“ประสิทธิชัย” ชี้มติ ครม. ชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยให้สภาพัฒน์เป็นแม่งานทำ SEA ถือเป็นชัยชนะของพลังภาคประชาชน เผยสลายการชุมนุมจะนะ ทำคะแนนนิยมพลังประชารัฐหล่นฮวบ หากพลิกลิ้นอีกคงไร้ที่นั่ง ส.ส. พร้อมลั่น! เลือกตั้งครั้งหน้าคนใต้ไม่เอา “ประชาธิปัตย์” เหตุไม่เหลียวแลชาวจะนะ ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” ชี้แนวคิดแบบอำนาจนิยมนำไปสู่ความขัดแย้ง เชื่อรัฐบาลอ่อนข้อให้ แค่เรียกคะแนนก่อนเลือกตั้ง
กล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวคัดค้าน “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” หรือที่มีชื่อสวยหรูว่า โครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” และแนวร่วม Saveจะนะ จากทั่วประเทศ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไม่น้อยทีเดียว จากท่าทีที่ดุดันแข็งกร้าว สั่งสลายม็อบจะนะ และจับกุมแกนนำที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบ ในช่วงค่ำของวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ #Saveจะนะ เกิดแนวร่วมที่หลังไหลมาช่วยชาวจะนะในการชุมนุมคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม
ทำให้ให้รัฐบาลมีท่าทีอ่อนลง โดยได้นำข้อเรียกร้องของชาวจะนะเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. พร้อมทั้งส่งตัวแทนมาเจรจาและรับฟังข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งกลับมาชุมนุมเรียกร้องที่หน้าทำเทียบอีกครั้ง และเห็นได้ชัดว่าครั้งนี้ “จะนะรักษ์ถิ่น” ยืนยันในข้อเรียกร้องแบบไม่ยอมถอย ส่งผลให้อำนาจรัฐต้องพ่ายต่อพลังภาคประชาชน
นายประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบ เปิดเผยว่า ครั้งแรกนั้นตัวแทนรัฐบาลออกมาแจ้งกับพวกเราว่าที่ประชุม ครม. มีมติให้ชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไว้ก่อน โดยให้รอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) ให้เป็นที่ยุติก่อนทำโครงการ
แต่เราเห็นว่ายังผิดหลักการของการประเมิน SEA เนื่องจากยังมีการนำคู่ขัดแย้งในโครงการคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นโดยตรง จึงแจ้งกลับไปว่าเราไม่เชื่อมั่นต่อมติ ครม. ทางตัวแทนจึงบอกว่าจะนำความเห็นนี้ไปแจ้งที่ประชุม ครม.อีกครั้ง
นายประสิทธิชัย เล่าต่อว่า จากนั้นตัวแทนรัฐบาลกลับออกมาเจรจาใหม่ โดยระบุว่า ครม. ได้รับทราบข้อร้องเรียนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว และมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นแม่งานหลักในการทำ SEA โดยให้ยุติการดำเนินโครงการทั้งหมดจนกว่าจะมีผล SEA ออกมา ซึ่งพวกเราก็พอใจ แต่เนื่องจากยังไม่เห็นมติ ครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษร จึงต้องรอมติ ครม.ที่ออกมาอย่างเป็นทางการก่อน หากเป็นไปตามที่ระบุ พวกเราจะเก็บข้าวของและเดินทางกลับบ้านทันที โดยตัวแทนรัฐบาลแจ้งว่าให้รอดูมติ ครม.ที่เป็นทางการซึ่งจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.thaigov.go.th ช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.ได้เลย
เราก็รอจนกระทั่งประมาณ 19.00 น. มีมติ ครม.อย่างเป็นทางการออกมา โดยมี 35 หัวข้อ แต่ไม่พบว่ามีมติเรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ทำให้มวลชนตัดสินใจที่จะปักหลักชุมนุมต่อไป เพราะตราบใดที่ยังไม่เห็นมติ ครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ยังคงเชื่อถืออะไรไม่ได้ จากนั้นพักใหญ่ๆ เว็บไซต์ www.thaigov.go.th ได้เพิ่มมติ ครม. เป็น 36 ข้อ และแทรก “เรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา’ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นเรื่องที่ 24 ซึ่งเนื้อหาเป็นไปตามข้อเรียกร้อง เราจึงประกาศให้พี่น้องชาวจะนะและเครือข่ายที่ร่วมคัดค้านยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ
“ต้องเห็นมติ ครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเราถึงจะวางใจได้ ไม่อยากให้ซ้ำรอยเมื่อครั้งที่ทำ MOU กับท่านธรรมนัส ตอนแรกที่มติ ครม.ออกมาแล้วไม่มีเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะแบบที่คุยกันไว้ พวกเราเห็นตรงกันว่าจะยกระดับการชุมนุม ผมแจ้งไปทางพี่น้องจะนะที่อยู่ในพื้นที่ให้เตรียมตัวเดินทางขึ้นมาสมทบ แต่หลังจากนั้นมติ ครม.ออกมา ให้ทำ SEA โดยมีสภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัยในภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะหรือไม่ ซึ่งตรงกับเงื่อนไขที่เราเสนอ เราจึงประกาศยุติการชุมนุม โดยจะติดตามกระบวนการทำ SEA ที่จะนะต่อไป” นายประสิทธิชัย กล่าว
นายประสิทธิชัย เชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ชาวบ้านจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพราะเมื่อมีมติ ครม. ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆออกมาสามารถมั่นใจในกระบวนการต่างๆ ได้ระดับหนึ่งว่าโครงสร้างและกระบวนการทำ SEA จะเป็นไปตามข้อตกลง
ขณะที่เอกชนที่เข้าไปทำ EIA (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ก็ทำไม่ได้เพราะสีผังเมืองยังไม่เปลี่ยน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รับพิจารณาไม่ได้ เพราะมีมติ ครม.กำกับอยู่ กระบวนการอะไรที่ทำไปแล้วต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด
“ครั้งนี้เป็นความรู้สึกร่วมของเครือข่ายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศที่เข้ามาช่วยในการเคลื่อนไหวคัดค้าน ชี้ให้เห็นว่าถ้าภาคประชาสังคมเข้มแข็ง และมีพลังมากพอ รัฐบาลต้องยอม แต่ถ้าพลังไม่มาก รัฐบาลก็ไม่ยอม โดยรัฐบาลมักจะหาเหตุผลมาอ้างเพื่อจะทำโครงการที่ตัวเองต้องการให้ได้” นายประสิทธิชัย กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิดแบบอำนาจนิยม เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง จึงมีนโยบายที่แข็งกร้าวกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่มและไม่รับฟังเสียงประชาชน เพราะมองว่าการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ เป็นการท้าทายอำนาจและสร้างความไม่สงบ
ซึ่งการที่รัฐบาลใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่มุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรม ขณะที่ชาวบ้านเน้นเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว ประมง และการเกษตรซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม อีกทั้งเกรงว่าการที่มีอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่จะก่อให้เกิดมลพิษ แรงงานต่างถิ่นจะทะลักเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความแออัดและปัญหาสังคมตามมาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับอีสเทิร์นซีบอร์ด โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน
“แปลกมากที่รัฐบาลให้ ศอ.บต.ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นผู้ผลักดันและขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แทนที่จะเป็นสภาพัฒน์ หรือสภาอุตสาหกรรมเหมือนโครงการอื่นๆ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังบอกว่าใครไม่ใช่คนจะนะอย่าเข้าไปยุ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วรัฐบาลก็ไม่ใช่คนจะนะ ท่านประยุทธ์ เป็นคนโคราช รองเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก็ไม่ใช่คนจะนะ ตรรกะแบบนี้ใช้ไม่ได้ เพราะการก่อสร้างโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินจากภาษีประชาชนในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ดังนั้น คนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าไปยุ่งกับโครงการพัฒนาทุกโครงการ” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
อย่างไรก็ดี บริบททางสังคมและบริบททางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ดังนั้น การตัดสินใจของรัฐบาลต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนในห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังจะหมดวาระและการเลือกตั้ง ส.ส.ใกล้เข้ามาเต็มที ย่อมส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรครัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายประสิทธิชัย ระบุว่า รัฐบาลพลาดมากที่สั่งสลายการชุมนุมของชาวจะนะที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผลกับความรู้สึกของชาวจะนะและคนใต้มาก ทั้งต่อรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะโครงการนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งชาวจะนะและคนใต้ไม่พอใจอย่างมากที่นายนิพนธ์ ไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวจะนะเลย แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า
“พลังประชารัฐนั้นเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่แล้วได้ที่นั่งในพื้นที่ภาคใต้และสงขลาด้วย ซึ่งการสั่งสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่หน้าทำเนียบมีผลต่อการตัดสินใจของคนสงขลาและชาวใต้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่ๆ แต่ความรู้สึกอาจจะมีกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า เพราะคนใต้สนับสนุนประชาธิปัตย์มาตลอด แต่ท่านนิพนธ์ ไม่ช่วยอะไรชาวจะนะเลย ผมว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์มีปัญหาแน่ ไม่ว่าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในจะนะ หรือการเลือกตั้งระดับชาติที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ทั้งใน จ.สงขลา และพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด เลือกตั้งครั้งที่แล้วที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้หายไปครึ่งหนึ่งแล้ว คราวนี้ทำกับคนจะนะแบบนี้อีก คะแนนคงจะหายไปอีกแน่ๆ เละเทะแน่ ส่วนพลังประชารัฐ ถ้ายังพลิกลิ้นเรื่องโครงการอุตสาหกรรมจะนะเหมือนที่ผ่านมาอีก คนใต้คงไม่เอาพลังประชารัฐเหมือนกัน” เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย เชื่อว่า ท่าทีที่อ่อนลงของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุมชาวจะนะนั้น เป็นเพียงการอ่อนลงในเชิงยุทธวิธีเนื่องจากถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และเนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งจึงไม่อยากเสียคะแนนนิยม ไม่ได้มาจากความจริงใจในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
ดังนั้น นับจากนี้ทั้งพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์คงต้องตระหนักว่าการตัดสินใจใดๆ ต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจะนะและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น หากแต่ยังส่งผลถึงอนาคตทางการเมืองของทั้ง 2 พรรคด้วย!