xs
xsm
sm
md
lg

สกัด “เงินเฟ้อ” ไม่ใช่มีเครื่องมือแค่ดอกเบี้ยนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวรรธนะ วงศ์สีนิล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมฟิลลิป จำกัด เสนอความเห็นถึงสถานการณ์ค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในขณะนี้ ผ่านหัวข้อ “ค่าเงินบาทและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก” ว่า

ปกติแล้วธนาคารกลางจะใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการเงินในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้แก่ประเทศ โดยมุ่งเน้นที่อัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ มิได้ต้องการแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินนโยบายการเงิน เพียงแต่รายได้ของธนาคารกลางคือผลการดำเนินงานที่ได้มาจากการนำเงินของธนาคารกลางไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงเท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าธนาคารกลางจะไม่ล้มละลาย เช่น ทองคำแท่ง พันธบัตรรัฐบาลที่มีความมั่นคงสูงสุด เป็นต้น

ในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางจะต้องพิจารณาว่าในสถานการณ์ไหนควรที่จะใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้แก่ประเทศ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกธนาคารกลางจะพยายามลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศลงให้อยู่ในระดับที่ดีต่อประเทศของตน เช่น ร้อยละ 2 ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกติดปากว่าการขยายตัวของ GDP ไม่ใช่ว่าจะต้องให้อัตราเงินเฟ้อเป็นศูนย์หรือติดลบ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะงักงันได้

อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเหมาะสมในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกินไป สังเกตได้จากความต้องการสินค้าหรือดีมานด์สูงขึ้นเนื่องจากประชาชนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ราคาสินค้าจึงปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการ ผลผลิตจึงมีปริมาณสูงตามดีมานด์ไปด้วย ดังนั้น ธนาคารกลางจึงควรที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นการชะลอความร้อนแรงของดีมานด์นั้น เพราะเมื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตนตามการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปกติจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยทั้งสองให้สมดุลตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการลงทุน รวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือค่าเงินบาทก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของธนาคารกลาง แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรงผ่านทางการชำระหนี้ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคการส่งออกและนำเข้า รวมถึงการใช้จ่ายของภาคการท่องเที่ยว แต่จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ หรือ Foreign Direct Investment ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

เห็นได้ว่าเมื่อค่าเงินของบางประเทศลดลงจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน เช่น ประเทศศรีลังกา พม่า หรือแม้แต่ประเทศไทย เพราะประเทศเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าของพลังงานและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเมื่อรวมกับภาคการส่งออกและนำเข้าโดยเฉพาะพลังงานแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือค่าเงินจึงมีผลกับเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะทำให้ราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตสินค้าจากภาคนำเข้าสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้จ่ายในประเทศสูงขึ้นได้

เลือกเครื่องมือที่เหมาะสม

ดังนั้น ธนาคารกลางจึงต้องเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะสมกับภาวการณ์ โดยส่วนตัวเห็นว่า

1.เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะบ้านเรามีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันจากผลกระทบของการระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสที่การระบาดอาจจะเพิ่มขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ ในขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีเศรษฐกิจที่กลับมาร้อนแรง ดูได้จากการจ้างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาพลังงานสูงขึ้นทำให้สามารถมีรายได้เข้าประเทศ ประกอบกับสามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศพันธมิตรได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือสามารถพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

2.ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงาน ราคาพลังงานอ้างอิงจากราคาต่างประเทศ มีการพึ่งพาภาคนำเข้าโดยเฉพาะวัตถุดิบที่ต้องนำมาใช้ประกอบการผลิตหลายรายการหลัก นอกจากนี้ ยังต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าจะซบเซาลงไปจากการระบาดของโควิด แต่เริ่มที่จะฟื้นตัวได้บ้างในปัจจุบันและน่าจะดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐทำให้การชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศสูงขึ้น เช่น ราคาพลังงาน จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้น ราคาสินค้าจึงต้องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

3.ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปที่จะใช้เป็นเครื่องมือทางการเงิน ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อจึงเป็นไปได้น้อย สังเกตได้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันไม่สามารถหยุดยั้งอัตราเงินเฟ้อได้ มีแค่ผลกระทบทางจิตวิทยาในระยะสั้นเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ในอนาคตจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้บ้าง แต่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะชะงักงันหรือเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในที่สุด

4.ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวจนเกินไป แต่เกิดจากปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และภาวะตึงเครียดในอีกหลายภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลางและไต้หวัน การปิดประเทศของจีนเนื่องจากนโยบายปลอดโควิด ประกอบกับเกิดการขาดแคลนอาหารในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานในหลายส่วนเกิดการชะงักงันและขาดแคลน ราคาพลังงานและอาหารจึงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดแต่อย่างใด โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปโดยสิ้นเชิง

5.เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างหนี้ภาคเอกชนแตกต่างจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์หรืออังกฤษ โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตของไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนมากกว่าประเทศอื่น โอกาสที่ธุรกิจขนาดย่อมจะฟื้นตัวภายใต้การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นไปได้ยากมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป

6.การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง แต่กลับช่วยรักษาค่าเงินบาทไม่ให้เกิดความผันผวนผิดปกติไปด้วยนั้น เป็นการเสี่ยงที่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเฮดจ์ฟันด์หาช่องโหว่เข้ามาโจมตีค่าเงินบาทได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องกำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหลัก อย่าคิดว่าทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่กว่าสองแสนห้าหมื่นล้านเหรียญจะเพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายในลักษณะนี้อย่างเด็ดขาด

จริงอยู่ที่ว่าลักษณะโครงสร้างหนี้ของบ้านเรา รวมถึงจำนวนเงินทุนสำรองอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าสมัยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจากการเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินบาทไปแล้วเกือบ 3 หมื่นล้านเหรียญ และที่สำคัญคือเมื่อเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถพลิกฟื้นได้ อัตราการจ้างงานยังติดลบ ราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการซ้ำเติมให้ภาคเอกชนต้องชะงักงันมากขึ้นไปกว่านี้ ภาคการนำเข้าก็ขยายตัวมากกว่าภาคการส่งออก ดุลบริการที่ได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลงมากจากการระบาดของโควิด จะยิ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้เงินตราต่างประเทศเข้ามาพยุงค่าเงินบาทมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอลง หนี้ที่อยู่ในสกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น การเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทจึงง่ายขึ้น ต้องไม่ลืมว่านักลงทุนต่างชาติมีเงินมหาศาลมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย และส่วนหนึ่งอาจจะได้มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในสกุลเงินตราต่างประเทศอีกด้วย

7.ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะตามมาหลังราคาสินค้าได้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว คือ ราคาสินค้าจะปรับตัวลงได้ยากกว่าในเวลาที่ปรับตัวขึ้นไปแล้ว หรือที่เรียกกันว่า Price Rigidity เพราะการที่พ่อค้าจะยอมลดราคาสินค้าของตนลงหลังจากที่ภาวะเงินทุเลาลงจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง มิฉะนั้นอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศอย่างเป็นทางการจะเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่คำนวณมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ถูกทางการควบคุมเท่านั้น แต่จะไม่ตรงกับภาวะราคาสินค้าที่สูงขึ้นแต่ไม่ยอมปรับราคาลงตามต้นทุนที่ลดลง ซึ่งนั่นคือราคาสินค้าที่ประชาชนต้องจับจ่ายใช้สอยจริงในการดำรงชีพ

8.ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือค่าเงินบาทเป็นเครื่องมือทางการเงินในการดำเนินนโยบายการเงินแทนอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินการในทันทีพร้อมกันคือ ต้องเข้าไปกำหนดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้มีความเหมาะสมอย่างเคร่งครัด เพื่อความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และต่อตัวธนาคารพาณิชย์เอง ไม่ใช่ให้ตลาดการเงินเป็นผู้กำหนดระดับอัตราดอกเบี้ยอย่างเสรี โดยไม่คำนึงถึงส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยทั้งสองอย่างเช่นปัจจุบันที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะใช้ช่องโหว่ได้ เช่น ไปเรียกเก็บเป็นค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อไม่ให้ผิดกับข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อกำหนดส่วนต่างได้จะทำให้ตลาดการเงินทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนระดับอัตราดอกเบี้ยด้วยความระมัดระวังและเหมาะสมตามสถานการณ์ของแต่ละธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องกำหนดและบังคับใช้มาตราการนี้ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ไม่มีใครกล้าแตะส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนะครับ ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถควบคุมได้ตามข้อบังคับจะสามารถกลับไปดูแลค่าเงินบาทได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงระดับอัตราดอกเบี้ย เพราะยิ่งขึ้นอัตราเงินกู้ไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะต้องขึ้นตามไปด้วย

ใช้หลายแนวทางควบคู่

ส่วนตัวจึงคอยเตือนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลองพิจารณากลับไปดูแลค่าเงินบาทโดยตรงให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต เพราะบ้านเราเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการชำระหนี้พลังงาน การส่งออกและนำเข้าวัตถุดิบสำคัญในการผลิตหลายรายการ รวมถึงต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ค่าเงินบาทน่าจะส่งผลดีและเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และต้องไม่ลืมว่าส่วนตัวไม่เคยเข้าไปพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจของทางการแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงเป็นเพียงข้อคิดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรที่จะพิจารณาให้รอบคอบที่สุด นโยบายการเงินเป็นเพียงส่วนประกอบที่สำคัญเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในภาวการณ์โลกปัจจุบัน รัฐบาลจะต้องให้กระทรวงหลักอื่นนอกจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกันเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย ไม่ใช่แค่กระทรวงการคลังในการดำเนินนโยบายการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินเพียงลำพังเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น