“ดร.ชยงการ ภมรมาศ” อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สะท้อน GDP โตแค่ 1.8% จริงหรือไม่? พร้อมตีแผ่การเติบโตด้านเศรษฐกิจทั้ง 3 ภาคในรอบ 20 ปี พบช่วง 10 ปีตั้งแต่ปี 2555-2565 ภาคเกษตรโตแค่ปีละ 0.3% หรือขยายตัวช้าลงถึง 90% ภาคอุตฯ โตไม่ถึงปีละ 1% ส่วนภาคบริการโตปีละไม่ถึง 3% จึงไม่แปลกที่เกษตรกรเรียกร้องขอเงินอุดหนุนมาตลอด และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งในรอบ 20 ปี GDP ชะลอตัวแบบเหลื่อมล้ำ ชี้ทางออกต้องยกเครื่องใหม่ หวั่นวิกฤตแรงงานในอนาคตที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เสนอแก้วิกฤต SMEs เป็นวาระแห่งชาติ และตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกลุ่ม startup ตั้งเป้าส่งต่อธุรกิจให้มีความมั่นคงต่อไป!
‘ชยงการ ภมรมาศ’ หรือ ดร.หุ้น อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ระบุถึงเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤตที่มีข้อถกเถียงของบรรดานักวิชาการต่างๆ ในมุมมองของ ดร.หุ้น ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ว่าต้องดูผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถดถอยหรือไม่ โดยเฉพาะตัวเลขที่กระทรวงการคลังแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโตแค่ 1.8%
“GDP โตแค่ 1.8% เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและกังวล เพราะเป็นการโตที่ต่ำกว่าศักยภาพมาก ที่สำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจบ้านเราหลังโควิด ก็ไม่มีปีไหนที่โดดเด่น ซึ่งต้องมาแจงกันดูว่าที่โตต่ำเป็นข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่การคาดการณ์ใช่หรือไม่”
จากข้อมูลตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน 3 ไตรมาสของปี 2566 แบ่ง GDP ออกเป็น 3 ภาค (ตารางประกอบ) ประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการ พบว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวที่น่าห่วงที่สุด เพราะหดตัวทุกไตรมาส ไตรมาสที่ 1 หดตัว 3.3% ไตรมาส 2 ติดลบ 2.0% ไตรมาส 3 ติดลบ 2.8%
“แบบนี้น่าห่วง เพราะถ้าพอฟื้นตัวได้จะติดลบน้อยหน่อย แต่ถ้าส่งออกไม่ได้ ภาคอุตฯ ยิ่งน่ากังวล”
ส่วนภาคเกษตรกรรม ไตรมาสที่ 1 ยังเติบโตดี แต่พอมาไตรมาส 2 และ 3 ตัวเลขการเติบโตลดวูบ หากมาเจอวิกฤตธรรมชาติซ้ำเติมอีก ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง ดังนั้น ประเทศไทยต้องหวังการเติบโตจากภาคบริการ โดยเฉพาะนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวน่าจะทำให้ GDP ดีขึ้น แต่ถ้าย้อนไปดูตัวเลขยังถือว่าน่ากังวลเช่นกัน จากไตรมาส 1 โต 5.2 แต่ไตรมาส 2 เหลือ 4.0% และไตรมาส 3 เหลือเพียง 3.9%
“ภาพรวมๆ การเติบโตชะลอลงหมด ส่วนภาคบริการจัดว่าชะลอไม่มาก ที่น่ากังวลสุดคือภาคอุตฯ การเติบโตชะลอลงมาก”
ดร.หุ้น บอกอีกว่า ถ้า GDP เติบโตแบบชะลอ เป็นผลเฉพาะปี 2566 เรื่องนี้รัฐบาลสามารถใช้วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในความเป็นจริงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมาดูและวิเคราะห์กันว่าใช่ปัญหาระยะสั้นจริงหรือไม่?
ทั้งนี้ หากย้อนไปดูข้อมูลลึกลงไป 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2545-2565 เราจะพบข้อมูลที่น่าตกใจมาก เพราะจาก 10 ปีที่ผ่านมาคือปี 2555-2565 พบว่าการเติบโตที่แท้จริงของภาคเกษตร โตจริงๆ แค่ 3% ส่วนภาคอุตฯ โต 8% ใน 10 ปี แต่ภาคบริการโต 31%
“ตัวเลขนี้ชี้ชัดในรอบ 10 ปีภาคเกษตรโตปีละแค่ 0.3% ภาคอุตฯ โตไม่ถึงปีละ 1% ส่วนภาคบริการ แม้จะโต 31% ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะโตปีละไม่ถึง 3%”
ดร.หุ้น ชวนย้อนไปดูข้อมูลในปี 2545-2555 พบว่าภาคเกษตรกรรมโต 31% ขณะที่ปี 2555-2565 ภาคเกษตรโตแค่ 3% ก็แปลได้ว่าการเติบโตของภาคเกษตรในปี 2555-2565 มันหายไปถึง 10 เท่า
นั่นหมายความว่า GDP ปี 2555 ภาคเกษตรโต 30% เมื่อเทียบกับปี 2545 ขณะที่ปี 2565 โตแค่ 3% เมื่อเทียบกับปี 2555 แสดงให้เห็นว่าภาคเกษตรใน 10 ปีนี้ขยายตัวช้าลง 90%
“จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกษตรกรจะมีเสียงบ่นดังๆ และต้องการการอุดหนุนจากรัฐบาลตลอดเวลา ภาคอุตฯ ปี 2545-2555 โตเฉลี่ยปีละ 4.8% ขณะที่ภาคบริการ เจ็บปวดน้อยที่สุด คือปี 45-55 โต 56% แต่ปี 55-65 ตกลงมาเหลือแค่ 31% แต่ยังถือว่าน้อยกว่าภาคอื่น”
อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมชะลอชัดเจน และมีความน่ากังวลเพราะเป็นการชะลอที่ไม่ได้เท่าเทียมกัน โดยภาคเกษตรกรรมและภาคอุตฯ เป็นการชะลอที่หนัก ขณะที่ภาคบริการชะลอลงน้อยกว่า ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหันมาดูภาคอุตฯ และภาคเกษตรอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมามากมายเนื่องจากการเติบโตในระดับนี้ไม่ใช่ระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศไทย
“ตัวเลขการเติบโตช้า ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แข็งแรง คนก็หาเงินไม่พอใช้ จึงทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น เพราะรายได้ของคนโตไม่ทัน นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศ”
ดร.หุ้น บอกอีกว่า รัฐบาลควรต้องหันมามองและยกเครื่องแต่ละภาคที่เป็นตัวชี้วัด GDP ของประเทศ ไม่เช่นนั้นคนที่ทำงานอยู่ในแต่ละภาคเศรษฐกิจจะต้องประสบปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีแรงงานนอกระบบเกินครึ่งอยู่ในภาคนี้ ทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตจะยิ่งแย่ลงหากรัฐไม่เร่งแก้วิกฤตนี้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม รายเล็กๆ ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นจึงจำเป็นที่รัฐต้องสนับสนุนปัจจัย ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิตและสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นต่อไป
1.ทุน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้น GDP ของประเทศในทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนา หรือการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปช่วย เห็นได้จากผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปี ในปี 2565 อยู่ที่ 449 กิโลกรัมต่อไร่ (ดูตารางผลผลิตประกอบ) จึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นแต่คุณภาพข้าวไทยยังเป็นที่ยอมรับเช่นเดิม
ในส่วนของภาคอุตฯ ต้องผลักดันให้สินค้าตรงตามที่โลกต้องการ ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องสนับสนุนตามเทรนด์ของโลกที่หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนต้องตอบสนองโจทย์ที่เปลี่ยนไปได้
“ไทยยังต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทต่างๆ ต้องใช้ทุน สถาบันการเงินของรัฐหรือกองทุนต่างๆ ต้องเอื้อต่อการขยายตัวเช่นกัน”
2.ที่ดิน ยังเป็นเรื่องที่ภาคเกษตรและอุตฯ ต้องการ เรื่องของการจัดรูปที่ดินยังเป็นหัวใจที่จะช่วยภาคเกษตรได้ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงสาธารณูปโภคทั้งเรื่องของแหล่งน้ำที่จำเป็นในการเพาะปลูกที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต
“ส่วนอุตสาหกรรม คนที่จะเปิดโรงงาน ขยายโรงงานมาเจอเรื่องสีผังเมืองที่ไม่อนุญาต รัฐบาลคงต้องมาหารือว่าจะทำอย่างไร รัฐอาจจะขยายการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม SME มาจัดเป็นโซน เป็นคลัสเตอร์ อยู่ด้วยกันในพื้นที่เหมาะสม จะได้ไม่ไปตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ชุมชน จนสร้างผลกระทบต่อชุมชนได้”
3.แรงงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (ตารางโครงสร้างประชากรของไทย) ซึ่งนักวิชาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า ถ้าโครงสร้างประชากรเป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้จำนวนแรงงานของไทยลดลงต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งคุณภาพของแรงงานจะไม่ตรงกับผลผลิตที่โลกต้องการ ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ที่จะต้องมาออกแบบผลิตบุคลากรออกมาให้ตรงกับที่ตลาดต้องการ
“เทคโนโลยีไปไกลมาก ประชากรวัยแรงงานในอนาคตมีการเกิดน้อยลง ระบบการศึกษาจึงสำคัญมากดูว่าโลกต้องการด้านไหน ก็ผลักดันไปสายนั้นให้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้คนไปเรียน เช่น เรื่องเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ต้องผลิตด้านวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรด้าน Data Analytics ใช่มั้ย หลักสูตรต่างๆ ต้องปรับให้ทัน”
ปัจจุบันมีแรงงานอยู่ 40 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบถึง 21 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่อยู่ในระบบจะพัฒนาเพียงแค่ upskill reskill ไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องยกเครื่องด้านการศึกษา และแรงงานไปพร้อมๆ กัน โดยต้องไม่ลืมว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่ทำให้กำลังของภาคแรงงานในระบบของประเทศลดลง
4.ผู้ประกอบการ จำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตปี 2565 มี 523,081 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีรายได้น้อยกว่าเดือนละ 150,000 บาท จำนวน 433,729 ราย หรือประมาณ 80% ผู้ประกอบการขนาดย่อม มีรายได้น้อยกว่า 100 ล้านต่อปี มีจำนวน 77,974 รายหรือประมาณ 15% ผู้ประกอบการขนาดกลาง มีรายได้เกิน 100 ล้านต่อปี แต่ไม่ถึง 500 ล้าน มีจำนวน 7,286 ราย คิดเป็น 1.4% ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 500 ล้านขึ้นไป มีจำนวน 4,092 ราย คิดเป็น 0.8%
ดร.หุ้น บอกต่อว่า การที่จะพัฒนาหรือส่งเสริมผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มในการแก้ไขหรือสนับสนุนอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่ รัฐอำนวยความสะดวก มีการปรับลดกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการคล่องตัว ก็เป็นวิธีการที่ถูกต้อง ขณะที่กลุ่ม SMEs รัฐต้องสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากการพัฒนาของโลกที่เปลี่ยนไป และธุรกิจเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการเป็น Supply Chain ที่ส่งต่อหรือสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อไป
“รัฐต้องดูแลตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามธรรมชาติ บางครั้งธุรกิจไม่กล้าที่จะลงทุน ที่จะต่อยอด เพราะเกิดความกลัว ถ้าปรับเปลี่ยนธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ ถ้ากู้มาลงทุนจะเจ๊งหรือไม่ หรือคนที่มีความสามารถแต่เป็นลูกจ้างก็ไม่กล้ากระโดดออกมาเป็น Startup เพราะกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวความไม่มั่นคง ทำให้เป็นอุปสรรคหรือความหนืดในการปรับตัว”
ดังนั้น นโยบายรัฐต้องลดอุปสรรคที่จะทำให้เกิดความหนืดในการปรับตัว และผลักดันให้กลุ่ม SMEs มีความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องเงินทุน บรรดาแบงก์รัฐทั้ง SME Bank ออมสิน กรุงไทย หรือ ธ.ก.ส. ก็ควรเข้าร่วม เป็นต้น โดยจะต้องมีการส่งต่อหรือสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นยังไม่แข็งแรง ให้ สสว.และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดูแลกันไป พอดีขึ้น แข็งแรงขึ้น ก็ส่งต่อไปยังแบงก์รัฐที่มีนโยบายด้าน SMEs เพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไป
“การทำงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”
ดร.หุ้น ระบุต่อว่า ธุรกิจ SMEs นั้น สถาบันการเงินต่างๆ มองว่ามีความเสี่ยงในการจะปล่อยกู้ จึงทำให้หลายแห่งไม่อยากปล่อยกู้ เพราะเกิดเป็น NPL ทำให้ต้องมีการสำรองหนี้เสีย ดังนั้น หากรัฐต้องการแก้ปัญหา SMEs อย่างจริงจัง รัฐต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในภารกิจนี้
“เริ่มต้นธุรกิจจาก สสว. เมื่อแข็งแรงขึ้น ขยับไปกู้แบงก์รัฐ พอโตขึ้นขยับไปใช้สินเชื่อของแบงก์เอกชนยิ่งศักยภาพมากขึ้นก็ขยับเข้าตลาดหุ้นส่งผลให้ GDP ประเทศโตขึ้นตามไปด้วย”
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐควรจะมีกองทุนที่จะให้การสนับสนุนกลุ่ม startup ซึ่งเป็นช่องทางพิเศษที่นอกเหนือจากขอสินเชื่อแบงก์เพราะการขอสินเชื่อแบงก์จะมีเรื่องของการค้ำประกัน และการสำรองหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เน้นประกอบธุรกิจที่ทันสมัยตามเทรนด์ของโลก
“เราอย่าปล่อยให้ข้าราชการเป็นฝ่ายนั่งคิดฝ่ายเดียว แต่ควรผลักดันเรื่องของ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ ชวนทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน สภาอุตฯ สภาหอ เข้ามาหาแนวทางร่วมกัน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมให้ได้ประโยชน์ต่อไป” ดร.หุ้น ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j