xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปงแชร์ลูกโซ่รูปธุรกิจท่องเที่ยว เหยื่อหลงกลโฆษณา “เที่ยวฟรีมีรายได้”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แชร์ลูกโซ่ในรูปธุรกิจท่องเที่ยวแต่ได้ผลประโยชน์กลับมาอีกแล้ว มีผู้เสียหายร้อง สคบ.และ ปปง. ด้านกระทู้พันทิปลากไส้ขบวนการขายตรง “อาชีพนักท่องเที่ยว” ที่บางประเทศสั่งแบนแล้ว ขณะที่คนไทยกำลังหลงเข้าไป ส่วนแม่ทีมที่ได้ประโยชน์ออกมาถากถางและเชิญชวน “คนอยากรวย อยากสบาย” เข้ามาเป็นสมาชิก ฝั่งประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯบอก ธุรกิจอะไรแก๊งมิจฉาชีพก็มาทำเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้ แนะสังคายนากฎหมายจัดการพวกฉ้อโกงให้เด็ดขาด ส่วนใครมีปัญหาร้องเรียนได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง

ข้อความโน้มน้าวใจแถมพ่วงด้วยการได้เป็นนักธุรกิจตามคำโฆษณา เทียบกับงานประจำที่เหน็ดเหนื่อย จนทำให้ใครหลายๆ คนอดไม่ได้ที่จะกระโดดลงไปร่วมกระแส You should be here ที่กำลังมาแรงขณะนี้ ซึ่งมีคนชอบเที่ยวหลายคนได้เห็นการชักชวน และการแชร์ภาพทริปท่องเที่ยวต่างประเทศของเพื่อนในเฟซบุ๊ก กับหลากหลายปลายทางในฝัน ตั้งแต่หมู่เกาะมัลดีฟส์ ญี่ปุ่นแบบเจาะลึก แชงกรี-ลา ประเทศต่างๆ ในยุโรป และแทบทุกที่ทั่วโลก เรียกว่าได้เที่ยวแบบนับครั้งไม่ถ้วน

ตลอดจนการได้เห็นคนรู้จักที่ไม่ได้ร่ำรวยเหลือเฟือแต่ท่องเที่ยวเป็นว่าเล่น พร้อมคำชักชวนที่เร้าใจ อย่าง “อาชีพนักท่องเที่ยว” “เรื่องกินเรื่องเที่ยวเรื่องเดียวกัน” “เที่ยวถูกแบบไฮโซ ที่นี่เท่านั้น” ยิ่งช่วยกระตุ้นความสนใจล่อให้คนที่อยากเที่ยวเข้ามาติดกับได้เป็นอย่างดี

กระบวนการ 'จ่าย'ก่อนตกเป็นเหยื่อ

ท่ามกลางความสงสัยของคนที่ได้รับการชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก และการโต้แย้งกันถึงพฤติการณ์ต่างๆ เข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายสมาชิกท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง มีผู้เสียหายรายหนึ่งในจังหวัดสงขลา มีความต้องการขอเพียงเงินสมัครค่าสมาชิกคืน เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้ตัวเธอตกเป็นเหยื่อ เพราะความที่เป็นคนชอบท่องเที่ยว และได้ยินชื่อ Worldventures (WV) จากคนรู้จัก ซึ่งมาชักชวนเธอและเพื่อนอีก 2 คนให้สมัครเป็นสมาชิก เพื่อรับสิทธิ์ในแพกเกจท่องเที่ยว อาหาร ที่พัก และโรงแรมหรู

หลังจากอ่านรายละเอียดเงื่อนไขแล้ว ก็ได้ตกลงโดยเสียค่าสมาชิกเป็นเงินจำนวน 2,000 บาท ด้วยการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต แต่เมื่อถึงรอบการตัดบัตรปรากฏว่ามีการตัดเงินไปเป็นจำนวน 4,000 บาท ซึ่งตัวเธอได้ติดต่อกลับไปที่คนชักชวนให้มาสมัครสมาชิก ซึ่งได้คำชี้แจงว่าค่าสมาชิกที่เพิ่มขึ้น เป็นการคิดตามอัตราเงินดอลลาร์ และหากต้องการจะเอาเงินคืนนั้น ไม่สามารถยกเลิกการสมัครได้ ต้องหาสมาชิกมาสมัครกับบริษัทเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยค่าใช้จ่าย 4,000 บาทจะถูกตัดจากบัตรเครดิตเป็นประจำทุกเดือน

เธอบอกอีกว่า รู้สึกกังวลว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของบริษัทนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครที่ให้กรอกที่อยู่ในใบสมัครสมาชิก โดยให้ระบุว่าอาศัยอยู่ในประเทศฮ่องกง ซึ่งก็ได้โต้แย้งไปว่าที่อยู่ของตนคือประเทศไทย และยิ่งได้ทราบว่ามีการตัดเงินจากบัตรเครดิตเกินกว่าจำนวนที่มีการตกลงกันไว้ก็ยิ่งแน่ใจว่า นี่คงไม่ใช่ธุรกิจท่องเที่ยวธรรมดาทั่วไป ทำให้เกรงว่าจะไปพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย

“ที่สมัครเพราะคิดว่าเป็นการเที่ยวแล้วได้เงินจริงๆ ส่วนตัวไม่ถนัดกับการชวนคนมาสมัครเพิ่ม ตอนนี้สถานภาพทางการเงินไม่ดี และเดือดร้อนแน่นอนที่ต้องจ่ายรายเดือนเดือนละ 4,000 บาท ตอนเค้าพูดให้ฟังบอกว่าจ่ายรายเดือนแค่ 2,000 บาท หลายอย่างไม่เคลียร์ตามที่เขาพูด อีกอย่างคิดว่าเป็นบริษัทที่ไม่มั่นคงอย่างที่เขาบอก ให้สมัครโดยระบุประเทศที่อยู่เป็นฮ่องกง ทั้งที่เราอยู่ไทย ทำไมต้องสมัครที่ฮ่องกง มารับรู้หลังจากให้บัตรเครดิตเขาไปแล้ว”

เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ดูส่อเค้าไปในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสียหาย และอาจเป็นขบวนการธุรกิจแชร์ลูกโซ่ประเภทหนึ่ง และเธอก็ไม่สามารถเรียกเงินที่จ่ายไปแล้วคืนมาได้ จึงเดินทางจากต่างจังหวัด เข้ามาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่กรุงเทพฯ

“เริ่มมีผู้เสียหายเกิดขึ้นหลายราย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าธุรกิจนี้เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แต่มันมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ขั้นตอนแรกการสมัครสมาชิก การจ่ายเงินแรกเข้า และหักค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็ล้วนต้องไปแสวงหาคนใหม่เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเพื่อต่อยอด ทำความฝันจะได้ไปเที่ยว แต่กลับต้องจ่ายเงินค่าท่องเที่ยวเป็นรายทริป"

โดยเฉพาะราคาของแพกเกจแต่ละทริปที่ให้มานั้น ผู้เสียหายระบุว่า เหมารวมเพียงแค่ค่าที่พัก อาหาร แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทางตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่าวีซ่า ภาษีสนามบิน ทำให้เห็นว่าไม่ได้เป็นราคาถูกพิเศษ สุดคุ้มดังที่กล่าวอ้าง

“สมาชิกบางคนที่ยังเลือกทริปถูกใจไม่ได้ ก็ต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือนไปเรื่อยๆ แม้จะนำพอยต์มาเป็นส่วนลดได้ แต่สุดท้ายถ้าจะไปเที่ยวก็ต้องเสียเงินก้อนอยู่ดี ส่วนการคาดหวังรายได้กลับมานั้น ขึ้นอยู่กับการหาสมาชิกใหม่มาอยู่ในทีม” เหยื่อธุรกิจท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เล่ารายละเอียดให้ฟัง

ตั้งกระทู้ไขข้อข้องใจคล้ายแชร์ลูกโซ่

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อมีผู้ออกมาตั้งข้อสงสัยในเว็บไซต์พันทิป โดยเจ้าของกระทู้ที่ใช้ User Name “ปอม นักพับกระดาษ” ตั้งกระทู้ “[สกู๊ปลากไส้] ระวัง!!! ขายตรง “อาชีพนักท่องเที่ยว” Worldventures ถูกแบนแล้วในนอร์เวย์+เรื่องราวอื่นๆ ที่เขาไม่บอกคุณ” ซึ่งการตั้งกระทู้นี้มีเจตนาให้ข้อมูล รวมทั้งเชื้อเชิญให้คนอ่านมาร่วมอภิปรายและโต้แย้งเพื่อความยุติธรรมของทุกฝ่าย

ทั้งนี้เจ้าของกระทู้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความชัดเจนของบริษัทแม่เจ้าของธุรกิจนี้ ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูล ทั้งการเข้าร่วมสัมมนาของบริษัท พูดคุยโฟกัสกรุ๊ป และค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตพบว่า ผู้บรรยายจะเน้นโอกาสในการทำธุรกิจว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นตลาดที่ใหญ่มีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และตัวบริษัทแม่ก็มีความน่าเชื่อถือ เพราะก่อตั้งตั้งแต่ปี 2005 และได้รับรางวัลมามากมาย รวมทั้งเป็นพาร์ตเนอร์กับ Agoda เว็บไซต์จองที่พักออนไลน์ยอดนิยมอีกด้วย โดยข้อเสนอในการทำธุรกิจมี 2 รูปแบบคือ

1. แบบ Gold เที่ยวถูก เที่ยวหรู เน้นตะลุยเที่ยวแบบเกินคุ้ม ซึ่งผู้บรรยายไม่ได้เน้นในโปรแกรมนี้ และไม่ได้ระบุค่าสมัคร

2. แบบ Platinum เที่ยวถูก เที่ยวหรู และมีรายได้ โดยต้องจ่ายค่าสมัครแรกเข้า 515 + ค่ารายเดือน 115 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าสมัครจะกลายเป็น points สะสมไว้ในบัญชี นำมาใช้เป็นส่วนลดค่าทริปท่องเที่ยวให้ถูกลงไปอีก

ยิ่งมีการเติบโตของทีมซ้ายขวาอย่างสมดุลมากเท่าไร ผลตอบแทนก็จะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งตั้งแต่ระดับ DIR, MD ไปจนถึง IMD (International Marketing Director) ที่ต้องมีสมาชิกทีมซ้าย/ขวา 1,500 คน ซึ่งระดับนี้อ้างว่ามีรายได้ถึงเดือนละ 5 ล้านบาท

ส่วนใครที่สมัครแล้วแต่อยากยกเลิกก็สามารถทำได้ โดยบริษัทฯ จะคืนค่าสมัครให้ หรือหากพ้นช่วงการจ่ายคืนที่กำหนด ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่หยุดจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน

เมื่อสมัครแล้วก็เลือกทริปไปเที่ยวได้ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีบริษัทในเครือชื่อ ROVIA ทำหน้าที่เหมือน Agoda คือจองโรงแรม หรือรถเช่า ผู้บรรยายให้ข้อมูลว่าใน 1 ปี มีทริปให้เลือกกว่า 1 หมื่นทริปจากทุกมุมโลก แต่ถ้าจะให้ประหยัดแบบจ่าย 2 ดาว นอนโรงแรม 5 ดาวพร้อมสิทธิพิเศษจะต้องไปในช่วงที่จัดเท่านั้น ยกตัวอย่างทริป ซานโตรินี 3 คืน 3,500 บาท ฮอกไกโดหรือโตเกียว 3 คืนประมาณ 13,000-14,000 บาท ซึ่งได้นอนโรงแรม 4-5 ดาวทั้งหมด

“ฟังจนถึงตอนนี้ คนมีความรู้ด้านธุรกิจเบื้องต้นก็อาจจะคิดไปว่ามันน่าจะเป็นสหกรณ์การท่องเที่ยว เขาเป็น Wholesale ที่ไม่ต้องมีสินค้า เขาระดมเงินจากสมาชิกไปก่อนเพื่อซื้อห้องพักเป็นล็อตใหญ่ๆ ซื้อล่วงหน้าไว้นานๆ กับโรงแรม ด้วยอำนาจแห่ง economy of scale และอำนาจการต่อรองระดับนี้ ทำให้เขาได้ราคาที่ถูกกว่าการซื้อปลีก”

บางประเทศสั่งแบนแล้ว

แม้จะมีการกล่าวอ้างถึงบริษัทแม่ คือบริษัท Worldventures (WV) ก่อตั้งในสหรัฐอเมริกามา 10 ปี ซึ่งผู้บรรยายให้ข้อมูลว่ามีสมาชิกทั่วโลกใน 28 ประเทศกว่า 2 ล้านคน และได้รับรางวัลจากเวที World Travel Awards ถึง 7 รางวัล บริษัทแม่มีที่ตั้งชัดเจน เชื่อถือได้ และมีลูกจ้างประจำกว่า 2 หมื่นคนในสหรัฐอเมริกา

แต่เจ้าของกระทู้ได้ไปขุดคุ้ยข้อมูลเพิ่มเติมมาได้ว่า WV ยังมีข้อกังขาเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะบริษัท World Travel Awards ที่จัดอันดับให้รางวัลนั้น เป็นธุรกิจที่หากินกับการให้รางวัล อยู่ได้ด้วยเงินสปอนเซอร์ และสังเกตได้ว่าบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์มักจะได้รับรางวัลอยู่เสมอ แถมตัวรางวัลเองก็มีถึง 998 รางวัลต่อปี ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยในมาตรฐานของเวที และรางวัลที่ WV อ้างว่าได้รับ ในความเป็นจริงนั้น เป็นรางวัลที่ให้กับ ROVIA ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ

จากข้อมูลของเจ้าของกระทู้ ยืนยันอีกว่า “ประเทศนอร์เวย์ประกาศแบน WV เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจขายตรงคลับท่องเที่ยวที่รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการท่องเที่ยว แต่มาจากการหาสมาชิกต่อเป็นทอด รวมทั้งมีข่าวทำนองเดียวกันที่ประเทศแอฟริกาใต้ จีน และไต้หวัน และประเด็นที่น่าสนใจคือกรณีที่มาเลเซียออกมาถามถึงใบอนุญาตการท่องเที่ยว ซึ่ง WV กลับบอกว่าบริษัทไม่ได้อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยว เพียงแต่ขายครีมกันแดด เสื้อยืด หรือป้ายน้ำเงินเท่านั้น รวมทั้ง WV ไม่มีจดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทย เงินค่าสมาชิกคนไทยไหลไปที่สาขาฮ่องกง!”

ส่วนการขอยกเลิกสมาชิกพร้อมขอเงินคืนนั้น ต้องทำภายใน 14 วัน และจากที่เจ้าของกระทู้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีคนแนะนำให้ทำภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการใช้ลูกเล่นในทีม ทำให้การยกเลิกและขอคืนเงินล่าช้า

นอกจากนี้การจองโรงแรมระดับ 4-5 ดาวในราคา 2 ดาว เจ้าของกระทู้ยังออกมาเสริมว่า สามารถหาได้ด้วยเว็บจองโรงแรมทั่วไป ซึ่งก็มีระบบสะสมแต้มให้ใช้ได้ในอนาคต โดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิกแรกเข้า และรายเดือนอีกถึงเดือนละ 4,000 บาท แถมค่าทริปของสมาชิก WV ที่ระบุว่าถูกมากนั้น ในความเป็นจริงคือไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าวีซ่า

“ถูกยังไงไม่รวมตั๋วเครื่องบิน และที่สำคัญคือไม่รวมเงินที่หยอดให้เขาไปเดือนละ 4,000 บาทด้วย ลองคิดดูละกันครับ หยอดไป 10 เดือนก็จ่ายไป 4 หมื่นบาทแล้ว เพื่อให้ได้ชื่อว่าฉันได้เที่ยวระดับ 5 ดาวในราคา 2 ดาว แม้ว่าเงิน 4,000 บาทที่เสียเป็นค่าสมาชิกจะถูกปรับเป็นแต้มสะสมไว้ใช้ลดหย่อนค่าทริปได้ แต่แต้มสะสมพวกนี้มีอายุ 12 เดือนครับ และการลดหย่อนค่าทริปทำได้จำกัด ไม่สามารถใช้แต้มได้ทั้งหมด ยิ่งค่าสมัคร 18,000 ยิ่งไม่ควรนับรวมครับ เพราะมันเป็นค่าสมัคร”

ตั้งคำถามMLM หรือแชร์ลูกโซ่?

ขณะที่เจ้าของกระทู้ในพันทิปตั้งคำถามว่า “อาชีพนักท่องเที่ยว” “ เที่ยวฟรีมีรายได้” เข้าข่ายเป็น “ธุรกิจแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ” พร้อมสรุปว่า ต้องการให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้คน กับคำถามที่ต้องการคำตอบว่า “มันเป็นแชร์ลูกโซ่หรือเปล่า?” โดยคนเสพต้องแยกแยะให้ได้ตามลักษณะของธุรกิจ

“ปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคที่คนหางานยาก คนตกงานง่าย ดอกเบี้ยต่ำ หุ้นร่วง ทางเลือกในการลงทุนไม่มากสำหรับคนที่มีความรู้น้อย แต่อยากมีชีวิตดี WV อาจจะมาถูกที่ถูกเวลากับความสิ้นหวังวันนี้ เพราะจากที่เข้าร่วมสัมมนา ได้เห็นคนเข้าสมัครทั้งบัณฑิตจบใหม่ จนกระทั่งคนวัยเกษียณ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเอาเงินเก็บที่หามาอย่างยากลำบาก มาลงทุนกับสิ่งนี้ เพียงเพื่อการเสพสุขของชีวิต จึงตั้งใจเขียนกระทู้มาเพื่อเป็นประโยชน์กับคนที่ไม่เข้าใจ และเล็งผลเลิศ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ถือเป็นการมองที่ผิดไป ขอเสนอให้ WV ปรับปรุงการตลาด ให้ข้อมูลคนรอบด้านให้มาก ตามแบบแผนที่ MLM ทั่วไปมุ่งทำกัน จริงเท็จประการใดให้เป็นหน้าที่คนในสังคมตัดสินใจกันเอง”

แม่ทีมโต้ข้อสงสัย

ท่ามกลางการโต้แย้งกันถึงการดำเนินงานของธุรกิจอาชีพนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้ ในด้านของผู้เป็นสมาชิกระดับสูงรายหนึ่ง ได้ออกมาโต้กระทู้จากพันทิป โดยบรรยายถึง Mindset ในการทำธุรกิจ พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเปรยไว้ค่อนข้างยาวว่า “เราส่งอะไรให้โลก โลกจะส่งสิ่งนั้นกลับมาหาเรา”

และได้สาธยายให้เห็นว่าตัวเธออยู่ในธุรกิจนี้มา 1 ปีเศษ ในตำแหน่ง RMD (Regional Marketing Director) เที่ยวมาแล้ว 22 ทริปใน 25 ประเทศ รวมทั้งมีรายได้เข้ามาถึง 6 หลัก ย้ำให้เชื่อมั่นว่าเป็นวิธีการทำธุรกิจที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้จากคนนับหมื่นในหลายๆ ที่ทั่วโลก

สมาชิกรายนี้ย้ำว่า กระทู้ต่างๆ ที่โจมตี จะไม่มีผล ต่อด้วยคำโฆษณาชักชวนสมาชิกรายใหม่ว่า “เหนื่อยไหม เครียดไหมกับชีวิต ทำงานเป็นหุ่นยนต์ คนทำธุรกิจบางคนทำแล้วได้เงิน บางคนก็ไม่ได้เงิน ลงทุนสูง ยังไม่คืนทุน แต่เวลาหายไป ไม่มีเวลาแม้แต่จะไปเที่ยว เพราะไปไหนก็พะวงแต่ธุรกิจ แถมสุขภาพย่ำแย่ลงทุกวัน เชิญชวนให้มาลองดูอาชีพใหม่ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้น”

ตบท้ายด้วยคำขวัญ “เที่ยวไปด้วยและสร้างรายได้/สร้างธุรกิจไปด้วยมีอยู่จริง”

ตรวจสอบก่อนตกเป็นเหยื่อ

อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคำโฆษณาธุรกิจใหม่ๆ ทั้งหลายว่า เป็นธุรกิจขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่นั้น สังเกตได้จากความแตกต่างง่ายๆ 4 ข้อ ประกอบด้วย

ข้อ 1 ต้องมีการจดทะเบียนธุรกิจ และดำเนินธุรกิจตามที่จดทะเบียนไว้

ข้อ 2 การรับสมัครสมาชิกไม่มีการบังคับให้ต้องซื้อสินค้า ซึ่งธุรกิจนี้มีข้อบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้จ่ายเงินค่าสมาชิก

ข้อ 3 การดำเนินงาน ต้องเน้นการขายสินค้าเป็นหลัก โดยสมาชิกนำสินค้าไปขายตรงกับผู้บริโภค แต่จะเห็นได้ว่าธุรกิจนี้ไม่ได้เน้นการขายสินค้า เพียงเน้นให้สมาชิกชักชวนคนมาร่วมเครือข่าย และลงเงินทุน

ข้อ 4 การจ่ายผลตอบแทนต้องขึ้นอยู่กับรายได้จากการขายสินค้าเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวเน้นรายได้จากการสมัครสมาชิก นำเงินรายใหม่มาให้รายเก่า

หากมั่นใจว่าธุรกิจที่เข้าร่วมอยู่ในข่ายแชร์ลูกโซ่ สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หมายเลข 1359, ตู้ปณ.1359 ปณจ.บางรัก กรุงเทพ 10500 หรือ E-mail address: fincrime@mof.go.th

ช่องว่างกฏหมายกว่าจะรู้หมดตัว

แม้จะมีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ปราบปรามเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ขบวนการต้มตุ๋น แชร์ลูกโซ่ ก็ยังระบาดหนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายที่ยังมีช่องว่าง เพราะหากไม่เกิดเรื่องราวขึ้น ก็ไม่สามารถจัดการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้

แหล่งข่าว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กล่าวว่า ธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ กรณี “ เที่ยวฟรีมีรายได้” นั้น ถ้าในระยะเริ่มต้นที่มีการรับสมัครสมาชิก หากว่ามีผลตอบแทนตามที่บอกไว้ในคำโฆษณา ไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกง และการที่ ปปง.จะเข้าดำเนินการตรวจสอบหาหลักฐานเพิ่มเติมได้นั้น ต้องมีผู้ร้องทุกข์ 10 คนขึ้นไป เพราะเป็นคดีอาญาและเข้าเงื่อนไขการฟอกเงิน อย่างไรก็ตามกรณีมีผู้ร้องทุกข์เพียง 1 คน ปปง.จะรับข้อมูลเพื่อนำมาเป็นเบาะแสในการตรวจสอบพิรุธนั้นต่อไป

สมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทยเตือน!

ด้านประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช เปิดเผยว่า อยากให้ประชาชนเข้าใจว่า แชร์ลูกโซ่สามารถนำธุรกิจอะไรก็ได้มาดำเนินเป็นแผนธุรกรรมเพื่อชักชวนสมาชิกที่เป็นผู้ลงทุนหรือเหยื่อให้มาเข้าร่วม จะเห็นตั้งแต่ในอดีตว่า แชร์ลูกโซ่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ น้ำมัน ทองคำ ที่ดิน อาหารเสริม หรือ แม้แต่แพกเกจทัวร์ และโรงแรม เช่น แชร์บลิสเชอร์ที่ถูกจับและศาลฎีกาตัดสินคดีไปแล้วว่ามีความผิด

โดย บ.บลิสเชอร์ฯ ประกอบธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือ “ไทม์แชริ่ง” โฆษณาชักชวนประชาชนให้สมัครสมาชิกใช้บริการที่พักฟรีตามสถานที่พักตากอากาศ หรือโรงแรมที่บริษัทฯ จัดไว้ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี หรือฟรีโฟร์ นาน 20 ปี มีรูปแบบการสมัครสมาชิกเป็นรูปแบบบัตรทอง และบัตรเงิน โดย “บัตรเงิน” จ่ายค่าสมาชิกปีละ 30,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 2,500 บาท และ “บัตรทอง” จ่ายค่าสมาชิก 60,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 4,500 บาท หากสมาชิกรายใดจะสมัครเป็นฝ่ายขายต่อจะต้องเสียค่าสมัครเพิ่ม 1,500 บาทต่อปี และหากหาสมาชิกได้จะได้ค่านายหน้าเพิ่มรายละ 5,000 บาท ซึ่งในเวลานั้นมีความนิยมอย่างกว้างขวาง มีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกจำนวนมาก ท้ายสุดจำนวนผู้เสียหายที่หลงเชื่อมีถึง 24,189 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 826,266,000 บาท

คดีแชร์บลิสเชอร์ใช้เวลาในการตัดสินประมาณ 22 ปี ตัดสินว่ามีความผิดเพราะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ผิด พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และผิด พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 นี่คือรูปแบบที่ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และสามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานได้กับธุรกิจ

“อาชีพนักท่องเที่ยว” ที่อยู่ในกระแสวันนี้ ซึ่งมีการเปิดรับสมัครเครือข่ายสมาชิก สร้างลูกทีมอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีบริษัทอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการโฆษณาที่ขายความสุข อีกทั้งยังมีการเสนอแพกเกจท่องเที่ยว โดยให้ลงทุนและท่องเที่ยวในต่างประเทศ แต่เมื่อมาคำนวณยอดรวมทั้งหมดจะพบว่า เงินที่เสียไปมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง

“อยากให้ทุกคนมองว่า สินค้าอะไรก็ตามหากมีราคาสูงกว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ซื้อแพกเกจเที่ยวฮ่องกง ทั่วไปจ่ายในราคา 20,000 บาท แต่ในราคาของรูปแบบนี้จ่ายอยู่ประมาณ 50,000-60,000 บาท” รายจ่ายที่สูงขนาดนี้ บริษัทจึงสามารถนำกำไรมาปันผลให้เรา เพื่อให้เราไปหาสมาชิกชักชวนคนมาลงทุน เข้าข่ายลักษณะของการเป็นแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว”

ไม่เกิน 5 ปีเมื่อคนรู้ทันบริษัทจะขาดเงินต่อธุรกิจ

ขณะเดียวกันเชื่อว่าในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจนี้สามารถขยายแตกเครือข่ายไปมากซึ่งคนที่สงสัยว่าตกเป็นเหยื่อให้สังเกตข้อเสนอ เช่น ในโรงแรมระดับเกรดเดียวกันนั้นมีราคาแพงกว่าซื้อเอง โดยนำไปเช็กกับเอเยนต์บริษัททัวร์ได้ว่ามีความแตกต่างกันในเรื่องราคาหรือไม่ และข้อแตกต่างตรงนี้มีความชัดเจนว่าจะทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตได้ เพราะการนำเงินจากที่เราจ่ายไปมาจ่ายให้เรา หรือนำเงินใหม่มาจ่ายคนเก่า เมื่อคนเริ่มรู้ทันกับพฤติกรรมแบบนี้แล้ว สุดท้ายบริษัทจะปิดตัวลง เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจากสมาชิกหน้าใหม่เข้ามา

แต่กว่าที่สมาชิกจะรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อธุรกิจที่แฝงมาในรูปแบบธุรกิจแชร์ลูกโซ่ต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปี เช่นกรณีแชร์ลูกโซ่บลิสเชอร์ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 แต่เริ่มมีการจับกุมในปี 2537

คนหน้าเดิมตั้งบริษัทฉ้อโกงใหม่หลังถูกปิด

นอกจากนี้มีข้อควรสังเกตอีกประการคือ คนที่เป็นเจ้าของบริษัทก็จะไปเปิดบริษัทใหม่ โดยโยกสมาชิกจากบริษัทเดิมไปด้วย เพราะบริษัทเดิมกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ขณะเดียวกันคนที่เป็นสมาชิกจะเป็นคนกลุ่มเดิมที่รู้ว่าบริษัทเปิดใหม่เป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ที่กล้าเข้าไปเพราะรู้ว่า สมาชิกในระดับต้นๆ มีข้อได้เปรียบ ได้เงินแน่นอน ซึ่งผลกระทบจะอยู่ที่คนปลายทางที่ตกเป็นเหยื่อ

“อยากฝากถึงคนที่เล่นแชร์ลูกโซ่ ที่มีความเชื่อว่าเข้ามาระดับต้นแถวแล้วได้เงินว่า อันที่จริงแล้วแชร์ลูกโซ่นั้นเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจ เจ้าของธุรกิจโปรยเงินลงเพื่อให้คนที่ได้รับรู้สึกว่าได้เงินจริง ให้ชักชวนสมาชิกเข้ามาลงทุน คนที่ลงทุนต่อกันไปนั้น คือ เหยื่อ ไม่ใช่แม่ทีมที่เป็นต้นสายรับรายได้”

แนะใครมีปัญหาร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง

นายสามารถ บอกว่าจากการทำงานเชิงรุกด้านแชร์ลูกโซ่ ร่วมกับดีเอสไอ และหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง ต่างก็เล็งเห็นถึงปัญหานี้ พร้อมที่จะดำเนินคดีกับกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่ทุกรูปแบบ ดังนั้นประชาชนที่รู้ว่า ธุรกิจนี้เป็นแชร์ลูกโซ่ขอให้หยุดเล่นเพราะจะเป็นการเติมเชื้อไฟกลับมาทำลายคนได้มากขึ้น ขอให้แจ้งมาที่ ตำรวจ ดีเอสไอ สคบ. ปปง สื่อมวลชน หรือสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เพื่อหยุดวงจรเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายแล้วจะมีผู้เสียหายจำนวนมาก

ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นคดีอาญาซึ่งต้องมีผู้เสียหายเกิดขึ้นก่อน จึงจะดำเนินคดีได้ แต่วันนี้ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (ประกาศให้ปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจ และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ที่จะแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา) ในมาตรา 4 และมาตรา 5 ระบุว่า ใครที่เสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพึงจ่ายได้ จะต้องนำเสนอได้ว่ามีรายได้จากไหนที่จะนำมาจ่ายให้กับสมาชิกได้ขณะนั้น

ฉะนั้นมาตรา 4 และมาตรา 5 ได้ให้อำนาจไว้ และในมาตรา 7 ก็ยังระบุไว้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมกับกลุ่มงานป้องปรามการเงินนอกระบบ สามารถที่จะเรียกบุคคลเหล่านั้นมาตรวจสอบได้ว่า ดำเนินธุรกิจอะไร หรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีบทบาทสถานะเป็นประธานอนุกรรมการฯ ก็สามารถเรียกมาตรวจสอบได้เช่นกัน ว่าบริษัทดำเนินธุรกิจอะไรถึงจ่ายผลตอบแทนได้สูง เช่น กรณีเสนอแพกเกจท่องเที่ยวต้องชี้แจงให้เห็นว่า มีรายได้จากที่ไหนและมีการจ่ายภาษีหรือไม่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดยังสามารถใช้อำนาจดำเนินการตรวจสอบได้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สรรพากรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด

หากใช้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินในการป้องปราม ก็สามารถจะดำเนินการได้ ก่อนจะรอให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้น ขณะที่การร้องเรียนหน่วยงานรัฐทั้ง ปปง. ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ล้วนเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นทางแก้ไขในวันนี้สำคัญที่สุด คือ การจำกัดความเสียหาย หยุดไม่ให้แชร์ขยายวงออกไปอีก ซึ่งต้องใช้การทำงานเชิงรุก

ที่ผ่านมาสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้วจำนวน 5 จังหวัด ทำกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ทราบถึงลักษณะธุรกิจแชร์ลูกโซ่ว่าเป็นอย่างไร และให้ความรู้กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นว่าท่านมีอำนาจอะไรบ้างในการหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้

กิจกรรมล่าสุดจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายนนี้ โดยสมาพันธ์ฯ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และกรมราชทัณฑ์ จัดให้มีการสัมมนา “รู้ทันแชร์ลูกโซ่ รู้ทันแม่ทีม รู้ทันสินค้าปลอมแปลง สังคมปลอดภัย ประเทศไทยยั่งยืน” จัดขึ้นที่สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจังหวัดที่จัดมาแล้วได้แก่ ชลบุรี สระแก้ว ศรีสะเกษ หาดใหญ่ และกรุงเทพมหานคร
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย
เสนอ 3 แนวทางแก้แชร์ลูกโซ่แบบยั่งยืน

นายสามารถ ย้ำว่า ธุรกิจแชร์ลูกโซ่มีจำนวนมากมายมหาศาล และระบาดสร้างความเดือดร้อนและเป็นภัยกับประชาชนและไม่มีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลง จึงต้องมีการเร่งรัดและจัดการสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประการแรก เสนอการแก้กฎหมาย เพราะคดีความที่ผ่านมาใช้เวลาถึง 20 ปีในการตัดสิน โดยผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยา และไม่มีการดำเนินคดีฟอกเงิน ซึ่ง พ.ร.บ.การฟอกเงินในวันนี้ ให้อำนาจคดีฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นหน่วยงานของรัฐทั้ง ปปง. เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแม้แต่ดีเอสไอ ก็สามารถดำเนินคดีฟอกเงินควบคู่ไปกับคดีอาญาได้ ลักษณะคดีฟอกเงินนั้นเหมือนกรณีคดียาเสพติดที่ผู้ต้องหาเอาทรัพย์ไปฝากไว้กับญาติหรือคนใกล้ชิด สามารถดำเนินการยึดทรัพย์คืนมาได้ เพื่อเอาทรัพย์จำนวนนี้มาคืนให้กับผู้เสียหาย

ประการที่สอง คือ ขอเสนอให้มีการเพิ่มโทษ ที่ผ่านมาอย่างคดีแชร์แม่ชม้อย จะเห็นได้ว่าศาลตัดสินจำคุก หนึ่งแสนห้าหมื่นปี แต่ต้องโทษจริงเพียงแค่ 7 ปี 8 เดือน เพราะโทษคดีอาญาดำเนินได้แค่ 3-5 ปีต่อกระทง ศาลตัดสินแสนกว่าปีจริงแต่ลงโทษไม่เกินยี่สิบปี จึงขอเสนอให้แก้จาก 3-5 ปี เป็น 7-14 ปี เมื่อแก้ตามนี้แล้ว ผู้ต้องหาจะต้องโทษจำคุกไม่น้อยกว่าห้าสิบปีเมื่อรวมคดีทุกกระทง ที่สำคัญคดีแชร์ลูกโซ่ไม่มีการอภัยโทษ

ประการที่สาม อยากให้ คสช.แก้กฎหมายให้อำนาจศาลในการสั่งเฉลี่ยทรัพย์คืนนอกสำนวน เหตุที่ต้องสั่งเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ผู้เสียหายนอกสำนวนนั้น เพราะที่ผ่านมาผู้เสียหายจากคดีแชร์ลูกโซ่มีจำนวนนับเป็นพันถึงหมื่นคน เฉพาะพนักงานสอบสวนสอบปากคำ สองพันถึงหมื่นปากก็ใช้เวลานานมาก เพราะไม่สามารถยกเว้นรายใดรายหนึ่งได้ ลำพังการสอบสวนจะใช้เวลาเป็นปีถึงสองปี แต่ถ้าศาลให้อำนาจ การสอบปากคำก็สามารถทำได้เพียงร้อยปาก พยานหลักฐานชัดเจนส่งฟ้องได้เลย รวมทั้งศาลสามารถสั่งผู้เสียหายที่อยู่นอกสำนวนให้ได้รับการเฉลี่ยด้วย เช่นผู้เสียหายจากบริษัทนี้ สามารถรับเฉลี่ยทรัพย์คืนได้ที่กรมบังคับคดี

นอกจากนี้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินนั้นยังให้อำนาจอยู่แล้วในเรื่องการฟ้องล้มละลาย ฉะนั้นถ้าผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความที่จำนวนหนึ่ง เช่น หนึ่งพันคน เล็งเห็นได้ว่ามูลหนี้ของผู้เสียหายมากกว่าทรัพย์สินที่ยึดมาได้ เช่นเสียหายจำนวนรวมพันล้าน แต่ทรัพย์ยึดมาได้เพียงห้าร้อยล้าน เมื่อมูลหนี้มากกว่าสามารถฟ้องล้มละลายได้เลย ไม่ต้องรอการตัดสินจาก 3 ศาล นำทรัพย์มาเฉลี่ยคืนผู้เสียหายได้ภายใน 2-3 ปี สามารถลืมตาอ้าปากได้ ในอดีตใช้เวลาถึง 20 ปี มูลค่าเงินก็ลดลง ดอกเบี้ยที่ไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนก็ทวีคูณ ผู้เสียหายบางคนสุดท้ายกลายเป็นมิจฉาชีพ เพราะรู้ลู่ทางจากการถูกหลอกมา ถ้าสามารถช่วยเหลือทั้งระบบได้ เชื่อว่าคนเหล่านี้จะเป็นพลเมืองดีที่มาช่วยป้องกัน และทำให้ธุรกิจแชร์ลูกโซ่หมดไป

“อยากให้ผู้ที่ลงทุนในวงจรนี้ ดึงสติกลับมา ให้คิดตามว่าสิ่งที่เราลงทุนไป แม้จะได้เงินจริง แต่ได้มาจากความเดือดร้อนและน้ำตาของคนไทยด้วยกัน และสุดท้ายอาจตกเป็นผู้ต้องหาไปด้วย!”

กำลังโหลดความคิดเห็น