xs
xsm
sm
md
lg

สช.เตรียมจัดเวทีพรรคการเมืองเคลียร์นโบยาย "บำนาญสูงอายุ" แหล่งที่มางบ ก่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สช.เตรียมเปิดเวทีใหญ่ปลาย เม.ย. ก่อนเลือกตั้ง ให้ผู้แทนพรรคการเมืองแจงนโยบายสวัสดิการ "บำนาญสูงอายุ" สร้างหลักประกันรายได้สูงวัย เคลียร์คำตอบที่มางบประมาณ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 เรื่อง “ไทยพร้อมยัง..ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งผู้สูงวัยเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโควิด 19 การสร้างความมั่นคงโดยเฉพาะด้านรายได้ให้ผู้สูงวัย เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งการศึกษาของภาควิชาการพบว่า ประชาชนมีความต้องการ แต่จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกันได้อย่างไร ทั้งนี้ เรื่องการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ กำลังเป็นนโยบายที่เกือบทุกพรรคการเมืองใช้เป็นแคมเปญช่วงหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเบี้ยยังชีพ สร้างบำนาญถ้วนหน้า หวยบำเหน็จ ฯลฯ

"แต่คำถามสำคัญ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้หรือไม่ และอีกคำถามใหญ่คือ นโยบายที่ถูกนำเสนอออกมามากมาย จะนำงบประมาณมาจากส่วนใด เรื่องนี้ฝ่ายนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นผู้นำคำตอบมาให้กับประชาชนบนเวทีที่ สช. เตรียมจะจัดขึ้นในช่วงปลาย เม.ย. ก่อนการเลือกตั้งใหญ่" นพ.ประทีปกล่าว

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โครงสร้างประชากรปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% แต่ในปี 2583 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% จะทำให้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ที่มีผู้สูงวัยถึง 1 ใน 3 เป็นโจทย์ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการสร้างหลักประกันรายได้ เพื่อให้คนมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงวัย จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว บนหลักการ “เกิดดี-อยู่ดี-แก่ดี” ด้วย

นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระบบหลักประกันรายได้ของไทยที่มี อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ทั้งสวัสดิการที่รัฐให้ฝ่ายเดียว การออมภาคบังคับ หรือการออมภาคสมัครใจ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินนโยบายมี 3 ด้าน คือ 1. ความครอบคลุม ทั่วถึงประชากรทุกกลุ่ม 2. ความเพียงพอ เป็นจำนวนเงินที่พอใช้หลังเกษียณ 3. ความยั่งยืน ไม่กระทบกับระบบการเงินการคลัง ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่ตั้งเป้าจะให้มีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ เข้ามาบูรณาการทุกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรายได้ประชาชนหลังเกษียณ ให้แต่ละกองทุนมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้ภาพรวมสุดท้ายประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น