“ฝ่ายความมั่นคง” คาดการณ์หาก “พิธา” ชวดนายกฯ “ม็อบส้ม” ลงถนนไม่เกิน 3 พัน เหตุมวลชนเสื้อแดงไม่ร่วมสังฆกรรม และอยากดัน "เศรษฐา" นั่งนายกฯ ชี้ม็อบเคลื่อนยากเพราะภูมิศาสตร์รัฐสภาใหม่ไม่เอื้อ ด้านหลังติดแม่น้ำ ไม่สามารถปิดล้อมได้ เผย “ทัพเรือ” เตรียมเรือเร็วอพยพหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ด้าน “กลุ่มป้องสถาบัน” ลั่น ชุมนุมหรือไม่ขึ้นกับพฤติกรรมด้อมส้ม ขณะที่ “รศ.พิชาย” ระบุไพ่ออกได้ 2 หน้า เพื่อไทยได้เป็นนายกฯ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย
เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 15 ก.ค.2566 นี้ เนื่องจากหลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่า “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะได้เป็นนายกฯ เพราะมีแนวโน้มว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่จะไม่ยกมือให้นายพิธา และแน่นอนว่ากลุ่มที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่เรียกกันว่า “ด้อมส้ม” จะต้องเคลื่อนขบวนไปชุมนุมกดดันหน้ารัฐสภา แต่สิ่งที่หลายฝ่ายวิตกคืออาจมีผู้ชุมนุมอีกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ปกป้องสถาบันออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะและเหตุวุ่นวายตามมา
ส่วนว่าหากนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? และปัญหาจะลุกลามบานปลายหรือไม่? ฝ่ายความมั่นคงจะรับมืออยู่หรือเปล่า? คงต้องไปฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ
แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์เชื่อว่าวันที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ด้อมส้มน่าจะยังไม่ออกมาชุมนุมกันมากนัก แต่ถ้าการลงมติครั้งแรกนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ และมีการลงมติครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 น่าจะมีการปลุกระดมมวลชนด้อมส้มออกมาได้ 1,000-2,000 คน และสูงสุดไม่เกิน 3,000 คน เนื่องด้วยปัจจุบันกระแสการชุมนุมของเสื้อส้มนั้นจุดไม่ติดเพราะคนเบื่อม็อบ เนื่องจากช่วงที่ม็อบบูมนั้นแกนนำภาคมวลชนขัดแย้งกันหนักมากเพระต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างอยากเป็นแกนนำ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ทำให้มวลชนเสื่อมศรัทธา ที่สำคัญคือขณะนี้ด้อมส้มกับมวลชนเสื้อแดงแตกกัน การชุมนุมครั้งนี้คนเสื้อแดงจึงไม่มาร่วม อีกทั้งม็อบจะเยอะหรือไม่ขึ้นกับว่านักการเมืองหนุนหรือเปล่า ถ้านักการเมืองทั้งเหนือ กลาง อีสานของพรรคเพื่อไทยไม่หนุนก็ไม่มีมวลชนเดินทางเข้ามา ส่วนกลุ่มปกป้องสถาบันที่อาจจะออกมาชุมนุม ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจนำไปสู่การปะทะกันนั้น ทางฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่ากลุ่มนี้คงมีไม่มากและสามารถเจรจาพูดคุยกันได้จึงไม่มีอะไรน่าห่วง
อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลบางส่วนมองว่าหากนายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล แต่ควรแสดงผลงานในฐานะฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบให้ดีเพื่อช่วงชิงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า และไม่ใช่แค่มวลชนที่อยากให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ในการสัมมนาว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล ที่ จ.ชลบุรี เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกลบางคนคิดแบบนี้เช่นกัน ขณะที่ข้าราชการบางส่วนต่างรู้สึกอึดอัดกับพรรคก้าวไกลเพราะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นแค่ว่าที่ ส.ส.แต่กลับเข้ามาวุ่นวายกับการทำงานของข้าราชการ แรงหนุนจากกลุ่มข้าราชการจึงมีไม่มาก
“การรวมตัวของมวลชนเสื้อส้มครั้งนี้ไม่น่าจะถึงหลักหมื่นเหมือนการชุมนุมที่สนามหลวง เมื่อปี 2563 เพราะครั้งนั้นเป็นการรวมตัวของกลุ่มเสื้อแดงกับนักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุมซึ่งก็คือกลุ่มที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน แต่ครั้งนี้แดงกับส้มแตกคอกันเพราะเสื้อแดงถูกด้อมส้มด้อยค่า เสื้อแดงเก่าที่ย้ายไปอยู่กับด้อมส้มก็ไม่เห็นหัวเพื่อน ดังนั้น มวลชนเสื้อแดงไม่มาร่วมชุมนุมแน่ มวลชนจะหายไปเยอะ จุดเปลี่ยนสำคัญคือก้าวไกลไม่ใช่เพื่อไทย พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ เรื่องของก้าวไกล ซึ่งเพื่อไทยมีโอกาสเสนอนายกฯ ของตัวเองได้ จะไปเดือดร้อนกับก้าวไกลทำไม เพื่อไทยก็แช่งให้พิธาล่มจะได้ดันเศรษฐาเป็นนายกฯ ส่วนม็อบเด็กของก้าวไกลส่วนใหญ่นั้นเป็นนักรบห้องแอร์ ไม่ยอมเจ็บไม่ยอมเหนื่อยเหมือนม็อบยุคก่อน ขณะที่นิด้าโพลระบุว่า คนเบื่อม็อบ ดังนั้นคนส่วนหนึ่งจึงมองว่าถ้าพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็เป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบ เลือกตั้งครั้งหน้าค่อยว่ากันใหม่ ซึ่งคะแนนอาจจะเยอะขึ้นด้วย” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง กล่าวต่อว่า ในด้านยุทธศาสตร์การชุมนุมนั้นเชื่อว่าการเคลื่อนขบวนของม็อบด้อมส้มในครั้งนี้ค่อนข้างลำบากเนื่องจากภูมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวย เพราะหากดูจากแผนผังรัฐสภาแห่งใหม่จะเห็นว่าด้านหน้าของรัฐสภาติดถนนสามเสน ด้านขวาติดบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ด้านซ้ายติดถนนทหาร ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา ฝ่ายเจ้าหน้าที่แค่ตรึงกำลังด้านหน้าและด้านซ้ายของรัฐสภาก็สามารถสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าประชิดอาคารรัฐสภา ที่สำคัญมวลชนไม่สามารถปิดล้อมรัฐสภาได้เพราะด้านหลังติดแม่น้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถพา ส.ส.-ส.ว.ลงเรือออกทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้
“ทำเลของรัฐสภาใหม่ไม่เหมาะกับการชุมนุมเพราะมวลชนโดนปิดล้อมง่าย ถ้าผู้ชุมนุมเข้าถนนสามเสนปุ๊บ ตำรวจประชิดสะพานแดง ประชิดบางโพ ประชิดบางกระบือ ม็อบเสร็จเลย ไม่เหมือนรัฐสภาเดิมซึ่งโดยรอบมีถนนเล็กๆ หลายสาย ออกได้หลายทาง แต่ในทางกลับกันรัฐสภาใหม่ ส.ส.-ส.ว.ไม่ต้องกลัวถูกปิดล้อม เพราะด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนี้กองทัพเรือเอาเรือเร็วมาสแตนด์บายรอแล้ว เกิดเหตุอะไรอพยพได้ทันที” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกว่าอาจเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบระหว่างด้อมส้มกับกลุ่มคนรักสถาบันนั้น “นายอานนท์ กลิ่นแก้ว” ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน เปิดเผยว่า เนื่องจากเจตนาหลักของศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันคือ การปกป้องสถาบัน ดังนั้น การที่ด้อมส้มชุมนุมเพื่อผลักดันให้นายพิธา เป็นนายกฯ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา ยกเว้นว่ามีการปราศรัยพาดพิงจาบจ้วงให้ร้ายสถาบันเราจึงจะประชุมหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งอันดับแรกคงเป็นเรื่องของการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่จาบจ้วงสถาบัน ส่วนจะมีการออกมาชุมนุมหรือไม่ และชุมนุมที่ใดนั้นทางกลุ่มจะต้องหารือกันก่อน
“คือด้อมส้มอาจจะออกมาชุมนุมเพราะไม่พอใจที่ ส.ว.ไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ แต่ ส.ว.เขามีเจ้าหน้าที่สภา หรือ คฝ.ดูแลอยู่แล้ว เราไม่เข้าไปยุ่ง แต่หากผู้ชุมนุมมีการจาบจ้วงสถาบันอย่างต่อเนื่องโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย เราต้องประชุมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร คือตอนนี้เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะออกมาชุมนุมหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์เป็นระยะ แต่เชื่อว่าหากมีการชุมนุมพวกนี้จะต้องดึงสถาบันลงมายุ่งกับการเมือง เพราะเขาทำมาตลอด จึงขอฝากฝ่ายความมั่นคงด้วยว่าหากมีการจาบจ้วงสถาบันต้องรีบจัดการให้เด็ดขาดเพื่อไม่ให้มวลชนสองฝ่ายออกมาปะทะกันซึ่งอาจจะนำไปสู่การนองเลือด” นายอานนท์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า โอกาสที่นายพิธา จะไม่ได้เป็นนายกฯ นั้นมีน้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นจริงน่าจะมีสถานการณ์เกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ
1.อาจจะมีการเสนอชื่อนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย โดยก้าวไกลช่วยโหวตสนับสนุน ซึ่งหากแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกฯ ก็จะจัดตั้งรัฐบาลตาม MOU เดิม โดยพรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนสถานะจากพรรคแกนนำรัฐบาลมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
2.ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ไม่ได้มาจากทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย และส่งผลให้พรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยกลายเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งกรณีนี้พรรคที่ได้เป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ในฐานะรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่สามารถบริหารประเทศได้ ต้องยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่
“ถ้าผู้ถูกเสนอชื่อในตำแหน่งนายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย โอกาสที่ ส.ว.จะโหวตให้ก็มีมากกว่านายกฯ จากก้าวไกล ซึ่งอาจทำให้เพื่อไทยมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนกรณีที่อาจพลิกขั้วเสียงข้างน้อยได้เป็นรัฐบาลนั้นตอนนี้มีความพยายามอยู่แต่เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วย รวมถึงเรื่องการซื้องูเห่าให้ย้ายฟากมาร่วมรัฐบาลเพื่อพลิกจากเสียงข้างน้อยเป็นเสียงข้างมาก คุณอนุทิน พูดชัดว่าเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ส.ส.จะย้ายพรรคได้ก็ต่อเมื่อมีการยุบพรรค หรือ ส.ส.คนดังกล่าวถูกขับออกจากพรรค แต่ ส.ส.จะย้ายมาเองทำไม่ได้ ดังนั้นการตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างน้อยจึงเป็นเรื่องยาก ส่วนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเสียงข้างน้อยที่อาจเสนอชื่อขึ้นมาชิงตำแหน่งนั้นน่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นน่าหลุดโผไปแล้วเพราะไม่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.” รศ.ดร.พิชาย ระบุ