xs
xsm
sm
md
lg

ผิดคิว “พัชรวาท” ส่อทิ้ง ปธ.ที่ปรึกษา พปชร. เหตุไม่อยากเล่นการเมือง-หวั่นกระทบเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.ธนพร” ระบุวงในเผย “พล.ต.อ.พัชรวาท” ไม่รู้ตัวถูกจับนั่งประธานที่ปรึกษาพลังประชารัฐ เหตุคนสนิท "บิ๊กป้อม" สื่อสารผิดพลาด ยัน "บิ๊กป๊อด" ปฏิเสธตำแหน่งทางการเมือง หวั่นกระทบภารกิจภาคเอกชน อีกทั้งอายุมากแล้ว ไม่อยากวุ่นวาย เชื่อการเจรจาระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทย “ร.อ.ธรรมนัส” เอาอยู่ ส่วนการจับมือร่วมรัฐบาลเหลือแค่ลุงเดียว ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร” ไม่รับตำแหน่ง แต่นั่งเก้าอี้ “ผู้มีบารมีตัวจริง” มั่นใจ พปชร.ได้ 3 ที่นั่ง ก.ทรัพย์ ก.ศึกษา และรองนายกฯ ขณะที่กระทรวงคลองหลอด พท.เก็บไว้ให้ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”

เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยกับการประกาศแต่งตั้ง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ โดยว่ากันว่าทางพรรคมาดหมายที่จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบิ๊กป๊อด กับ “ภูมิธรรม เวชยชัย” แกนนำพรรคเพื่อไทยสายทักษิณ ในการเจรจาต่อรองเรื่องการร่วมรัฐบาลระหว่างพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งผลักดันให้ พล.ต.อ.พัชรวาท นั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ทดแทนกับการที่ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพี่ชาย จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลเพื่อลดกระแสต่อต้านพรรคลุง

แต่ล่าสุดแว่วว่างานนี้อาจมีการ “ผิดคิว” เกิดขึ้น เพราะ “บิ๊กป๊อด” หนึ่งในคีย์แมนป่ารอยต่อฯ ยังคงชอบอยู่เบื้องหลังทางการเมือง มากกว่าจะเปิดหน้าเข้ามาเป็นผู้เล่นเอง

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เปิดเผยว่า จากที่ได้พูดคุยกับคนใกล้ชิดของ พล.ต.ท.พัชรวาท ทราบว่า พล.ต.อ.พัชรวาท จะลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเร็วๆ นี้ เนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วท่านไม่ได้อยากเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ หรือเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ โดยแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดยืนยันว่าท่านไม่ประสงค์จะเล่นการเมือง ตอนที่พรรคประกาศแต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ไม่รู้ตัวมาก่อน ซึ่งคิดว่าในทางปฏิบัติน่าจะมีการประสานงาน แต่ไม่ทราบว่าการสื่อสารกันระหว่างผู้ประสานงานกับท่านพัชรวาท อาจจะมีความคลาดเคลื่อนกันหรือไม่ อย่างไร?

ทราบมาว่าตัวท่านไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งนี้ จึงกำลังพิจารณากันว่าท่านจะออกจากตำแหน่ง หรือจะขยับขยายอย่างไร การเข้ามาทำงานในแวดวงการเมืองอาจทำให้ท่านเป็นทุกข์ เพราะท่านอายุมากแล้ว อายุ 70 กว่าแล้ว ดังนั้นการที่ท่านจะต้องมารับภาระดำรงตำแหน่งสำคัญระดับสูงอาจเป็นสิ่งที่ท่านไม่ต้องการในช่วงอายุแบบนี้ คิดว่าท่านอาจจะมีภารกิจส่วนตัว ยังสนุกกับงานด้านอื่น เพราะหลังจากที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เกษียณอายุราชการ ท่านไปเป็นที่ปรึกษาให้ภาคเอกชนหลายแห่ง และมีบทบาทสำคัญในภาคเอกชนเหล่านั้น ท่านมีงานที่เป็นภาระมากมายอยู่แล้ว หากเข้ามาทำงานการเมืองอาจจะทำให้ชีวิตยุ่งยาก หากไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาของภาคเอกชน ซึ่งไม่ทราบว่าท่านมีสัญญาหรือข้อผูกพันกับบริษัทเหล่านี้หรือเปล่า

“ถ้าดูจากบทสัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า พล.ต.อ.พัชรวาท อาจจะไม่ได้อยู่ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคก็ได้ ซึ่งผมได้ยินข่าวมาตรงกัน ท่านพัชรวาท คงยังไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร แต่อาจจะมีการประสานงานโดยคนสนิทของท่านประวิตร และสื่อสารกันคลาดเคลื่อน ตอนที่ท่านประวิตร ลงนามแต่ตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค คงเข้าใจว่าทางผู้ประสานงานได้หารือกับ พล.ต.อ.พัชรวาท เรียบร้อยแล้ว แต่เท่าที่ผมตรวจสอบข่าวปรากฏว่าท่านพัชรวาท ไม่ทราบเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาว่าตอนนี้จะหาทางลงกันอย่างไร อาจเป็นไปได้ว่ามีชื่อดำรงตำแหน่งแค่ในนามแต่ตัวไม่เข้ามา เพราะการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองน่าจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายของชีวิตท่าน” รศ.ดร.ธนพร ระบุ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวการแต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าว

ส่วนการเจรจาและการประสานงานเรื่องการร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.พัชรวาท นั้น “รศ.ดร.ธนพร” มองว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะพรรคพลังประชารัฐได้แต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัสให้เป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ และโดยบทบาทเจ้าตัวเป็นเลขาธิการพรรค การเจรจาต่างๆ คงจะเป็นหน้าที่ของ ร.อ.ธรรมนัสเป็นหลัก ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส สามารถสื่อสารกับ พล.อ.ประวิตร ได้โดยตรงอยู่แล้ว ดังนั้นกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลคงไม่เกี่ยวอะไรกับ พล.ต.อ.พัชรวาท อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยของพลังประชารัฐนั้นยังอยู่ในกระบวนการเจรจาในรายละเอียด ถ้าเพื่อไทยสามารถเคลียร์ปัญหากันภายในได้ พลังประชารัฐคงพร้อมร่วมรัฐบาล

ที่สำคัญทางพรรคเพื่อไทยต้องชัดเจนว่าจะจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างไร แต่เชื่อว่าเพื่อไทยคงไม่ปล่อยเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ให้พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีบ้านใหญ่ที่ต้องการเป็น รมว.มหาดไทย นั่นคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งแสดงความพร้อมที่จะไปรับผิดชอบงานกระทรวงนี้ และกลุ่มนายสมศักดิ์ ถือเป็นกลุ่มที่ทำงานหนักเพื่อพรรค เพราะฉะนั้นเพื่อไทยน่าจะเก็บเก้าอี้ รมว.มหาดไทยไว้ให้คนของตัวเอง ที่สำคัญมหาดไทยเป็นกระทรวงที่มีบทบาทในการจัดสรรงบงบประมาณลงท้องถิ่น เพราะช่วงหลังการจัดงบประมาณของบ้านเราไม่ได้จัดสรรงบผ่านกรมต่างๆ เหมือนในอดีต แต่จัดงบประมาณผ่านพื้นที่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น ถ้าใครเข้าใจระบบงบประมาณในปัจจุบันจะรู้เลยว่างบที่อยู่กับกระทรวง ทบวง กรมนั้นสัดส่วนจะลดลงเรื่อยๆ แต่งบซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คืองบที่จัดสรรให้พื้นที่ต่างๆ ซึ่งเรียกว่า “งบบูรณาการ” ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และหากเพื่อไทยได้ดูแลกระทรวงมหาดไทยก็สามารถจัดงบไปอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ได้ นอกจากนั้น ยังสามารถแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสามารถสนับสนุนการเพิ่มอัตราส่วนเงินรายได้ขององค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ อีกด้วย

“เท่าที่ทราบกระทรวงที่พลังประชารัฐประสงค์จะเข้าไปบริหารงานคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นงานที่ ร.อ.ธรรมนัส ถนัด และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนางตรีนุช เทียนทอง ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอีกเก้าอี้นั้นส่วนตัวไม่ยืนยันว่าเป็นกระทรวงมหาดไทยตามที่เป็นข่าว แต่ถ้าเป็นเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นไปได้ ซึ่งพลังประชารัฐมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จะเป็นรัฐมนตรีได้อยู่หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น นายนายสันติ พร้อมพัฒน์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รศ.ดร.ธนพร กล่าว

รศ.ดร.ธนพร ยังแสดงความเห็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ว่า ในวันนี้ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลโดยสลัดก้าวไกลออกไปเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา เพื่อไทยไม่มีทางเลือกมากนัก ยังไงต้องมีพรรคลุงพรรคใดพรรคหนึ่งมาร่วมด้วยแน่นอน เดิมอาจจะมีการคิดแผนกันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อพลังประชารัฐมีการแต่งตั้งให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรค ก็ชัดเจนว่าโอกาสที่ ส.ส.พลังประชารัฐจะแยกกลุ่มไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นไม่มี เพราะมันอธิบายไม่ได้ถ้าอยู่ๆ เลขาธิการพรรคจะนำ ส.ส.กลุ่มหนึ่งแยกตัวออกไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคอยู่ แบบนี้ทำไม่ได้แน่นอน ดังนั้น ถ้าพลังประชารัฐจะร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยต้องไปทั้งพรรค ส่วน พล.อ.ประวิตร ถ้าจะไม่รับตำแหน่งก็เป็นสิทธิของท่าน ขณะที่พรรคก้าวไกลถ้ารับไม่ได้กับการจับมือกับพลังประชารัฐเพราะเคยประกาศว่า “มีลุงไม่มีเรา” พรรคก้าวไกลก็ต้องแยกตัวออกไป เชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะเดินเกมแบบนี้

“เชื่อว่าพลังประชารัฐคงร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย แต่ พล.อ.ประวิตร ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะท่านเป็นมาหมดแล้ว ผบ.ทบ.ก็เป็นมาแล้ว รมว.กลาโหมก็เป็นมาแล้ว รองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ก็เป็นมาแล้ว ขณะเดียวกัน ลดกระแสต่อต้านไปในตัว ปล่อยให้ลูกพรรครับตำแหน่งกันไป ซึ่งคิดว่า พล.อ.ประวิตร เองก็แฮปปี้กับบทบาทนี้นะ เพราะเป็นบทบาทที่ท่านสามารถแสดงศักยภาพในฐานะผู้มีบารมีตัวจริง โดยไม่ต้องลงไปเล่นเอง” รศ.ดร.ธนพร ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น