xs
xsm
sm
md
lg

“#NoCPTPP” ระดมพลทั่วประเทศตอกฝาโลง “บิ๊กตู่” ค้านไทยเข้าร่วม CPTPP ชี้ชัดแค่ทุนใหญ่ได้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“FTA Watch” และ “เครือข่าย #NoCPTPP” ทั่วประเทศเตรียมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP โดยจะแถลงแนวทาง 2 ธ.ค.นี้ “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ชี้คนไทยอ่วม ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยส่อแววเจ๊ง ขณะที่ “ทุนใหญ่” ได้ประโยชน์ ทั้ง “บ.ผลิตเมล็ดพันธุ์” ที่มูลค่าการตลาดจะโตก้าวกระโดดจาก 3 หมื่นล้าน เป็น 8 หมื่นล้าน “บ.ส่งออกกุ้งและเนื้อไก่แช่แข็ง” ส่งออกได้มากขึ้น ส่วน “บ.ผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อหมูรายใหญ่” ของไทยทุ่มซื้อกิจการ บ.ขายหมู อันดับ 2 ของแคนาดา เพื่อใช้ฐานในการขยายตลาด หลังไทยเข้า CPTPP

แม้ว่าที่ผ่านมากระแสคัดค้านของคนไทยต่อการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) จะเป็นไปอย่างเข้มข้นและรุนแรงมาก เกิดปรากฏการณ์ 1.4 ล้านแฮชแท็ก #NoCPTPP จากพลังของคนรุ่นใหม่ และมีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านการเข้าร่วมถึง 4 แสนราย ส่งผลให้รัฐบาลต้องขยายเวลาศึกษาเรื่องนี้ออกไปอีก 5 เดือน

แต่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับออกมาประกาศต่อหอการค้าทั่วประเทศว่า ไทยจะร่วมเจรจา CPTPP ขณะที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะมีการประชุมเรื่องดังกล่าวในวันพุธที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อชงเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 14 ธ.ค. พิจารณายื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP ต่อไป

เครือข่ายภาคประชาชนจึงออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อผนึกกำลังครั้งใหญ่ในการคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP!

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) หนึ่งในองค์กรหลักที่คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP เปิดเผยว่า วันที่ 2 ธ.ค.2564 นี้ FTA Watch พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ ในนาม “เครือข่าย #NoCPTPP” ในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชนจะจัดกิจกรรมรวมพลังและแถลงข่าวคัดค้านการเดินหน้าเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่สวนชีววิถี-สวนผักคนเมือง ไทรม้า นนทบุรี พร้อมทั้งประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่

เนื่องจากรัฐบาลมีท่าทีชัดเจนว่าจะเข้าร่วม CPTPP โดยไม่มีการชี้แจงเรื่องการเตรียมพร้อมในประเด็นต่างๆ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎรเสนอแนะ ไม่มีกรอบเจรจาที่ระบุถึงประเด็นอ่อนไหวที่ต้องเจรจาให้ได้ ถ้าไม่ได้ต้องไม่เข้าร่วม ไม่มีการทำข้อมูลใหม่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กรณีที่ที่จีน ไต้หวัน และอังกฤษจะขอเข้าร่วม CPTPP ว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อไทยอย่างไร ไม่มีการทำข้อมูลผลได้-ผลเสียในบริบทโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นที่ยอมรับตามข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค และไม่สนใจเสียงของประชาชนที่ร่วมลงรายชื่อคัดค้านกว่า 4 แสนคน

“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระแสคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ของคนไทยรุนแรงมาก มีการเคลื่อนไหวในแต่ละภาคและการเคลื่อนไหวระดับจังหวัด ที่สำคัญคือ มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมเยอะมาก มีการทวิต #NoCPTPP ถึง 1.4 ล้านทวิต แต่ล่าสุด ท่านนายกฯ พูดชัดว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม CPTPP ดังนั้น คนไทยจึงจำเป็นต้องผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อคัดค้านเรื่องนี้” ผอ.ไบโอไทย กล่าว


นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จากการเขาร่วมใน CPTPP นั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่คนไทยต้องเผชิญ จากการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยเพิ่มมากขึ้นประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อปี โดยมาจากการส่งออกกุ้งและไก่แช่แข็งไปยังญี่ปุ่น และแคนาดาซึ่งเป็นตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้น การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งไม่น่าจะมากเท่าไหร่ และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่าง ซึ่งแม้แต่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทยยังไม่มีการพูดถึงข้อมูลที่ชัดเจนว่าไทยจะได้ประโยชน์อะไร

“พวกเราเพิ่งไปประชุมกับ กกร.มา เราสอบถามว่าที่รัฐบาลบอกว่าไทยจะได้ประโยชน์นั้นจริงๆ แล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ตัวแทน กกร.บอกว่ายังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอดูผลการศึกษาก่อน คือที่ผ่านมามีแต่ผลการศึกษาทางทฤษฎีว่าถ้าเข้าร่วม CPTPP แล้วไทยจะสามารถส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งถูกโต้แย้งอย่างมากจากกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหลายฝ่ายร่วมเป็นกรรมการ” นายวิฑูรย์ ระบุ

หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าการเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบทั้งต่อภาคการเกษตร ภาคสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยาซึ่งกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดย ผอ.ไบโอไทย ชี้ว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ หลังการเข้าร่วม CPTPP คือเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชและเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกษตรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก เมื่อได้ผลผลิตแล้วสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากผลผลิตนั้นไปปลูกต่อได้ แต่ระเบียบภายใต้ CPTPP นั้นเกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์สูงขึ้น 2-6 เท่า (ขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดพันธุ์) แน่นอนว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบโดยตรง และในระยะยาวยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย


ทั้งนี้ การเข้าร่วม CPTPP ถือเป็นการยอมรับ “อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่” หรือ UPOV 1991 โดยภายใต้อนุสัญญา UPOV นั้น "พืชเศรษฐกิจ" ที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมจะได้รับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต่างจากพันธุ์พืชท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรถูกห้ามใช้ "เมล็ดพันธุ์" ที่ถูกสงวนไว้ หรือได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืช ดังนี้

1.ผลผลิตจะเป็นของ "ผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช" กล่าวคือ UPOV 1991 จะให้เอกสิทธิ์แก่ผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช หากเกษตรกรหว่าน "เมล็ดพันธุ์พืช" ที่ได้รับการคุ้มครองลงในพื้นที่ของตนโดยไม่จ่ายค่าตอบแทนการอนุญาตใช้สิทธิ ทางผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชสามารถอ้างกรรมสิทธิ์ของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลผลิตได้

2.การเพาะพันธุ์พืชจะถูก "ควบคุม" มากขึ้น กล่าวคือ การทำวิจัย "รูปแบบพันธุกรรม" หรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ของ "พันธุ์พืชใหม่" จะไม่มีการพิจารณาใหม่ แต่จะพิจารณาโดยพื้นฐานการกำเนิดจากพันธุ์พืช หมายความว่า "กรรมสิทธิ์" จะเป็นของผู้ปรับปรุงพันธุ์รายแรก โดยชี้ว่า เอกสิทธิ์เมล็ดพันธุ์พืชนั้นจะมีระยะเวลานานถึง 20-25 ปี ห้ามใครผลิต ทำซ้ำ ขายหรือแลกเปลี่ยนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปรับปรุงพันธุ์

ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยจะถูกตัดสิทธิในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ หากเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเองจะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท ห้ามขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปโดยไม่แบ่งกำไรให้เจ้าของพันธุ์ (นายทุน) ซึ่งผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพร ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชตกงาน รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรไทยจะพังทลายตามไปด้วย

พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลร่วมรณรงค์คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์ในการช่วงชิงคะแนนเสียงที่ได้ใจประชาชน
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชเท่านั้น ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูซึ่งเป็นผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80,000-100,000 ครอบครัว จะได้รับผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามราคาเมล็ดพันธุ์ของพืชที่ใช้ทำอาหารสัตว์อย่าง ข้าวโพด ปลายข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เนื้อหมูของไทยจะถูกเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากแคนาดาเข้ามาตีตลาด เมื่อผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอยู่ไม่ได้ ตลาดเนื้อหมูของไทยก็จะตกเป็นของบริษัทผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่โดยปริยาย

“แน่นอนว่ามีกลุ่มทุนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP อันดับแรกได้แก่ บริษัทอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ โดยจากมูลค่าของตลาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท รองลงมาคือ บริษัทผู้ผลิตและส่งออกกุ้งและเนื้อไก่แช่แข็งซึ่งจะส่งออกได้มากขึ้น ส่วนผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของประเทศอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาตีตลาดของแคนาดา เนื่องจากเขาได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทเลี้ยงหมูรายใหญ่อันดับ 2 ของแคนาดาอยู่ก่อนแล้ว ทำให้สามารถใช้ฐานการผลิตในแคนาดาส่งออกเนื้อหมูไปยังประเทศต่างๆ ได้” วิฑูรย์ ระบุ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP นั้นมีหลายด้าน หลายประเด็น โดยเฉพาะผลกระทบเรื่องการเข้าถึงยารักษาโรค ได้แก่

1) ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน

2) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage (การเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา)

3) รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศได้อีกต่อไป

4) ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้

5) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ

6) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนในการจำหน่าย ปัญหาถูกหลอกถูกโกงจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความตกลง CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาสูบ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น

7) ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติจากการบังคับเข้าอนุสัญญา UPOV1991

8) เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า

9) ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู

ประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีใน CPTPP
สำหรับประเด็นที่บางฝ่ายอ้างว่าไทยจะเสียโอกาสทางการค้าหากไม่เข้าร่วม CPTPP นั้น นายวิฑูรย์ ชี้ว่า แม้ประเทศไทยจะไม่เข้าร่วม CPTPP ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือทางการค้าเพราะไทยได้ทำ FTA (การทำความตกลงทางการค้าของประเทศที่นำไปสู่เขตการค้าเสรี) กับสมาชิก CPTPP อยู่แล้วถึง 9 ประเทศ จากทั้งหมด 11 ประเทศ ยังขาดเพียง “เม็กซิโกกับแคนาดา” เท่านั้น ซึ่งไทยได้เตรียมการที่จะทำข้อตกลง FTA อาเซียน-แคนาดาเร็วๆ นี้ ขณะที่เม็กซิโกก็สนใจจะทำ FTA กับไทยเช่นกัน รวมทั้งอังกฤษที่มีข่าวว่าจะเข้าร่วม CPTPP ทางอังกฤษกำลังเจรจากับไทยและประเทศในอาเซียนที่จะทำข้อตกลงข้อตกลง FTA อาเซียน-อังกฤษ

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจีนจะเข้าร่วม CPTPP หากไทยไม่เข้าร่วมจะตกขบวนไม่น่าจะเป็นจริงเช่นกัน เพราะแม้จีนจะเข้าร่วม CPTPP โอกาสทางการค้าของไทยคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากปัจจุบันไทยทำความตกลงเปิดเสรีการค้า (FTA) กับจีนอยู่แล้ว อีกทั้งจากการประเมินพบว่าโอกาสที่จีนจะเข้าร่วม CPTPP นั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากการที่ประเทศใดจะเข้าร่วมได้นั้นจะต้องได้รับฉันทานุมัติจากประเทศสมาชิก CPTPP ก่อน แต่ประเทศสมาชิกอย่างแคนนาดาและออสเตรเลียต่างก็คัดค้านจีน ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งในทางการเมืองจะอิงกับสหรัฐอเมริกา ในเมื่ออเมริกาไม่ลงรอยกับจีน ญี่ปุ่นคงไม่สนับสนุนจีนเช่นกัน

“การเข้าร่วม CPTPP โดยอ้างความจำเป็นเรื่องการค้าและเศรษฐกิจจึงฟังไม่ขึ้น เพราะเทียบไม่ได้กับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทั้งประเทศจะรวมพลังกันคัดค้านเรื่องนี้ก่อนที่จะสายเกินไป” ผอ.ไบโอไทย ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น