จับตา “ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ” มือดีที่ 'เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์' เลือกมานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบินเป็นคนแรก จะสามารถผลักดัน 3 เงื่อนไขได้สำเร็จหรือไม่? โดยเฉพาะเสียงชื่นชมเป็นมือประสานฝ่ายผู้บริหารไทย-จีน ได้อย่างดี แถมรู้ลึกรู้จริงเรื่องแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่จะทำให้บริษัท W&W ของกลุ่มทรู ขยายงานเข้าสู่ระบบรางได้ ชี้ ARL เปลี่ยนอาณัติสัญญาณจาก Lzb ไปใช้ Etcs 2 มาตรฐานยุโรป เพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย วิ่งทะลุเข้าจีนได้
บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร : CPH) คู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งมี “นางโปง หง” บอสใหญ่จากประเทศจีนเป็นประธานกรรมการบริหาร
พร้อมแต่งตั้ง “ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ” ลูกหม้อเครือซีพี เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่!
การที่ “นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ” ต้องมารับภารกิจใหญ่ในการขับเคลื่อนบริษัทรถไฟความเร็วสูงฯเป็นคนแรก ภายใต้การชี้ขาดหรือคำสั่งที่มิอาจปฏิเสธได้จาก 'เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์' ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นั่นย่อมหมายถึงว่าเจ้าสัวธนินท์ มองทะลุปรุโปร่งแล้วว่าเขาจะสามารถรับภารกิจนี้ได้ภายใต้ประโยชน์ 3 เงื่อนไข คือประชาชนต้องได้ประโยชน์ ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ และเงื่อนไขสุดท้ายจะต้องนำไปสู่การสร้างกำไรกลับคืนมายังบริษัทฯ
นายธิติฏฐ์ รับผิดชอบงานในกลุ่มทรู เช่น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท เอเซียอินโฟเน็ท บริษัท ทรู ดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ บริษัททรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์
ปัจจุบันเขายังนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไวร์เออ แอนด์ ไวร์เลส จำกัด หรือ W&W ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทวิศวกรรมครบวงจร ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม
บริษัท W&W จึงมีกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมด้านการสื่อสาร ไฟฟ้า เครื่องกล และโทรคมนาคม รวมไปถึงงานดูแลบำรุงรักษาระบบต่างๆ
หนึ่งในลูกค้าของ บริษัท W&W ก็คือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Rail Link) หรือ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ : ARL และบริษัท W&W ยังได้รับดูแลบำรุงรักษาระบบต่างๆ ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เช่นกัน
“ผมยังนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัทไวร์เออ แอนด์ ไวร์เลส ซึ่งบริษัท W&W ได้เข้าไปทำงาน Maintenance ให้กับแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่แล้ว คนของเราอยู่ที่นั่นมากกว่า 30 คน ทำให้เรารู้ถึงโครงสร้างของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จึงรู้ว่าอะไรควรปรับปรุง แก้ไขอะไร อย่างไร” ธิติฏฐ์บอก
โดยแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ถือเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงฯ และในสัญญาการร่วมลงทุนกำหนดให้บริษัทฯ ต้องชำระค่าสิทธิบริหาร ARL จำนวน 10,671 ล้านบาท ภายใน 2 ปี จึงจะมีสิทธิเข้าไปดำเนินการได้
ในส่วนของ ARL อยู่ระหว่างการให้ที่ปรึกษาเข้าไปตรวจสอบทางเทคนิคของอุปกรณ์ต่างๆ ระบบ และขบวนรถ (Due Diligence) เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบปรับปรุงระบบ ตัวอย่างเช่น รถที่ใช้วิ่งในขณะนี้ซึ่งเป็นของบริษัทซีเมนส์ ปกติมีอายุใช้งาน 30 ปี แต่เมื่อใช้มาแล้ว 9 ปี ก็ต้องเข้าไปดูว่าสภาพเป็นอย่างไร รวมไปถึงระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบเช่นกัน
ด้านการวางแผนการเดินรถก็ให้ FS : บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie Dellio Stato Intaliane) เข้าไปพูดคุยกับ ARL เพื่อเตรียมแผนการดำเนินงาน บุคลากร แผนปฏิบัติการ บำรุงรักษาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ช่วงต้นเดือนมีนาคม
นอกจากนี้จะมีการฟื้นฟูระบบเช็กอินที่ทาง ARL ยกเลิกไป เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่จะเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภาได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศ จะได้สามารถเช็กอินกระเป๋าที่มักกะสันได้เช่นกัน รวมไปถึงการปรับปรุงทางเข้า-ออกสถานี ARL ให้มีความสะดวกมากขึ้น
“เมื่อบริษัทเข้าไปแล้วจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประชาชนผู้ใช้บริการ ARL ต้องรู้สึกดีขึ้นชัดเจน เพราะ ARL ถือเป็นจุดเรียนรู้ปัญหาทั้งหมด และความต้องการของผู้โดยสาร คือเราต้องรู้ว่า Pain Point เขาเป็นอย่างไร ก็ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นโดยเร็ว” ธิติฏฐ์กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมบอกว่า ในเรื่องของอาณัติสัญญาณนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน คือของเดิมที่ใช้ใน ARL จะเป็นระบบ Lzb (Linienzugbeeinflussung) ของ Siemens คาดว่าจะเปลี่ยนเป็นระบบ Etcs 2 มาตรฐานยุโรป แต่ยังไม่มีการสรุปว่าจะเป็นของกลุ่มทางฝรั่งเศส จีน หรือญี่ปุ่นที่จะเป็นผู้รับจ้าง
เหตุผลในการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ เนื่องจากระบบ Lzb ที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ เพราะลักษณะการใช้งานของ ARL ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถูกใช้เป็นลักษณะของ Commuter Rail มากกว่า และมีสถานีจอดมากเกินไป จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนให้เป็นระบบเดียวกันตลอดเส้นทาง
“การเปลี่ยนอาณัติสัญญาณให้เป็นระบบเดียวกันนั้น เพื่อรองรับการเชื่อมต่อไปยังรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ด้วย”
ขณะเดียวกัน ทางบริษัท อิตาเลียนไทย และบริษัท China Railway Construction Corporation Limited :CRCC (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของจีน ก็ได้มีการสำรวจพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างตลอดสาย ทำให้รู้ว่ามีพื้นที่ใดที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างบ้าง และ ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งดำเนินการรื้อย้ายและส่งมอบที่ดินให้กับบริษัทฯ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ บอกว่าโครงการก่อสร้างไฮสปีดเทรนนั้น มีงานหลัก 4 เรื่อง คือการก่อสร้าง วางระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ TOD (Transit Oriented Development) ซึ่งพันธมิตรก็ได้มีการร่วมมือในการทำงานเพื่อผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้ ซึ่งโครงการนี้จะมีผลต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)
การก่อสร้าง วางราง อิตาเลียนไทย และ CRCC ก็รับผิดชอบดูแล งาน Operate จะมี FS รับผิดชอบ ส่วน Rolling Stock อยู่ระหว่างการเตรียมการหรือกำหนดสเปกประมูล และในส่วนของ TOD ก็จะต้องหามืออาชีพ ก็อาจเป็นบริษัทในเครืออย่างแมกโนเลียหรือบริษัทอื่นที่เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนา”
อย่างไรก็ดี โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง จะเกิดการขยายตัวของเมืองตามเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่าน ประชาชนสามารถไปอยู่อาศัยที่ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง และนั่งรถเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ได้ และจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างดี
“ที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ ซึ่งเราได้สิทธิในการพัฒนาที่ดินจากการรถไฟฯ ก็อยู่ระหว่างการสำรวจและวางแผนพัฒนาที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในการประมูล และทุกๆ สถานีจะเกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะมีพื้นที่เปิดมากขึ้น”
ดังนั้น การเกิดขึ้นของโครงการนี้จะสามารถนำไปสู่เงื่อนไข 3 ข้อที่เจ้าสัวธนินท์บอกไว้ คือประชาชนก็จะได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องของการเดินทาง ที่พักอาศัย สิ่งแวดล้อมที่ดี ขณะที่ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นและทำให้แผนพัฒนา EEC เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากโครงการรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในแผนพัฒนา EEC
ส่วนเป้าหมายสุดท้ายคือกำไรที่คาดว่าจะเกิดจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ หรือ TOD ในที่ดินของ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะบริเวณมักกะสันที่ถือว่าเป็นที่ดินใจกลางเมืองที่มีขนาดใหญ่และเป็นที่หมายตาของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่ดินบริเวณต่างๆ ที่รถไฟความเร็วสูงพาดผ่าน ที่กลุ่มซีพีและพันธมิตรได้มีการเตรียมการไว้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมบอกว่า การที่เจ้าสัวเลือก นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ก็รู้สึกยินดี เนื่องจากนายธิติฏฐ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและยังเป็นวิศวกรด้านไฟฟ้า ทำให้เข้าใจโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งมีลักษณะค่อนข้าง Compromise สูง รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทำให้การเจรจาหารือเป็นไปด้วยความราบรื่น ในการประสานงานกับภาครัฐที่มีทั้งหมด 21 หน่ายงาน และ 2 รัฐวิสาหกิจได้เป็นอย่างดี
“เขานั่งควบ 2 บริษัท คือ รถไฟ และW&W เป็นผลดีกับการทำงานไปได้ราบรื่น และในอนาคตเชื่อว่าW&W ซึ่งเป็นบริษัทของทรู จะมีการขยายขอบเขตของงานจากที่บำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ของรถไฟ ก็น่าจะเข้าสู่การ Maintenance ระบบรางทั้งในเรื่อง Alignment ของ Track เรื่องของ Elongation ให้อยู่ในสภาพดีเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ง่าย”
ที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่แค่คุณสมบัติเป็นเลิศในการประสานงานกับฝ่ายไทยเท่านั้น เขายังเป็นมือประสานกับผู้บริหารทางจีนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การจะเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปยังเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน กรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อทะลุเข้าลาวและจีนจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ที่สำคัญสุดก่อนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหามากมายโดยเฉพาะในเรื่องของการส่งมอบที่ดินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาใช้ที่ดินของ ร.ฟ.ท.เป็นจำนวนมาก และบางพื้นที่ยังเป็นชุมชนริมทางรถไฟ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหามวลชนต่อต้านขึ้นมาได้
แม้วันนี้ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นขึ้นเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน EEC ได้ลงมาเร่งรัด กระทั่ง 21 หน่วยงานและ 2 รัฐวิสาหกิจ พร้อมที่จะรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทั้งหมดออกจากพื้นที่ เพื่อเปิดทางให้บริษัทฯ เข้าไปดำเนินการก่อสร้างได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้หาก ร.ฟ.ท.ส่งมอบที่ดินแบบฟันหลอ
“ช่วงนอกเมืองดูมีแนวโน้มดี รัฐบาลจริงจังมาก จากสถานีสุวรรณภูมิไปอู่ตะเภา น่าจะส่งมอบได้ตามสัญญา ส่วนช่วงในเมืองจากสถานีพญาไท ไปดอนเมือง น่าจะยากมากๆ แต่ทุกฝ่ายก็พยายามกันมาก”
ถึงวันนี้ยังไม่เริ่มกระบวนการส่งมอบที่ดิน เพราะยังต้องมีการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค ยกเลิกสัญญาเช่า รวมถึงย้ายผู้บุกรุกตามเส้นทางก่อสร้าง ทำให้บริษัททำได้เพียงเตรียมงานออกแบบ สำรวจ และเจาะสำรวจดินไปก่อน!
จากนี้ไปต้องนับวันรอการประกาศส่งมอบพื้นที่ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างต่อไป!