xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมกาย” ปรับโฉมธุดงค์เลี่ยงรัฐสกัด จัดทริปพิเศษเอาใจ “แรงงานพม่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรรมกายปรับกิจกรรมเดินธุดงค์เป็นธรรมยาตรา ทำกิจกรรม CSR-แจกทุนสถานศึกษาตามเส้นทางธรรมหลวงพ่อสด อ้างสนองแนวทางมหาเถรสมาคม ชื่อโครงการรักษ์บวรอิงเจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ รักษ์ศีล 5 อิงสมเด็จช่วง ขนพระสงฆ์ทางรถยนต์เลี่ยงทางการสั่งห้าม เดินใกล้ ๆ ก่อนถึงบนกลีบดอกเบญจทรัพย์ พิเศษสุดจัดให้ชาวพม่าตามคำขอที่สมุทรสาครแม้อยู่นอกเส้นทางพระผู้ปราบมาร ชี้งานนี้ธรรมกายคืนชีพเกือบ 100%

แม้วัดพระธรรมกายจะไม่มีพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ผู้นำหมายเลขหนึ่งที่เคยเป็นศูนย์รวมใจของศิษยานุศิษย์ของวัด เนื่องจากหลบหนีคดีฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร จากการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น อาจส่งผลต่อความศรัทธาที่มีต่อวัดพระธรรมกายเสื่อมถอยลงไปบ้าง แต่วันนี้ด้วยปัจจัยที่ภาครัฐไม่เข้ามาแตะหลังจากไม่พบพระธัมมชโย วัดพระธรรมกายจึงฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้ง

โครงการธรรมยาตราหรือการเดินธุดงค์ของพระนับพันรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดพระธรรมกาย กำลังจะถูกจัดขึ้นอีกครั้ง หลังจากวันมาฆบูชา ในระหว่าง 2-31 มีนาคม 2561 นี่คือการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่กลับคืนมาให้กับวัดพระธรรมกาย ภายใต้ “โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 6 รักษ์บวร รักษ์ศีล 5 เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา พุทธศักราช 2561”

คณะสงฆ์ 6 จังหวัดในเส้นทางธรรมยาตรา องค์กรพุทธโลก (พล) สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานีฯ เครือข่ายคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วโลก วัดพระธรรมกาย มูลนิธิธรรมกาย และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนกว่า 20 องค์กรจึงได้ประสานความร่วมมือกันสานต่อการดำเนินงาน บนเส้นทางธรรมยาตราในพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

อ้างสนองมติมหาเถรสมาคม

นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า โครงการธรรมยาตราฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมตามหลักสูตรของโครงการอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทฯ ซึ่งคณะพระภิกษุธรรมยาตราจากทั่วประเทศในโครงการฯ กำลังเข้ารับการฝึกอบรมเป็นหลักสูตรที่สนองตามแนวทางมติของมหาเถรสมาคมที่ต้องการมุ่งฝึกฝนพระภิกษุให้เป็นที่พึ่งทางใจและทางสติปัญญาของประชาชน ทั้งบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ก่อนที่จะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับตลอดโครงการฯ นี้ กลับไปปรับใช้ในวัดภูมิลำเนาที่อุปสมบททั่วประเทศเพื่อพัฒนางานพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

นอกจากนี้ ยังเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานพุทธประเพณี ส่งเสริมศีลธรรมและความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชนสอดคล้องตามแนวทางของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ ซึ่งพุทธบริษัทได้ดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย แถลงข่าวกิจกรรมธรรมยาตรา
CSR-แจกทุน

กิจกรรมตลอดเส้นทางธรรมยาตรา จึงมุ่งเน้นสานสัมพันธ์ชุมชนชาวพุทธด้วยการสร้างบุญทำความดีรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธในแนวทางรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 อาทิ การสร้างความสุขและปลื้มใจแก่สาธุชนด้วยบุญสามัคคีตักบาตรพระภิกษุนับพันรูป การจัดปฏิบัติธรรมในมหกรรมเจริญพระพุทธมนต์ฯ บำเพ็ญจิตตภาวนา ทอดผ้าป่า ถวายสังฆทาน เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา การรวมศรัทธาผู้รักการให้สร้างสาธารณกุศลมอบทุนการศึกษาให้สถานศึกษาในเส้นทางธรรมยาตรา

กิจกรรมสานสามัคคีเครือข่ายบวรร่วมทำความสะอาดวัดดูแลรักษาศาสนสถานให้เป็นรมณียสถานศูนย์รวมใจและแหล่างสร้างความสุขของชุมชน งานบุญแห่งความกตัญญูรู้คุณปุพพเปตพลีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ การร่วมโปรยกลีบดอกเบญจทรัพย์ต้อนรับพระภิกษุธรรมยาตราฯ ณ อนุสรณ์สถานที่ศึกษาชีวประวัติและปฏิปทาในการสร้างบารมีของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญทั้ง 6 แห่ง การจุดประทีปและปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เป็นต้น

ทางสงฆ์ผ่านฉลุย

เฉพาะชื่อโครงการธรรมยาตรา รักษ์ศีล 5 อิงโครงการของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เคยเป็นประธานโครงการ รักษ์บวรอิงพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่เคยได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์เจ้าคณะใหญ่หนกลางในเรื่องการสึกพระธัมมชโย แต่ทำแค่เพียงตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่แทน ส่วนหลักสูตรในการอบรมพระในโครงการอ้างว่าสนองตามแนวทางมติของมหาเถรสมาคม เรียกว่าอ้างพระผู้ใหญ่ในชั้นปกครองทั้งหมด ตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญหรือรู้จักกันดีว่าเป็นวัดหลวงพ่อสด ซึ่งท่านเจ้าอาวาสเคยกล่าวไว้ว่าวัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้องกัน

เมื่ออ้างแบบนี้คงไม่มีพระในชั้นปกครองรูปใดกล้าขัดกิจกรรมนี้ของวัดพระธรรมกาย เป็นอันว่าในทางสงฆ์แล้วกิจกรรมนี้ทางสะดวก
กิจกรรมธรรมยาตราของวัดพระธรรมกาย
ไม่เดิน-หลบรัฐบาล

กิจกรรมในครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน ไม่ได้มุ่งไปที่การเดินธุดงค์ เห็นได้จากทีมโฆษกวัดพระธรรมกายย้ำว่าไม่ใช้คำว่าเดินธุดงค์ ให้ใช้คำว่าธรรมยาตราแทน และมีการปรับรูปแบบให้มีทั้งเรื่องการจัดทำบุญ มอบทุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาในเส้นทาง และทำความสะอาดให้กับวัดที่เดินทางไป ไม่แตกต่างไปจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR) ของภาคธุรกิจ ถือว่าเป็นการผูกมิตรรายทาง ลดอาการต่อต้านลงได้ไม่น้อย

ก่อนหน้านี้ได้ตรวจสอบไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี ถึงเรื่องการขออนุญาตใช้เส้นทางเพื่อกิจกรรมธรรมยาตรา ได้รับคำตอบว่า ถ้ากิจกรรมที่ทำไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัด

อีกทั้งในสถานการณ์อย่างนี้คงจะเดินแบบเดิมคงไม่ได้ เท่าที่พอจะทราบมาทางวัดปรับเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสถานที่ที่จะไป และการเดินทางจะเป็นการใช้รถนำพระไปจนใกล้วัดที่กำหนดไว้ อาจจะมีระยะทางให้พระได้เดินทำกิจกรรมบ้างสัก 200 เมตร ซึ่งไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากนัก

สอดคล้องทีมประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกายที่แจ้งว่า จะเดินทางโดยรถยนต์อาจจะทำกิจกรรมธรรมยาตราภายในวัดที่เป็นอนุสรณ์สถานหลวงพ่อสด การโปรยกลีบดอกเบญจทรัพย์ก็จะทำที่จุดนี้

จะเห็นได้ว่าการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการลดข้อจำกัดที่อาจถูกควบคุมโดยฝ่ายรัฐ ที่เคยมีคดีความระหว่างกันมาก่อน หากเป็นรูปแบบเดิมที่เดินผ่านเมืองต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีโอกาสที่อาจถูกระงับได้ และกิจกรรมทำความสะอาดภายในวัดร่วมกับคนพื้นที่หรือแจกทุนให้กับสถานศึกษา เท่ากับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของวัดพระธรรมกายให้ดีขึ้น กิจกรรมธรรมยาตราในครั้งนี้ออกแบบมาให้ผ่านในทุกการควบคุม และยังเป็นการเติมความสมบูรณ์ให้กับทางวัดที่จะต้องมีกิจกรรมนี้ในทุกปี ซึ่งปี 2560 เว้นไปเนื่องจากเกิดคดีกับพระธัมมชโย
เส้นทางธรรมยาตรา 6 จุด 5 จังหวัด
6 จุด 5 จังหวัด

สำหรับเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ คือ เส้นทางของสถานที่สำคัญ 6 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร ประกอบด้วย

1.บ้านเกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่เกิดและใช้ชีวิตในวัยเด็กของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

2.วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่อุปสมบท

3.วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี สถานที่เกิดด้วยกายธรรม(ธรรมกาย) หรือสถานที่บรรลุธรรม

4.วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัด สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกาย ครั้งแรกหลังจากบรรลุธรรม

5.วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย จนกระทั่งมรณภาพ

6.วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
วัดพระธรรมกายเคยเปิดให้ชาวพม่าในไทยมาทำบุญ
‘พม่า’ขอพิเศษ-สมุทรสาคร

ทั้ง 6 สถานนี้อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานครและปทุมธานี แต่ทางวัดพระธรรมกายมีเป้าหมาย 6 จังหวัด จังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางเจริญธรรมของหลวงพ่อสดคือ จังหวัดสมุทรสาคร

แหล่งข่าวกล่าวว่า สมุทรสาครหรือมหาชัย ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานชาวพม่ามาทำงานมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ที่ผ่านมาทางวัดพระธรรมกายเปิดให้ชาวพม่าในประเทศไทยได้ทำบุญที่วัดพระธรรมกายครั้งใหญ่มาแล้ว อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายกับคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวพม่า จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก หากจะไปทำกิจกรรมที่สมุทรสาครน่าจะมีการตอบรับที่ดี อีกทั้งพระที่บวชในโครงการนี้จำนวนหนึ่งเป็นชาวพม่า

ในตารางกิจกรรมยังไม่พบว่าจะมีกิจกรรมธรรมยาตราที่สมุทรสาครวันใด แต่ได้รับคำตอบจากทีมประชาสัมพันธ์วัดพระธรรมกายว่า สมุทรสาครไม่ได้อยู่ในเส้นทางพระผู้ปราบมาร แต่ชาวพม่าได้ขอมากับทางวัด แต่เรื่องวันคงต้องหารือกันอีกครั้ง ตัวกิจกรรมอาจจัดที่วัดใดวัดหนึ่งที่สมุทรสาคร

งานนี้ถือว่าเป็นการฟื้นตัวของธรรมกายที่เต็มรูปแบบ แม้อาจจะต่างไปจากยุคพระธัมมชโยบ้าง แต่ถ้ากิจกรรมครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี และถ้าทิศทางการเมืองเปลี่ยนไปวัดพระธรรมกายจะคืนกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น