xs
xsm
sm
md
lg

สาวลึกรถไฟความเร็วสูง “จีน” กินรวบ โยนทิ้งแบบ “สนข.” ไม่ “ล็อกสเปก” เหมือนจีน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เบื้องหลัง “บิ๊กตู่” ใช้มาตรา 44 ผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย ชี้จะช่วยให้ จีนสามารถเบิกค่าออกแบบ 1,824 ล้านบาทได้ทันทีที่มีการเซ็นสัญญา ระบุก่อนหน้าไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพ แถมไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายไทย ทั้งที่เป็นการ “ล็อกสเปก” เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วประมูล วงในตั้งคำถาม “บิ๊กตู่” รถไฟความเร็วสูงสายนี้ สนข.เคยว่าจ้างออกแบบไว้แล้ว ในยุค “ประจิน จั่นตอง” นั่งคมนาคม และบางส่วนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำไม? ไม่ดึงมาปัดฝุ่น กลับเลือกที่จะส่งมอบจีนดำเนินการ!

ทันทีที่เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เป็นผลให้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางสายนี้ต้องหยุดชะงักไม่เป็นตามแผนงานที่วางไว้

แต่อำนาจตามมาตรา 44 ที่มีจุดประสงค์เพื่อจะนำมาใช้แก้ปัญหารถไฟไทย-จีน ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาและทำให้คนไทยบางส่วนรู้สึกว่าประเทศไทยต้องอยู่ในสถานะเสียเปรียบประเทศจีน พร้อมกับกระแสการท้วงติงของผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการเปิดทางให้วิศวกรและสถาปนิกจีน เข้ามาทำงานในโครงการได้สะดวก

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งให้ "ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง" เพื่อสอบคำสั่งมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ.-โคราช จะเป็นการเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้จีน และทำให้ไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตย รวมไปถึงเป็นการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ ในเรื่องการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบว่าด้วยพัสดุ อีกทั้งในการใช้มาตรา 44 ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ระบุไว้ให้ใช้อำนาจตามคำสั่งเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง และหากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศจีน ก็ขอให้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามมาตรา 221 ต่อไป

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งทางราง บอกถึงมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน หากถอดความกันจริง ๆ จะพบว่าประเทศจีนจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้างครั้งนี้สูงมาก โดยเฉพาะข้อ 2 ที่ระบุให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทําสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา จีนเป็นผู้ดำเนินการไว้แล้ว

2.งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา โดยหลักการผู้ที่ออกแบบจะเป็นผู้ควบคุมงานไปด้วย โดยวงเงินนั้นอยู่ที่กรอบการเจรจาซึ่งถ้าตามกฎหมายไทยนั้น จะอยู่ที่ 10% ของงบประมาณค่าก่อสร้าง

3.งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร คาดว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบไว้ทั้งหมด

โดยมีมูลค่างานอยู่ที่ 179,412 ล้านบาท ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน

ดังนั้นหากมองถึงเนื้องานแล้วจะเห็นว่าวิศวกร สถาปนิก และผู้รับเหมาจีน จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลต้องหารือร่วมกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก เพื่อขอให้จัดทำรายละเอียดข้อสอบวัดมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรเพื่อออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ใบ กว.) ระยะเวลา 5 ปีให้กับวิศวกรชาวจีนเพื่อร่วมกันก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามแผน

ม.44 ที่ออกมาจะช่วยให้จีนสามารถเบิกเงินค่าออกแบบที่ทำไปแล้วได้ เพราะหากไม่ออก ม.44 หน่วยงานไหนจะเป็นคนจ่าย เมื่อยังไม่เซ็นสัญญาว่าจ้าง จะให้ สนข.หรือการรถไฟ ก็ไม่มีใครรับเพราะต้องขออนุมัติกรมบัญชีกลางเบิกจ่าย เมื่อ ม.44 ออกมาก็ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าออกแบบประมาณ 1,824ล้านบาทให้กับจีน

ดังนั้น มาตรา 44 จึงช่วยให้โครงการนี้เดินหน้าได้สะดวก ตามที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ขณะนี้งานออกแบบได้ทำคู่ขนานไปแล้วมีความก้าวหน้า 95% คาดว่าจะลงนามสัญญาออกแบบกับจีนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

มีที่ไหนแค่เซ็นลงนาม MOU กับจีนตั้งแต่ธันวาคม 2557 ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาออกแบบ แต่จีนได้ทำงานไปจนจะเสร็จแล้วเพียงแต่ว่าเป็นภาษาจีนทั้งหมด จึงขอให้ไปแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในระหว่างวิศวกรไทยและจีน จีนมั่นใจมากว่าไทยจะต้องทำกับจีนแน่ มาถึงตอนนี้ถ้าไม่ออก ม.44 จะเบิกค่าออกแบบได้หรือ และงานจะก้าวหน้าได้อย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นสักขีพยานการลงนามเอ็มโอยูไทย-จีน 2 ฉบับเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟและการซื้อสินค้าเกษตรจากไทย  เมื่อ  19 ธ.ค. 2557
แหล่งข่าวบอกอีกว่า มาตรา 44 ยังช่วยให้การเบิกจ่ายค่าออกแบบ 1,824 ล้านบาท ค่างานและงวดงานไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่หน่วยราชการต้องยึดถือปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งเรื่องการเบิกเงินล่วงหน้า (Advance Payment ) ที่เรียกเก็บ ณ วันทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ที่คาดว่าจะประมาณสิงหาคม-กันยายน 2560 นี้ ซึ่งจะเบิกที่ 10% แต่ของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ตกลงกัน ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นตัวเลขเท่าไร หากเรียกมาถึง 30% ก็ขึ้นกับว่ารัฐบาลจะตกลงในสัญญาหรือไม่?

นอกจากนี้ในเรื่องของระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ ตามเงื่อนไขข้อ 2 ในส่วนที่ 3 นั้น จะชี้ให้เห็นว่า ทุกอย่างจะต้องเป็นสเปกของประเทศจีน ปัจจุบันการออกแบบของจีนอยู่ในขั้น Detail Design เป็นการออกแบบรายละเอียด ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที หากไม่ใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการ ในขั้นตอนนี้จะผิดกฎหมาย เพราะเป็นการล็อกสเปก และทำให้เกิดการฮั้วประมูลได้ง่าย

ม.44 ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ที่เรียกกันว่า กฎหมายฮั้วประมูล จึงไม่มีความผิดไม่ต้องเข้าข่ายถูก ป.ป.ช.สอบ

อย่างไรก็ดี มีคำถามเกิดขึ้นในแวดวงวิศวกรรม และหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ว่าเหตุใดรัฐบาลประยุทธ์ ไม่นำแบบที่ 'สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร' (สนข.).เคยว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาต่าง ๆ ร่วมออกแบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพ.-หนองคาย ไว้แล้วมาดำเนินการ เพระในความเป็นจริงแบบรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ช่วงที่ 2 ก็ออกในสมัยที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว ส่วนในช่วงที่ 1 ออกแบบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ช่วงที่ 1 กรุงเทพ -โคราช ระยะทาง 250 กิโลเมตร โดยบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด (MAA Consultants Co.Ltd.และบริษัทอื่น ๆ ลงทุน 192,002 ล้านบาท รวมค่าเวนคืนแล้ว

ช่วงที่ 2 โคราช-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ว่าจ้างบริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) และบริษัทอื่น ๆ ลงทุน 184,442 ล้านบาท รวมค่าเวนคืนแล้ว

แบบที่ออกเป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการกำหนดจุดเวนคืน การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ทั้งมูลค่าทางการเงิน มูลค่าทางเศรษฐกิจ รูปแบบการลงทุนฯ ไว้ชัดเจน และถ้ารัฐจะปรับเป็นรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็สามารถปรับแก้ได้ทันที

ส่วนในเรื่องของระบบและแรงกระทำต่อโครงสร้างทางวิ่ง ของรถไฟความเร็วสูงนั้น ในแบบที่ MAA และ AEC ได้ออกแบบไว้จะเป็นไปตามมาตรฐานยุโรป (European Standard) เป็นหลักและยังมีข้อกำหนดจาก British Standard BS 5400 เป็นต้น และการออกแบบที่เป็นมาตรฐานยุโรปเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกเพราะมีการพัฒนาระบบขนส่ง และรถไฟความเร็วสูงมาเป็นเวลานาน

ขนาดรางมาตรฐาน กว้าง 1.435 เมตร เป็นแบบ 2 รางไป-กลับ ตรงช่วงสถานี จะเป็น 4 ราง ส่วนจุดเริ่มต้น ในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่สถานีบางซื่อ ผ่านบ้านภาชี สระบุรี ไปถึงโคราช จะมีจุดจอด 4 สถานี ซึ่งแบบที่ สนข.เก็บไว้นี้จะเป็นเส้นทางเดียวกับที่จีนออกแบบ กรุงเทพ.-โคราช

ด้านการลงทุนนั้น จะเป็นการเปิดกว้าง ประมาณ 5 แบบ ตัวอย่างเช่น PSC -Gross Cost ทั้งรัฐลงทุนทั้งหมด แต่จ้างเอกชนมาเป็นผู้ดำเนินการและซ่อมบำรุง หรือ แบบ PPP-Net Cost เป็นรูปแบบการให้สัมปทานเอกชนลงทุนและจัดเก็บรายได้เป็นการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำที่เอกชนจะได้รับ ซึ่งผลตอบแทนนี้จะครอบคลุมต้นทุนการดำเนินงานของเอกชน หากเอกชนมีผลขาดทุน รัฐอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชย (Subsidy) และหากมีกำไรต้องจ่ายคืนรัฐ ตามที่ได้ตกลงไว้ ฯลฯ

ที่สำคัญโครงการรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ในมือ สนข.ขณะนี้ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายไทยในเรื่องการจัดทำโครงการในทุก ๆ ประเด็น และหากผู้รับเหมาร่วมกลุ่มแบบกิจการร่วมลงทุน (Consortium) กิจการร่วมค้า (Joint venture) หรือรูปแบบอื่นที่หน่วยงานได้กำหนดไว้ ผู้รับเหมาที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก (Lead firm) จะต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลางด้วย

พูดง่าย ๆ Lead firm ต้องเป็นผู้รับเหมาไทย แต่โครงการรถไฟไทยจีน Lead firm จะเป็นผู้รับเหมาไทยหรือไม่นั้น ยังไม่มีนโยบายออกมาชัดเจน แต่ถ้าใช้เทคนิคแบบ overslange คือห้อย segment แต่ละชิ้นมาต่อ ๆ กัน แบบนี้ผู้รับเหมาไทยทำได้ แต่ถ้าออกมาเป็นเทคนิคเฉพาะของจีน ผู้รับเหมาไทยก็อาจจะลำบาก ก็คงต้องให้จีนเป็น Lead firm เพราะจีนเป็นผู้ออกแบบ เป็นที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างอยู่แล้ว”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 18 ที่ กรุงเทพ  เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560
แหล่งข่าวบอกอีกว่า มีการตั้งคำถามในกลุ่มสภากาแฟว่า ทำไม? ค่าออกแบบของจีนจึงแพงกว่าบริษัทของคนไทย โดยจีนใช้งบประมาณ 1,824 ล้านบาท แต่ที่ สนข.ว่าจ้าง MAA และ AEC ออกแบบประมาณไม่ถึง 1 พันล้านบาทซึ่งมีการกล่าวอ้างกันว่าเป็นเพราะจีนออกแบบในขั้น Detail Design ถือเป็นการออกแบบรายละเอียด ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที แต่ของไทยเป็นแบบ Definitive Design จึงทำให้ราคาต่างกันมาก

ความจริงที่ สนข. ออกจะเป็น Definitive Design เฉพาะในส่วนของเทคนิค ที่จะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาสามารถเลือกเทคนิคได้กว้าง ทั้งเทคนิคยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เสนอมาเพื่อแข่งขันในด้านเทคนิคว่าของใครจะดีกว่ากัน จากนั้นของใครดีค่อยมาเปิดซองราคา แต่ของจีนที่ทำเป็น Detail Design เป็นการล็อกสเปกในเรื่องเทคนิคไว้หมดแล้ว ว่าต้องเป็นรายนี้เท่านั้นจึงจะได้งาน ตรงนี้ถ้าไม่มี ม.44 ออกมา ผู้ที่เกี่ยวข้องผิดกราวรูด ถูก ป.ป.ช.สอบเพราะถือเป็นการล็อกสเปกชัดเจน”

ดังนั้นการที่บิ๊กตู่ต้องรวบรัดออกมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วง กรุงเทพ.-โคราช สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าออกแบบให้จีน 1,824 ล้านบาทก่อน เพราะที่ผ่านมาจีนออกแบบไปก่อนเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ได้ 100% แต่ยังไม่รู้จะไปเบิกจ่ายที่หน่วยงานใด จากนั้นจะเข้าสู่โหมดของการประมูลงานก่อสร้างในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ภายใต้มาตรา 44 ที่ทำให้ทุกคนปลอดภัยจากความผิด ทั้งที่รู้ว่านี่คือการล็อกสเปกเพื่อประเทศจีนโดยตรง..!

กำลังโหลดความคิดเห็น