xs
xsm
sm
md
lg

'เจียไต๋-ไทยเบฟ' ครองตลาดปุ๋ยเคมี ชี้เทรนด์ใหม่ 'ปุ๋ยชีวภาพ' มาแรง!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปุ๋ยเคมียังคงยึดครองตลาดได้ถึง 90% ของมูลค่าปีละ 3 แสนล้านบาท ระบุยังเป็นของยักษ์ใหญ่ ที่มี 'เจียไต๋-ไทยเบฟฯ' นำตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร ยันนักธุรกิจหน้าใหม่เข้าสู่วงการปุ๋ยเคมียาก หากจะเข้าได้ต้องสายป่านยาว กล้าดัมป์ราคาสู้ และต้องมีคนในกรมวิชาการเกษตรคอยช่วยเหลือ ยึดหลักแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่ตรงสูตรไม่จับ ไล่บี้รายใหม่ แค่นั้นก็มีแต่เจ๊งลูกเดียว ชี้เทรนด์ใหม่จะหันมาผลิตปุ๋ยชีวภาพ ช่วยเพิ่มธาตุในดินแถมได้ผลดีกว่าและลดต้นทุนค่าขนส่ง ชี้ใครสนใจขอดูโมเดลต้นแบบปุ๋ยชีวภาพได้ที่กรมวิชาการเกษตร!

ไม่ว่าจะมีการรณรงค์อย่างไรให้เกษตรกรหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองและผู้บริโภคด้วยการหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรก็ตาม แต่แนวคิดนี้ก็ไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้เท่าที่ควร ส่งผลให้อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าสูงถึงปีละกว่า 3 แสนล้านบาท และผู้ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% ก็ยังคงเป็นของยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย

โดยผู้ประกอบการในธุรกิจปุ๋ยเคมี ซึ่งหมายถึงผู้ผลิตและจำหน่ายที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการนี้ได้แก่ บริษัท เจียไต๋ ของกลุ่มซีพี ผู้จำหน่ายปุ๋ยตรากระต่ายและตราช่อฟ้า, บริษัท เทอราโกรเฟอร์ติไลเซอร์ ผู้ผลิตปุ๋ยตรามงกุฎและตราทิพย์ ของเครือไทยเบฟฯ, บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน):TCCC ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีตราหัววัว-คันไถ, บริษัท ไอซีพี เฟอร์ทิไลเซอร์ ผู้ผลิตปุ๋ยตราม้าบิน, บริษัท ยารา (ประเทศไทย) ผู้ผลิตปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้ง, บริษัท ศักดิ์สยาม ผู้ผลิตปุ๋ยตราพลอยเกษตร ตราสิงโตสยาม ตราสามเอส, บริษัท เวิลด์ เฟอท ผู้ผลิตปุ๋ยตรารถเกษตร เป็นต้น

ด้วยตลาดปุ๋ยเคมีมีมูลค่าสูงถึงปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งข้อมูลจากทีมวิจัยกรุงศรีฯ เคยคาดการณ์ไว้ว่าความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีตั้งแต่ปี 2561-2563 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 5-7% จึงทำให้บรรดานักธุรกิจรุ่นใหม่อยากจะกระโดดเข้าสู่ตลาดปุ๋ยเคมีที่ยังคงมีอนาคตสดใส แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะปุ๋ยที่ผลิตและจำหน่ายจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติปุ๋ยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550

อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง มหาบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมไร้สารพิษถิ่นละโว้ธานี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์และเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า เรื่องของปุ๋ยเคมีมันเป็นตำนานมานานและเป็นที่รู้กันในวงการเกษตรว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ 5 รายได้ยึดคุมตลาดปุ๋ยเคมีที่มีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาทไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเจียไต๋ และกลุ่มไทยเบฟฯ ได้ส่วนแบ่งไปมากที่สุด ดังนั้นใครที่คิดจะเข้าสู่ธุรกิจนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก และที่ว่ายากนั้น มีองค์ประกอบชัดเจนตั้งแต่เรื่องของทุนต้องหนา
อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง
เหตุผลที่ต้องมีทุนหนาหรือสายป่านยาว เพราะการที่ปุ๋ยแบรนด์ใหม่ที่เป็นของรายใหม่เลยนั้นจะเข้าไปแทรกตลาดที่ถูกยึดครองไว้เป็นเรื่องที่ยากมาก ยกตัวอย่างชัดๆ การเอาปุ๋ยเข้าสู่หน่วยราชการที่จะใช้วิธีการประมูล หรือไปให้ ธ.ก.ส.หรือสหกรณ์ต่างๆ ต้องรู้ไว้ว่า หน่วยงานต่างๆ นั้นมีเส้นสายหรือผลประโยชน์กันอยู่แล้ว อาจจะเป็นกระสอบละ 5 บาท 10 บาท หากรายใหม่คิดจะเข้าไปแทรกก็ต้องมีการอัดผลประโยชน์ให้หนักกว่าเดิม

“เช่น ตรามงกุฎ ของเครือไทยเบฟฯ ที่เพิ่งจะเข้าสู่ตลาดปุ๋ยได้ง่าย เพราะเค้ามีเงินทุน ไม่รู้ กี่แสนล้าน เค้าสามารถดัมป์ราคา ขาดทุนก็ยังได้ เพื่อจะได้ลูกค้าก่อน ตอนแรก เค้าขายขาดทุน สองพัน สามพันล้านก็ไม่เป็นไร เพราะต้องการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก่อน แต่รายใหม่ที่คิดจะเข้ามาสามารถทำได้อย่างไทยเบฟฯ หรือไม่

ตรงนี้จึงเป็นเรื่องของทุน และการตลาดด้วยว่ารายใหม่ๆ จะสามารถเจาะตลาดหรือหาลูกค้าได้หรือไม่!
ทั้งนี้วงการปุ๋ยเคมีจะเริ่มตั้งแต่ผู้นำเข้าแม่ปุ๋ย ผู้ผลิตปุ๋ยผสม ตัวแทนยี่ปั๊ว ร้านค้าตัวแทนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ สั่งสินค้าเต็มลำเรือเป็นหมื่นเป็นแสนตัน ก็ต้องใช้เงินเป็นพันล้าน ดังนั้นผู้นำเข้าแม่ปุ๋ยจึงต้องเป็นรายใหญ่ ทุนหนาเท่านั้นที่จะทำได้

เมื่อนำเข้าแม่ปุ๋ยมาแล้ว มาผลิตเป็นปุ๋ยเคมีผสม สูตรต่างๆ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ซึ่งยักษ์ใหญ่แต่ละรายจะมีหลายแบรนด์ หลายสูตร ที่จะใช้ในการเจาะตลาด และเพื่อให้เข้าถึงเกษตรกรผู้ใช้จริงๆ จึงต้องมีรายย่อยถึงระดับอำเภอ และต่อไปถึงหมู่บ้าน แต่ละรายก็จะมีกำไรเป็นทอดๆ กันไป

แต่ในความเป็นจริงกว่าจะผลิตออกมาขายได้นั้น ยังต้องมีขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติปุ๋ยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใหม่ทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะขึ้นทะเบียน เพราะเรื่องปุ๋ยเคมีนั้นมีโทษหนักหากไม่ได้ตามมาตรฐาน

อาจารย์เชาว์วัช บอกว่า ในความเป็นจริงและรู้กันในวงการปุ๋ยเคมียังมีเรื่องของสายสัมพันธ์ที่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็นกันและเป็นเหตุผลสำคัญที่รายใหม่เข้าสู่ตลาดยากเช่นกัน

ถ้าเจ้าหน้าที่ไปตรวจแบรนด์นี้พบว่าไม่ได้มาตรฐานมีความผิดหนัก แต่จริงๆ รู้กันอยู่ภายในว่าถ้าแบรนด์นี้เสนอมาต้องตรวจให้ผ่านนะ เพราะรู้ว่าเป็นของรายใหญ่ พูดง่ายๆ เขามีคนของเขาอยู่ข้างในแล้ว แต่ถ้าเป็นรายใหม่ ก็จะเจอแจ็กพอต ซึ่งมีโทษรุนแรงหากไม่ได้มาตรฐาน เพราะเรื่องปุ๋ยเป็นปัจจัยพื้นฐานของเกษตกร ถ้าหากไม่ได้คุณภาพก็จะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้

อย่างไรก็ดี การจะดำเนินธุรกิจผลิตและขายปุ๋ยทั้งเคมีและอินทรีย์ได้นั้น ต้องมีใบอนุญาตขาย ใบอนุญาตผลิต มีโรงงาน ซึ่งทุกขั้นตอนกว่าจะผ่านต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะเริ่มขายได้ อีกทั้งต้องมีเครื่องหมายการค้า และแบรนด์สินค้าก็ต้องให้กระทรวงพาณิชย์รับรองจึงจะออกสู่ตลาดได้

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าปุ๋ยเคมี บอกว่า ทุกวันนี้แบรนด์ต่างๆ ที่เป็นของยักษ์ใหญ่ซึ่งแต่ละรายจะมีหลายแบรนด์และหลายสูตร NPK ชนิดต่างๆ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าปุ๋ยในถุงไม่ได้เป็นไปตามที่เขียนไว้หน้าถุง เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจกลับไม่มีการจับกุมใดๆ แต่จะไล่ตรวจและจับกุมแบรนด์ที่ไม่ใช่ของยักษ์ใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความปั่นป่วนในวงการค้าปุ๋ยเคมีเช่นกัน

ขณะที่ อาจารย์เชาว์วัช บอกว่า เรื่องของเคมีจะมี 2 ส่วนคือ สารเคมี กับปุ๋ยเคมี ซึ่งสารเคมีจะมี 2 กลุ่มคือสารกำจัดแมลงและกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นอันตรายแน่นอนที่กำลังต่อต้านกันอยู่ขณะนี้คือสารพาราควอต มีผลต่อร่างกายทำให้เจ็บป่วยและเป็นมะเร็ง ส่วนปุ๋ยเคมียังอนุโลมได้เพราะไม่ถึงกับอันตรายมากนัก เพราะเป็นธาตุอาหารพืช แต่ถ้าใส่มากดินเสีย ความเป็นพิษจะมีไม่เยอะ


“จริงๆ ถ้าเป็นเกษตรปลอดสารพิษ 80-90% ยังใช้ปุ๋ยเคมีผสมอินทรีย์บ้าง เพราะยังต้องการธาตุอาหาร อินทรีย์ วัตถุ ช่วยโครงสร้างดิน โปร่งโล่งซุย ถ้าเราใส่แค่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว มันก็จะทำให้ไม่ได้ผล ดินก็จะแข็งไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใส่ผสมผสานกันไป ทั้งเคมี และอินทรีย์ ก็จะให้ผลดีที่สุดเหมือนที่นักวิชาการพูดกัน”

แต่ส่วนตัวอาจารย์เชาว์วัช มีจุดยืนที่เกษตรอินทรีย์ ก็จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งการเปิดตลาดอินทรีย์แม้จะได้ราคาดี แต่ผลผลิตจะน้อยลง ส่วนความปลอดภัยจะสูงตามไปด้วย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรจะเลือกแนวทางใด ซึ่งทุกวันนี้ปุ๋ยอินทรีย์สามารถได้ส่วนแบ่งตลาดปุ๋ยเคมีมาได้เพียง 10% ที่เหลืออีก 90%ปุ๋ยเคมียังคงยึดครองไปทั้งหมด

หากจะเปรียบเทียบระหว่างปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แล้วเกษตรกรยังเห็นว่า ปุ๋ยเคมีตอบสนองทันใจ จึงยังอยากใช้อยู่ และหากใครต้องการจะเข้าสู่ธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเวลานี้ถือว่าจะต้องเหนื่อยพอสมควร เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดเริ่มซบเซาลงมาก แต่ต้นทุนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไม่สูงเท่าและมีจุดขาย มีภาพลักษณ์ดีกว่าปุ๋ยเคมี

“ปุ๋ยเคมีให้ผลผลิตทันใจ แต่ทำให้ดินเสีย ทำให้ดินเป็นกรด ส่วนปุ๋ยอินทรีย์เห็นผลช้าหน่อยแต่ดินจะดีขึ้น แต่ถ้าจะมองถึงความถูกความแพงที่เกษตรกรจะได้ พบว่าจริงๆ แล้วปุ๋ยอินทรีย์ถูกกว่าในแง่ของราคาต่อตัน แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงราคาต่อธาตุอาหาร ปุ๋ยอินทรีย์แพงกว่า

อาจารย์เชาว์วัช บอกอีกว่า ทิศทางใหม่ของเกษตรกรรมประเทศไทย จะเคลื่อนย้ายไปใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งจะมีความต่างกับปุ๋ยอินทรีย์ และเป็นการต่อยอดจากปุ๋ยอินทรีย์ที่เน้นธาตุอาหาร เน้นอินทรีย วัตถุ แต่ปุ๋ยชีวภาพจะเน้นเรื่องสิ่งมีชีวิต การเพิ่มธาตุอาหารในดิน โดยการสร้างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งจะเป็นถุงเล็กๆ และอาจจะมีการปรับไปสู่การเป็นแคปซูลแบบนาโน ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

“ปุ๋ยชีวภาพ จะมีตัวที่สร้างไนโตรเจน อะโซโตรแบคเตอร์ หรือ ตัว ไมคอร์ไรซา ตัวที่สลายฟอสฟอรัสในดิน ซึ่งตอนนี้เริ่มมีบทบาทและทำการตลาดได้เยอะ ทำง่าย แต่ต้องมีการลงทุนห้องปฏิบัติการ ห้องแล็บ มีนักจุลชีวะ เข้ามาเกี่ยวข้อง สร้างอาคารสถานที่ ไม่เกิน 10 ล้านบาท และยังมีต้นทุนการขนส่งที่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีและอินทรีย์มาก”

สำหรับปุ๋ยชีวภาพนั้น ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโมเดลต้นแบบไว้เรียบร้อยแล้ว และบริษัทปุ๋ยเคมีรายใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนด้านนี้ หากใครสนใจสามารถไปติดต่อได้ที่กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเชื่อว่าปุ๋ยชีวภาพ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของปุ๋ยเคมีได้อีกประมาณ 10% เมื่อรวมกับปุ๋ยอินทรีย์ ก็จะทำให้ปุ๋ยเคมีครองตลาดเพียง 80% เท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น