ภาครัฐ-เอกชน จับมือฝ่าวิกฤตแรงงาน เปิดรับตำแหน่งใหม่กว่า 1.4 ล้านอัตรา “สุชาติ” เผย เฉพาะ Job Expo มีตำแหน่งว่างทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน ถึง 1.3 ล้านอัตรา ขณะที่นักศึกษาจบใหม่มีหวัง ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ Co-payment แล้ว 1,048 ราย เปิดรับ 7.8 หมื่นอัตรา ด้าน อบต.ทั่วประเทศ เปิดสอบบรรจุ ขรก. และพนักงานท้องถิ่นอีก 4,157 ตำแหน่ง ตามด้วย “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” เตรียมจ้าง 6 หมื่นอัตรา ส่วนกลุ่ม ปตท.เปิดรับ 25,800 ตำแหน่ง “คณิศ” ระบุ EEC อุดหนุนงบจ่ายค่าแรงบางส่วนแทนผู้ประกอบการ เพื่อลดการเลิกจ้าง
กล่าวได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลง นำไปสู่ปัญหาการว่างงานครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยได้ผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่เพื่อจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ หลายหน่วยงานเร่งจัดทำโครงการเพื่อให้เกิดการจ้างงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงนับเป็นแสงสว่างอีกครั้งของผู้ที่กำลังตกงาน โดยจากการรวบรวมข้อมูลล่าสุด พบว่า องค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมใจกันเปิดรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างรวมแล้วกว่า 1,449,000 อัตรา เลยทีเดียว
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ขณะนี้มีคนไทยตกงานถึง 2-3 ล้านคน และมีบัณฑิตว่างงานประมาณ 4 แสนกว่าคน ซึ่งรัฐบาล และกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว โดยจะเป็นการทำงานเชิงรุกและแก้ปัญหาทุกมิติที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย
จากการเทกแอ็กชันของ รมว.แรงงานคนใหม่ จึงได้เกิดงาน “Job Expo Thailand 2020” ซึ่งถือเป็นตลาดนัดแรงงานที่รวบรวมตำแหน่งงานของทั้งภาครัฐและเอกชนไว้ด้วยกัน ซึ่งจัดโดยกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 26-28 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา
รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า งาน Job Expo Thailand 2020 ครั้งนี้ มีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน รวม 570 หน่วยงาน มาเปิดรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างถึง 1,355,187 อัตรา
“ในงานนี้มีผู้สมัครและรอบรรจุงาน จำนวน 243,566 ตำแหน่ง แต่เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานอยู่ที่ 125,383 คน จึงคาดว่าผู้สมัครงานส่วนใหญ่สมัครงานไว้หลายตำแหน่ง และแม้ผู้สมัครงานทั้งหมดจะได้รับเลือก ก็ยังมีตำแหน่งงานว่างเหลืออยู่อีกกว่า 1,200,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว” นายสุชาติ ระบุ
ตามด้วยโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ (Co-payment) ที่ดำเนินการโดยกระทรวงแรงงานเช่นกัน โดยโครงการนี้ภาครัฐจะสนับสนุนค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เพื่อให้สถานประกอบการสามารถจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 260,000 อัตรา เข้าทำงานเป็นระยะเวลา 1 ปี (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2564) ในอัตราเงินเดือน 15,000 บาท โดยบริษัทจ่ายเงินเดือน 7,500 บาท และรัฐบาลจ่ายให้เด็กบัณฑิตโดยตรงอีก 7,500 บาท ซึ่งล่าสุดมีนายจ้างเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,048 ราย และแจ้งความประสงค์ว่าจะรับพนักงาน จำนวน 78,855 อัตรา ส่วนที่เหลืออีกกว่า 180,000 อัตรานั้น กระทรวงแรงงานเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการทยอยแจ้งความจำนงเข้ามาเรื่อยๆ
ล่าสุด คณะรัฐมนตรียังได้ให้ความเห็นชอบ “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจะมีการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา รวม 60,000 คน โดยจ้างตำบลละ 20 คน เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลในด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตำบล ซึ่งในหลักการจะให้ 1 ตำบล มี 1 มหาวิทยาลัย เข้าไปช่วยทำงานกับชุมชน
สำหรับการจ้างงานกลุ่มประชาชนทั่วไปนั้น จะคัดเลือกประชาชนในพื้นที่หรือใกล้เคียงซึ่งว่างงาน ในอัตราค่าจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน ส่วนบัณฑิตจบใหม่ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี และมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน จะจ้างในอัตรา 15,000 บาทต่อเดือน และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน จะจ้างในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน
อีกหน่วยงานที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งกำลังจะเปิดรับสมัครสอบเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำ อบต.ทั่วประเทศ จำนวนถึง 4,157 อัตรา ซึ่งมีทั้งตำแหน่งประเภทวิชาการ ตำแหน่งประเภททั่วไป และตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยจะเปิดสมัครสอบในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2563 นี้
ด้าน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน จะมีการจัดทำโครงการสำมะโนด้านพลังงาน โดยจะจ้างพนักงานเก็บข้อมูล จำนวน 2,000 อัตรา เพื่อทำการเก็บข้อมูลด้านพลังงานโดยละเอียด ซึ่งจะใช้เป็นบิ๊กดาต้า หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศักยภาพของพลังงานทดแทน ข้อมูลเรื่องการใช้พลังงานของชุมชน เพื่อนำไปประเมินว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องสำรองพลังงานไว้ทดแทนเท่าไหร่ เป็นต้น
ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็กำลังดำเนินโครงการจ้างงานเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล จำนวน 2,000 อัตรา เพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ซึ่งจะนำมาใช้ในการจัดทำโครงการส่งเสริมการเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะมีหน้าที่เก็บข้อมูลว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร มีชุมชนหนาแน่นแค่ไหน มีการปลูกพืชชนิดใดบ้าง ทั้งนี้ เพื่อที่ กฟผ.จะพิจารณาว่าควรส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกพืชชนิดใด ซึ่งแม้การจ้างงานดังกล่าวจะเป็นการจ้างระยะสั้นๆ แต่ก็เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ที่กำลังว่างงานมีรายได้พอสมควร
ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคเอกชนก็มีตำแหน่งงานว่างและเปิดรับสมัครพนักงานจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้บริหารออกมาเปิดเผยว่ากลุ่ม ปตท.ทั้งหมดจะมีการจ้างงานถึง 25,800
อัตรา โดยแบ่งเป็นพนักงงานถาวรของ ปตท. 1,000 อัตรา เป็นการจ้างในส่วนของโครงการก่อสร้างของธุริกจที่ยังไม่หยุดนิ่งของกลุ่ม ปตท. เช่น การขยายสถานีให้บริการน้ำมัน ร้านกาแฟอเมซอน รวม 20,000 กว่าอัตรา นอกจากนั้น ยังมีโครงการจ้างนักศึกษาจบใหม่เพื่อเข้ามาทำงานในโครงการ CHR ของ ปตท.เป็นเวลา 1 ปี อีกประมาณ 2,000 อัตรา เช่น โครงการอนุรักษ์ทะเล ของ ปตท.สผ. เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนโครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ซึ่ง ปตท.จะดำเนิการร่วมกับชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากการเปิดรับสมัครงานนับล้านตำแหน่งที่สามารถช่วยลดปัญหาการว่างงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังมีโครงการที่ช่วยลดปัญหาการถูกเลิกจ้าง ซึ่งดำเนินการโดย EEC หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีกด้วย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า EEC เล็งเห็นถึงผลกระทบของแรงงานไทยจากการถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากมีการลดขนาดการผลิตหรือปิดกิจการเพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะในกล่มอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย เราจึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่มีปัญหาต้องลดกำลังการผลิตซึ่งทำให้ต้องปรับลดพนักงานบางส่วนลง ว่าอย่าเลิกจ้างพนักงานในส่วนนี้ โดย EEC ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือ โดยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานแทนค่าจ้างจากบริษัทในวันที่นำพนักงานมาฝึกอบรม ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้บริษัทได้บางส่วน
“มีข้อตกลงกันว่าบริษัทลดกำลังการผลิต ลดวันทำงาน แต่ไม่ลดคน เช่น ปกติทำงาน 5 วัน อาจจะเหลือ 3 วัน มาฝึกอบรม 2 วัน ซึ่งใน 2 วันนี้เราจ่ายค่าจ้างให้แทนบริษัท เราได้รับงบประมาณมา 190 ล้านบาทเพื่อทำโครงการนี้ ตอนนี้จัดทำงานแผนงานทุกอย่างเสร็จแล้ว แค่รอการอนุมัติ ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะช่วยให้พนักงานไม่ต้องตกงานแล้ว ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นเขาก็มีโอกาสได้รับการจ้างงานต่อเพราะได้ผ่านการพัฒนาฝีมือในทักษะที่โรงงานสมัยใหม่ต้องการ เช่น การควบคุมหุ่นยนต์แขนกลอัตโนมัติ โดยโครงการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า” เลขาธิการ EEC กล่าว
จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานดังกล่าว ถือเป็นความหวังของแรงงานไทย รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ที่อาจจะไม่ต้องตกงานนานนัก เพราะด้วยตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครพร้อมกันถึงกว่า 1.4 ล้านอัตรา น่าจะเป็นลู่ทางให้ผู้ที่ยังว่างงานสามารถหางานใหม่ได้ไม่ยากจนเกินไป