xs
xsm
sm
md
lg

แฉส่วยเสื้อวินระบาดหนัก ขึ้นทะเบียนไร้ผล " เลี่ยง กม." ดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เผย มอไซค์วินมีแนวโน้มเลี่ยงขึ้นทะเบียน เหตุ บางพื้นที่ยังต้องจ่ายส่วย-ค่าเสื้อวิน ให้ผู้มีอิทธิพลและ จนท.รัฐ เดือนละ 2-3 พันบาท อีกทั้งไม่มีผลต่อการขอสินเชื่อ ชี้ควรเปิดจดทะเบียนโดยไม่มีกำหนด แก้ปัญหารถรับจ้างป้ายดำ ล่าสุดวินลาดพร้าว 101 ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ปล่อยกู้กันเอง มีสมาชิกถึง 200 คน เงินออมกว่า 6 ล้านบาท ขณะที่ กรมการขนส่งทางบกเผย เฉพาะกรุงเทพฯ มีผู้ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 3 แสนคน

ขณะที่ “รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีนโยบายจัดระเบียบการให้บริการของรถจักรยานยนต์สาธารณะให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้เปิดรับลงทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ รอบที่ 3 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างยื่นลงทะเบียนระหว่างวันที่ 2 ก.ค.-31ส.ค. 2561 นั้น

ผลปรากฏว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างบางส่วนกลับมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปขึ้นทะเบียน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าเสื้อให้เจ้าของวินและการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ อีกทั้งการขึ้นทะเบียนยังไม่ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเนื่องจากไม่มีผลต่อการยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัญหาที่บรรดาจักรยานยนต์รับจ้างต้องเผชิญมาเนิ่นนาน
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบอาชีพขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากขึ้นทะเบียน เพราะมองว่าการขึ้นทะเบียนหรือไม่นั้นมีผลไม่ต่างกัน เนื่องจากปัจจุบันในบางพื้นที่แม้ว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจะดำเนินการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายแล้วแต่ก็ยังต้องจ่ายค่าเสื้อให้แก่ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าของวิน รวมทั้งต้องจ่ายส่วยหรือค่าอำนวยความสะดวกให้แก่ตำรวจในพื้นที่อีกด้วย

โดยค่าเสื้อวินที่ต้องจ่ายให้ผู้มีอิทธิพลซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าของวินอยู่ที่เดือนละ 2,000-2,700 บาท แต่หากต้องการซื้อขาดจะอยู่ที่ตัวละประมาณ 30,000 บาท หรือบางพื้นที่อาจขึ้นไปถึงหลักแสน นอกจากนั้นยังต้องมีค่าอำนวยความสะดวกอีกเดือนละ 300 บาท ซึ่งส่วนนี้เจ้าของวินจะนำไปจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อเคลียร์เส้นทาง

“หากไม่จ่ายก็วิ่งรถไม่ได้ จะถูกเจ้าหน้าที่กวนอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีคนคอยชี้เป้าให้ตำรวจมาดักจับ ตั้งข้อหานั้นข้อหานี้ โดนทุกวันก็ไม่ไหว วิ่งรถได้เท่าไหร่ก็เอามาจ่ายค่าปรับหมด บางทีเจ้าถิ่นส่งคนมาข่มขู่คุกคาม พอไปแจ้งความตำรวจก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ คดีไม่คืบ สุดท้ายก็ต้องยอมจ่าย อย่างวินที่จังหวัดนนทบุรีนี่โดนกันเยอะมาก คนที่ไปขึ้นทะเบียนถูกต้องก็เลยรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ เพราะคนที่ขึ้นทะเบียนเขาก็บอกว่าไม่เห็นต้องขึ้นเลย ไม่ขึ้นก็วิ่งได้ ไม่เห็นมีตำรวจมาตรวจจับอะไร ดังนั้นถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลและการเรียกรับส่วยการขึ้นทะเบียนก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไร” นายเฉลิมกล่าว

นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างต้องการให้รัฐบาลแก้ไขก็คือ เมื่อผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้เลิกขับหรือเสียชีวิตไม่สามารถโอนสิทธิดังกล่าวให้ผู้ที่มาใช้รถจักรยานยนต์คันเดิมประกอบอาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้างต่อไปได้ ขณะที่ผู้มาใช้รถต่อเพื่อประกอบอาชีพก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกปิดรับลงทะเบียนไปแล้ว ตนจึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาโดยให้กรมการขนส่งทางบกเปิดรับขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่มีกำหนด ลักษณะเดียวกับการขอจดทะเบียนรถทั่วไปเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว

เมื่อคนหนึ่งเลิกขับ สิทธิในทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้างก็หมดตามเจ้าของรถไปด้วย คนอื่นจะมาขับก็ขึ้นทะเบียนไม่ได้ เพราะเขาปิดไปแล้ว คนที่มาใหม่อยากวิ่งก็ต้องวิ่งรถเถื่อน หรือปัญหาที่เจอกันเยอะก็คือพ่อที่ขับวินแล้วเสียชีวิต ครอบครัวไม่มีรายได้ เมียหรือลูกที่ยังเรียนหนังสืออยู่จะมาขับก็ไม่ได้ ขับปุ๊บก็โดนจับ คือรัฐกลัวว่าเราจะเอาสิทธิตรงนี้ไปขายต่อ แต่จริงๆ การขึ้นทะเบียนมันต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกในวินรับรองอยู่แล้ว ถ้าจะขายคนในวินก็ต้องรู้ว่าเขาเป็นคนในครอบครัวหรือเปล่า หรือถ้าจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดจริงๆ ก็เปิดขึ้นทะเบียนโดยไม่มีกำหนดไปเลย ใครจะเลิก ใครจะมาใหม่ก็ไม่มีปัญหา จดเป็นป้ายเหลืองได้หมด ปัญหามอไซค์รับจ้างป้ายดำก็จะหมดไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า จากการเปิดขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 รอบที่ผ่านมา พบว่า การขึ้นทะเบียนรอบแรก เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.-9 ก.ค.2557 มีวินมาขึ้นทะเบียนจำนวน 5,468 วิน และมีผู้ขับขี่ยานยนต์สาธารณะขอขึ้นทะเบียน 97,070 คน ส่วนการขึ้นทะเบียนรอบที่ 2 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงวันที่ 1-15 มิ.ย. 2559 มีวินมาขอขึ้นทะเบียน 5,478 วิน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะมาขึ้นทะเบียน 101,391 คน และช่วงวันที่ 22-31 ธ.ค.2560 มีวินขึ้นทะเบียน 5,638 วิน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะมาขึ้นทะเบียน 98,826 คน

เมื่อรวมกับผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้เดิม (ขึ้นทะเบียนไว้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา) ซึ่งมีวินที่มาขึ้นทะเบียนไว้ก่อนหน้า 5,471 วิน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะขึ้นทะเบียนไว้ 40,031 คน เท่ากับว่าปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนวินรถจักรยานยนต์เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 22,055 วิน และมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 337,318 คน อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและวินในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มาขึ้นทะเบียนทั้งหมดจะเป็นเท่าไรนั้นต้องรอดูการขึ้นทำเบียนในรอบที่ 3 ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 31 ส.ค.2561 นี้อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ปัญหาที่ผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างกำลังประสบเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระทั่วไปก็คือปัญหาเรื่องความมั่นคงและการดำรงชีพ โดยเฉพาะการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาชีพหรือเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาในการขอสินเชื่อของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ว่า นโยบายของรัฐบาลที่ให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้แก่กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างนั้นถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้ เนื่องจากธนาคารแต่ละแห่งมีเงื่อนไขในการปล่อยกู้ว่าผู้กู้ต้องมีรายได้ประจำ มีหลักฐานสลิปเงินเดือน หรือมีผู้ค้ำประกัน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ดังนั้นตนและกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างวินลาดพร้าว 101 จึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ โดยใช้ชื่อ “กลุ่มออมทรัพย์วินลาดพร้าว 101” เพื่อระดมทุนจากสมาชิกแล้วนำมาปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกในกลุ่ม โดยเริ่มจากให้สมาชิกฝากเงินคนละ 100 บาทต่อเดือน เริ่มต้นมีสมาชิก 60 คน ได้เงินตั้งต้นมา 6,000 บาท จากนั้นทางกลุ่มก็ยื่นกู้จากธนาคารมาเป็นเงินสมทบอีก 3 ล้านบาท ดำเนินการรับฝาก ปล่อยกู้ และจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ให้แก่สมาชิก มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว โดยปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 200 คน มีเงินออมกว่า 6 ล้านบาท และยังได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนวินลาดพร้าว 101 บริการ” โดยมีสมาชิกจากกลุ่มออมทรัพย์มาช่วยกันบริหารอีกด้วย

“เรามองว่าเราต้องพึ่งพาตัวเองซึ่งจะทำให้ชุมชนวินมอเตอร์ไซค์ของเราเข้มแข็ง ดีกว่าแบมือขอเงินจากรัฐ ล่าสุดเราได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันพระปกเกล้า ในการทำวิจัยเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ของวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้แก่วินมอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศที่ต้องการสร้างชุมชนของตนเองให้เข้มแข็ง” นายเฉลิมกล่าวตบท้าย

กล่าวได้ว่า แม้กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างจะเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในทุกวินาที อีกทั้งมีปัญหาความไม่มั่นคงในอาชีพและรายได้ แต่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเองก็อาจเป็นหนทางออกที่นำไปสู่ความมั่นคง



กำลังโหลดความคิดเห็น