แข่งเดือด! นโยบายเพื่อผู้สูงวัย “พลังประชารัฐ” เกทับด้วยการแจกเบี้ยคนชราสูงสุดถึงเดือนละ 5 พันบาท ในขณะที่หลายพรรค ทั้ง “ไทยสร้างไทย-เสรีรวมไทย-ก้าวไกล” พร้อมใจกันจ่ายบำนาญชราภาพ 3 พันบาท/คน/เดือน ด้าน “รวมไทยสร้างชาติ” เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1 พันบาท เท่ากันทุกช่วงอายุ “ภูมิใจไทย” ทำประกันให้คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ฟรี ถ้าตาย ลูกหลานได้ 1 แสน ส่วน “เพื่อไทย” แหวกแนวด้วยการพัฒนาระบบสุขภาพให้ผู้สูงวัยรักษาใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย “ประชาธิปัตย์” ขยายอายุเกษียณเกิน 60 ปี ให้มีการออมภาคบังคับ ฝ่าย “ชาติพัฒนากล้า” ผลักดันการจ้างงานผู้สูงอายุ 5 แสนอัตรา และ “ชาติไทยพัฒนา” เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ
เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปี 2565 ไทยมีผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนในทุกๆ ปี ดังนั้น ในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุอย่างน้อย 13.5 ล้านคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากคะแนนนิยมในพื้นที่ภาคเหนือของพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากประกาศนโยบายว่าจะเพิ่มเบี้ยชราภาพให้แก่ผู้สูงอายุทุกคนเป็นเดือนละ 3,000 บาท
ส่งผลให้พรรคการเมืองทุกพรรคต่างเร่งออกนโยบายเพื่อผู้สูงอายุมาแข่งกัน ส่วนนโยบายของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไรคงต้องไปไล่เรียงกัน
“พลังประชารัฐ”
อัดเบี้ยคนชรา สูงสุดเดือนละ 5 พัน
พรรคแรกคือ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งถือว่าจัดหนักจัดเต็มเลยทีเดียว โดยมีนโยบายเพื่อผู้สูงอายุหลัก 3 ประการด้วยกัน ได้แก่
1) ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในบัตรสวัสดิการผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ด้วย “นโยบาย 3 4 5 และ 6 7 8” โดยผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน อายุ 70 ปีขึ้นไปจะได้รับ 4,000 บาท/เดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ
2) ขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานสร้างรายได้ต่อไปได้
3) พรรคจะผลักดันอุตสาหกรรมใหม่สำหรับพนักงานที่เป็นผู้สูงอายุ โดยรัฐจะสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง โดยจูงใจให้บริษัทต่างๆ จ้างงานผู้สูงอายุ
“ไทยสร้างไทย”
จ่ายบำนาญเดือนละ 3 พันบาท
ตามด้วยพรรคที่เรตติ้งพุ่งแรงจากนโยบายผู้สูงอายุอย่าง “พรรคไทยสร้างไทย” ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้ประกาศ 2 นโยบาย คือ
1) โครงการบำนาญประชาชน โดยจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือนทุกช่วงอายุ มีเป้าหมาย 5 ล้านคน ซึ่งในเฟสแรกจะช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพก่อน ซึ่งโครงการนี้จะมาพร้อมกับโปรแกรมสุขภาพซึ่งผู้สูงอายุจะต้องทำตัวเองให้แข็งแรง
2) ให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการออมทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ 4 ด้าน คือ 1.ผู้สูงอายุที่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ 2.ช่วยลดภาระลูกหลาน 3.สร้างสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุ และ 4.ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน
“เสรีรวมไทย”
ขยายอายุเกษียณ ขรก.เป็น 65 ปี
ส่วน “พรรคเสรีรวมไทย” ที่ก่อตั้งโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคก็ไม่น้อยหน้า โดยมากับนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ 2 ข้อ คือ
1) ให้บำนาญประชาชนที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่มีรายได้คนละ 3,000 บาทต่อเดือน
2) ขยายอายุเกษียณข้าราชการ จาก 60 ปี เป็น 65 ปี
“ก้าวไกล”
เพิ่มเบี้ยชราเป็น 3 พัน ในปี 70
ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” ซึ่ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีนโยบายเพื่อผู้สูงอายุที่น่าสนใจเช่นกัน ได้แก่
1) เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับรายได้ของผู้สูงอายุให้พ้นเส้นความยากจน
2) เพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที
3) สร้างระบบดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง โดยการสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น รวมถึงการจ้างผู้ดูแลด้วย โดยจะจัดสรรงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ ประมาณ 1,500 บาท/คน/เดือน และงบประมาณในการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ ประมาณ 7,500 บาท/คน/เดือน โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คนต่อผู้ป่วย 2 คน
“รวมไทยสร้างชาติ”
เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1 พัน/เดือน ทุกช่วงอายุ
ทางด้านพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ที่มีเป้าหมายจะผลัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 นั้น ได้วางนโยบายเพื่อผู้สูงอายุไว้ดังนี้
1) ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงอายุ จากที่ในปัจจุบันให้เป็นขั้นบันได 600-1,000 บาท
3) สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย
4) สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุในชุมชน
4) ลดภาษีให้แก่บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ
“ภูมิใจไทย”
ทำประกันให้ผู้สูงวัย
สำหรับพรรคที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพรรครัฐบาลตลอดกาลอย่าง “ภูมิใจไทย” ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคนั้นมีสโลแกนในการดูแลผู้สูงอายุว่า "เลือกพรรคภูมิใจไทย ไปดูแลผู้สูงวัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตราบจนสิ้นลมหายใจ" โดยนโยบายของภูมิใจไทยคือ
จะจัดตั้งกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป โดยผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิในกรมธรรม์
ประกันชีวิตทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ
1.ในวันที่อยู่ ผู้สูงวัยจะไม่เป็นภาระของลูกหลาน มีสิทธิกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพและหาเลี้ยงตัวเองได้ในวงเงิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่จะใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่รัฐบาลทำให้ค้ำประกันตัวเอง
2.ในวันที่จากไป ผู้สูงวัยไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน โดยหากเสียชีวิตทุกคนจะได้รับเงินจากกองทุนประกันชีวิตรายละ 100,000 บาท เพื่อเป็นมรดกให้ครอบครัวและลูกหลาน
“เพื่อไทย”
เพิ่มประสิทธิภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค
ขณะที่นโยบายในการดูแลผู้สูงอายุของ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งประกาศจะแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้นกลับแตกต่างออกไป คือมุ่งดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยโดยไม่มีการแจกเงิน
โดยพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ต้องรอพบแพทย์นานๆ และปรับปรุงการบริการให้ทันสมัย โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว และที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย
“ประชาธิปัตย์”
ส่งเสริมการออมภาคบังคับ
ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งถูกปรามาสว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคถดถอยก็ไม่ยอมแพ้ ได้ออกนโยบายเพื่อผู้สูงวัยเพื่อหวังช่วงชิงคะแนนเสียงคืนมา อันได้แก่
1) ให้มีการออมเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีเงินในการเลี้ยงดูตัวเอง
2) ขยายอายุเกษียณมากกว่า 60 ปี เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานเลี้ยงชีพตัวเองได้
3) จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ พร้อมให้เงินอุดหนุน 30,000 บาททุกหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมทั้งด้านสุขภาพและมีสังคม ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิต
4) ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ
“ชาติพัฒนากล้า”
มุ่งเสริมศักยภาพผู้สูงวัย
สำหรับพรรคที่มีความโดดเด่นด้านทีมเศรษฐกิจอย่าง “พรรคชาติพัฒนากล้า” ที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรคนั้นมุ่งดูแลผู้สูงวัยด้วยการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุให้เป็นกำลังทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ภายใต้นโยบาย "ยุทธศาสตร์สีเงิน" อันได้แก่
1) ให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 500,000 ตำแหน่ง
2) อนุมัติกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อปรับอารยสถาปัตย์เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพของผู้สูงอายุ
“พรรคชาติไทยพัฒนา”
สร้างความมั่งคั่งด้วยการสร้างงานให้ผู้สูงอายุ
ขณะที่ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เน้นการสร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน ด้วยนโยบาย “WOW THAILAND” ดังนั้น นโยบายเพื่อผู้สูงวัยจึงเน้นไปที่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี จากนี้คงต้องจับตาดูว่า “นโยบายเพื่อผู้สูงอายุ” ที่แต่ละพรรคประกาศออกมา จะเป็นเพียง “นโยบายขายฝัน” เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง หรือเป็นนโยบายที่สามารถผลักดันไปสู่การปฏิบัติ และทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จริง!