาศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระแสต้านขึ้นทะเบียนแรงงานเถื่อน สนั่นโซเชียล ผุดแคมเปญคัดค้านมติ ครม. 24 ก.ย. “ฟอกขาวแรงงานเถื่อน” พบช่องโหว่เพียบ เหตุขึ้นทะเบียนออนไลน์ ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตน ตัวอยู่เมียนมาก็สามารถส่งเอกสารขึ้นทะเบียนผ่านโบรกเกอร์ นายจ้าง 1 ราย ยื่นชื่อลูกจ้างต่างด้าวได้หลายพันคนโดยไร้การตรวจสอบ “ประธานสภาองค์การลูกจ้าง” ชี้ ทำต่างด้าวทะลักเข้าไทย รอขึ้นทะเบียน ซ้ำได้เปรียบคนไทยเพราะสมัครงานไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา ด้าน “คนในแวดวงแรงงานต่างด้าว” แฉ ธุรกิจแรงงานเถื่อนเริ่มแอดวานซ์ “พม่า”ลักลอบนำเข้าเอง ส่งคนให้โรงงานของพม่า แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี ขณะที่แรงงานเมียนมาใช้ระบบมาเฟียสั่งการแรงงานด้วยกัน สร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ใครไม่ทำตามโดนรุมยำ

ทันทีที่มีมติ ครม.ให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย วันที่ 24 ก.ย.2567 ออกมา ก็เกิดกระแสต่อต้านสนั่นไปทั้งโซเชียล เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมีปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากชาวเมียนมา ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่สุดที่เข้ามาทำงานในไทย

ส่วนว่า มติ ครม.ดังกล่าว จะนำไปสู่ปัญหาในประเด็นใดบ้างนั้น คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ชี้ว่า การประกาศขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมาย ตามมติ ครม.วันที่ 24 ก.ย.2567 จะส่งผลให้เกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวซึ่งหลบหนีเข้ามาเพื่อรอการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา หรือเมียนมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลนั้นๆเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะเดียวกันก็จะเกิดปัญหาการแย่งงานคนไทยมากยิ่งขึ้นเพราะแรงงานต่างด้าวที่เข้าแบบผิดกฎหมายยอมรับค่าแรงในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มองว่ายังไงก็ได้เงินมากกว่าค่าแรงที่บ้านเขา ซึ่งแม้บางอาชีพจะเป็นอาชีพที่คนไทยไม่นิยม แต่สำหรับกลุ่มคนที่โอกาสทางการศึกษาน้อยก็ยังต้องการงานเหล่านี้อยู่ เช่น งานขายของหน้าร้าน พนักงานเสิร์ฟ

“ ข้อเสียเปรียบของแรงงานไทยที่เห็นได้ชัดคือข้อกำหนดเรื่องวุฒิการศึกษา ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่กำหนดว่าถ้าเป็นลูกจ้างคนไทยต้องมีวุฒิขั้นต่ำ ม.3 หรือ ม.6 ขึ้นไป ในขณะที่แรงงานต่างด้าวไม่มีการกำหนดเรื่องวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ดังนั้นถ้าคนไทยเรียนไม่จบ ม.3 ก็ทำงานโรงงานไม่ได้ แต่ต่างด้าวไม่ต้องใช้วุฒิอะไรเลยก็ทำงานโรงงานได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับแรงงานไทย นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานควรจะแก้นิยามของคำว่ากรรมกร ซึ่งเป็นอาชีพที่กำหนดให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ ให้มีความชัดเจนขึ้น คือปัจจุบันงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยกข้าวของจัดอยู่ในนิยามของคำว่ากรรมกรหมด ไม่ว่าจะเป็น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานจัดเชลฟ์สินค้าตามห้างฯ ก็อยู่ในนิยามคำว่ากรรมกร ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานตำแหน่งเหล่านี้ ขณะที่คนไทยก็ยังมีความต้องการงานลักษณะนี้อยู่ ” นายมนัส ระบุ


ทั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มติ ครม.วันที่ 24 ก.ย.2567 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ซึ่งส่วนหนึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการประกาศขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และการให้สิทธิแก่บุตรของแรงงานต่างด้าว จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาเพราะมีช่องโหว่อยู่หลายประการ ได้แก่

1. เป็นการขึ้นทะเบียนให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายทุกกลุ่ม โดยไม่มีการคัดกรอง โดย มติ ครม.ใช้คำว่า
“อนุญาตให้แรงงานผิดกฎหมาย” ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็น แรงงานที่ผิดนายจ้าง(ชื่อนายจ้างไม่ตรงกับตอนที่แจ้งขึ้นทะเบียนแรงงาน) แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง แรงงานที่สถานะไม่สามารถทำงานต่อได้ วีซ่าหมดอายุ หรือแม้กระทั่งลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก็สามารถขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานได้ โดยได้รับการผ่อนผันให้ทำงานต่อในประเทศไทยได้ 1 ปี พร้อมทั้งมีการอนุญาตให้ผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายสามารถพักอาศัยในประเทศไทยได้ชั่วคราว โดยที่ไม่มีการกำหนดว่าอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะไม่ได้ตีกรอบว่าแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ต้องเป็นแรงงานที่อยู่ภายในประเทศไทยอยู่แล้วเท่านั้น ดังนั้นทันทีที่ประกาศให้แรงงานผิดกฎหมายสามารถขึ้นทะเบียนได้แรงงานต่างด้าวก็จะทะลักเข้ามาเพิ่มขึ้น

2. การขึ้นทะเทียนสามารถยื่นเอกสารได้สองทาง คือ ยื่นทางออนไลน์ หรือยื่น ณ สถานที่ที่กรมการจัดหางาน
กำหนด โดยให้นายจ้างเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ใช้ข้อมูลของนายจ้างเป็นหลัก ไม่ต้องแนบหลักฐานสำคัญที่พิสูจน์ตัวตนของลูกจ้าง หากยื่นที่สำนักงานก็ไม่จำเป็นต้องพาลูกจ้างไปด้วย ยิ่งขึ้นทะเทียนทางออนไลน์ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่มีอะไรมาพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำงานอยู่กับใคร พิสูจน์ไม่ได้ว่าลูกจ้างทำงานให้นายจ้างตามรายชื่อที่แจ้งลงทะเบียนจริงๆหรือไม่ จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดการยื่นเท็จ

3.ให้ลูกต่างด้าว(ซึ่งแจ้งชื่อไว้ก่อนแล้ว)ที่อายุครบ 18 ปี สามารถขออนุญาตทำงานในไทยได้ ซึ่งตรงนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนต่างด้าวที่ทำงานในไทยแบบไม่มีลิมิต และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

“ปัณณ์” (นามสมมุติ) แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ชี้ว่า การขึ้นทะเบียนลักษณะนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะไม่มีทางรู้เลยว่าลูกจ้างเป็นใคร บ้านเกิดอยู่ที่ไหน เคยก่อคดีมาหรือเปล่า หากมาทำงานในไทยแล้วก่อคดีแล้วหลบหนีกลับไปเมียนมาก็ไม่สามารถตามตัวได้ การขึ้นทะเบียนแบบไม่ต้องเห็นตัวลูกจ้างจึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าขณะที่ขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างเข้ามาใช้แรงงานในไทยหรือยัง บางคนขึ้นทะเบียนผ่านโบรกเกอร์ ตัวอยู่เมียนมา ส่งแค่รูปถ่ายกับเอกสารบางอย่างมา โบรกเกอร์ที่ไทยเดินเรื่องให้หมด การขึ้นทะเบียนแรงงานเถื่อนจึงกลายเป็นช่องทางให้แรงงานต่างด้าวยิ่งทะลักเข้ามา

“ ตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว มีคนไทยที่รับสมอ้างเป็นนายจ้าง คนคนเดียวขึ้นทะเบียนลูกจ้าง 2,000 คนบ้าง 5,000 คนบ้าง โดยขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งไม่มีใครมาตรวจสอบว่าเป็นนายจ้างจริงหรือเปล่า แล้วที่ผ่านมาเราเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายกันเกือบทุกปี ถ้าการเปิดขึ้นทะเบียนแล้วมันแก้ปัญหาได้จริง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมันต้องหมดไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็ต้องลดลง แต่นี่ยิ่งเปิดขึ้นทะเบียน จำนวนแรงงานผิดกฎหมายกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว


แหล่งข่าว ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาซึ่งลักลอบเข้ามาในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นในช่วง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ว่า สืบเนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา สงครามภายในประเทศเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับปี 2565 เป็นช่วงโควิด ส่งผลให้แรงงานที่จะเข้ามาผ่านระบบ MOU ทำได้ยากและล่าช้า เพราะต้องมีการตรวจคัดกรองโรค ยิ่งปี 2567 สงครามในเมียนมาปะทุรุนแรงทำให้นอกจากจะอันตรายต่อชีวิตแล้วยังทำมาหากินลำบากเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จะทำการเกษตรหรือทำปศุสัตว์ก็ยาก คนเมียนมาจึงยิ่งทะลักเข้ามาประเทศไทยโดยลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากมีชายแดนติดกันกว่า 2,000 กิโลเมตรและไม่มีกำแพงกั้น จึงยากต่อการควบคุม

ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าสงครามในเมียนมากนั้นยากที่จะสงบ เนื่องจากประเทศเมียนมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างกว่า 135 กลุ่ม ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธองตนเอง 25 กลุ่ม ซึ่งถือว่ากลุ่มนี้เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญภายในประเทศ การสู้รบช่วงชิงอำนาจกันจึงไม่อาจยุติลงง่ายๆ แม้ว่ากลุ่มชาติพันธ์ต่างๆจะยึดอำนาจจากรัฐบาลทหารพม่าไว้ได้ ก็ยังต้องมีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆต่อไปอีกยาวนาน การไหลทะลักเข้ามาของผู้อพยพก็ยังดำเนินต่อไป ดังนั้นการขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนแต่อย่างใด หากไม่มีการผลักดันแรงงานเถื่อนทั้งหมดกลับไปก่อนแล้วค่อยขึ้นทะเบียนกลับเข้ามาใหม่ แต่ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญเมื่อแรงงานเมียนและครอบครัววเข้ามาอยู่ในไทยแล้วมักจะไม่กลับออกไป ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งยากที่จะควบคุม

“ ที่เขาอ้างว่าสงครามรุนแรง จริงๆไม่ได้รุนแรงทุกพื้นที่นะ บางพื้นที่ก็ใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ด้วยภาวะสงครามทำให้เศรษฐกิจไม่ดี สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง เพราะมีการโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐาน โจมตีรถขนส่งน้ำมัน รถขนส่งสินค้า ซึ่งเส้นทางหลักที่นำเข้าสินค้าไปเมียนมาคือรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กองกำลังเขาโจมตีรถขนส่งสินค้าเพื่อตัดเสบียง ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเมียนมาลักลอบเข้ามาทำงานในไทยคือค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเมียนมาถึง 5 เท่า คืออยู่ในเมียนมาได้ค่าแรงวันละแค่ 70 บาท แต่มาทำงานในไทยค่าแรงวันละ 363 บาท อีกทั้งประเทศไทยยังทำมาหากินง่าย สะดวกสบายทุกอย่าง จะไปไหนก็ได้ อิสระเสรี อะไรที่ทำไม่ได้ที่บ้านเขา อยู่บ้านเราเขาทำได้หมด เมื่อเข้ามาแล้วเขาเลยไม่อยากกลับ อยู่สักพักก็พาครอบครัวมาอยู่ด้วย ดังนั้นต่อให้การสู้รบสงบลงเขาก็ไม่กลับ ” แหล่งข่าว กล่าว

วิธีการลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมายของแรงงานเมียนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย “แหล่งข่าว” ให้ข้อมูลว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานชาวเมียนมาในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอดีต จากเดิมที่ผู้ที่ลักลอบนำเข้าคือคนไทย โดยให้ชาวเมียนมาที่เดินเท้าเข้ามาซุ่มรออยู่ตามป่า และจ้างคนไทยขับรถขนแรงงานเถื่อน พาขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อฟอกให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ส่งไปทำงานตามโรงงานของไทย แต่ปัจจุบันคนเมียนมาที่อยู่ในไทยลักลอบนำเข้าแรงงานเอง เดินเรื่องขึ้นทะเบียนเอง และส่งให้นายจ้างที่เป็นชาวเมียนมา แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นมอมินี

แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยจึงผสมผสานกันทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย ทำงานให้กับนายจ้างไทยและนายจ้างเมียนมา อยู่กันเป็นชุมชน แต่เวลาจับจ่ายใช้สอยเขาจะซื้อของหรือใช้บริการจากร้านค้าที่เจ้าของเป็นเมียนมาด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีทุกธุรกิจ ตั้งแต่ ต่อใบอนุญาตทำงาน ทำพาสปอร์ต ทำวีซ่า ทำใบขับขี่ ซื้อขายรถยนต์ ร้านตัดผม ร้านขายของชำ ฯลฯ ดังนั้นแรงงานเหล่านี้จึงไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด ขณะเดียวกันกลับเป็นการสร้างอาณาจักรของชาวเมียนมาบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงอีกด้วย

“ เดิมคนไทยขนแรงงานเถื่อนเข้ามาก็แย่อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันคนพม่าขนกันเองเลย เท่าที่รู้ขนแรงงานแต่ละรอบได้ค่าจ้างหลักหมื่นหลักแสน มีคนพม่าที่ทำธุรกิจขายรถเล่าให้ฟังว่าคนพวกนี้ขนแรงงานครั้งเดียวก็ออกรถได้แล้ว เขาไม่กลัวถูกจับด้วยนะ เพราะมองว่าคุ้ม บางคนถูกจับก็เคลียร์ได้ นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจจากพม่าที่เข้ามาตั้งโรงงานหรือตั้งบริษัทในไทย โดยใช้วิธีเช่านายจ้างเพื่อใช้ชื่อคนไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เจ้าของตัวจริงคือพม่า ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ ไปซื้อบริษัทที่คนไทยไม่ทำแล้ว โดยพม่าเข้ามาบริหารจัดการ แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี หรือแบบที่สอง พม่าเข้ามาตั้งบริษัทเองเลย แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นเจ้าของ แรงงานก็เป็นพม่า ลูกค้าก็เป็นพม่า เงินหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มพม่า ค่าจ้างที่ได้จากนายจ้างคนไทยก็ไหลเข้าธุรกิจของพม่า พวกนี้น่ากลัวกว่าจีนนะเพราะจีนเข้ามาทำธุรกิจอย่างเดียว แต่พม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ” แหล่งข่าว กล่าว

กลุ่ม RUK ชุมนุมที่สวนหลวง ร.9
จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่งไม่ได้มีแค่ประชาชนทั่วไป แต่ยังมีกลุ่มต่อต้าน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงทหารของฝ่ายรัฐบาลพม่าและทหารของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้ามาในรูปของแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเข้ามาเพื่อทำมาหากินเป็นหลัก ขณะที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มทหารนั้น บางส่วนจะเข้ามาโดยอาศัยความเป็นแรงงาน บางส่วนก็ลักลอบหลบหนีเข้ามาอยู่กับชาวเมียนมาที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน โดยไม่ได้ทำงานอะไร มาอยู่อาศัยและใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการเคลื่อนไหว โดยมีการเปิดรับบริจาคเพื่อระดมทุนไปสนับสนุนการต่อสู้ในเมียนมา กลุ่มนี้จึงถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งเป็นกลุ่มแก๊งและนัดรวมตัวกันเป็นหลักร้อยหลักพันคน โดยแก๊งหลักๆ ได้แก่ RUK , Bad boy , แก๊ง 037

แหล่งข่าว ระบุว่า ทันทีที่เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งนักเคลื่อนไหว อดีตทหาร หรือคนที่เคยก่อคดี ก็ไหลเข้ามาพร้อมกับแรงงาน บางคนเข้ามาแล้วก็ทำงานไปด้วย เคลื่อนไหวไปด้วย บางคนก็เคลื่อนไหวอย่างเดียว บางคนมาตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊ง คนพวกนี้อยู่บ้านเขาชุมนุมไม่ได้ เพราะกฎหมายเขาแรง เลยมาเคลื่อนไหวในเมืองไทยเพราะการบังคับใช้กฎหมายของเราหย่อนยาน ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่ม RUK ที่สวนหลวง ร.9 ซึ่งอ้างว่าเป็นการประชุมเพื่อระดมเงินไปช่วยคนที่เดือนร้อนจากภาวะสงครามในเมียนมา ซึ่งจริงๆแล้วการชุมนุมลักษณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

“ แรงงานเมียนมามักจะมีหัวโจ๊กแกนนำ ตั้งตัวเป็นมาเฟีย หากใครไม่ทำตามจะถูกคนในกลุ่มทำร้ายทุบตี เวลาแกนนำจะต่อรองกับนายจ้างก็จะมักขู่ลาออกโดยให้สมาชิกในกลุ่มลาออกพร้อมกันทั้งหมด เวลามีการชุมนุมกลุ่มแก๊งต่างๆก็จะสั่งให้สมาชิกในกลุ่มไปชุมนุมด้วย แม้จะไม่รู้ว่าไปชุมนุมอะไร ไม่อยากไปก็ต้องไป ใครนำข้อมูลในกลุ่มไปเปิดเผยก็โดนยำ บางคนถึงขั้นถูกตั้งค่าหัวไล่ล่าเพราะเขามีเครือข่าย อย่างกลุ่ม RUK ถ้าดูจากรหัสที่เขาใช้ในออนไลน์ กลุ่มย่อยเขาน่าจะมีเกลุ่มเป็นพันกลุ่ม ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างมาก ” แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ ล่าสุดคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ได้จัดทำแคมเปญการรณรงณ์คัดค้าน มติ.ครม.วันที่ 4 ก.ย.2567 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ผ่าน chang.org ภายใต้ชื่อแคมเปญ“คัดค้านการฟอกขาวแรงงานเถื่อน” ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดย ณ วันที่ 4 ต.ค. 2567 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 10,000 คน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ https://www.change.org/p/ร่วมคัดค้านการฟอกขาว-แรงงานเถื่อน



ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น