“รศ.สมชัย” ยันบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ กกต.จ่าหน้าซองผิดกลายเป็นคะแนนเสียทันที ไม่สามารถกู้คืนได้ ชี้ 3 ช่องทางเอาผิด กกต. พร้อมระบุการลงชื่อถอดถอน กกต.ผ่าน Change ไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจาก รธน.60 ยกเลิกเรื่องการถอดถอนองค์กรอิสระ ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” เชื่อที่มา กกต.ไม่ได้จากกระบวนการประชาธิปไตย จึงส่งผลต่อการทำหน้าที่ แนะ 14 พ.ค.นี้ ประชาชนต้องไปเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อล้มคะแนนจัดตั้ง พร้อมจับตาบทบาท กกต.
กรณีปัญหาในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับความไร้ประสิทธิภาพของ กกต. ถึงขั้นมีการลงชื่อถอดถอน กกต.ผ่าน Change.org กว่าล้านคน อีกทั้งยังกังวลว่าความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้าจะส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งอีกด้วย
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะอดีต กกต. ชี้ว่า กรณีที่ กกต.เขียนใบจ่าหน้าซองของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิดนั้นยังไม่เห็นช่องทางเลยว่า กกต.จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่าบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นของเขตเลือกตั้งใด จังหวัดใด เนื่องจากเป็นบัตรเลือกตั้งโหล คือบัตรเลือกตั้งของทุกเขต ทุกจังหวัดเหมือนกันหมด หากลักษณะบัตรมีความแตกต่างกันจึงจะสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเคสนี้มี 3 กรณีคือ
1.ถ้าจ่าหน้าซองผิด โดยจ่าเป็นเขตที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนที่จะเป็นเขตที่ผู้ลงคะแนนมีสิทธิเลือกตั้ง เช่น กรณีของ จ.นนทบุรี เขต 2 ซึ่งมีความผิดพลาดลักษณะนี้ประมาณ 100 กว่าซอง ซึ่งซองดังกล่าวจะถูกแยกออกมาหลังปิดหีบเลือกตั้ง แต่ส่งไปไหนไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าผู้ใช้สิทธิต้องการจะลงคะแนนในเขตใด จังหวัดใด แม้ กกต.จะใช้อำนาจเปิดซองดูก็ไม่รู้ เพราะบัตรเลือกตั้งแต่ละเขต แต่ละจังหวัดนั้นหน้าตาเหมือนกันหมด บัตรเหล่านี้จึงกลายเป็นบัตรเสียสำหรับการเลือกตั้งระบบเขตทันที แต่ในส่วนของบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อยังสามารถนำมาคำนวณคะแนนได้อยู่
2.กรณีจ่าหน้าซองผิดเป็นหน่วยเลือกตั้งหรือจังหวัดอื่นที่ใช่เขตและจังหวัดที่ผู้ลงคะแนนประสงค์จะลงคะแนน กรณีนี้บัตรเลือกตั้งจะถูกส่งไปเขตหรือจังหวัดที่เขียนผิด โดยที่เจ้าหน้าที่ กกต.ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกรณีนี้แม้บัตรเลือกตั้งระบบเขตจะนับเป็นบัตรเสีย แต่จะกลายเป็นบัตรที่เสียเจตนาของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะกลายเป็นว่าผู้ลงคะแนนไปเลือกใครก็ไม่รู้ คะแนนกลายเป็นของผู้สมัครในเขตหรือจังหวัดที่ตนเองไม่ได้เลือก
3.กรณีที่การจ่าหน้าซองผิดพลาดบางส่วน โดยการจ่าหน้าซองจะมี 3 ส่วน คือ จังหวัด เขต และรหัสเขต หากส่วนใดส่วนหนึ่งเขียนผิดพลาดก็ขึ้นกับความสามารถของผู้จัดส่งและความสามารถของเจ้าหน้าที่เขตว่าจะสามารถใช้ดุลพินิจแก้ผิดให้เป็นถูกไหรือไม่
“ความผิดพลาดที่เกิดกับบัตรเลือกตั้งในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านั้นหากคิดเป็นสัดส่วนแล้วอาจไม่ถึง 1% ของคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อ กกต.อย่างแน่นอน การที่เลขาฯ กกต.บอกว่าปัญหาดังกล่าว กกต.สามารถแก้ไขได้เรียบร้อย คะแนนไม่ตกน้ำ ทุกคะแนนสามารถส่งไปเขตและจังหวัดที่ถูกต้องได้อย่างแน่นอน แต่เลขาฯ กกต. กลับไม่ได้ชี้แจงว่าวิธีที่จะแก้ไขทำอย่างไร ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าแก้ไม่ได้เพราะบัตรที่ผิดพลาดแต่ละใบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าหน่วยเลือกตั้งและจังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนจริงๆ คืออะไร” อดีต กกต. กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการซื้อเสียงในพื้นที่ภาคอีสาน โดยนำผู้สูงอายุนับพันคนไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น รศ.สมชัย ระบุว่า กรณีนี้ผู้เสียหาย อันได้แก่ ประชาชนในเขตเลือกตั้งที่มีการทุจริต และผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบ ต้องร้องต่อ กกต.ว่าเป็นการเลือกตั้งโดยไม่สุจริต โดยนำคลิปที่มีการขนคนไปลงคะแนน คลิปที่มีการแจกเงินไปร้องต่อ กกต. ก่อนที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.อาจจะให้ใบเหลืองหรือใบส้มแก่ผู้สมัครที่มีการซื้อเสียง แต่หากร้องต่อ กกต.หลังจากที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว กกต.อาจให้ใบเหลืองหรือใบแดงแก่ผู้สมัครที่ซื้อเสียงได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาก่อน ซึ่งหาก กกต.ให้ใบเหลืองก็เลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าให้ใบแดงต้องคืนเงินเดือน ส.ส.ตั้งแต่เดือนแรก และชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีกรอบเวลาว่าการให้ใบเหลืองใบแดง กกต.ดำเนินการภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่กำหนดให้ กกต.ดำเนินการภายใน 1 ปีหลังการเลือกตั้ง
“การทุจริตในการเลือกตั้งโดยการซื้อเสียงและขนคนแก่นับพันคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตพื้นที่ใกล้เคียงนั้นเป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างชัดเจน ซึ่งหากพิจารณาจากการเลือกตั้งโดยรวมอาจเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มาก แต่หากพิจารณาในรายพื้นที่แล้วถือว่าคะแนนหลักพันนั้นเป็นคะแนนที่มีความหมายและมีผลต่อการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.จะเพิกเฉยไม่ได้ ต้องรีบจัดการโดยด่วน การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีพฤติกรรมที่ผิดปกติชัดเจน และมีผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ไว้ ดังนั้นการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องยาก แต่ดูเหมือน กกต.ยังมองเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา” รศ.สมชาย ระบุ
รศ.สมชัย กล่าวต่อว่า จากปัญหาหลายๆ เคสที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้าถือว่า กกต.บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เพราะ กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต แต่ที่ผ่านมา กกต.รอคนมาร้องเรียนก่อนจึงเข้าไปตรวจสอบ ทั้งที่บางกรณีที่ผิดปกตินั้นเป็นพฤติการณ์ซึ่งหน้า อีกทั้งที่ผ่านมาแม้จะมีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตโดยการซื้อเสียง แต่การกระบวนการสอบสวนก็ใช้เวลานานมาก และท้ายที่สุดสรุปว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประชาชนและพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถช่วยกันตรวจสอบการทำงานของ กกต.ได้ โดยหากพบเห็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ผู้เสียหาย อันได้แก่ ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น หรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นสามารถดำเนินการได้ 3 ช่องทาง คือ
1.ให้ผู้เสียหายร้องต่อ กกต.จังหวัด หรือ กกต.ส่วนกลาง ให้ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษ กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งหรือประจำเขตเลือกตั้งนั้นๆ
2.ให้ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีต่อ กกต.ตามมาตรา 157 หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไต่สวนแล้วพบว่ามีความผิดจะส่งเรื่องให้อัยการพิจารณา หากอัยการเห็นว่ามีความผิดก็ส่งฟ้องต่อศาลอาญา
3.ให้ผู้เสียหายยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิด กกต.
ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า ปัญหาความผิดพลาดจากการทำงานของ กกต.ในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นส่งผลให้เกิดความบิดเบือนของผลคะแนนที่ไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น ส่งผลคะแนนไปผิดเขตผิดจังหวัด แทนที่จะได้ผู้แทนจากพรรคหนึ่งก็ไปได้อีกพรรคหนึ่งเพราะเบอร์ของผู้สมัครพรรคเดียวกันในแต่ละเขตมันไม่เหมือนกัน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรง
ส่วนกรณีที่ขนคนแก่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่ติดกับเขตเลือกตั้งตัวเองซึ่งส่อว่ามีการซื้อเสียงอย่างชัดเจน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่คนแก่ต้องลำบากเดินทางข้ามเขตเพื่อไปใช้สิทธิล่วงหน้านั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า ถ้า กกต.ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องวิเคราะห์แล้วว่านี่คือการซื้อเสียงเลือกตั้ง ต้องส่งคนไปตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานในการเอาผิดผู้ที่ซื้อเสียง แต่ กกต.กลับไม่สนใจ จึงถือเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ที่รุนแรง ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งจัดการปราศรัยและนำบัตรประชาชนของชาวบ้านไปคีย์ข้อมูล เมื่อมีผู้ร้องเรียน กกต.กลับมองว่าเป็นการนำบัตรประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคโดยไม่ได้มีการตรวจสอบสืบสาวถึงความผิดปกติ
“ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับผลกระทบจากการทุจริตสามารถร้องเรียนให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบ หรือฟ้องร้องเอาผิดต่อ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมซึ่งเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 หากมีการร้องเรียนไปยัง กกต.กลางแล้ว กกต.กลางไม่สนใจ หรือไม่ดำเนินการเอาผิดคนที่ทุจริต ผู้สมัครที่ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องร้องต่อศาลให้เอาผิดกับ กกต.กลางได้” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
รศ.ดร.พิชาย ชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากที่มาของ กกต. เนื่องจาก กกต.ชุดนี้ไม่ได้มาจากกลไกการสรรหาตามระบอบประชาธิปไตย แม้มาจากการคัดสรรของ ส.ว. ซึ่ง ส.ว.มาจาก คสช. จึงอาจทำให้ กกต.ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ซึ่งการจะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้นั้นต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
“ในเมื่อ กกต.มาจาก ส.ว. และ ส.ว.มาจาก คสช.แล้วมันมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพหรือความบริสุทธิ์ในการเลือกตั้ง มันจึงชวนให้ตีความได้ว่าเขามีเจตนาทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอหรือทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหาหรือเปล่า” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการลงชื่อถอดถอน กกต.ผ่านเว็บไซต์ Change.org นั้น รศ.สมชัย ชี้ว่า ถือเป็นเป็นการแสดงพลังของภาคประชาชนเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกไม่พอใจในการทำงานของ กกต.และกดดันให้ กกต. ตระหนักถึงการทำหน้าที่ แต่ไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ยกเลิกมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระออกไป แต่เปลี่ยนเป็นหากพบเห็นว่า กกต.หรือองค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสามารถร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดได้
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย มองว่า การที่ประชาชนลงชื่อให้มีถอดถอน กกต.ผ่าน Change.org นั้นถือเป็นการแสดงพลังทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่ส่งสัญญาณโดยตรงถึง กกต.ว่าประชาชนไม่พอใจการทำงานของ กกต. ซึ่งหาก กกต.พยายามแก้ไขข้อบกพร่องก็พอจะลดกระแสลงได้บ้าง แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยกระแสความไม่พอใจนี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า สิ่งที่ประชาชนทำได้ในขณะนี้คือจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.กันให้มากๆ เพื่อให้คะแนนที่มาจากประชาชนสามารถเอาชนะคะแนนจัดตั้งหรือคะแนนที่เกิดจากการซื้อเสียงได้ จากนั้นหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จจึงค่อยวางกรอบเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระให้ทำหน้าที่ได้อย่างเที่ยงธรรม เพื่อวางรากฐานในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อีกทั้งต้องช่วยกันสะท้อนถึงปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น และส่งเสียงเพื่อกดดัน กกต. รวมทั้งหาก กกต.เพิกเฉยต้องร้องเรียนตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กกต.ด้วย
“ที่สำคัญในเมื่อการเลือกตั้งล่วงหน้ามีสัญญาณออกมาเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้จะมีการทุจริตกันเต็มที่ ดังนั้น นอกจากประชาชนจะต้องช่วยกันจับตาไม่ให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องจับตาและตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กกต.ด้วย เพราะมีสัญญาณที่ทำให้เราไม่สามารถเชื่อใจในการทำงานของ กกต.ได้” รศ.ดร.พิชาย กล่าว