xs
xsm
sm
md
lg

เลขาธิการ ACT ชี้ 20 ปีผ่านไปยังปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ แจง ‘2 กลุ่มอิทธิพล’ ตัวการขวางทาง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุใด ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ที่ผ่านมากว่า 20 ปีจึงไม่สำเร็จ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ ACT ระบุ กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ที่อยู่ในยอดพีระมิดขององค์กรตำรวจ และพวกขอบพีระมิด แยบยลเหมือนจะให้ปฏิรูปแต่ทำได้แค่ปรับจนทำให้มีอัตรานายพลเพิ่มขึ้น สุดท้ายจบด้วยการสมยอมในทำเนียบและรัฐสภา ส่วนปัญหาเดิมๆ ยังคงเน่าเฟะ ทั้งเรื่องหวย บ่อน ซ่อง ซื้อขายตำแหน่ง ทุนจีนสีเทาข้ามชาติ พนันออนไลน์เฟื่องฟู จนนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของประชาชน เชื่อความขัดแย้งของ ‘บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก’ ยิ่งทำให้ความแตกแยก แบ่งขั้วอำนาจ-ผลประโยชน์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แนะนายกฯ เศรษฐา รีบปฏิรูปตำรวจ แจงประชาชนให้ชัดมีแผนอะไร อย่างไร ติงอย่าดึง ‘อดีตนายพลตำรวจ’ ที่ชอบบทบาทเดิมๆ เข้ามาเป็นกรรมการปฏิรูป ต้องได้คนใหม่ คิดใหม่ เพื่อสร้างองค์กรตำรวจใหม่ เรียกศรัทธาคืนจากประชาชน!

จะผ่านมาสักกี่ปีก็ตาม ‘องค์กรตำรวจ’ ยังคงเป็นหน่วยงานสำคัญที่สังคมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพราะถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และยังเป็นหน่วยงานต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้นำขององค์กรมากี่คนแล้วก็ตาม ไฉนเลยวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจยังคงเหมือนเดิม

ทั้งๆ ที่มีความพยายามจะปฏิรูปองค์กรตำรวจมากี่ครั้งก็ตาม แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จหรือสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้จริงหรือไม่?

แต่กลับมีภาพลบๆ ออกมาตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับข่าวความขัดแย้ง ของ ‘2 บิ๊กนายพล’ คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (บิ๊กต่อ) กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (บิ๊กโจ๊ก) แห่งบิ๊กตำรวจ ที่มีการเปิดโปง สาวไส้กันเองเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นำมาซึ่งความร่ำรวยมหาศาล จนประชาชนไม่รู้ว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดเท็จ และจะฝากความหวังกับองค์กรนี้ได้อย่างไร

ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ซึ่งได้เกาะติดเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เพจของ ACT http://www.anticorruption.in.th ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวงการตำรวจให้ผู้สนใจเข้าไปค้นอ่านได้ เช่น “ตำรวจบนโรงพัก แตะอะไรก็เป็นเงิน” หรือ ‘ตำรวจกับคอร์รัปชัน’ หรือมีการโยนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตำรวจว่า ‘การปฏิรูปตำรวจยังอึมครึม’ ให้แฟนเพจมาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อสรุปส่งรัฐบาลให้มีการแก้ไขต่อไป

เลขาธิการ ACT บอกว่า ได้มีการตรา พ.ร.บ.ตำรวจ ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2547 ให้เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยังมีการแก้ไขด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.ในปี 2554 2558 และปี 2562 อีกทั้งมีการแก้ไขด้วยคำสั่งคณะรัฐประหารอีก 7 ฉบับ ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกยกเลิกเพื่อใช้กฎหมายใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

ดังนั้น เท่ากับว่าในรอบ 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2547-2567 มีการออกและแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจรวม 12 ครั้ง แต่ความพยายามแก้ไขแบบปีเว้นปีขององค์กรตำรวจนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์กับสังคมและประชาชนแต่อย่างใด

“สิ่งที่เราเห็นทุกครั้งที่มีการปรับปรุงแต่ละครั้ง เราจะมีระดับนายพลเพิ่มมากขึ้น มีการขยายกำลังเจ้าหน้าที่มากขึ้น แต่ปัญหาสำหรับชาวบ้านยังคงเหมือนเดิม หรือเรียกว่าเพิ่มมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป”

 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (บิ๊กโจ๊ก ) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (บิ๊กต่อ)
โดยภาพขององค์กรตำรวจที่สะท้อนออกมาสู่สังคมในอดีตเมื่อ 20 ปี และปัจจุบันยังคงเป็นภาพลักษณ์แบบเดิมๆ มาตลอด ทั้งส่วยทางหลวง ด่านลอย มีการซื้อขายสำนวนคดี มีการรีดไถชาวบ้าน มีการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ ส่วยแรงงานข้ามชาติ แก๊งจีนเทา ธุรกิจสีเทาที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ หวย บ่อน ซ่อง ยาเสพติด และยิ่งหนักขึ้นทุกวันคือพนันออนไลน์กลายเป็นช่องทางให้ตำรวจเข้าไปเอี่ยวและรีดไถได้ สิ่งเหล่านี้ ประชาชนเกลียดทั้งนั้น แต่ทุกอย่างเต็มบ้านเต็มเมือง

ดร.มานะ ย้ำว่า สิ่งที่ปรากฏออกสู่สายตาประชาชนนั้น ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นตำรวจและองค์กรตำรวจอย่างรุนแรง และยิ่งมีสิ่งที่หลายๆ คนต้องประสบกับตัวเอง คือการไม่ได้รับความเป็นธรรม เรื่องการบริการจากตำรวจ เราจะเห็นอยู่เรื่อยๆ ว่าประชาชนไปติดต่อที่โรงพัก จะเต็มไปด้วยความยุ่งยาก ความสับสนและอาจจบด้วยผลประโยชน์หรือไม่?

อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของตำรวจที่ปรากฏออกสู่สังคมนั้นประชาชนจึงต้องการให้มีการปฏิรูป ถ้าเราไม่ปฏิรูปเราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ สังคมจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายประชาชนจะไม่รักไม่ผูกพัน และไม่เชื่อมั่นในประเทศของตัวเอง เพราะต้องไม่ลืมว่า ตำรวจคือต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

“ยิ่งเหตุการณ์ล่าสุดความขัดแย้ง 2 นายพลตำรวจเอก เปิดโปงกันไปมา สุดท้ายไปสู่ภาพของการแบ่งฝักแบ่งฝายในองค์กรตำรวจชัดเจนและรุนแรง เชื่อว่าจะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นหากไม่ปฏิรูปองค์กร เพราะสิ่งที่ปรากฏออกมามันสะท้อนอะไรมากมาย แต่ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธาเพิ่มขั้น”

เลขาธิการ ACT ย้ำอีกว่า สังคมสงสัยกันว่าเหตุใดถึงปฏิรูปองค์กรตำรวจไม่สำเร็จทั้งที่มีความพยามยามที่จะปฏิรูปตลอดมา แต่กลับเป็นแค่การปรับปรุงเพื่อเพิ่มกำลังหรืออัตราตำรวจขึ้นไปอีก เพราะไม่ว่าใครก็ตามได้คุมองค์กรตำรวจ จะมีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ที่จะไปช่วยพวกพ้องได้ จะใช้ไปกลั่นแกล้งคู่แข่งขันได้ จะนำไปหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่ทำให้ปฏิรูปองค์กรตำรวจไม่สำเร็จจึงประกอบด้วย

กลุ่มแรก คือคนในรัฐบาลและคนที่เป็นผู้นำของตำรวจในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงตำรวจที่เกษียณไปแล้ว แต่ยังมีอำนาจ มีบารมีอยู่ คนพวกนี้ไม่ยอมที่จะเสียโอกาสในการควบคุมและไม่ยอมเสียประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ

กลุ่มที่สอง คือคนที่อยู่ในลำดับถัดลงไป และคิดว่าตัวเองกำลังอยู่สายอำนาจและกำลังจะก้าวขึ้นมามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ช่วยพยุงเอาไว้เขาจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อช่วยกันรักษาสถานภาพเช่นนี้เอาไว้

“สองกลุ่มนี้จะจำยอมถ้าประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาจะค่อยๆ คลายอำนาจแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อกลบกระแสให้สังคมเห็นว่ามีการปฏิรูปแล้ว และสิ่งที่เราพบเจอทุกครั้งที่พูดเรื่องปฏิรูปตำรวจ จะมีพวกต่อต้านการปฏิรูปและพวกต้องการกลบกระแสออกมาเล่นบทนี้”

แต่สุดท้ายเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจจะจบลงด้วยการสมยอมในทำเนียบรัฐบาลและในรัฐสภา นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปตำรวจล้มเหลวมาตลอด ต่อให้เสนอ หรือตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแบบปีเว้นปีจะไม่ได้อะไรเลย

ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT


ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในสายอำนาจหรือกลุ่มที่สอง คือ คนที่เป็นระดับผู้บัญชาการ หรือ ระดับนายพลใน ก.ตร. กลุ่มนี้แหละต้องจับตา เพราะกำลังตำรวจเปรียบได้กับสามเหลี่ยมพีระมิด ตำรวจในกลุ่มที่มีอำนาจจะอยู่ส่วนยอดพีระมิด ซึ่งมีจำนวนน้อย และส่วนที่กำลังจะขยับเข้าสู่อำนาจหรือก้าวสู่ยอดพีระมิดจะอยู่ริมๆ พีระมิดนั่นเองซึ่งยังมีจำนวนน้อยเช่นกัน

“ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องต่างๆ แต่พวกเขากลับเป็นคนที่ถูกตำหนิ และถูกมองในทางลบจากสังคมตลอดเวลา พวกนี้จะอยู่เป็นฐานพีระมิด กลายเป็นกลุ่มคนที่อยากปฏิรูปองค์กรตำรวจ แต่เปลี่ยนไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจใดๆ”

ดร.มานะ ยกตัวอย่างถึงการเสนอให้มีการ “ปฏิรูปตำรวจ โดยตำรวจและประชาชน” รอบล่าสุด ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเสนอมากมาย มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการและสื่อมวลชน แต่เมื่อเข้าถึงขั้นตอนการแก้ไขกฎหมาย สรุปมีการแก้ไขตัดตอน ดึงประเด็นสำคัญๆ ออกไป โดยทำในกลุ่มคนไม่กี่คน

“ประชาชนฟังว่าจะเปลี่ยนตรงนั้น ตรงนี้ มีการลดบทบาท และกระจายบุคลากร ทำให้องค์กรมีขนาดเล็กลง เพื่อง่ายต่อการดูแลและบริหารจัดการได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงในการปฏิรูปล่าสุด”

ประเด็นสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้จริงในปัจจุบันนั้น ดร.มานะ บอกว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งคือเป็นประธาน ก.ตร. จะต้องประกาศออกมาว่า ต้องการปฏิรูปตำรวจไปในทิศทางใดและควรเป็นอย่างไร ซึ่งนายกฯ จะต้องรู้เรื่องตำรวจอย่างจริงจังและถ่องแท้ พร้อมสรุปประเด็นมาบอกกับสังคมได้ว่า อะไรคือสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้น ณ เวลานี้

อีกทั้งเมื่อมีกระบวนการปฏิรูปตำรวจแล้วก่อนที่จะมีการเสนอเข้าสภา ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ก่อน จึงจะเสนอสภา ซึ่งจะมีการตัดลด ตัดทอนใดๆ เกิดขึ้นตามมานั่นเป็นอีกขั้นตอนต่อไป

“นายกฯ บอกมาเลย ขั้นต่ำและเป็นไปได้ เช่น ต้องการเปลี่ยน 1-9 อะไรบ้าง ซึ่งต้องบอกชัดเจน และการจะเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการปฏิรูป และอดีตนายตำรวจคนไหนขัดขวางไม่ให้องค์กรตำรวจเป็นองค์กรสมัยใหม่ และต้องการรักษาบทบาทแบบเดิมๆ คนพวกนี้อย่าเอาเข้ามาเด็ดขาด แต่ถ้าจำเป็นต้องให้เข้ามาควรอยู่ในสัดส่วนที่น้อยที่สุด หรือให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ก่อนนำเข้ามาเป็นกรรมการก็ได้เพื่อรู้จุดยืนของกรรมการคนนั้น”

ขณะที่ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งสมัยรัฐบาล คสช.และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การปฏิรูปตำรวจก็ไม่สำเร็จนั้น ดร.มานะ บอกว่า จริงๆ แล้วใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลและมีอำนาจคุมตำรวจอาจจะรู้สึกเสียดายโอกาส บางรัฐบาลไม่กล้าไปขัดใจตำรวจที่มีอำนาจอยู่ เกรงว่าตำรวจจะไม่ทำงานให้ กลัวว่าตำรวจจะไม่เป็นมือเป็นไม้ให้ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผู้มีอำนาจที่คิดแบบนี้เช่นกัน

“หน้าที่ตำรวจที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มันหายไปไหน หรือห่วงแต่ผลประโยชน์ ส่วนการเมืองยังห่วงแต่ผลประโยชน์ของคนที่อยู่ในอำนาจ หรือตำแหน่งเท่านั้น”


สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จจะไม่สามารถตีเป็นมูลค่าความเสียหายได้ก็ตาม แต่สิ่งที่สังคมได้เห็นและรับรู้คือตัวเลขการซื้อขายตำแหน่งที่ปรากฏออกมานั้น ได้สะท้อนให้เห็นอะไรมากมาย มีการวางคนของตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ หรือมีผลประโยชน์สูงหรือกุมความลับอยู่มาก พวกนี้ล้วนสร้างเครือข่ายอำนาจ หรือผลประโยชน์พวกใครพวกมัน ทีใครก็ทีมัน เราจึงเห็นความขัดแย้งในวงการตำรวจอย่างต่อเนื่อง

“ผมเชื่อว่าการต่อสู้กันระหว่างสองนายพลเอก ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ประชาชนก็รู้ดี แต่มันคือการหักกันในเรื่องเครือข่ายอำนาจ และผลประโยชน์ที่ยอมกันไม่ได้ และนับวันมันจะแรงขึ้นๆ เพราะมันมีการสร้างสายกันขึ้นไป ประชาชนต้องติดตาม”

ถึงวันนี้หากรัฐบาลเศรษฐา ไม่รีบดำเนินการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง เราจะเห็นความขัดแย้งและแบ่งขั้วกันชัดเจนและจะยิ่งรุนแรงต่อไปอีก ซึ่งความเดือดร้อนจะตกอยู่กับประชาชน และองค์กรตำรวจจะยิ่งเสื่อมในสายตาประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

“คนที่จะกู้วิกฤตศรัทธาในสายตาประชาชนคืนมาได้ จึงอยู่ที่ตำรวจต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเอง ตามด้วยประชาชนต้องช่วยกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูป ไปช่วยกันกดดันนักการเมือง ถ้าผลประโยชน์มีมาก นักการเมืองก็อาจจะฝืนมติมหาชน ประชาชนจึงต้องร่วมกันเสียงดังๆ ทำกันให้สุดขั้วเพื่อบีบให้นักการเมืองต้องยอม เรายังเชื่ออดีตข้าราชการ อดีตตำรวจที่รักองค์กรตำรวจอยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าเช่นกัน”

ดร.มานะ บอกทิ้งท้ายว่า ถ้าปฏิรูปตำรวจสำเร็จ สิ่งที่สังคมจะได้เห็นคือ ความใกล้ชิดระหว่างตำรวจกับประชาชนจะดีขึ้น การใช้อำนาจของตำรวจจะต้องถูกตรวจสอบได้ ทั้งจากตำรวจด้วยกันเองและองค์กรภายนอก ภาพลักษณ์ที่ลบๆ ก็น่าจะดีขึ้น และสุดท้ายประชาชนจะรักตำรวจ ไม่รู้สึกว่าตำรวจน่ากลัว โดยเฉพาะถ้าคนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ยังรู้สึกว่ามีด่านคอยรีดไถ ซึ่งถ้าความรู้สึกนี้ยังแก้ไม่ได้ สังคมยังจะไม่เห็นตำรวจเป็นมิตรกับประชาชนอย่างแท้จริง

นี่คือความหวังในการปฏิรูปตำรวจแม้จะผ่านมาแล้ว 20 ปีก็ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนจะต้องรออีกกี่ปีองค์กรตำรวจจึงจะเรียกศรัทธาจากประชาชนได้คืน ยังไม่มีใครการันตี หรือตอบได้เช่นกัน โดยเฉพาะความขัดแย้งของ 2 นายพลเอก ล้วนแต่ตอกย้ำการแบ่งขั้วอำนาจและผลประโยชน์ชัดเจนยิ่งขึ้นจริงหรือไม่!?

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น