กกต.จัดบิ๊กเดย์ ชวนคนใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พ.ค. หวังไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 “อิทธิพร” เผยเร่งแก้ปัญหาให้มันเลือกตั้งไม่ซ้ำรอยเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่หวั่นโดนฟ้อง-ร้องเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้าน เลขาฯ กกต. เผย เช็กซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าไม่มีที่ไม่จ่าหน้าซอง
วันนี้ (9 พ.ค) ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เป็นประธานเปิดกิจกรรม Big Day รณรงค์เชิญชวนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ภายใต้แคมเปญ “ไทยโหวต คนไทยพร้อมใช้สิทธิ” โดยกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวกรรมการการเลือกตั้ง เป็นตัวแทน ออกไปรณรงค์เชิญชวนคนไทยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งใน 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ณ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า จ.กาฬสินธุ์ ภาคกลาง ณ สนามกีฬาจังหวัด จังหวัดจันทบุรี ภาคเหนือ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ณ ห้าแยกหอนาฬิกา
จ.ลำปาง ภาคใต้ ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ณ ริมเขื่อนแม่น้ำตาปี ตรงข้ามหน้าวัดกลางเก่า จ.สุราษฎร์ธานี
นายอิทธิพร เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 66 อย่างสุจริตและโปร่งใส ก่อนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งขอให้ตรวจสอบสิทธิ สถานที่เลือกตั้ง รวมทั้งศึกษาข้อมูลผู้สมัคร ข้อมูลพรรคการเมือง ได้ทางเอกสารแจ้งเจ้าบ้าน หรือจากแอปพลิเคชัน Smart Vote ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ของการรวมพลัง
ที่ใสสะอาด ปราศจากการซื้อสิทธิและขายเสียง “ไทยโหวต คนไทยพร้อมใช้สิทธิ”
ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้อธิบายว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้บัตร 2 ใบ บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นสีม่วง และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นสีเขียวซึ่งกากบาทได้เพียงใบละ 1 หมายเลข และการใช้สิทธิขอให้ทำเครื่องหมายกากบาทเพียงอย่างเดียวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบัตรเสีย
ทั้งนี้ ในกิจกรรมดังกล่าวประธาน กกต. และภาคีเครือข่ายต่างๆ ยังได้ร่วมกันให้สัญญาณปล่อยขบวนรถรณรงค์ชวนคนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 และขบวนรถของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คัน รณรงค์ไปตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ เพื่อแสดงพลัง “ไทยโหวต คนไทยพร้อมใช้สิทธิ” ด้วย
นายอิทธิพร ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า กกต.ตั้งเป้าให้ประชาชนสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และจะประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุดในทุกระดับ หวังว่า ประชาชนจะพร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิ โดยขอให้ดูกฎ กติกา ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเสีย โดยกกต.ตั้งเป้าบัตรเสียไม่เกิน 2% ซึ่งจะพยายามทำทุกวิถีทาง สร้างความมั่นใจ ความเข้าใจให้ทุกคนได้ทราบก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง
ส่วนการป้องกันให้วันเลือกตั้ง 14 พ.ค.ไมาเกิดปัญหาเช่นวันที่ 7 พ.ค.ที่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ประธาน กกต.กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งแล้วเกิดปัญหา เป้าหมายหลักของ กกต.คือ ต้องเร่งตรวจสอบหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ใช้สิทธิไปแล้ว ไม่อยากให้ทำงานผิดพลาด แต่หากพบข้อผิดพลาดประเด็นใด จะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และต้องแก้ไขโดยทันที ซึ่งข้อผิดพลาดที่ได้รับรายงานมา จะกำชับสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ว่า จุดไหนที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ กกต. ตกเป็นเป้าและถูกโจมตีนั้น ประธาน กกต. บอกว่า ตนไม่รู้สึกตกเป็นเป้าและถูกถล่ม แต่อีกทางรู้สึกดีใจว่าการทำงานของเรามีคนช่วยตรวจสอบ ทั้งการทำงานของ กกต. และการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีถ้าไม่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนโดยสื่อมวลชน การทำงานของ กกต. อาจไม่ 100%
สำหรับปัญหาการใส่รหัสหน้าซองผิด และการที่ไม่ได้จ่าหน้าซองเลยนั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า มีน้อยมาก เพราะคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ 2.2 ล้านคน มีข้อผิดพลาดแต่ไม่เยอะ โดยพบว่ามีการกรอกเขตเลือกตั้งผิด ไม่ใช่กรอกรหัสไปรษณีย์ แต่เมื่อมีการหย่อนบัตรลงไปในหีบเลือกตั้งแล้ว หลัง 17:00 น. ก็จะมีการตรวจสอบแต่ละหน้าซองว่าถูกต้องหรือไม่ และจะแก้ไขแล้วส่งไปในจุดหมายที่ควรจะเป็น
ส่วนที่มีคนจะไปฟ้องร้องเอาผิด กกต. ตามมาตรา 157 หรือร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะ ประธาน กกต. มองว่า เป็นแค่กระแสและความคิดของคนที่เห็นว่าการทำงานของ กกต. เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ กกต. ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฏหมาย เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่เป็นพนักงาน ถ้าเห็นว่าการทำงานของ กกต. บกพร่องและต้องได้รับการพิจารณา ก็เป็นสิทธิที่จะฟ้องได้กับผู้ที่มีอำนาจตัดสินการทำหน้าที่ของ กกต. ไม่มีปัญหา ซึ่งทุกครั้งที่มีการฟ้องร้องก็ต้องพร้อมสู้คดี ที่สู้เพราะเราปฏิบัติงานโดยสุจริต ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งตอนนี้ไม่มีปัจจัยที่ต้องเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ และการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เสียงลงคะแนนเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น
นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการร้องเรียนเรื่องซื้อเสียง ที่เขตคลองสามวา กทม. ว่า ทุกคำร้องที่มีอยู่ระหว่างการตรวจสอบหากมีมูลก็จะรับเป็นคำร้องเข้าสู่การสืบสวนไต่สวนของ กกต. ต่อไป ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 101 เรื่อง โดย 38 เรื่อง เป็นการให้เงินซื้อเสียง อีก 34 เรื่อง เป็นการหลอกลวงใส่ร้าย (จากวันที่ 7 พ.ค. มี 92 เรื่อง) ทั้งนี้ หากมีการร้องเรียนที่ใดก็ต้องเข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้น แล้วรวบรวมข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการประจำจังหวัด มีเวลาภายใน 20 วัน แต่หากยังไม่เสร็จ สามารถต่อเวลาได้อีกครั้งละ 15 วัน โดยขอมาทางเลขาฯ กกต. และต้องผ่านคณะอนุกรรมการ กกต. วินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ามีเหตุเชื่อได้ว่ามีการทุจริตก็จะรับเป็นคำร้องและดำเนินการตามระเบียบต่อไป ส่วนจะดำเนินการเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานเพราะหากเป็นคำร้องแล้วการซื้อเสียงถือว่าผิดมาตรา 73(1) ต้องมีการดำเนินคดีอาญาให้ใบส้มหรือไม่ หรือต้องไปศาล ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับพวกร้องและผู้ถูกร้อง จะเร่งรัดไม่ได้ ให้เป็นไปตามขั้นตอน
สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้ง ทาง กกต. มีปากกา อยู่ในหน่วยเลือกตั้งให้ประชาชนใช้ได้เป็นจำนวนมาก แต่หากแต่ใครอยากนำมาเองก็สามารถทำได้ และสีอะไรก็ได้หมด
ส่วนความคืบหน้าที่ ครม. ส่งมติการขอใช้งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้านั้น ประธาน กกต. ระบุว่า ทราบว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุม กกต. ในวันพฤหัสนี้
ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. บอกว่า เมื่อเกิดปัญหาการจ่าหน้าซองผิด สำนักงาน กกต. ได้แจ้งไปยัง ผอ.เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าก่อนมอบบัตรให้กับไปรษณีย์ให้ตรวจหน้าซองก่อน เพราะพบข้อผิดพลาด และเมื่อประสานไปทางไปรษณีย์ ก่อนรับให้ตรวจนับว่าหน้าซองมีการกรอกตัวเลขหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วจนถึงวันนี้ ไม่พบว่าไม่มีการจ่าหน้าซอง มีแต่การกรอกเกรดผิดก็ต้องมีกรรมการวินิจฉัย