xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาธร” ประณามรัฐ สลายม็อบจะนะเกินกว่าเหตุ “อังคณา” ชี้น่าละอาย-จี้ปล่อยตัวทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานคณะก้าวหน้าประณามรัฐสลายชุมนุมกลุ่มจะนะรักถิ่นเมื่อคืน ระบุทุกคนมีสิทธิหวงแหนธรรมชาติ ชี้โครงการนิคมจะนะเอื้อประโยชน์พวกปั่นราคาที่ดิน ด้านภรรยาทนายสมชายระบุ เป็นการกระทำน่าละอายและสมควรถูกประณาม จี้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดทันที ขณะที่มีแถลงการณ์อย่างน้อยสององค์กรเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดละเมิดสิทธิ และหาทางออกร่วมกัน

วันนี้ (7 ธ.ค.) จากกรณีที่เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าสลายการชุมนุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา มีผู้ถูกควบคุมตัว 37 คน แบ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 31 คน นำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิตในเวลาต่อมา

ขณะที่ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงว่า สาเหตุที่ควบคุมตัวเพราะชุมนุมกีดขวางจราจร ตั้งวางสิ่งของบนพื้นจราจร เกรงว่าจะแพร่เชื้อโรค ขอตรวจสอบผู้ชุมนุมก็ไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่เจรจาหลายครั้งตั้งแต่เริ่มชุมนุม 15.40 น. เพื่อขอให้ย้ายไปสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้แต่ก็ไม่ยอมย้าย ซึ่งกลุ่มนี้เคยเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2563 รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ และการชุมนุมก็ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การข่าวทราบมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมอาจจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและก่อความไม่สงบ และการเข้าจับกุมไม่ใช่สลายชุมนุมเป็นการเจรจาก่อนเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายไม่ใช้ความรุนแรง โดยใช้กำลังเจ้าหน้าตำรวจ คฝ.หญิง และหยิบสิ่งของที่กีดขวางออกจากพื้นที่

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความหัวข้อ “ขอประณามการทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ จากการสลายการชุมนุมของพี่น้องชาวจะนะ” ระบุว่า “คนทุกคนมีสิทธิที่จะหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของตนเอง ในกรณีของพี่น้องชาวจะนะที่มาชุมนุมเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ พวกเขาปฏิเสธไม่เอานิคมอุตสาหกรรมที่นายทุนและนักการเมืองต้องการผลักดัน โครงการนี้ชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์จากราคาที่ดินที่พวกเขาไปกว้านซื้อไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่เพื่อสร้างอุตสาหกรรม

อดีตเพื่อนร่วมงานของผม ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ เคยอภิปรายเรื่องผลประโยชน์ และการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการนี้ไว้ เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชาวบ้านเพียงต้องการปกป้องทะเล ชายหาด และวิถีชีวิตของพวกเขาจากการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนในพื้นที่ พวกเขาเดือดร้อนเพราะชายหาดของพวกเขาจะหายไป วิถีประมง ซึ่งเป็นรายได้ของพวกเขาจะหายไป ผมเคยไปดูสถานที่จริง ได้เห็นถึงความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ รู้สึกเสียดายหากพื้นที่นี้จะถูกสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผลประโยชน์จากการขายที่ดิน เราจะเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างที่ไม่อาจหวนคืนได้ และจะได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครลงทุนมาแทน

พวกเขามาประท้วงเพราะเดือดร้อน การชุมนุมอย่างสันติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพียงไม่กี่อย่างที่ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยมีในการต่อสู้กับการเอารัฐเอาเปรียบจากรัฐและนายทุน เมื่อไม่มีการชุมนุมก็ไม่มีเสียง เมื่อไม่มีเสียง ประชาชนจะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไรก็ได้ การสลายการชุมนุมพี่น้องจะนะเมื่อคืนที่ผ่านมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ มาช่วยกันส่งเสียงประณามรัฐบาล ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบต้องยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกัน”

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายนักสิทธิมนุษยชนมุสลิม ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “การสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่ชุมนุมอย่างสงบบริเวณหน้าทำเนียบฯ เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. ถือเป็นการกระทำที่น่าละอายและสมควรถูกประณาม การชุมนุมดังกล่าวของประชาชนเป็นเพียงการทวงถามสัญญาจากรัฐบาลให้ทำตามบันทึกข้อตกลงผลการเจรจาการแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาลที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

การชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การสลายการชุมนุมจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุบ่งชี้ว่าการชุมนุมจะนำไปสู่ความรุนแรงและเกิดความเสียหายต่อสาธารณะ การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. จึงเป็นการใช้อำนาจเกิดสมควร ขาดความชอบธรรมและเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้คำมั่นต่อนานาประเทศในเรื่องการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้คำมั่นคือ การปกป้องนักสิทธิมนุษยชนและการยุติการฟ้องกลั่นแกล้งหรือฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการชาติยังเน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากธุรกิจ แต่ปัญหาคือหน่วยงานรัฐไม่เคยทำตามสัญญา

โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องยาวนาน ชาวบ้านหลายคนถูกคุกคามโดยกลุ่มทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่โดยหน่วยงานรัฐแทบไม่สนใจและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทะเลจะนะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลใน จชต.ที่ชาวบ้านร่วมกันปกป้อง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่กลุ่มทุนโดยการสนับสนุนจากรัฐมุ่งหวังจะใช้ประโยชน์เพื่อผลทางธุรกิจในนามของการพัฒนา

นายกรัฐมนตรีต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุมซึ่งส่วนมากเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และเป็นผู้สูงอายุ โดยยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหา ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันที ปฏิบัติตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับประชาชน พร้อมทั้งชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และให้หลักประกันว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องให้ความเคารพและคุ้มครอง

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์ เรื่อง หยุดการใช้อำนาจที่เหนือความเป็นธรรม ระบุว่า จากสถานการณ์เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ทำการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุม เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. 2564 ด้วยเจตนาของพี่น้องชาวจะนะในนามจะนะรักษ์ถิ่น ที่มาร่วมชุมนุมโดยสันติวิธี เพื่อมาทวงถามสัญญาจากรัฐบาลในการหยุดกระบวนการทุกขั้นตอนของโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ที่พยายามจะรักษาไว้ซึ่งทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นของส่วนรวมที่พี่น้องประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ

สภาประชาสังคมชายแดนใต้มีความห่วงใย และกังวลต่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกร้อง ดังนี้ 1. ขอให้ยุติการใช้อำนาจที่อ้างความชอบธรรมเหนือความเป็นธรรมที่ประชาชนเจ้าของสิทธิพึงได้รับปฏิบัติ 2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังและพิจารณาข้อสัญญาที่เคยให้กับพี่น้องชาวจะนะ และแสวงหาแนวทางที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ 3. ขอให้รัฐบาลผู้ใช้อำนาจต้องเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครอง และไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญทุกกรณี 4. เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี สภาประชาสังคมชายแดนใต้ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว แล้วใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ปัญหา

ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนออกแถลงการณ์กรณีการสลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมชาวบ้านที่เดินทางมาจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่มาชุมนุมอย่างสงบ เพราะบริษัท TPIPP จะดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ”

การสลายการชุมนุมเป็นการกระทำความรุนแรงต่อชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเยาวชนในรูปแบบเกินกว่าเหตุ เพราะชาวบ้านมาชุมนมโดยสงบ และเพียงต้องการมาทวงสัญญาที่รัฐบาลได้ให้ไว้ว่าจะดำเนินการศึกษาโดยใช้แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment Guideline [SEA]) อันเป็นมิติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ให้ยุติการศึกษา EIA และการแก้ผังเมือง

เมื่อรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ชาวบ้านจะนะจึงขึ้นมาชุมนุมอย่างสงบ เป็นการชุมนุมอยู่กับที่ (assembly) เพียงเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อเรียกร้องที่มีวัตถุประสงค์สุจริตไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และไม่เป็นการขัดต่อหลักการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงไม่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปที่อื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติอยู่ภายใต้ “เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ” (freedom of peaceful assembly) อันเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญไทย

ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างและประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบแต่ไม่อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล (ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน ต.นาทับ) อ.จะนะ จ.สงขลา และสร้างบรรยายกาศที่ไม่นำไปสู่การรับฟังอย่างปลอดภัย มีการใช้กองกำลังจำนวนมากในการควบคุมการจัดเวที การปิดเส้นทางผ่านเวทีการประชุม การคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างรวมทั้งนักวิชาการ ทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงออกถึงความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ มิอาจสร้างความน่าเชื่อถือและความวางใจได้ ว่าโครงการดังกล่าวที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และรักษาปกป้องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

ทางเครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน จึงขอประณามการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่จนนำไปสู่การจับกุมชาวบ้านจำนวน 36 คน และเรียกร้อยให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติ ครม.ให้มีการศึกษาโดยใช้แนวทาง SEA










กำลังโหลดความคิดเห็น