xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อรอบนี้อันตราย-ขึ้นดอกเบี้ยสกัดอาจไม่ได้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักเศรษฐศาสตร์ชี้เงินเฟ้อรอบนี้อันตรายการขึ้นดอกเบี้ยสกัดอาจไม่ได้ผล เหตุเงินเฟ้อไทยเกิดจากฝั่งอุปทาน ต่างจากสหรัฐฯ การสู้รบรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นต้นตอหลักกระทบมาถึงราคาน้ำมัน เจ็บตัวกันทุกประเทศ หวั่นเศรษฐกิจทรุดตัวทั่วโลก ต้องใช้เวลาฟื้นอีกนาน แนะรัฐร่วมมือแบงก์ชาติผสมผสานมาตรการสกัด

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ประชาชนชาวศรีลังกาขับไล่ประธานาธิบดีของประเทศ จนต้องหลบหนีออกไปต่างประเทศ และได้มีการหาผู้บริหารประเทศชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน หลังจากที่ชาวศรีลังกาต้องประสบกับความทุกข์ยากจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มาเป็นเวลานาน

ตามด้วยพม่ามีปัญหาค่าเงินจ๊าต ต้องประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ให้บริษัทและธนาคารในพม่า หยุดพักการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หลังจากที่ค่าเงินจ๊าต อ่อนค่าลงไปกว่า 30%

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน คือ ประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศน้อย ไม่เพียงพอต่อภาระหนี้ต่างประเทศ จนทำให้ค่าเงินในประเทศอ่อนลงอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565 คู่ขัดแย้งกับรัสเซียอย่างยูเครนที่สู้รบกันมากว่า 4 เดือน รัฐบาลยูเครนออกมาขอร้องเจ้าหนี้ต่างชาติ รวมถึงมหาอำนาจตะวันตก และบริษัทด้านการลงทุนชั้นนำของโลก ให้อนุมัติมาตรการ “พักชำระหนี้” ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี เพื่อที่ยูเครนจะได้สามารถทุ่มเทงบประมาณไปกับการทำสงครามขับไล่รัสเซีย

กระทรวงการคลังยูเครนเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้จะหดตัวระหว่าง 35-45% โดยเป็นผลมาจากการที่รัสเซียทำสงครามรุกราน และทางกระทรวงคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงพักหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2565

แน่นอนว่าประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ออกมาประกาศในวันเดียวกันว่าจะยินยอมให้ยูเครนพักชำระหนี้ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

เงินเฟ้อไทยเกิดจากฝั่งอุปทาน

นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าวว่า ตอนนี้เกือบทุกประเทศเจอปัญหาเงินเฟ้อด้วยกันแทบทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าสภาพเงินเฟ้อในแต่ละประเทศนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยใด อย่างสหรัฐฯ เป็นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากความต้องการอุปโภคบริโภค หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานบ้างก็ตาม ส่วนประเทศอื่นเงินเฟ้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสินค้าต่างๆ มีน้อยลงจากสถานการณ์การสู้รบ บวกกับราคาพลังงานเลยทำให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น

ดังนั้น สูตรสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อของแต่ละประเทศจึงอาจมีความแตกต่างกัน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อเหมาะกับเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งดีมานด์ คือ ประชาชนต้องการบริโภคสินค้ามากขึ้น แต่ตัวสินค้ามีไม่เพียงพอ ส่วนเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งซัปพลายนั้นตัวดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ใช่เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ เนื่องจากต้นทุนสินค้านำเข้าต่างๆ นั้นเราไม่สามารถควบคุมได้

เงินเฟ้อในประเทศไทยของเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้น 7.66% ที่หลายฝ่ายคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาปรับขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ค่อนข้างแน่นอน

เราเชื่อว่า กนง.คงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแน่ แต่จะเป็นเท่าไหร่ แต่คงไม่ปรับขึ้นแรงแบบธนาคารกลางสหรัฐฯ เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่กล่าวว่า เงินเฟ้อไทยมาจากฝั่งอุปสงค์ไม่มาก แต่มาจากอุปทานคือราคาน้ำมัน ซึ่งดอกเบี้ยไม่สามารถหยุดราคาน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกได้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่อิงกับธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ควรเป็นไปตามบริบทของไทย ซึ่งควรเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินที่ไหลออกในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้รับคำตอบจากหน่วยงานที่ติดตามเรื่องนี้ว่าส่วนใหญ่เป็นการขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ยังไม่พบว่าเป็นเหตุมาจากความไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของไทย


ไทยไม่เหมือนศรีลังกา

ที่จริงแล้วการแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้นไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงหน่วยงานเดียว รัฐบาลสามารถที่จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากวิกฤตพลังงานได้ ที่ผ่านมา รัฐได้เข้ามาทั้งอุดหนุนราคาน้ำมัน หรือใช้กลไกต่างๆ เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลงมา โดยอาจมีจังหวะที่ดีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาจากระดับ 120 เหรียญต่อบาร์เรล ลงมาเคลื่อนไหวแถวๆ 100 เหรียญ หรือความพยายามที่จะตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ต้องประเมินจากต้นทุนของผู้ผลิตด้วยเช่นกัน เพราะหากผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาได้ อาจตัดสินใจเลิกผลิต ตรงนี้จะเป็นปัญหาตามมาอีก

เงินบาทที่อ่อนลงมีผลต่อสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน ยิ่งถ้าบาทอ่อนราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง ยิ่งทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นไปอีก นี่ยังโชคดีที่ราคาพลังงานลดลงมาทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลง หากราคาน้ำมันดีเซลลดลงมาได้น่าจะทำให้หลายๆ อย่างดีขึ้น

หลายคนอาจมองถึงสถานการณ์ที่ศรีลังกาหรือประเทศอื่นๆ ที่เริ่มประสบปัญหา แล้วแสดงความกังวลกับประเทศไทย ตรงนี้ต้องดูที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ ไทยยังมีทุนสำรองที่เพียงพอต่อความมั่นใจของสายตาต่างชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะชะล่าใจ เพราะการเคลื่อนย้ายเงินทุนในยุคนี้ทำได้อย่างรวดเร็ว

สงครามกระทบทุกประเทศ

จะเห็นได้ว่าการสู้รบกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน หากยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ จะกระทบกับทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่มหาอำนาจที่ให้การสนับสนุนยูเครน เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถผลิตพลังงานได้เอง ต้องพึ่งพาจากแหล่งอื่น หนึ่งในนั้นคือรัสเซียที่ยุโรปส่วนใหญ่ใช้จากแหล่งนี้ รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติ ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวแล้วยุโรปอาจมีปัญหาเรื่องราคาพลังงานมากขึ้น เชื่อว่าทุกประเทศที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งต่างก็อยากให้ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครนยุติลงโดยเร็ว แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากมหาอำนาจทั้งหลายยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอยู่ทั้งด้านการเงินและอาวุธ ทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับประชาชนของประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งว่าจะทนรับสภาพค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นไปได้นานแค่ไหน เพราะมีผลสำรวจความคิดเห็นของคนในยุโรปเริ่มที่จะอยากให้การสู้รบครั้งนี้ยุติลง

เมื่อทุกประเทศต้องแบกรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ย่อมเป็นเรื่องบั่นทอนต่อกำลังซื้อของคน ผลที่จะตามมาคือทุกคนเริ่มระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย อาจกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เราหวังว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19

ทุกอย่างจะกระทบกันเป็นลูกโซ่ จะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นแบบใด มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอต่อความมั่นใจของต่างชาติหรือไม่ และมีวิธีบริหารจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

สถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อฝั่งสหรัฐฯ เกิดปัญหาเรื่อง Sub Prime ตอนนั้นยังมีจีนที่เป็นเสาหลักช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลก ตอนนี้เศรษฐกิจจีนส่ออาการถดถอยเช่นกัน จึงเกรงว่าปัญหานี้จะกลายเป็น Global Recession จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำได้ยาก หรือต้องใช้เวลานาน

สถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าผ่อนคลายในระดับหนึ่งหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับลดลงมา ซึ่งหลายประเทศกังวลที่เกรงว่าเศรษฐกิจทั้งโลกจะทรุดตัวลงพร้อมๆ กัน ราคาน้ำมันที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วนั้นมาจากการเก็งกำไรของกองทุนต่างๆ ทั่วโลก


น้ำมันลด-เงินเฟ้อลง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล โพสต์ถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะนี้ว่า ข่าวดีท่ามกลางมรสุม Perfect Storm!! เงินเฟ้อจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ที่ทุกคนรอคอยมาแต่ต้นปีคือ เงินเฟ้อจะ Peak เมื่อไหร่ จากข้อมูลต่างๆ ล่าสุด ถ้าไม่มีอะไรที่พลิกผันเกินคาด เช่น สงครามลุกลามบานปลาย เปิดแนวรบใหม่ เงินเฟ้อโลกน่าจะเริ่มลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสะสางปัญหาอันยุ่งเหยิงของ Perfect Storm ให้ค่อยๆ คลี่คลายลงบ้าง ที่คาดว่า "เงินเฟ้อจะเริ่มลง" ก็เพราะปัจจัยต่างๆ ได้เปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี ที่สำคัญสุดคือ ราคาน้ำมันโลกเริ่มลงมาบ้างแล้ว แม้จะปรับตัวขึ้นลงบ้างในแต่ละสัปดาห์ แต่ก็อยู่ในระดับประมาณ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ใกล้ๆ กับช่วงก่อนที่เปิดฉากสงคราม (ไม่ใช่ 130-140 ดอลลาร์/บาร์เรล)

นอกจากนี้ ที่คาดว่าเงินเฟ้อจะ Peak เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติ่มด้วย

(1) ราคาสินค้าโลหะโลกที่ได้ปรับลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งโลหะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ รวมไปถึงภาคก่อสร้าง

(2) ราคาธัญพืชและอาหารโลกที่เริ่มปรับตัวลดลงบ้างในบางหมวดสินค้า

(3) ดอกเบี้ยที่เริ่มเพิ่มขึ้น จากการเร่งปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ช่วยส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางด้านเริ่มชะลอลง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มร้อนแรงลดลงมาก หลังดอกเบี้ย Mortgage ปรับตัวขึ้นสูง

(4) ที่สำคัญสุดคือ ความกังวลใจของทุกคนว่า "สงครามของธนาคารกลางกับเงินเฟ้อ" จะนำไปสู่ Recession ในอนาคต และอาจจะลุกลามเป็น Global Recessions ทำให้ทุกคนเริ่มลดการใช้จ่าย ชะลอการจ้างงาน บางแห่งประกาศลดคนงานลง!

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ปัจจัยสำคัญๆ ที่เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย และจะนำไปสู่การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี

อดีตนักบริหารเงินรายหนึ่งกล่าวว่า การต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากการขาดแคลนของอุปทานและเกิดจากปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียในยูเครน ต้องให้กระทรวงหลัก 4-5 กระทรวงเข้ามาช่วย ธปท. ตลอดจนกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงานจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมราคาสินค้าและพลังงาน เพราะปัญหาที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้คือ Price Rigidity ที่แก้ไขได้ยากมากๆ และจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน มิฉะนั้นราคาสินค้าจะไม่ลดลงได้เลย

เรื่องเกี่ยวเนื่อง
สกัด “เงินเฟ้อ” ไม่ใช่มีเครื่องมือแค่ดอกเบี้ยนโยบาย

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH



กำลังโหลดความคิดเห็น