xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแหล่ง “ขอทุน” ป.ตรี-ป.เอก ส่งเรียนทั้งในและต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแหล่งขอทุนเกือบ 100 องค์กร หนุนการศึกษาระดับ ป.ตรี-ป.เอก ทั้งในและต่างประเทศ ทุนจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชน สถาบันการเงิน มูลนิธิ และสารพัดทุน-สิทธิประโยชน์จาก 22 ประเทศ 5 ทวีป

การศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญต่อเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา ทำให้หลายครอบครัวมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นการ “ขอทุน” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองได้

จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยนั้นมีองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกอยู่มากมายอย่างที่คิดไม่ถึง ทั้งนี้ จะแบ่งทุนเป็น 2 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ในการเรียน คือ ทุนเพื่อการศึกษาภายในประเทศ และทุนเพื่อการศึกษาในต่างประเทศ


“ทุนเพื่อศึกษาภายในประเทศ” ประกอบด้วย

“ทุนรัฐบาล” เป็นทุนการศึกษาที่ได้จัดสรรงบประมาณจากรัฐมาส่วนหนึ่ง เพื่อให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสศึกษาต่อในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษา และเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนทุน ซึ่งทุนของรัฐนั้น ได้แก่

- ทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือชื่อใหม่คือ ทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นทุนการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมปลายจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอที่มีฐานะยากจน แต่การเรียนและความประพฤติดี สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ โดยประเทศที่นักเรียนเลือกไปศึกษานั้นต้องไม่เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และมีความโดดเด่นเฉพาะด้านทางวิชาการ ซึ่งนักเรียนทุนที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับการอบรมภาษาและวัฒนธรรมของประเทศนั้นก่อนเป็นเวลา 3 เดือน

- ทุนจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมีทั้งทุนเพื่อการศึกษาในประเทศ และทุนศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเงื่อนไขจะเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ ก.พ. https://www.ocsc.go.th/scholarship/personal คลิก “ทุนรัฐบาล” เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ทุน สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

- ทุนของกองทัพ นอกเหนือจากทุนของ ก.พ.แล้วยังมีทุนการศึกษาที่สนับสนุนโดยกองทัพต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาในสถาบันการศึกษาของกองทัพ โดยผู้ที่ได้รับทุนเหล่านี้ เมื่อจบการศึกษาจะได้รับโอกาสเข้ารับราชการทหารในสังกัดของหน่วยงานที่ให้ทุน เช่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า


- ทุนของสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเป็นทุนที่สถาบันการศึกษานั้นๆ มอบให้แก่นักศึกษาภายในสถาบันตนเอง ซึ่งเงื่อนไขในการพิจารณาจะเป็นทุนที่ให้แก่นักศึกษาที่เรียนดี และมีความประพฤติดี แต่มีฐานะยากจน เป็นทุนแบบให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัด แต่นักศึกษาต้องรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับที่ทางสถาบันกำหนด โดยนักศึกษาที่ประสงค์จะขอทุนสามารถติดต่อสอบถามจากสถาบันการศึกษาได้โดยตรง




ทุนของภาคเอกชน ซึ่งในแต่ละปีนั้นมีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นทุนของบริษัทห้างร้าน สถาบันการเงิน หรือมูลนิธิต่างๆ มีทั้งประเภททุนเต็มจำนวน ทุนสนับสนุนบางส่วน โดยส่วนใหญ่จะเป็นทุนให้เปล่า ไม่ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนตามข้อผูกพันเหมือนกับทุนของรัฐบาล ซึ่งแต่ละทุนนั้นมีวัตถุประสงค์ของการให้ทุนที่แตกต่างกันไป อาทิ

- มูลนิธิทุนแพทย์เพื่อปวงประชา สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ที่เรียนดีแต่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยมอบทุนให้แก่นักศึกษาแพทย์ 18 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลา มากว่า 10 ปี แล้ว โดยเป็นการให้ทุนแบบต่อเนื่องจนจบการศึกษา ( 6 ปี) ปีละ 60,000 บาทต่อราย ซึ่งจำนวนทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2562 ได้มอบทุนแก่นักศีกษาแพทย์ จำนวน 136 ทุน

- มูลนิธิศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่มีความสามารถและความประพฤติดี โดยเปิดรับสมัครปีละ 2 รอบ คือ รอบที่ 1 รับสมัครในวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. และรอบที่ 2 เปิดรับสมัครในวันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.

- เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ให้ทุนสนับสนุนใน 3 สาขาหลัก คือ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านญี่ปุ่นศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และด้านภาษาญี่ปุ่น โดยการให้ทุนนั้นมีทั้งทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัย โครงการอบรมภาษาญี่ปุ่นและการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ

มูลนิธิทุนแพทย์เพื่อปวงประชามอบทุนแก่นักศึกษาแพทย์
สำหรับ “ทุนเพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศ” ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี-เอก ก็มีทั้งทุนของรัฐบาล และภาคเอกชนเช่นกัน

ทุนของรัฐบาลไทย เป็นทุนที่ให้โอกาสนักศึกษาไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดย ก.พ. เป็นผู้คัดเลือกนักเรียนทุนรัฐบาล (บางหน่วยงาน) และเป็นผู้ดูแลนักเรียนทุนที่เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งทุนดังกล่าวได้แก่

- ทุนเล่าเรียนหลวง เป็นทุนที่ให้แก่ผู้ที่มีผลคะแนนเฉลี่ยสะสมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ต่ำกว่า 3.50 เพื่อไปศึกษาต่อปริญญาตรีในต่างประเทศ โดยผู้ที่ได้รับทุนต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลาเท่ากับที่ขอทุน แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำงานในองค์กรรัฐบาลเท่านั้น ผู้ที่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงนี้แล้ว สามารถขอทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอกได้ ทั้งนี้ ข้อผูกพันต่างๆ จะเป็นไปตามที่ทุนรัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยในแต่ละปีจะมีจำนวน 9 ทุน

- ทุนไทยพัฒน์ เป็นทุนการศึกษาที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นทุนที่จัดสรรให้นักเรียนทั่วทุกภาคของประเทศได้มีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาตรี รวม 25 ทุน แบ่งเป็น 2 กลุ่มสาขาวิชา กลุ่มที่ 1 ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขานาโนเทคโนโลยี รวม 13 ทุน กลุ่มที่ 2 ได้แก่ สาขาวิชากฎหมาย พาณิชยศาสตร์ บัญชี บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ การออกแบบ หรือสังคมศาสตร์ หรือพฤติกรรมศาสตร์ (ยกเว้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) จำนวน 12 ทุนในประเทศที่ได้กำหนด

- ทุนของหน่วยราชการต่างๆ เช่นเดียวกับทุนที่หน่วยราชการพิจารณาให้แก่นักศึกษาปริญาตรีที่ศึกษาภายในประเทศ


ทุนจากต่างประเทศ เป็นทุนขององค์กรต่างชาติที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลก รวมทั้งนักศึกษาไทย ได้ไปศึกษายังประเทศที่กำหนดหรือประเทศเจ้าของทุน ประกอบด้วย

- ทุน IAESTE ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกที่ Imperial College กรุงลอนดอน ทำหน้าที่จัดสรรทุนฝึกงานด้านเทคนิค เช่น สายงานวิศวกรรม สายงานวิทยาศาสตร์ ให้แก่นักศึกษาของประเทศสมาชิกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อไปฝึกงานในต่างประเทศ

- ทุน United Nation (UN) เป็นทุนเรียนต่อด้านสันติภาพ ที่คอสตาริกา และฟิลิปปินส์ ทุนนี้ก็เป็นทุนให้เปล่าเพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำสันติภาพในระดับโลก

ทุนในทวีปยุโรป ได้แก่

- ทุน Erasmus Mundus หรือโครงการทุนของสหภาพยุโรป เป็นโปรแกรมให้ทุนที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ทั้งในแง่ของขนาดและเงินทุน โดยเป็นการให้ทุนเพื่อการศึกษา วิจัย อบรมต่างๆ แก่นักศึกษาทั่วโลกที่ต้องการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในหลักสูตรเดียวกันได้ 2-3 ประเทศ โดยใช้ชีวิต และเรียนประเทศละ 1-2 เทอม ทุนนี้สนับสนุนเงินเดือน ที่พัก เมื่อเรียนจบสามารถกลับมาทำงานที่ประเทศบ้านเกิด หรือจะทำงานในยุโรปก็ได้

- ทุน Chevening - อังกฤษ ผู้ที่ขอทุนต้องมีประวัติการศึกษาดีเด่นและสามารถแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำได้ โดยจะได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี พร้อมเงินทุนสนับสนุน

- ทุน Gates Cambridge Scholarship - อังกฤษ เป็นทุนระดับปริญญาโท โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มักจะเปิดรับสมัครช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.ของทุกปี

- ทุน Westminster University - อังกฤษ เป็นทุนระดับปริญญาตรี และปริญญาโท เปิดให้สมัครตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. ของแต่ละปี

- ทุน Franco-Thai - ฝรั่งเศส เป็นทุนสำหรับปริญญาโท และเอก มีทั้งแบบทุนเต็มจำนวน หรือกึ่งหนี่ง ช่วงเวลาที่เรียนต่อในฝรั่งเศส ผู้เรียนจะได้รับการดูแลและมีสวัสดิการสังคมให้เต็มที่

- ทุน DAAD - เยอรมนี เป็นทุนระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมถึงทุนเพื่อการทำวิจัยทั้งในระยะสั้น 1-3 เดือน และระยะยาว 1-3 ปี


ทุนในทวีปอเมริกา ได้แก่
- ทุนฟูลไบรท์ Fulbright Scholarship - สหรัฐฯ เป็นทุนด้านภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขว่าเมื่อเรียนจบแล้วห้ามทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี หลังจาก 2 ปี สามารถกลับมาทำงานในสหรัฐฯ ได้

- ทุนรัฐบาลเม็กซิโก ทุนนี้ครอบคลุมเงินรายเดือน ไปจนถึงค่ารักษาพยาบาล หากเรียนสายวิทย์ มีโอกาสที่บริษัทในประเทศเม็กซิโกจะดึงตัวไปทำงานต่ออีกด้วย

ทุนในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ทุนรัฐบาลโมร็อกโก เปิดให้สมัครเรียนได้โดยไม่จำกัดสาขา เป็นทุนให้เปล่าที่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แต่นักศึกษาอาจจะต้องมีความรู้ หรือสามารถพูดภาษาฝรั่งเศส หรืออาหรับได้ และยังต้องมีเงินติดตัวเพิ่มเติมบางส่วน

ทุนในทวีปออสเตรเลีย ได้แก่ - ทุน Australia Awards - ออสเตรเลีย เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือบัณฑิตศึกษา จากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียที่เข้าร่วมโครงการ

ทุนในทวีปเอเชีย ได้แก่

- ทุน ICCR หรือทุนรัฐบาลอินเดีย เป็นทุนระดับปริญญาตรี โท เอก หรือทำวิจัย ในทุกสาขาวิชา ยกเว้นสาขาแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีเงินเดือนให้ทุกเดือน มีค่าเครื่องบิน มีทริปให้ไปท่องเที่ยวทั่วอินเดียทุกเทอม สนับสนุนค่าเทอม รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วย เรียนจบกลับไทยได้ทันที ที่สำคัญวุฒิที่ได้นั้นสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก

- ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น Monbukagakusho หรือ MEXT เป็นทุนจากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น ในหลักสูตรวิชาชีพครู เพื่อเปิดโอกาสให้ครูไทย ได้มีโอกาสไปเพิ่มเติมความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ใหม่ในญี่ปุ่นสนับสนุนทั้งค่าเล่าเรียน ตั๋วเครื่องบิน พร้อมเงินกว่าเดือนละ 50,000 บาท ที่สำคัญไม่ต้องคืนเงิน ไม่ต้องใช้ทุน

- ทุน APU โดย Ritsumeikan Asia Pacific University - ญี่ปุ่น เป็นทุนระดับปริญญาตรี ซึ่งจะเปิดรับสมัครเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีโดย มหาวิทยาลัยเอพียูมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาต่างชาติที่มีผลการเรียนดีหรือมีความสามารถพิเศษต่างๆ ทุนที่ให้เป็นทุนลดค่าเล่าเรียน แบ่งออกเป็นประเภทได้แก่ 30%, 50%, 65%, 80% หรือ 100% ตลอด 4 ปี จนจบการศึกษา

- ทุนรัฐบาลจีน (China Scholarship Council) สนับสนุนค่าใช้จ่าย ทั้งการเดินทางในและนอกประเทศ ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ ที่พัก สวัสดิการ และมีเงินเดือนให้ ทั้งนี้นอกจากจะเรียนด้วยภาษาจีนแล้วบางหลักสูตรอาจมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย

- ทุนไต้หวัน เป็นทุนสำหรับปริญญาโท ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินเดือน เดือนละประมาณ 30,000 บาท จนจบหลักสูตร รวมทั้งค่าเครื่องบิน ที่พัก ค่าหนังสือ และยังมีหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาจีนให้เรียนเพิ่มเติมด้วย

- ทุนมาเลเซีย เป็นทุนระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนการสอน แต่มีข้อแม้ว่าหลังเรียนจบห้ามทำงานในมาเลเซีย

- ทุนรัฐบาลตุรกี เป็นทุนระดับปริญญาตรี โท และเอก สนับสนุนค่าเล่าเรียน และค่าที่พัก

- ทุน SINGA - สิงคโปร์ เป็นทุนสำหรับสายวิทย์ วิศวะ เทคโนโลยี เรียนฟรี มี ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้เรียนต่อที่ NUS หรือ NTU มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสิงคโปร์

- ทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นทุนเรียนภาษา และทุนปริญญาแบบ 1+2 ปี โดยไม่ต้องใช้ทุนแต่อย่างใด

- ทุน Ewha Global Partnership Program (EGPP) โดยมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา - เกาหลีใต้ เป็นทุนเรียนต่อปริญญาตรี โท และเอก รับสมัครปีละ 2 รอบ คือช่วง ก.พ. และ ก.ย.

- ทุนรัฐบาลคูเวต เป็นทุนระดับปริญญาตรี ในสาขาสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ และนิติศาสตร์อิสลาม/อิสลามศึกษา โดยจะเปิดรับสมัครในช่วง มิ.ย. โดยสมัครผ่านสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น