“เลขาฯ สปสช.” เผยจ่ายเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วกว่า 2,800 ราย เป็นเงินรวมกว่า 110 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ป่วยเรื้อรัง พบมากสุดคือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เส้นเลือดตีบ อัมพาตชั่วคราว พบผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 222 ราย ชี้อัตราการแพ้เพิ่มขึ้นจาก 11 ต่อล้าน เป็น 66 ต่อล้าน ยันผู้ป่วย-ญาติจะได้รับเงินหลังยื่นเรื่องไปยัง สปสช. ภายในไม่เกิน 12 วัน อีกทั้งไม่ต้องรอพิสูจน์สาเหตุการแพ้หรือการตาย โดยไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศทั่วโลกที่ใช้หลักเกณฑ์นี้
จากกรณีที่มีข่าวว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 บางรายเกิดอาการแพ้ และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้คนไทยอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมบริการด้านสุขภาพที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ยื่นคำร้องกรณีได้รับผลกะทบจากการฉีดวัคซีน และมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วรวมทั้งสิ้น 2,875 ราย รวมเป็นเงิน 110.295 ล้านบาท โดยมีผู้เสียชีวิตจากกรณีที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีน จำนวน 222 ราย ทุพพลภาพ ประมาณ 20 ราย และเจ็บป่วยเรื้อรังอีก 2,633 ราย ซึ่งอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่พบมากที่สุดคืออาการอัมพาตครึ่งซีกชั่วคราว ซึ่งมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเส้นเลือดตีบ
โดยเกณฑ์การรับเงินเยียวยาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ หากเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังหลังการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จะได้รับเงินเยียวยาไม่เกิน 100,000 บาท หากพิการทุพพลภาพ ได้รับไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเสียชีวิต จะได้รับไม่เกิน 400,000 บาท
ซึ่งผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วได้รับผลกระทบในกรณีดังกล่าวสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินเยียวยาได้ 3 จุดหลักๆ คือ 1.โรงพยาบาลที่เข้ารับบริการฉีควัคซีน 2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และ 3.สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยจะยื่นในพื้นที่ใดก็ได้ที่สะดวก ไม่จำเป็นต้องยื่นตามภูมิลำเนา หรือยื่นในพื้นที่ที่ได้รับวัคซีนเท่านั้น แต่หากต้องการให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วควรยื่นในพื้นที่ที่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากคณะอนุกรรมการของ สปสช.จะสามารถติดต่อขอเอกสารจากโรงพยาบาลที่ฉีดวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วกว่า
“สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการที่อยู่ประจำแต่ละเขตพิจารณากรณีขอรับเงินเยียวยาผลกระทบจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในทุกสัปดาห์ ดังนั้น ส่วนใหญ่หลังจากรับเรื่องแล้วการพิจารณาจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เมื่อกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยา สปสช.ก็จะดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาการไม่พึงประสงค์ หรือญาติของผู้เสียชีวิต ภายใน 5 วัน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนจะได้รับเงินเยียวยาหลังจากยื่นเรื่องไปยัง สปสช. แล้วไม่เกิน 12 วัน” นพ.จเด็จ ระบุ
สำหรับการประเมินการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่า จะเป็นการพิจารณาความเสียหายเบื้องต้นโดยคณะอนุกรรมการ สปสช. ซึ่งใช้หลักการว่า “หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือผลกระทบดังกล่าวนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน” สปสช.จะต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ทันที โดยเป็นหลักการที่เรียกว่า “การชดเชยความเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด” ซึ่งจะต่างจากวิธีพิจารณาวินิจฉัยของหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากวัคซีนจริงหรือไม่
หลักของการเยียวยาคือทุกอย่างต้องรวดเร็วเพราะความเสียหายที่เกิดนั้นรอไม่ได้ ที่สำคัญประชาชนที่มารับวัคซีนนั้นก่อนรับวัคซีนเขาไม่ได้เจ็บป่วย ดังนั้น ถ้าวัคซีนที่รัฐฉีดให้ทำให้เขาได้รับความเสียหาย รัฐก็ต้องรับผิดชอบ ต้องเข้าใจว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกยี่ห้อที่ฉีดกันทั่วโลกนั้นเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าวัคซีนตัวนั้นตัวนี้จะปลอดภัย มีโอกาสเสี่ยงเกิดขึ้นได้หมด หากต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยจึงจะจ่ายเงินเยียวยาก็คงเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันเวลา
“มีเพียง 25 ประเทศทั่วโลกที่ใช้หลักเกณฑ์การชดเชยในลักษณะนี้ เป็นหลักเกณฑ์การชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งอนุกรรมการ สปสช.ที่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติเงินเยียวยาจะต้องตั้งธงเอาไว้ก่อนว่าไม่ว่าใครเป็นอะไรหลังฉีดวัคซีนต้องสงสัยไว้ก่อนว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งวิธีนี้ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นใช้กัน โดยจะไม่มาถกเถียงกันเรื่องพยาธิสภาพของผู้รับวัคซีนที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน เพราะบางครั้งเกิดพยาธิสภาพในระดับโมเลกุลซึ่งไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก เช่น สารบางตัวในวัคซีนไปกระตุ้นให้คนที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแออยู่แล้วอาการแย่ลงไปอีก ซึ่งการที่วิทยาศาสตร์การแพทย์จะพิสูจน์สาเหตุได้ชัดเจนนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังทำให้การเยียวยาล่าช้า ไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น” นพ.จเด็จ ระบุ
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาปัญหาในการจ่ายเงินเยียวยาผลกระทบจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1.ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือทายาทของผู้เสียชีวิตบางรายไม่ได้ทำเรื่องขอเงินเยียวยาเนื่องจากไม่รู้ว่ารัฐโดย สปสช.มีโครงการนี้ ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิ หรือไม่มั่นใจว่าตนเองเข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ จึงไม่กล้ายื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยา เพราะเกรงว่าหากตรวจพบภายหลังว่าตนเองไม่เข้าเกณฑ์จะมีปัญหาตามมา เช่น อาจถูกเรียกคืนเงินเยียวยา หรือเสียค่าปรับ
2.ผลกระทบของผู้ยื่นขอเงินเยียวยาไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากเป็นแค่อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติหลังฉีดวัคซีน เท่านั้น เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ ท้องเสีย ซึ่งกินยาไม่กี่วันก็หาย ไม่ใช่อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงซึ่งส่วนใหญ่จะมีการแอดมิทเพื่อเข้ารับการรักษา เช่น ช็อกหมดสติ อีกทั้งส่วนมากจะเป็นการรักษาต่อเนื่องซึ่งมีพยาธิสภาพที่เห็นได้ชัดเจน เช่น มีอาการชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง อย่างไรก็ตาม อาการส่วนใหญ่จะกลับมาเป็นปกติได้เอง
“ขอชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าหลักการเยียวยาเบื้องต้นนั้นหากอนุกรรมการของ สปสช. อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วให้ถือเป็นที่สิ้นสุด จะไม่มีการพิจารณาทบทวนสิทธิ หรือเรียกคืนเงินเยียวยาแต่อย่างใด คือผู้ที่ได้รับผลกระทบบางคนอาจมีโรคประจำตัวอยู่ เช่น เบาหวาน โรคความดัน หลังจากฉีดวัคซีนแล้วเกิดมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเรื้อรัง ซึ่งเจ้าตัวไม่แน่ใจว่าอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากโรคประจำตัวหรือเปล่า แต่โดยหลักการของ สปสช.แล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าวัคซีนอาจไปกระตุ้นให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนั้น ไม่ต้องกังวล หากหลังฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงต่อเนื่องก็ให้ยื่นขอรับการเยียวยาจาก สปสช.ได้ทันที” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่สังคมอยากรู้ในขณะนี้ก็คือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวไหนหรือยี่ห้อใดที่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือที่หลายคนเรียกว่าเกิดการแพ้มากที่สุด ซึ่ง นพ.จเด็จ ชี้แจงว่า ที่จริงแล้ววัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกตัวมีโอกาสทำให้ผู้รับวัคซีนแพ้หรือมีอาการไม่พึงประสงค์ได้หมด ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาถ้ารัฐจัดสรรวัคซีนยี่ห้อไหนให้ประชาชนฉีดเยอะก็จะเห็นตัวเลขการแพ้ของวัคซีนตัวนั้นมากกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ
แต่ที่น่าสังเกตคือ จากข้อมูลพบว่า ช่วงแรกของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศไทย โอกาสที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์อยู่ที่ 11 ต่อ 1 ล้าน คือในจำนวนผู้รับวัคซีน 1 ล้านคน จะมีผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 11 คน แต่ปัจจุบันอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นมาก โดยขณะนี้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 30 ล้านคน มีผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์รวมแล้วประมาณ 2,000 กว่าคน ซึ่งหมายความว่าในจำนวนผู้รับวัคซีน 1 ล้านคน จะมีผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ไม่ต่ำกว่า 66 คน หรือเท่ากับ 66 ต่อ 1 ล้าน
อย่างไรก็ดี การจะสรุปว่าวัคซีนแต่ละตัวมีผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่นั้นอาจจะไม่สามารถสรุปได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากวัคซีนบางตัวกว่าจะปรากฏอาการไม่พึงประสงค์ก็หลังจากที่มีการฉีดไปแล้วหลายเดือน ยกตัวอย่าง ที่ประเทศอิสราเอลมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ประชาชนครบทั้งประเทศแล้ว แต่ผ่านไป 2 เดือน ปรากฏว่าอยู่ๆ จำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้นผิดปกติ รัฐบาลจึงสรุปว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบดังกล่าวน่าจะมีความเกี่ยวพันกับการฉีดวัคซีน
“ที่ผ่านมาเราฉีดซิโนแวคเยอะกว่าวัคซีนตัวอื่น ดังนั้น การที่มีข่าวออกมาว่าคนไทยแพ้ซิโนแวคกันเยอะก็เป็นเรื่องปกติ ตอนหลังแอสตร้าเซนเนก้าเริ่มเข้ามาเยอะขึ้น จะพบว่ามีคนแพ้แอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ไฟเซอร์ไม่มีคนร้องมาเลยว่าแพ้เพราะมีคนฉีดน้อยมาก” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดซิโนแวคนั้นพบว่ามีทุกกลุ่มอายุ แต่หลักๆ จะเป็นผู้สูงอายุและวัยกลางคน ซึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน ส่วนกลุ่มโรคที่มักเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ก็ทำนองเดียวกัน คือ เนื่องจากช่วงแรกเราเน้นฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง ซึ่งนอกจากจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์แล้ว คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว อันได้แก่ ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ดังนั้นจึงพบว่าผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มักเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนคือทั้ง 3 โรคดังกล่าว
“ที่ผ่านมาเรายังไม่มีการฉีดวัคซีนให้เด็ก ไทยจึงยังไม่พบว่ามีเด็กที่แพ้วัคซีน ดังนั้นข่าวที่ออกมาว่าคนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่จะแพ้วัคซีนจึงเป็นเรื่องของอคติทางข้อมูล ซึ่งข้อมูลนี้อาจทำให้คนที่เป็นเบาหวานไม่กล้าไปฉีดวัคซีน และทำให้เขายิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
เลขาธิการ สปสช. ยังได้ยืนยันความพร้อมในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน ว่า สำหรับเงินเยียวยาที่จะจ่ายให้ผู้ที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยเรื้อรังหลังจากฉีดวัคซีนนั้นขณะนี้เหลืออีกประมาณ 90 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะเพียงพอที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้สภาพัฒน์ได้กำหนดให้พิจารณาเป็นรายไตรมาสเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า สปสช.จะสามารถดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึง