xs
xsm
sm
md
lg

“กรมที่ดิน” เปิดหมดเปลือก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” รู้ข้อมูลเหยื่อได้อย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผอ.กองตรวจฯ กรมที่ดิน” เผยเล่ห์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปะติดปะต่อข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้ง DarkWeb-ขนส่ง-Google Maps-LandsMaps จึงรู้ทั้งชื่อ ที่อยู่ พิกัดที่ดิน ไปจนถึงเลขโฉนดของเหยื่อ จึงเชื่อสนิทใจว่าเป็น จทน.ที่ดิน หลงโหลดแอปกรมที่ดินปลอม ซึ่งจดทะเบียนที่หมู่เกาะโคโคส เหตุกลัวเสียค่าปรับและต้องจ่ายภาษีเกินจริง ทำสูญเงินหมดบัญชี พร้อมระบุมิจฉาชีพพุ่งเป้าเจ้าของที่ดินย่านกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบ ตั้งแต่ มี.ค.ถึงปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนแล้วกว่า 3,000 ราย

กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักทีเดียวสำหรับกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และโทร.ไปหลอกประชาชนโดยอ้างว่าจะมีปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อประกอบการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือส่งเอกสารปลอมที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นหนังสือจากกรมที่ดินไปยังไลน์ของประชาชน โดยแจ้งว่าได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้สำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากเจ้าของที่ดินไม่อัปเดตข้อมูลตามที่แจ้งจะต้องเสียค่าปรับในอัตราสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและดำเนินการตามที่มิจฉาชีพบอกจะถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารออนไลน์จนหมด ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นอกจากผู้เสียหายจะต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ประเด็นที่หลายฝ่ายสงสัยคือ เหตุใดมิจฉาชีพเหล่านี้จึงรู้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร.รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของเหยื่อ ทั้งสถานที่ตั้ง เลขที่บ้าน เลขที่ห้องคอนโดฯ รู้แม้กระทั่งเลขโฉนดที่ดิน ข้อมูลดังกล่าวหลุดออกมาได้อย่างไร? มีการแฮกระบบฐานข้อมูลของกรมที่ดินหรือไม่? หรือว่าเจ้าหน้าที่ที่ดินนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์? เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในหน่วยราชการบางแห่งมาแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนที่ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และล่าสุดผลการตรวจสอบได้ออกมาแล้ว!

นายธนกรณ์ สกุลกิม ผู้อำนวยการกองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ กรมที่ดิน
นายธนกรณ์ สกุลกิม ผู้อำนวยการกองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ กรมที่ดิน เปิดเผยว่า จากที่อธิบดีกรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างชื่อกรมที่ดินในการหลอกลวงเหยื่อ โดยมอบหมายให้ นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานคณะกรรมการ และมีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งผลสรุปออกมาว่า ข้อมูลไม่ได้รั่วไหลจากกรมที่ดิน ระบบฐานข้อมูลของกรมที่ดินไม่ได้ถูกแฮก

แต่มิจฉาชีพได้ข้อมูลมาจากหลายแหล่งแล้วนำมาประกอบกัน โดยได้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร.จากบริษัทหรือพนักงานที่ให้บริการส่งสินค้า หรือจาก Dark Web หรือเว็บมืด (เว็บที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งผิดกฎหมาย โดยไม่รู้จักตัวตนของกันและกัน) จากนั้นจึงนำที่อยู่ของเหยื่อมาเสิร์ชหาตำแหน่งที่ตั้งจาก Google Maps เมื่อรู้ว่าอยู่บริเวณใดแล้วก็ใช้โปรแกรม LandsMaps ในการค้นหาเลขโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ และราคาประเมินที่ดิน (LandsMaps คือระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน ซึ่งเป็นโปรแกรมของกรมที่ดินที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเชื่อมต่อระบบนำทางแผนที่สากลของ Google Maps ซึ่งให้บริการฟรีแก่ประชาชน) โดยมิจฉาชีพจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้หลอกเหยื่อว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดิน ทำให้เหยื่อหลงเชื่อเพราะมิจฉาชีพรู้ข้อมูลอย่างละเอียด

“จุดเด่นอีกข้อของ LandsMaps คือเชื่อมกับ Google Earth สามารถใช้ Street View Google เข้าไปดูได้ว่าบริเวณรอบบ้าน หรือบริเวณที่ดินของเหยื่อมีอะไรบ้าง เช่น มีศาลพระภูมิ รั้วบ้านสีน้ำเงิน รู้หมด ทำให้เหยื่อยิ่งเชื่อถือ ซึ่งที่จริงกรมที่ดินทำแอปพลิเคชัน LandsMaps ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบว่าแปลงที่ดินอยู่ตรงไหน ราคาประเมินเท่าไหร่ ถ้าจะทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินต้องติดต่อสำนักงานไหน แต่มิจฉาชีพกลับนำข้อมูลนี้ไปใช้หลอกให้เหยื่อเชื่อว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจริง” นายธนกรณ์ ระบุ

เอกสารปลอมซึ่งส่งไปหลอกให้เหยื่อเชื่อว่ากรมที่ดินมีนโยบายอัปเดตข้อมูลที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ประเมินการเสียภาษี
เนื่องจากพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้นำข้อมูลจากแอปพลิเคชัน LandsMaps มาใช้ในการหลอกลวงประชาชน กรมที่ดินจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน LandsMaps รูปแบบใหม่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ระบบ LandsMaps จะแสดงข้อมูลเลขโฉนดที่ดิน หน้าสำรวจ และเลขที่ดินเฉพาะผู้ที่เข้าใช้งานระบบโดยยืนยันตัวตนผ่าน ThaiD หรือใช้ระบบผ่านทางรัฐเท่านั้น

ส่วนกรณีที่มีเหยื่อบางรายตั้งข้อสังเกตว่าถูกมิจฉาชีพโทร.มาหลอกหลังจากไปทำธุรกรรมที่สำนักงานที่ดินเพียงไม่กี่วัน เป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่ที่ดินจะรู้เห็นกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น “นายธนกรณ์” ระบุว่า เป็นไปได้หลายสาเหตุ อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือมิจฉาชีพอาจได้ข้อมูลมาจากบุคคลแวดล้อมของเหยื่อ หรือได้ยินจากการพูดคุยของเหยื่อเอง ซึ่งต้องพูดคุยกับผู้เสียหายและดำเนินการสืบสวนเป็นรายๆ ไปจึงจะทราบสาเหตุที่แท้จริง

“กรมที่ดินตรวจสอบในระบบอย่างละเอียด อย่างเคสของนักข่าวท่านหนึ่ง หรือเคสที่ผู้เสียหายไปร้องกับสื่อ เราตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลของบุคลากรในสำนักงานที่ดิน ซึ่งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมที่ดินจะกำหนดผู้ใช้ไว้จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าใครที่เข้าถึงข้อมูลของเหยื่อได้บ้าง ซึ่งเราไม่พบว่ามีคนนอกเจาะระบบเข้ามาแต่อย่างใด ส่วนคนในจะรู้เห็นด้วยหรือไม่ต้องตรวจสอบเป็นกรณีไป แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเหยื่อรายใดแจ้งความประสงค์ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ดิน” นายธนกรณ์ กล่าว

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “นายชยาวุธ จันทร” อธิบดีกรมที่ดิน เคยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ว่า กรมที่ดินได้รับร้องเรียนว่ามีการหลอกลวงในลักษณะนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 โดยพบว่าในช่วง มี.ค.-เม.ย. ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม โดยมิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดินจะรู้ชื่อคอนโดฯ รู้เลขห้อง ถูกต้องหมด และทำทีเป็นถามว่าห้องชุดที่เหยื่อเป็นเจ้าของให้คนเช่า หรืออยู่เอง เมื่อเหยื่อตอบว่าอยู่เอง มิจฉาชีพแย้งว่าแต่จากการตรวจสอบพบว่าให้คนอื่นเช่า ซึ่งอาจเป็นเพราะฐานข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ต้องเสียภาษีและเบี้ยปรับ 20,000-40,000 บาท โดยให้เอาโฉนดห้องชุด ทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนขึ้นไปที่สำนักงานที่ดิน แต่ช่วงที่มิจฉาชีพโทร.ไปหาเหยื่อเลยเวลาราชการแล้ว และอ้างว่าวันนี้ครบกำหนดวันสุดท้ายพอดี ถ้าวันนี้อัปเดตข้อมูลไม่ทันต้องเสียค่าปรับ 40,000 บาท เมื่อเห็นว่าเหยื่อตกใจ มิจฉาชีพอ้างว่ามีบริการพิเศษโดยสามารถอัปเดตข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน Smart Land ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับแอปของกรมที่ดิน แต่เป็นแอปปลอมที่มิจฉาชีพทำขึ้น พอเหยื่อโหลดแอปที่มิจฉาชีพส่งมาเงินจะถูกดูดเงินในบัญชีออกไปหมด

นายธนกรณ์ อธิบายถึงขั้นตอนที่มิจฉาชีพดูดเงินจากบัญชีเหยื่อ ว่า เมื่อเหยื่อคลิกเข้าไปในแอปที่มิจฉาชีพส่งมา แอปดังกล่าวจะส่งมัลแวร์เข้าไปล้วงข้อมูล internet banking หรือธนาคารออนไลน์ในมือถือของเหยื่อ เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของบัญชีแล้วทำการโอนเงินออกไป หากบัญชีธนาคารนั้นมีบัตรเครดิตด้วยจะดำเนินการใช้เงินในบัตรจนเต็มวงเงิน ขณะเดียวกัน มือถือของเหยื่อจะหยุดทำงานหรือที่เรียกว่ามือถือค้าง กดอะไรไม่ได้ ทำให้เหยื่อไม่รู้ว่ามีการโอนเงินในบัญชีออกไป ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจึงได้รับความเสียหายอย่างมาก บางรายถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว


นายธนกรณ์ ระบุว่า แอป Smart Land ของกรมที่ดินของจริงจะต้องดาวน์โหลดจาก App Store และ Play Store เท่านั้น โดย URL ของแอปกรมที่ดินของจริงคือ www.dol.go.th ซึ่ง th ย่อมาจากไทยแลนด์ หมายถึงเว็บไซต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย แต่ UPL ของแอปปลอมที่มิจฉาชีพส่งให้เหยื่อจะใช้ www.dol-ro.cc หรือ www.dol-thgo.cc โดยจุดสังเกตคือลงท้ายด้วย cc ซึ่งเป็นชื่อย่อของหมู่เกาะโคโคส ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองในเครือออสเตรเลีย

ซึ่งจากเล่ห์กลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำให้มีผู้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยนับจากที่กรมที่ดินเริ่มเก็บสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาตั้งแต่ 1 มี.ค.-15 ส.ค.2566 พบว่า มีทั้งผู้ที่โทร.มาสอบถามว่าลักษณะเช่นนี้เป็นการให้บริการของกรมที่ดินหรือเปล่า ผู้ที่โทร.เข้ามาแจ้งว่าพบพฤติกรรมที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และผู้เสียหายซึ่งตกเป็นเหยื่อและสูญเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 3,098 ราย ซึ่งจากข้อมูลเฉพาะที่ผู้เสียหายยอมเปิดเผยพบว่าเหยื่อส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

“กรมที่ดินขอแจ้งเตือนภัยว่าเราไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทร.หาเจ้าของที่ดินเพื่ออัปเดตข้อมูลทุกประเภท ดังนั้นหากมีคนมาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะขออัปเดตข้อมูลห้องชุด ขอเอกสารที่ดิน หรือให้ชำระค่าธรรมเนียม ให้รู้ได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพทั้งสิ้น และที่สำคัญสิ่งที่ประชาชนต้องรู้คือการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ภารกิจของกรมที่ดิน และเราไม่ได้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีที่ดิน การประเมินและจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นายธนกรณ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น