xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง ปี 66 หว่านงบเกือบ 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พล.อ.ประยุทธ์” ทุ่มสุดตัว เร่งอนุมัติงบเกือบ 2 แสนล้านบาท ช่วง ม.ค.-มี.ค.2566 ทั้งอ่างเก็บน้ำ ทางหลวงพิเศษ มูลค่าหลายพันล้าน อนุมัติสินเชื่อ 2 หมื่นล้าน โครงการบ้านล้านหลัง อีกทั้งอัดงบเลือกตั้งให้ กกต.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 5.9 พันล้าน ซื้อใจชาวบ้านด้วยการช่วยค่าไฟ-ลดภาษีน้ำมัน เป 4.7 พันล้าน ขึ้นเงินเดือนผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน และขึ้นค่าตอบแทน อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” ชี้การทุ่มงบดังกล่าวไม่ช่วยเพิ่มคะแนนให้ “พรรครัฐบาลเดิม” มากนัก เหตุ ประชาชนมี “พรรคที่ชอบ คนที่ใช่” อยู่แล้ว

แน่นอนว่ายิ่งใกล้เลือกตั้งพรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็เร่งสร้างคะแนนนิยม และเร่งเตรียมเสบียงที่จะใช้ในการสู้ศึก ซึ่งพรรคที่เป็นรัฐบาลย่อมได้เปรียบทั้งในการลงพื้นที่หาเสียงและการผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อซื้อใจประชาชน โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เปิดศักราช 2566 เป็นต้นมา รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการสำคัญต่างๆ ไปแล้วมากมาย โดยใช้กลไกการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ส่วนว่าจะมีโครงการใดบ้างนั้นคงต้องไล่เรียงจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2566


17 ม.ค.2566

- อนุมัติ 6,200 ล้านบาท สร้างอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จ.น่าน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 3.55 หมื่นไร่ ช่วยประชาชนกว่า 6 พันครัวเรือน

24 ม.ค.2566

- อนุมัติหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5,945,161,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นงบเลือกตั้งซึ่งสูงที่สุดที่เคยมีมา

- เห็นชอบช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 4 เดือน กรอบวงเงิน 7,500 ล้านบาท ซึ่งในทางการเมืองนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อใจประชาชน

- เห็นชอบโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย วงเงิน 1,514.6172 ล้านบาท เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต พร้อมคุ้มครองข้อมูลตามกฎหมาย

- ครม.อนุมัติลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และจังหวัดลำพูน มูลค่าลงทุน 2 โครงการ กว่า 6,000 ล้านบาท มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

วันที่ 7 ก.พ.2566


- อนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.71 ล้านบาท

วันที่ 14 ก.พ.2566

- อนุมัติ 3,786.55 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติใน 32 จังหวัด


วันที่ 21 ก.พ.2566

- เห็นชอบโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท พร้อมอนุมัติชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยให้ ธอส. จำนวน 2,193.76 ล้านบาท

- อนุมัติ 444.81 ล้านบาท จัดหากล้องบันทึกภาพและเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

- อนุมัติ 1,500,755,595.00 บาท ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก โดยเฉพาะกรณีหนี้เสีย (NPL) และการซื้อทรัพย์คืน (NPA) โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,148 ราย

- เคาะงบกลาง 396 ล้านบาท ซื้อรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุน 150 คัน ทดแทนคันเก่าที่ใช้นานกว่า 12 ปี เสริมเขี้ยวเล็บปฏิบัติภารกิจจังหวัดชายแดนใต้

- อนุมัติงบเยียวยาซื้อเรือประมงปัตตานี 96 ลำ 163.36 ล้านบาท ตามโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน

วันที่ 28 ก.พ.2566

- อนุมัติงบกลาง 826.68 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัด

- อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย กรอบวงเงินงบประมาณ 1,325.28 ล้านบาท

- เห็นชอบจัดสรรงบกลาง 1,037.48 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

- อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฤดูฝน 2565 เพิ่มเติมในพื้นที่ กทม. และ 15 จังหวัด จำนวน 237,048 ครัวเรือน วงเงิน 1,190.46 ล้านบาท

- ไฟเขียวประกันรายได้ชาวสวนยาง เฟส 4 กว่า 7,643.86 ล้านบาท พร้อมอนุมัติสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท หนุนกิจการไม้ยาง เฟส 2

- เห็นชอบโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปี 2565 วงเงินรวม 9,140.35 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 14.59 ล้านคน จากที่ลงทะเบียนไว้ 22 ล้านคน


วันที่ 7 มี.ค.2566

- เพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566)

- ขยายเวลามาตรการภาษีหนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษอีก 4 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่จ้างผู้พ้นโทษไม่เกิน 15,000 บาท

- อนุมัติ 3,191 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำหรับส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟบ้านไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนประจำ เดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ซึ่งถือเป็นการอัดงบทิ้งทวนเพื่อซื้อใจประชาชนก่อนการเลือกตั้งอีกโครงการหนึ่ง

- อนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดสรรหาเอกชนร่วมลงทุนผู้ประกอบการรายที่ 3 โครงการให้บริการลานจอด-อุปกรณ์ภาคพื้น PPP Net Cost 25 ปี 29,390 ล้านบาท และโครงการให้บริการคลังสินค้า 37,914 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบิ๊กโปรเจกต์ที่อนุมัติทิ้งทวน

วันที่ 14 มี.ค.2566

- อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่อัตรา 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดระยะเวลาการลดภาษี ในวันที่ 20 พ.ค.66 ไปเป็นวันที่ 20 ก.ค.66 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท


- ครม.เห็นชอบเพิ่มเงินค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ โดยอัตราเงินค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับรายได้ของ อบต. ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้

1) รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 25,800 บาท/เดือน รอง นายก อบต. รวม 15,480 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. และรองประธานสภา อบต. 10,880 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 7,080 บาท/เดือน

2) รายได้เกิน 10-25 ล้านบาท (3,562 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 35,600 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 21,180 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,180 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,420 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 9,660 บาท/เดือน

3) รายได้เกิน 25-50 ล้านบาท (525 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 24,840 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,840 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,960 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 10,080 บาท/เดือน

4) รายได้เกิน 50-100 ล้านบาท (166 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 46,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 28,500 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 16,500 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 13,500 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 10,500 บาท/เดือน

5) รายได้เกิน 100-300 ล้านบาท (30 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 63,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 38,220 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 24,720 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 20,250 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 15,750 บาท/เดือน

6) รายได้เกิน 300 ล้านบาท (8 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 75,530 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 45,540 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 30,540 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 24,990 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 19,440 บาท/เดือน


- ครม.เคาะ 4,800 ล้าน เพิ่มค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ทั้งในส่วนของค่าตอบแทนแบบปรับฐาน และค่าตอบแทนแบบขั้นวิ่ง

สำหรับการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบปรับฐาน อัตราเงินเดือนที่ขึ้นสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 12,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) กำนัน (อัตรากำลังคน 7,036 คน) ปรับขึ้นอัตราเงินตอบแทนจาก 10,000 บาท/เดือน เป็น 12,000 บาท/เดือน

2) ผู้ใหญ่บ้าน (อัตรากำลังคน 67,673 คน) ปรับขึ้นอัตราเงินตอบแทนจาก 8,000 บาท/เดือน เป็น 10,000 บาท/เดือน

3) แพทย์ประจำตำบล (อัตรากำลังคน 7,036 คน) ปรับขึ้นอัตราเงินตอบแทนจาก 5,000 บาท/เดือน เป็น 6,000 บาท/เดือน

4) สารวัตรกำนัน (อัตรากำลังคน 14,072 คน) ปรับขึ้นอัตราเงินตอบแทนจาก 5,000 บาท/เดือน เป็น 6,000 บาท/เดือน

5) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง (อัตรากำลังคน 149,418 คน) ปรับขึ้นอัตราเงินตอบแทนจาก 5,000 บาท/เดือน เป็น 6,000 บาท/เดือน

6) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ (อัตรากำลังคน 46,181 คน) ปรับขึ้นอัตราเงินตอบแทนจาก 5,000 บาท/เดือน เป็น 6,000 บาท/เดือน

แพทย์ประจำตำบลก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบขั้นวิ่ง เดิมจากขั้นละ 200 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเป็นขั้นละ 300 บาทต่อปี และในกรณีที่ได้ 2 ขั้นจะปรับจาก 400 บาทต่อปี เป็น 600 บาทต่อปี ดังนี้

1) กำนัน แบบขั้นวิ่งใหม่ 29.13 บาท/เดือน

2) ผู้ใหญ่บ้าน 280.15 บาท/เดือน

3) แพทย์ประจำตำบล 29.13 บาท/เดือน

4) สารวัตรกำนัน 58.26 บาท/เดือน

5) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง 618.59 บาท/เดือน

6) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ 191.19 บาท/เดือน

รวมงบประมาณจากการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบปรับฐาน จำนวน 4,393.50 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่ง จำนวน 402.15 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 4,795 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานต่างๆ ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 197,067 ล้านบาท ซี่งวงเงินดังกล่าวยังไม่นับรวมการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3,350,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่กำหนดไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท ถึง 165 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.18 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการอนุมัติทิ้งทวนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.2566 ที่จะถึงนี้

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า การอนุมัติโครงการต่างๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงใกล้เลือกตั้งนั้นไม่ได้ทำเพื่อซื้อใจประชาชน แต่เพื่อซื้อใจผู้นำท้องถิ่นซึ่งมีส่วนในการชี้นำการตัดสินใจของชาวบ้านในพื้นที่ อย่าง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม. แต่เชื่อว่าจะได้ผลไม่มากนัก เนื่องจากทั้งผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ต่างมีพรรคการเมืองในดวงใจอยู่แล้ว รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการอนุมัติของ ครม.จึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ยกเว้นพื้นที่ที่สนับสุนพรรครัฐบาล หรือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เกิดความชื่นชอบมากขึ้น

"การอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. อาจได้ใจคนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่ง แต่ประชาชนจะเกิดข้อกังขาว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อเอารัดเอาเปรียบในการแข่งขันเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งทำให้กระแสอาจตีกลับได้ แม้ผู้นำท้องถิ่นซึ่งได้ขึ้นเงินเดือนจะมาโน้มน้าวชาวบ้านให้เลือกพรรครัฐบาล แต่ชาวบ้านเขามีพรรคที่ชอบคนที่ใช่อยู่แล้ว การโน้มน้าวดังกล่าวคงมีผลไม่มากนัก" รศ.ดร.พิชาย ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น