xs
xsm
sm
md
lg

“ดำรงค์ พิเดช” เตรียมล่ารายชื่อ “ถวายฎีกา” Save ทับลาน แฉหาเหตุออก ส.ป.ก.ทั้งที่ “พ.ร.บ.อุทยานฯ” ให้สิทธิทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดำรง พิเดช” จี้ “เศรษฐา” ยกเลิกมติ ครม.14 มี.ค.66 ชี้เฉือนผืนป่าเอื้อนายทุน พร้อมประกาศกร้าวเตรียมล่ารายชื่อประชาชนทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพื่อถวายฎีกา! แฉเปลี่ยนป่าอนุรักษ์เป็น ส.ป.ก.เพื่อให้คนทับลานมีที่ทำกินแค่ข้ออ้าง เพราะปัจจุบัน มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานให้สิทธิชาวบ้านดั้งเดิมอยู่อาศัยและทำกินในอุทยานแห่งชาติทับลานได้อยู่แล้ว พบ ส.ป.ก.ทั้งประเทศ 40 ล้านไร่ อยู่ในมือนายทุนถึง 30 ล้านไร่ ด้าน “ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” เผยชาวบ้านไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ และเดิมมีคณะกรรมการอุทยานเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาที่ทำกินในพื้นที่อุทยาน แต่ฝ่ายการเมืองตั้ง คทช.ขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อน เพราะสามารถสั่งการได้ ขณะที่ “จตุพร” ระบุ ปรากฏการณ์ “SAVEทับลาน”กระทบเสถียรภาพรัฐบาล



ปรากฏการณ์ “SAVEทับลาน” ถือเป็นการรวมพลังของของผู้คนในหลายภาคส่วนที่ร่วมกันส่งเสียงคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปจัดสรรเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นการเฉือนพื้นที่ “ป่ามรดกโลก” ให้นายทุน อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางส่วนมองว่ากระแสดังกล่าวเป็นการมองเพียงด้านเดียว และสังคมควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ

ส่วนว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้ที่คลุกคลีกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า และดูแลชาวบ้านที่อยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน

นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า เนื่องจากมติ ครม.วันที่ 14 มี.ค.2566 ที่ให้มีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นั้น จะส่งผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงประมาณ 265,000 ไร่ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นการกันพื้นที่ออกจากการเป็นป่าอนุรักษ์เพื่อนำไปแปลงเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตนจึงขอเรียกร้องให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว ซึ่งเปรียบเสมือนการซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ ช่วยคนจนพ่วงคนรวย แต่ถ้านายกฯ ดื้อดึง ไม่ยกเลิกมติ ครม.ฉบับนี้ และเห็นควรให้ตัดพื้นที่อุทยาน 265,000 ไร่ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เราจะถวายฎีกาโดยจะร่วมกับองค์กรเอกชนและประชาชนทั่วประเทศเพื่อที่จะร่วมกันปกป้องผืนป่าให้เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน

ตอนนี้ประเด็นสำคัญที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้คือ ปัจจุบันประชาชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานสามารถอยู่อาศัยและทำมาหากินได้โดยมีกฎหมายคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมหรือขับไล่ออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้คนสามารถอยู่กับป่า และทำกินต่อไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน เพียงแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่สามารถนำที่ดินไปขาย ดังนั้นในเมื่อประชาชนไม่ได้เดือดร้อนอะไรแล้วจะไปเปลี่ยนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็น ส.ป.ก.ทำไม?

ทั้งนี้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) มาตรา 64 วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่จะมีสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติได้ จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยตามกรอบเวลาตามมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 กล่าวคือ ประชาชนที่จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยชุมชนที่อาศัยในพื้นที่อุทยานจะไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น หากแต่สามารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

“ถ้านายกฯ ไม่ยกเลิกมติ ครม.เราจะเปิดให้มีการร่วมลงชื่อถวายฎีกาผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศ คือถ้าให้คนจนไม่มีใครว่า แต่นี่จะเหมาเข่งยกที่ดินให้เศรษฐีด้วย เรายอมไม่ได้ ที่จริง พ.ร.บ.อุทยานอนุญาตให้ชาวบ้านที่อยู่ในเขตอุทยานสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ได้อยู่แล้ว แต่คุณจะแยกที่ของอุทยานออกมาเพื่อออก ส.ป.ก.และในอนาคตจะได้ออกเป็นโฉนด แล้วป่าจะเหลืออะไร? ถ้าอยู่ในผืนที่ป่าไม่ได้ป่านนี้ชาวเขาหลายแสนคนไม่เดินขบวนกันแล้วเหรอ แต่ตอนนี้มีกำนันผู้ใหญ่บ้านในทับลานออกมาบอกว่าเห็นด้วยที่จะให้เถ้าแก่มาสร้างโรงแรมในหมู่บ้านตัวเอง จะให้เอกชนมาลงทุน ชาวบ้านจะได้มีงานทำ พูดอย่างนี้ได้ยังไง มันเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะมาทำรีสอร์ตได้ยังไง อย่างนี้ไม่ใช่การจัดสรรที่ดินเพื่อคนยากคนจนแล้ว ถ้าให้ทับลานทำรีสอร์ตได้ก็ต้องให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทำรีสอร์ตด้วย” นายดำรงค์ กล่าว

แผนที่ซึ่งแสดงจุดที่ยังมีปัญหาทั้ง 3 กลุ่ม สีเหลือง พื้นที่ทับซ้อน ,สีน้ำเงิน พื้นที่ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงนำชาวบ้านเข้ามาอยู่ ,สีแดง พื้นที่มีมีการออก นส.3 ก.
อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ชี้แจงว่า หากต้องการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอุทยานจริง ไม่ว่าจะได้สิทธิอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินตามมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 หรือได้สิทธิจากการถือครอง ส.ป.ก. ก็ไม่แตกต่างกันนัก โดยมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ให้สิทธิประชาชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแต่เดิมสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมต่อไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ได้ให้เอกสารสิทธิในการถือครองที่ดิน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยการอยู่อาศัยและทำกินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมอุทยานแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะอยู่ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ให้สิทธิประชาชนใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่สามารถซื้อขาย นำไปจำนอง หรือโอนเปลี่ยนมือ และห้ามใช้ทำประโยชน์ที่ไม่ใช่การเกษตร แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกแก่ทายาทได้ แต่ทายาทต้องใช้ทำเกษตรกรรมเท่านั้น ซึ่งสิทธิอย่างเดียวที่ต่างกันคือ ส.ป.ก.สามารถยื่นขอออก “โฉนดเพื่อการเกษตร” ซึ่งใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ปัญหาที่ตามมาจากการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. คือ ที่ผ่านมามีผู้ถือครอง ส.ป.ก.จำนวนไม่น้อยนำที่ ส.ป.ก.ไปขาย และคนที่ซื้อไปก็นำที่ดินไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตร โดยเฉพาะโรงแรม รีสอร์ต หรือขายทำกำไรอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น เพราะคนที่ได้ ส.ป.ก.แล้วก็นำไปขาย แล้วไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้เป็นที่ทำกินใหม่ รวมทั้งกลุ่มทุนหรือผู้มีอิทธิพลได้มีการว่าจ้างให้ชาวบ้านไปบุกรุกป่าเพื่อขอออก ส.ป.ก.อีกด้วย

“ตอนแรกคุณเรียกร้องอยากได้ที่ดินทำกิน เขาก็แก้กฎหมายให้สามารถทำกินในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติได้แล้ว ไม่มีการจับกุม แล้วทำไมจะมาเรียกร้องให้ออกเป็น ส.ป.ก.อีก ถ้าอยากได้สิทธิอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอุทยานจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 หรือภายใต้ ส.ป.ก. ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะตามกฎหมายสามารถอยู่ได้ ทำมาหากินบนที่ดินได้ และสิทธินี้ตกทอดถึงทายาท แต่เอาที่ไปขายไม่ได้ แต่ที่ดิ้นรนอยากได้ ส.ป.ก.กันเพราะบางคนอยากเอาไปขาย บางคนที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลานตอนนี้เป็นพวกทำรีสอร์ต จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 40 ล้านไร่ทั่วประเทศ ตกไปอยู่ในมือนายทุนถึง 20-30 ล้านไร่ ไปตรวจสอบได้เลยว่าชื่อคนที่ถือครองที่ ส.ป.ก.ในปัจจุบัน เป็นชื่อเดียวกับคนที่ได้สิทธิ ส.ป.ก.หรือทายาทหรือเปล่า ดังนั้น ตอนนี้รัฐบาลและกรมอุทยานต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่า พ.ร.บ.อุทยานอนุญาตให้ชาวบ้านที่อยู่ดั้งเดิมทำกินในพื้นที่ป่าอุทยานได้” นายดำรงค์ กล่าว

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในครั้งนี้นั้นถือเป็นปรากฏการณ์ร่วมของหลายภาคส่วนในสังคม ซึ่ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผืนป่าก็เป็นหนึ่งในแกนหลักที่เคลื่อไหวเรื่องนี้เช่นกัน

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า การเคลื่อนไหวเพื่อ SAVEทับลานนั้นเป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายเอ็นจีโอต่างๆ และคนที่สนใจเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานนั้นมีหลากหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมสังเกตการณ์ในการรับฟังความเห็นในพื้นที่ซึ่งติดตามเรื่องนี้อยู่ กลุ่มองค์กรที่ทำเรื่องงานอนุรักษ์ทรัพยากรในระดับพื้นที่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่จะรวมกลุ่มชุมนุมประท้วง โดย ณ วันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือพูดคุยกันอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่องของที่ดินทำกิน พื้นที่ทับซ้อน และการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งในส่วนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนั้นได้เข้าไปให้ข้อมูลกับกรรมาธิการที่ดิน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎรแล้ว นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมามูลนิธิสืบ ร่วมเป็นคณะกรรมการของกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วเท่าที่ทราบเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน และได้มีการเปิดเว็บไซต์เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในเรื่องดังกล่าว แต่ด้วยความเป็นข้าราชการจึงไม่สามารถแสดงออกได้มากนัก

“ในส่วนมูลนิธิสืบเราต้องสู้ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 14 มี.ค.2566 ที่ให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งตอนนี้นายกฯ ท่านกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ โดยกำลังรับฟังความเห็นจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ บทบาทของมูลนิธิฯ ตอนนี้จะเน้นการให้ข้อมูลกับสังคม เพราะพลังสำคัญคือพลังของภาคประชาชนที่จะต้องช่วยกันส่งเสียงในเรื่องนี้ ส่วนการขับเคลื่อนในมิติอื่นๆ ของมูลนิธิฯ นั้นคงต้องประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วง” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ

นายภานุเดช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการทำกินในพื้นที่ป่าอุทยาน โดยอนุญาตให้ชาวบ้านดั้งเดิม (ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ในพื้นที่อุทยานก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541) สามารถอยู่อาศัยและทำกินต่อไปได้โดยจัดทำเป็นโครงการขึ้นมา มีการสำรวจการถือครองที่ดิน เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน และมีการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลงแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยดำเนินการในรูปแบบของการประชาคมของชุมชน เป็นการทำงานร่วมกับชาวบ้าน โดยขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรอง (ร่างพระราชกฤษฎีกา) ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่พยายามกันไม่ให้มีประชาชนเข้ามาอยู่เกินกว่าแนวเดิมที่ได้สำรวจไว้ และที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการขับไล่ชาวบ้านซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีที่มีการบุกรุกเพิ่มเติม

“คือเดิมมีคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาที่ทำกินในพื้นที่อุทยานอยู่แล้ว แต่รัฐบาล (สมัย พล.อ.ประยุทธ์) พยายามเบี่ยงไปใช้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลนโยบายที่ดินทั่วประเทศ ให้เข้ามาแก้ปัญหา เขาส่งเรื่องให้ ครม. ก็เป็นเรื่องการเมือง จากนั้นเอาเรื่องกลับมาให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นกลไกปกติดำเนินการ คือเดิมมีกลไกของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติดูแลอยู่แล้ว แต่เขาเปลี่ยนไปใช้กลไกที่เขาสามารถพูดคุยได้” นายภานุเดช ระบุ

สีแดง พื้นที่มีมีการออก น.ส.3 ก.
นายภานุเดช ยังได้เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นอุทยานแห่งชาติทับลาน ถึงไม่มี ส.ป.ก. ก็มี พ.ร.บ.อุทยานที่ให้สิทธิทำกิน ไม่ได้ถูกจับ ไม่ได้ถูกขับไล่ ถ้าไม่ไปบุกรุกพื้นที่ป่าแห่งใหม่อีก เจ้าหน้าที่อุทยานไม่เข้าไปยุ่ง โดยชาวบ้านอยู่กันเป็นชุมชน มีหมู่บ้าน มีโรงเรียน เพียงแต่ไม่มีสิทธิในที่ดิน ซึ่งอาจมีชาวบ้านบางคนที่อยากได้โฉนดและมองว่าถ้าเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ในอนาคตข้างหน้าอาจจะออกเป็นโฉนดได้ ที่มีปัญหาคือพวกที่ทำรีสอร์ต หรือมีสิ่งก่อสร้างที่ผิดวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน มองว่า กระแส SAVEทับลานที่แผ่ขยายไปทั่วในขณะนี้นั้นจะเป็นหนึ่งในแรงกระเพื่อมที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารงานในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะให้ต่างชาติสามารถถือครองคอนโดมิเนียมได้ถึง 75% ของพื้นที่ทั้งหมด จากเดิมที่ถือครองได้เพียง 49% ของพื้นที่ และให้เช่าที่ดินได้นานถึง 99 ปี จากเดิมที่เช่าได้ไม่เกิน 30 ปี ซึ่งถูกมองว่าเป็นการขายคอนโดฯ พ่วงที่ดิน โครงการแลนด์บริดจ์ที่ต้องเฉือนที่ดินให้ต่างชาติถึง 3 แสนไร่ รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลพยายามผลักดันเนื่องจากเป็นนโยบายเรือธงที่ใช้ในการหาเสียง ทั้งที่โครงการดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องแบกภาระหนี้ถึง 1.8 ล้านล้านบาท ล่าสุด ยังสานต่อ มติ ครม. สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกด้วย

“มติ ครม.14 มี.ค.2566 ที่ออกในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนจะไปปลดปล่อยกลุ่มทุนที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ดังนั้น ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องรัฐบาลเศรษฐา ต้องยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว แล้วแยกพื้นที่ที่เป็นปัญหาออกเป็นส่วนๆ ส่วนที่ประชาชนเข้าครอบครองอย่างถูกกฎหมายต้องให้เขามีสิทธิที่จะอยู่ในอุทยาน ส่วนคนที่ไปบุกรุกภายหลังรัฐต้องจัดการ ที่สำคัญคนที่มีคดีฟ้องร้องกันอยู่ ถ้ามติ ครม.นี้มีผลบังคับใช้ก็เท่ากับไปปล่อยคนที่มีคดีให้ลอยนวล ซึ่งกรณีนี้จะเป็นเครื่องวัดวุฒิภาวะของนายกรัฐมนตรี” นายจตุพร ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น