“อัจฉริยะ” แฉ 4 กลุ่ม เอี่ยวกักตุน ฟันกำไรอุปกรณ์ป้องกันโควิด พบทหารสั่ง รง.หยุดผลิตแอลกอฮอล์ หวังปั่นราคา ชี้ พิรุธ ก.พาณิชย์ปกปิดข้อมูลการส่งออกของ 242 บริษัท ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ประกาศใช้เวลา 15 วัน ตาม “หน้ากากอนามัย” คืนสู่ระบบ จับมือกับ สตช.-กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กวาดล้างจับกุมขบวนการกักตุน พร้อมตั้งรางวัลนำจับ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ณ วันนี้ มาถึงจุดที่ต้องใช้ “พระราชกำหนดฉุกเฉิน” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ตัวเลขผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นถึงวันละกว่า 100 คน มีผู้ป่วยสะสมรวม 827 ราย ที่น่าตกใจคือ ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ถึง 4 ราย ที่สำคัญมีคนตายเพิ่มขึ้นเป็น 4 คนแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับมีผู้ฉวยโอกาสกักตุนอุปกรณ์จำเป็นในการป้องกันผู้คนจากไวรัสร้าย อย่างหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นการปั่นราคา ฟันกำไร หากินบนความเป็นความตายของประชาชน
ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นับเป็นหนึ่งในองค์กรที่ติดตามตรวจสอบและขุดคุ้ยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องชนิดกัดไม่ปล่อย ขณะที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมและกระจายหน้ากากอนามัยอย่างกระทรวงพาณิชย์กลับดูเพิกเฉยต่อการติดตามสินค้าที่หายไปให้กลับเข้าสู่ตลาด
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า จากการทำงานเชิงรุกร่วมกันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซี่งมี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าทีม พร้อมด้วยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดย พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอาหารและยา (อย.) และชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ทำให้การติดตามตรวจสอบกรณีการกักตุนหน้ากากอนามัยคืบหน้าไปมาก โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เราได้ข้อมูลของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าหน้ากากและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงที่อยู่ของโรงงานผู้ผลิตต่างๆ และได้มีการวางแผนยุทธการปราบปรามอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนทั้งในทางตรงและทางลับเพื่อติดตามหน้ากากอนามัยที่หายไปจากระบบว่าใครที่ร่วมในการกักตุนบ้าง โดยแต่ละหน่วยงานมีการส่งมอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ กันตลอดเวลา
“จากนี้ข้อหาการขายหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นสินค้าควบคุมเกินราคา จะมีการนำ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ เข้ามาพิจารณาฐานความผิดด้วย โดย อย.จะร่วมปฏิบัติการ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะมีปฏิบัติการทุกรูปแบบเพื่อจัดการกับผู้ที่กักตุนหน้ากาก มีการนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกหมายค้นต่างๆ โดยในส่วนของทางชมรมฯ ใช้เงินส่วนตัวในการดำเนินการทั้งหมด เราประกาศไว้เลยว่า เราจะใช้เวลา 15 วัน ในการติดตามหน้ากากอนามัยที่หายไปให้กลับเข้ามาอยู่ในตลาดให้ได้” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าจับกุมโรงงาน และสถานที่ที่ใช้ในการกักตุนหน้ากากอนามัย ทั้งที่อยู่ภายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยชมรมฯ ได้ส่งแผนที่ซึ่งเป็นเป้าหมายในปฏิบัติการให้แก่ตำรวจท้องที่ เพื่อจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ที่กักตุน จากนั้นในวันที่ 24 มี.ค. ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้นำบัญชีรายชื่อโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยและบริษัทที่นำเข้าหน้ากากอนามัยและวัตถุดิบทั่วประเทศ กว่า 1,000 บริษัท ไปมอบให้แก่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เพื่อสืบสวนติดตามจับกุมบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัยต่อไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโรงงานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 11 บริษัทที่กรมการค้าภายในควบคุม โดยการตรวจค้นครั้งนี้สามารถตรวจยึดหน้ากากอนามัยได้ถึง 45,000 ชิ้น
“ที่มาของข้อมูลที่นำไปสู่การตรวจค้นโรงงานที่ จ.เชียงใหม่นั้น มาจากการจับผู้ค้าในตลาดมืดซึ่งได้ให้การซัดทอดว่าโรงงานดังกล่าวเป็นผู้ผลิตให้ เดิมโรงงานแห่งนี้ผลิตหน้ากากขายให้แก่โครงการธงฟ้าในภาคเหนือ แต่กลับนำหน้ากากมาขายในตลาดมืด ซึ่งพ่อค้าที่รับมาขายทางออนไลน์ในราคาสูงถึงกล่องละ 800 บาท” นายอัจฉริยะ กล่าว
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ล่าสุด ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้พบข้อมูลหลักฐานที่บ่งชี้ถึงผู้เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้าอนามัยและเวชภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มข้าราชการในกรมการค้าภายใน กลุ่มนักการเมืองในกระกรวงพาณิชย์ พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง รวมถึงมีทหารที่เข้ามาทำมาหากินกับวิกฤตโรคร้ายในครั้งนี้ด้วย
นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า อีกปฏิบัติการที่มีความคืบหน้าอย่างมากคือ การตรวจสอบ 11 บริษทที่กรมการค้าภายในกำกับดูแลอยู่ ซึ่งพบว่ามี 1 บริษัทที่ลักลอบจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้แก่ตลาดออนไลน์เป็นจำนวนมาก และแจ้งยอดการผลิตไม่ตรงกับความจริง เช่น แจ้งยอดให้แก่กรมการค้าภายใน ว่าผลิตได้ 200,000 ชิ้นต่อวัน แต่ความจริงคือผลิตได้ 500,000 ชิ้นต่อวัน โดยส่วนต่าง 300,000 ชิ้นนั้นได้ลักลอบนำไปจำหน่ายให้แก่แก๊งนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือเสี่ยบอย รวมทั้งกลุ่มข้าราชการจากกรมการค้าภายใน 3-4 ราย รวมถึงกลุ่มการเมืองด้วย นอกจากการตรวจสอบ 11 บริษัทดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจคือ เราพบว่ามีทหารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินกับวิกฤตโควิด-19 เช่น ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ได้รับรายงานว่ามีทหารเข้าไปสั่งโรงงานไม่ให้ผลิตแอลกอฮอล์เพื่อให้ขาดตลาด ซึ่งคาดว่าอาจจะทำเพื่อปั่นราคา
“สำหรับกลุ่มนักการเมืองที่เกี่ยวข้องก็เป็นกลุ่มที่เคยพูดมาก่อน อยู่ในกระทรวงพาณิชย์ หลักฐานเริ่มปรากฏขึ้นเรื่อยๆ โรงงานที่จับได้ก็เป็นหนึ่งใน 11 บริษัทที่กรมการค้าภายในเข้าไปควบคุม พบว่า มีการเอาหน้ากากอนามัยออกมาขายจำนวนมาก โดยเฉพาะวันที่ 29 มกราคม เอามาขายให้แก่นายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคภราดรภาพ จำนวนถึง 1 ล้านชิ้น โดยนายพันธ์ยศ ได้ส่วนแบ่งไป 4 แสนบาท ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ก็ยังมีการขายอีกหลายล้านชิ้น”
นายอัจฉริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นทางชมรมฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับ 242 บริษัทที่ยื่นเรื่องขอส่งออกหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายใน แต่เรากลับไม่ได้รับความร่วมมือจากกรมการค้าภายในแต่อย่างใด ซึ่งในการขออนุญาตส่งออกจะต้องมีใบอนุญาต รง.4 ซึ่งระบุสถานที่ผลิต ถ้าได้ข้อมูลตรงนี้มาจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าโรงงานแต่ละแห่งตั้งอยู่ทึ่ไหน มีกำลังการผลิตเท่าไหร่ และอาจนำไปสู่ข้อมูลว่าหน้ากากหายไปไหน ไปอยู่ในมือใครบ้าง
“ไม่ว่าเป็น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำหนังสือขอไป กรมการค้าภายในก็ไม่ให้ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับ 242 บริษัทจะเป็นหลักฐานสำคัญในการตรวจสอบที่มาของหน้ากากที่เราตรวจจับได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้เราได้ข้อมูลของ 242 บริษัทดังกล่าวแล้ว โดยข้าราชการที่รักชาติรักแผ่นดินแอบส่งข้อมูลให้เรา ต้องบอกว่าไม่มีทางรอดหรอก” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุ
ประเด็นหนึ่งที่สังคมเคลือบแคลงใจอย่างยิ่งต่อกรณีการกักตุนหน้ากากอนามัยซึ่งนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนก็คือบทบาทของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูเหมือนจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และไม่มีทีท่าว่าจะสนใจตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายไปของหน้ากากอนามัยดังกล่าวใช่หรือไม่?
นายอัจฉริยะ ตั้งข้อสังเกตว่า เดิม 11 โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่กรมการค้าภายในเข้าไปควบคุมนั้นอยู่ในความดูแลขององค์การเภสัชกรรม แต่หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ดึงมาอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายในก็เกิดปัญหาหน้ากากอนามัยหายไปจากระบบ แต่ รมว.พาณิชย์ กลับไม่แก้ปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังตอบไม่ได้ว่าหน้ากากหายไปไหน และล่าสุด ออกมายอมรับว่าหายไปในขั้นตอนของการขนส่ง แต่ก็ไม่มีการเอาผิดใคร นอกจากนั้น ในการประชุมเกี่ยวกับการแกปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยเรียก รมว.พาณิชย์ เข้าร่วมประชุมเลย มีแต่เรียก รมว.สาธารณสุข กับ รมว.มหาดไทยเข้าร่วมประชุม ทั้งๆ ที่มีปัญหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือขาดตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก
ทั้งนี้ แม้ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมจะไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจสอบปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัย อีกทั้งกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของอาชญากรรมซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทางชมรมติดตามและให้ความช่วยเหลือ แต่นายอัจฉริยะ ระบุว่า แม้การกักตุนหน้ากากจะไม่ใช่เรื่องของอาชญากรรม แต่ก็ถือเป็นการ “ฆาตกรรม” คนไทยในทางอ้อม เนื่องจากขณะนี้จำนวนผู้ป่วยจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาไม่มีหน้ากากอนามัยที่จะใช้ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย โดยหากใช้หน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 70% ดังนั้น หากไม่สามารถปราบปรามขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัยได้ก็เชื่อว่าจะมีประชาชนที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ราย
ประชาชนไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือในท้องตลาดได้ แต่กลับมาขายในตลาดออนไลน์ในราคาที่แพงขึ้นเป็น 10 เท่า เช่น แอลกอฮอล์ที่เดิมขายแค่ 20 บาท แต่ปัจจุบันขายในตลาดออนไลน์ถึง 350 บาท หน้ากากอนามัยเดิมขายแผ่นละ 50 สตางค์ แต่มาขายออนไลน์ในราคาแผ่นละ 25 บาท ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนทั้งประเทศ เมื่อประชาชนไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยก็ทำให้เชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 800 รายแล้ว
“ทางชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมจะมีรางวัลนำจับให้แก่พลเมืองดีที่ชี้เบาะแสจนสามารถนำไปสู่การจับกุมผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ได้ รายละ 10,000 บาท นอกจากนั้น สำหรับผู้ประกอบการแกร็บ หรือแท็กซี่ที่ได้รับว่าจ้างจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้ไปส่งหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ หากแจ้งข้อมูลมายังชมรมฯ จะได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุ