xs
xsm
sm
md
lg

พิษดอกเบี้ยต่ำพันธบัตรใหม่ขายฝืด แถมเงินฝากแบงก์ให้สูงกว่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พันธบัตรรุ่นใหม่ขายไม่คล่อง เหตุดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีรับจริงแค่ 1.445% ส่วนพันธบัตร 7 ปี หักภาษีแล้วเหลือ 1.6575% ขณะที่ตลาดเงินฝากของแบงก์ยังมีออมทรัพย์ 1.5% เบิกถอนได้ให้เลือก แต่อาจถูกปรับลดได้ตามประกาศของธนาคาร แต่ที่เหนือกว่าคือกรุงไทย 789 วัน ฝากครบรับ 1.8% ไม่หักภาษี หากรับเงินเดือนผ่านเพิ่มให้เป็น 2%


การเปิดจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลล่าสุดเมื่อ 13 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1 จำนวน 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.95% ต่อปี

จำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ทุกสาขา เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application ของธนาคารผู้จัดจำหน่าย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้ง BOND DIRECT Application ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม 2562 จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 24 เมษายน 2563 วงเงินซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาทและไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารที่รับหน้าที่จำหน่ายพันธบัตรชุดนี้ พบว่า พันธบัตรยังมีจำหน่าย ต้องการซื้อเท่าไหร่ค่ะ พร้อมทั้งกล่าวว่า รุ่นนี้คนสนใจกันไม่มากนัก ต่างจากพันธบัตรที่จำหน่ายเมื่อ 19 ตุลาคม 2562 ครั้งนั้นหมดภายในเวลาไม่กี่นาทีที่เปิดขาย

แม้ว่าครั้งนี้จะไม่จำกัดเพดานการซื้อเหมือนครั้งก่อน แต่คนซื้อน้อย เป็นเพราะตัวอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดออกมานั้นค่อนข้างต่ำ อย่างพันธบัตรอายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 1.7% เมื่อหักภาษี 15% เหลือดอกเบี้ยสุทธิ 1.445% ส่วนพันธบัตร 7 ปี ดอกเบี้ย 1.95% หักภาษีแล้วเหลือ 1.6575%

เทียบกับพันธบัตรปี 2562 ครั้งที่ 1 อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 2.46% หักภาษีแล้วเหลือ 2.091% อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 3% หักภาษีเหลือ 2.55% หรือพันธบัตร 2562 ครั้งที่ 2 อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 2.5% หักภาษีแล้วเหลือ 2.125% อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.05% หักภาษีแล้วเหลือ 2.5925%


ต่ำกว่าพันธบัตรรุ่นก่อน

จะเห็นได้ว่าพันธบัตรปี 2562 ไม่ว่าจะครั้งที่ 1 หรือ 2 เมื่อหักภาษีแล้วพันธบัตรทุกอายุดอกเบี้ยสูงกว่า 2% เมื่อเทียบกับรุ่น 2563 ทั้ง 2 รุ่นต่ำกว่า 1.7% ทั้งสิ้น ดังนั้นการจำหน่ายพันธบัตรในรอบนี้จึงไม่คึกคักเหมือนครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้เป็นเพราะผลตอบแทนในตลาดซื้อขายพันธบัตรนั้นลดต่ำลงมามาก เมื่อถึงกำหนดออกพันธบัตรรุ่นใหม่ก็ต้องใช้ผลตอบแทนในขณะนั้นบวกด้วยภาษีอีก 15% เพื่อใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรุ่นนี้ อีกประการหนึ่งเกิดจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ

นี่ถ้าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสูงกว่าตลาดน่าจะขายดีกว่านี้และคงไม่เหลือมาถึงวันนี้ แม้จะเป็นการเปิดขายให้กับประชาชน แต่ยังมีมูลนิธิ สมาคม วัด สถานศึกษาและโรงพยาบาลของรัฐที่สามารถซื้อพันธบัตรในส่วนนี้ได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าคนมีเงินออมมาก หากดอกเบี้ยดี ยิ่งเปิดขายโดยไม่จำกัดเพดาน จะไม่มีโอกาสเหลือมาถึงคนที่มีเงินออมน้อย

แม้ครั้งนี้จะเป็นโอกาสของคนมีเงินออมน้อยที่จะเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาล แต่ผลตอบแทนที่ได้ถือว่าค่อนข้างต่ำมาก เมื่อบวกกับระยะเวลาที่ต้องถือครองอีก 3 และ 7 ปีนั้น ถือว่านานเกินไป อีกทั้งบางรายอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินระหว่างทาง ที่เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนจากสภาพเศรษฐกิจ

อัลตร้า เซฟวิ่ง 1.5%

เมื่อสำรวจผลตอบแทนการออมเงินในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน พบว่ายังพอมีบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยพอ ๆ กับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นนี้ ก่อนหน้านี้มีบัญชีเงินฝากอัลตร้า เซฟวิ่งของธนาคารธนชาต ที่ออกมา 2 บัญชีคือฝากขั้นต่ำที่ 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 1.5% อีกบัญชีหนึ่งฝากตั้งแต่ 2 หมื่นบาทดอกเบี้ย 1.6% ล่าสุดได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1.3% และ 1.5%

ทั้งนี้บัญชีอัลตร้า เซฟวิ่ง คิดดอกเบี้ยให้ทุกวัน โอนดอกเบี้ยเข้าให้ทุกเดือน สามารถเบิกถอนได้ตามเงื่อนไข และไม่เสียภาษี กรณีดอกเบี้ยรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

เมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ไม่ต้องเสียภาษี นับว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในรุ่น 3 ปี อยู่เล็กน้อย เมื่อหักภาษีแล้วเหลือ 1.445% แต่ดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากของอัลตร้า เซฟวิ่ง อาจถูกปรับลดลงได้ตลอดเวลา หากธนาคารเจ้าของบัญชีปรับอัตราดอกเบี้ยลง ต่างจากพันบัตรออมทรัพย์ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้จนครบกำหนด


กรุงไทย 789 วันเหนือพันธบัตร

สำหรับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อีกบัญชีหนึ่งที่สามารถสู้กับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นนี้ได้ นั่นคือเงินฝากกรุงไทย โบนัส เซฟวิ่ง(ระยะเวลาฝาก 789 วัน) ของธนาคารกรุงไทย เริ่มเมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ไม่เสียภาษี(กรณีดอกเบี้ยรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท) อัตราดอกเบี้ยจะคิดตามระยะเวลาฝาก สำหรับลูกค้าทั่วไปหากฝากได้ครบทั้ง 789 วัน จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ 1.8% และหากเป็นลูกค้าที่รับเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทยจะได้ดอกเบี้ย 2%

เงินฝากตัวนี้สามารถเบิกถอนได้ โดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยช่วงที่ฝากถึงช่วงที่มีการถอนตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนการจ่ายดอกเบี้ยรับให้กับผู้ฝากนั้น จะจ่ายให้เมื่อครบกำหนดฝากเท่านั้น ไม่มีการจ่ายเป็นงวด ๆ เหมือนเงินฝากทั่วไป ดังนั้นผู้ที่ต้องการฝากเงินในบัญชีนี้ต้องยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ด้วย เพราะระยะเวลา 789 วัน คือ 2 ปีกับอีก 5 เดือนเศษ

สำหรับผู้ที่มีเงินออมไม่มากนัก ต้องการผลตอบแทนที่ดี เงินฝากตัวนี้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ยุคดอกเบี้ยต่ำได้ ตัวอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้คงที่ แตกต่างจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อัลตร้า เซฟวิ่งของธนชาต ที่ธนาคารสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ตามประกาศของธนาคาร

กรุงไทย โบนัส เซฟวิ่ง เคยมีรุ่น 799 วัน อัตราดอกเบี้ยสูงกว่ารุ่น 789 วันราว 0.25% หากเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล 3 ปี ที่ให้ดอกเบี้ย 1.7% หรือ 1.445% หลังหักดอกเบี้ย กับระยะเวลาฝากที่ใกล้เคียงกันคือ 2 ปี 5 เดือนเศษ แต่ได้อัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.355% เพียงแต่ต้องรอรับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด ยิ่งถ้าท่านใดรับเงินเดือนผ่านบัญชีกรุงไทยจะได้สิทธิพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปอีก


เงินฝากอื่นดูให้ดี

นอกจากนี้ยังมีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อีกที่เสนอผลตอบแทนมากกว่า 1.6% แต่ต้องพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขให้ดี ตรวจสอบด้วยว่าเสียภาษีหรือไม่ บางแห่งแจ้งว่าให้ดอกเบี้ยสูงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นวงเงินเท่าไหร่ หรือบางแห่งให้ดอกเบี้ยสูงเฉพาะช่วงของวงเงินที่แบงก์กำหนดเท่านั้น

หรืออาจมีเงินฝากบางบัญชีที่เสนอผลตอบแทนสูงถึง 2.5% แต่ต้องพิจารณาให้ดี ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีเงินฝากปลอดภาษี ต้องฝากประจำทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้จะเป็น 24 เดือนเป็นหลัก ดูแล้วอัตราดอกเบี้ยสูง แต่หากคำนวณดอกเบี้ยออกมาแล้วให้เอา 24 เดือนหรือ 2 ปีมาหารดอกเบี้ยที่ทางธนาคารแจ้ง ก็จะเป็นผลตอบแทนต่อปีแบบคร่าว ๆ

อย่างไรก็ตามความพร้อมในการยอมรับเงื่อนไขของแต่ละแหล่งออมเงิน ถือเป็นเรื่องหลัก เนื่องจากทิศทางของตลาดเงินนั้นมีความไม่แน่นอน อาจเป็นไปได้ทั้งดอกเบี้ยขาลงหรือขาขึ้น ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ควรเลือกออมเงินภายใต้เงื่อนไขที่ตนเองยอมรับได้

บางท่านอาจกังวลว่าการตัดสินใจออมเงินไปแล้วอาจทำให้ท่านเสียโอกาสในกรณีที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น หรืออาจมีโปรโมชั่นเงินฝากใหม่ ๆ ออกมาตามหลัง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่มีใครคาดเดาได้ถูก แต่การเริ่มออมก่อนท่านย่อมได้รับดอกเบี้ยที่ท่านหมายตาไว้ได้ก่อน

สัญญาณดอกเบี้ยไม่ขึ้น

ทั้งนี้เมื่อ 18 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และจะประเมินความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

นับเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยว่าโอกาสที่จะขยับขึ้นนั้นยังไม่มี และด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์นั้น ตัวอัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในสถานะที่ต่ำต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น