เลขาธิการสภาการพยาบาล แจง รัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ส่งผลให้พยาบาลขาดแคลน ผลิตบัณฑิตออกมาหมาด ๆ เฉลี่ยทำงานแค่ 1 ปี 2 เดือน ก็ลาออก เหตุรายได้ต่ำ แถมไม่ก้าวหน้า ระบุ “ใบประกอบวิชาชีพพยาบาล” คือตัวชี้วัดคุณภาพของ “บัณฑิตพยาบาล” ทุกสถาบัน ใครสอบผ่าน มีสถานะเท่ากัน ยัน ม.สวนดุสิต ผลิตพยาบาลได้คุณภาพ ขณะที่สถาบันราชภัฏและราชมงคล แห่เปิดคณะพยาบาลศาสตร์กันหลายแห่ง ด้านคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์สวนดุสิต โชว์ผลสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพได้เกินร้อยละ 80 และมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนจองตัวไว้ก่อน ย้ำหลักสูตรนี้สอนให้ผู้เรียนเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วย
พยาบาล เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด และยังเป็นสายอาชีพที่ขาดแคลน แม้ว่าจำนวนพยาบาลในปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนกับสภาการพยาบาล จะมีมากถึง 190,000 กว่าคน และมีการผลิตพยาบาลวิชาชีพประมาณ 13,000 คนต่อปี ซึ่งมีการผลิตจำนวนเพิ่มขึ้นมาตลอด แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้สถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ต่างหันมาเปิดคณะพยาบาลศาสตร์กันมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งหันมาเปิดคณะพยาบาลกันมากขึ้น
เริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ขึ้นมา ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หลังจากมีการออกนอกระบบ และในเวลาใกล้เคียงกันก็มีมหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทา เปิดคณะวิทยาศาสตร์และสุขภาพที่มีการผลิตพยาบาลศาสตรบัณฑิต และในปัจจุบันมีสถาบันราชภัฏอีกหลายแห่งที่เปิดคณะพยาบาลศาสตร์ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชฏักเพชรบุรี และมหาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ขณะที่มหาวิทยาลัยกลุ่มราชมงคล โดยเฉพาะราชมงคลธัญญบุรี กำลังมีแผนที่จะตั้งคณะพยาบาลศาสตร์เพื่อผลิตพยาบาลบัณฑิตขึ้นมารับใช้สังคมต่อไป
การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ และราชมงคลให้ความสนใจที่จะผลิตบุคลากรด้านการพยาบาลศาสตร์ขึ้นมานั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพของพยาบาลบัณฑิตที่ผลิตออกมาจะมีความพร้อมและมีคุณภาพหรือไม่นั้น เพราะที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่จะรับรู้และเชื่อมั่นในมาตรฐานของพยาบาลที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ เช่น จุฬาฯ มหิดล เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือวิทยาลัยพยาบาลของรัฐ เป็นต้น
ดังนั้นการที่สถาบันราชภัฏที่มีภาพลักษณ์ในเรื่องการผลิตครูและสถาบันราชมงคลที่ชูในเรื่องของความเป็นวิชาชีพต่าง ๆ จะหันมาผลิตพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้สังคมได้ตระหนักว่า “เด็กราชภัฏ-ราชมงคล” มีคุณภาพอย่างไร และหนึ่งในหน่วยงานที่จะการันตีคุณภาพได้ก็คือสภาการพยาบาลซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลให้กับผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ทุกคน
กว่าจะมีวันนี้ของพยาบาลสวนดุสิต
ดร. เบ็ญจา เตากล่ำ คณบดีคนแรกและคนปัจจุบันของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ เล่าว่า ในช่วงแรก ๆ ที่ตัดสินใจเข้ามารับภารกิจในการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ และเป็นผู้จัดทำหลักสูตร เตรียมบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ ห้องแล็บ สถานที่ฝึกปฏิบัติงาน ฯลฯ ตามเงื่อนไขในการจัดตั้งคณะพยาบาลตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)และสภาการพยาบาลกำหนดไว้นั้นมีความกังวลเหมือนกัน แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายเช่นเดียวกัน
“เมื่อประเมินรอบด้าน ทั้งเรื่องความรู้ความชำนาญ คอนเนกชันของตัวเอง ประกอบกับทุนทรัพย์ที่สวนดุสิตมีความพร้อมที่กล้าจะลงทุนในเรื่องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคม โดยไม่ได้คิดว่าคณะจะกำไรหรือขาดทุน ทำให้โจทย์นี้ง่ายขึ้นคือทำอย่างไรเราจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมาได้”
ตรงนี้คือสิ่งที่จุดประกายทำให้ ดร.เบ็ญจา ลงมือที่จะปั้นคณะพยาบาลศาสตร์ให้เดินตามโจทย์ที่ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิตต้องการ คือการสร้างคณะพยาบาลศาสตร์ให้มีความโดดเด่นเป็น 1 ใน 4 อัตลักษณ์ที่สังคมรู้จักมหาวิทยาราชภัฎสวนดุสิตตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
คณะพยาบาล หนึ่งในอัตลักษณ์ของมหา’ลัย
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีพันธกิจที่จะสร้างและพัฒนาสู่อัตลักษณ์ 4 ด้าน ที่มีความโดดเด่น ประกอบด้วย อัตลักษณ์แรก คือ ด้านอาหาร ถือเป็นตัวชี้บ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาลัยสวนดุสิต มาก่อน ตั้งแต่เป็นโรงเรียนการเรือน โดยฉพาะถ้าพูดถึงสวนดุสิต สิ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดต้องโฮมเบเกอรี่ เป็น หนึ่งอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงตัวตนของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีชื่อเสียงมาช้านาน
อัตลักษณ์ที่ 2 ด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย จากการที่มหา’ลัยมีโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนอนุบาลของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมหา’ลัยก็มีชื่อเสียงโดดเด่นด้านเด็กปฐมวัยด้วย
อัตลักษณณ์ที่ 3 ด้านธุรกิจบริการ ไม่ว่าด้านธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว หรือ ธุรกิจการบิน ที่มหา’ลัยสวนดุสิตตั้งเป้าไว้ ซึ่งเราก็มีโรงแรมสวนดุสิตเพลส ที่ใช้ในการฝึกอบรมวิชาชีพของนักศึกษาในคณะที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
อัตลักษณ์ที่ 4 คือคณะพยาบาลศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยตั้งเป้าไว้เพราะเรามีความโดดเด่นในเรื่องของหลักสูตร ที่มุ่งทั้งในเรื่องการประกอบวิชาชีพเป็นพยาบาล และสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ด้วย โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุซึ่งถือว่ามีจำนวนมากขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน โดยจัดโครงการให้กับบัณฑิตพยาบาล ได้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หรือ สุขภาพเด็กปฐมวัย ก็ให้ไปดูแลเด็กอนุบาลที่ต่างๆ ซึ่งโครงการนี้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้บัณฑิตพยาบาล ถือเป็นความรู้พื้นฐานของบัณฑิตพยาบาล
“3 อัตลักษณ์แรก ล้วนมีความโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับมหา’ลัย และเมื่อมีคณะพยาบาล มหา’ลัยก็มุ่งหวังที่จะชูให้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ โดยทั้ง 4 อัตลักษณ์นี้ จะอยู่ภายใต้นโยบายที่จะให้เป็นสหสาขา ที่ควรจะช่วยเกื้อหนุนกันให้เกิดความเข้มแข็ง คือไม่ให้อยู่โดดเดี่ยว ไม่ให้อยู่คณะใครคณะมัน ให้ทุกคณะมีการเกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกัน”
ปรับหลักสูตรพยาบาลพร้อมเป็นผู้ประกอบการ
ดร. เบ็ญจา บอกด้วยว่า แม้อาชีพพยาบาลจะเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาชีพที่ไม่ตกงาน แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่จบพยาบาลอาจจะผันตัวเป็นผู้ประกอบการเอง (Entrepernure) ในธุรกิจสปา หรือ nursing home (ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้จบพยาบาลที่สวนดุสิต ที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัว โดยคณะฯ เล็งเห็นความสำคัญ จึงมีการจัดหลักสูตร สอดแทรกความรู้ในด้านการจัดการ การทำธุรกิจเหล่านี้ให้กับนักเรียนพยาบาลด้วย ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเด็ก
โดยคณะพยาบาลฯ ร่วมมือกับคณะวิทยาการจัดการของมหาวิทยาลัย ให้เด็กไปศึกษาเรียนรู้การขาดทุน กำไร เรื่องราคา เรื่องการตลาด จากโครงการที่สนใจ ซึ่งตรงนี้ คณะวิทยาการจัดการของมหาวิทยาลัย จะสอนให้ และทางคณะพยาบาล ก็จะสอนวิชาการพยาบาลให้ ซึ่งถือเป็นการจัดหลักสูตรโดยการร่วมมือกัน เพื่อปูแนวทางให้กับเด็กที่สนใจจะก้าวออกไปเป็นผู้ประกอบการ
“หลักสูตรของเราสร้างทางเลือกให้กับเด็ก เพราะเด็กที่มาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กต่างจังหวัด เขาสามารถใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาไปประกอบอาชีพส่วนตัวได้ ทุกวันนี้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเขาก็สามารถไปสร้างอาชีพเล็ก ๆ รับดูแลผู้สูงอายุก็ได้”
โรงพยาบาลดัง ๆ จองตัวเด็กราชภัฏสวนดุสิต
ดร.เบ็ญจา บอกว่า ถึงวันนี้มีความภาคภูมิใจที่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมา ปัจจุบันผลิตพยาบาลออกมาแล้ว 6 รุ่น กว่า 500 คน และที่มั่นใจว่าบัณฑิตมีคุณภาพเพราะเมื่อเด็กจบการศึกษาจากที่นี่แล้วจะต้องไปสอบขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพพยาบาลจากสภาการพยาบาล
“ไม่ว่าจะจบพยาบาลจากสถาบันการศึกษาใด หากต้องการประกอบวิชาชีพพยาบาล ก็ต้องไปสอบขึ้นทะเบียนที่สภาการพยาบาล ใช้เกณฑ์การตัดสินเดียวกัน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของพยาบาลทุกคน”
ที่ผ่านมาทางคณะพยาบาลฯได้ติดตามการสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาล พบว่า พยาบาลบัณฑิตของราชภัฏสวนดุสิตสอบผ่านกว่า 80% ซึ่งตรงนี้จะสามารถสอบถามที่สภาการพยาบาลได้และจะพบว่ามีสถาบันที่สอบได้กว่า 80%ไม่กี่แห่ง
“ปีหนึ่ง ๆ เราผลิตของเรา 50 คน และผลิตให้กับรัฐบาล 50 คน และที่ไปสอบใบประกอบวิชาชีพจะประมาณ 90 คน เราสอบได้กว่า 80%” นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้ ดร.เบ็ญจา มั่นใจว่าพยาบาลของมหา’ลัยสวนดุสิตมีคุณภาพเนื่องจากมีโรงพยาบาลเอกชนเกือบ 20 แห่ง เข้ามาจองตัวเด็ก หรือมายื่นเสนอให้ทุนให้กับนักเรียน เช่น รพ. บำรุงราษฏร์ วชิระ สมิติเวช กรุงเทพ พญาไท เมื่อจบแล้วให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลนั้นได้ทันที
“เด็กที่จบจากราชภัฏ จะใช้ทุนส่วนตัวเรียน จึงไม่ติดปัญหาเรื่องทุน ซึ่งเด็กจะมีทางเลือกว่าจะไปทำงานที่ใดก็ได้ ถ้าใครไม่ต้องการเป็นพยาบาลในหน่วยงานรัฐหรือเป็นข้าราชการ ก็จะเลือกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีรายได้ดีกว่า และขณะนี้พยาบาลของสวนดุสิตก็ไปประจำที่สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์หลายคน”
สังคายนาหลักสูตรเพื่อยกระดับ “คุณภาพ” สวนดุสิต
ดร.เบ็ญจา บอกว่า มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของพยาบาลที่จบจากสวนดุสิตมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูว่าเด็กที่จบจากที่นี่มีปัญหาในการปฏิบัติงานอย่างไร เพื่อจะนำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป อีกทั้งเพื่อสอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่อาเซียน ทุก 5 ปีจะมีการสังคายนาหลักสูตร เพื่อให้มีความทันสมัยโดยมีการปรับกลยุทธ์ หากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการเน้น active learning เน้น discuss room หรือเน้น case study มากขึ้น
อย่างไรก็ดีการไปดูงานที่จุฬาฯ เช่นที่คณะวิศวะจุฬาฯ ได้จุดประกายแนวคิดที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนเป็น active learning ขึ้น โดยได้ของบเพื่อทำห้องแล็บเพื่อปฏิบัติการผ่านเครื่องมือไอที เพื่อให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติแล็บที่มีสถานการณ์เหมือนโรงพยาบาลจริงๆ มีหุ่นทดลอง มีเครื่องมือการฝึกปฏิบัติ มีการทำ Case Study จริง โดยจำลองเหตุการณ์เพื่อให้เด็กฝึกปฏิบัติและฝึกตัดสินใจ ในสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ ซึ่งตรงนี้เราใช้งบลงทุนหลายล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่ม เพื่อพัฒนาการเรียนให้ทันสมัยขึ้น
“การลงทุนตรงนี้ ถ้าผู้บริหารมหา’ลัยไม่มีความเข้าใจ ก็จะไม่ยอมอนุมัติงบประมาณมาลงทุน แต่อธิการสวนดุสิตเข้าใจ เพราะหมายถึงคุณภาพของเด็กที่เรียน จึงยอมอนุมัติให้จัดทำ”
คณะพยาบาลสวนดุสิต ยังมีจุดแข็งในเรื่องของคณาจารย์ ซึ่งคณะมีอาจารย์พยาบาลประจำ 50 คน และยังมีการส่งอาจารย์ในคณะไปเรียนต่อปริญญาเอกทุกปี ทั้งที่อังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย และอาจารย์เหล่านี้เริ่มจะกลับมาสอนได้บ้างแล้ว และมีการเชิญอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาสอน และยังมีอาจารย์จากคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมาช่วยสอนด้วย ส่วนค่าเรียนที่นี่จะค่อนข้างถูกกว่าที่อื่นประมาณปีละ 60,000 บาท โดยจ่ายปีละ2 ครั้ง และตั้งแต่มีการตั้งคณะพยาบาลขึ้นมาประมาณเกือบ 10 ปี ยังไม่มีการปรับค่าเทอม
กรณีค่าเทอม อธิการบดีของมหาลัยสวนดุสิตเข้าใจดี และบอกว่าไม่มีนโยบายคิดเอากำไรจากค่าเทอมเด็กพยาบาล เนื่องจากสวนดุสิตยังมีรายได้จากธุรกิจมาสนับสนุน เช่น มีโฮมเบเกอรี่ มีโรงแรมของตัวเอง มีห้องอาหารของตัวเอง มีโรงสีข้าวของตัวเอง มีโรงกรองน้ำของตัวเอง ซึ่งรายได้จากแหล่งดังกล่าวจะมาช่วยบริหารการจัดการให้คณะพยาบาลสามารถดำเนินการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพต่อไปได้
ดร.เบ็ญจา กล่าวอีกว่า แม้ว่าพยาบาลจากราชภัฏจะดูเหมือนเด็กเบอร์รอง แต่ถ้ามหาวิทยาลัยกล้าที่จะลงทุน และดูแลอย่างใกล้ชิด โดยคนที่เป็นอาจารย์ก็ต้องมองว่าเด็กเหล่านี้พัฒนาได้ แม้จะต้องเหนื่อยก็ตาม แต่ในที่สุดเด็กก็จะดีและมีคุณภาพได้เช่นกัน ที่สำคัญคือไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหน การสอบใบประกอบวิชาชีพจากสภาการพยาบาล จะเป็นมาตรฐานการชี้วัดความรู้ และเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งของนักเรียนพยาบาล หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องที่พยาบาลทุกคนต้องไปฝึกฝน เพิ่มพูนทักษะ หาความเชี่ยวชาญ และเพิ่มเติมความรู้ในชีวิตจริงต่อไป
ไม่มั่นคง-รายได้ต่ำ” ต้นเหตุพยาบาลขาดแคลน
ด้าน ผศ.อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาการพยาบาล ระบุว่า แต่ละปีจะมีพยาบาลที่จบใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังประสบภาวะขาดแคลนพยาบาล ซี่งมีสาเหตุมาจาก 1. การไม่มีตำแหน่งข้าราชการในการบรรจุ ทำให้พยาบาลที่จบออกมาเสียโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีโอกาสเรียนต่อ และจากการศึกษาพบข้อมูลการลาออกของพยาบาลทั่วไป 95 แห่ง ในปี 2548-2553 ที่ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ จะมีอัตราการลาออกถึง 40.84% และเป็นการลาออกในปีแรกของการทำงานเฉลี่ยร้อยละ 48.68 % และลาออกในปีที่ 2 ร้อยละ 25.25% ซึ่งอายุการทำงานของพยาบาลจบใหม่จะสั้นเพียง 1.2 ปี เท่านั้น ดังนั้น เราจึงสูญเสียพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวสูงถึง 80.5% ซึ่งสูงกว่าพยาบาลที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการถึง 18 เท่าตัว
2.ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำในระหว่างวิชาชีพมาก เช่น แพทย์ กับพยาบาล ค่าตอบแทนห่างกันถึง 27 เท่าตัว
3.ขาดโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน
“การที่เราต้องตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนพยาบาล ก็เป็นเพราะเรารักษาคนไว้ในระบบไม่ได้ ไม่มีอัตราข้าราชการให้ ผลิตเท่าไหร่ก็ยังขาด (โดยไม่จำเป็น) เพราะเปรียบเสมือนโอ่งที่มีรูรั่ว ใส่น้ำไปเท่าไหร่ก็ไหลออกหมด คนก็ไปอยู่กับเอกชน ทำให้ภาครัฐขาดแคลน”
สภาการพยาบาลการันตี “พยาบาลสวนดุสิต”
ขณะเดียวกัน ผศ.อังคณา บอกว่า การที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นราชภัฏหรือเอกชนจะเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ขึ้นมานั้น จะต้องยึดหลักเกณฑ์ของสภาการพยาบาล ทั้งนี้ สถาบันเองก็ต้องประเมินตัวเองด้วย และจากระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ควบคุมอยู่นั้น จะทำให้ช่วงเปิดคณะพยาบาลฯใหม่ๆ ส่วนใหญ่ จะไม่สามารถรับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก เพราะจะติดปัญหาโดยเฉพาะการขาดครูอาจารย์ ยกเว้น สถาบันเก่า ๆ ที่มีความพร้อมถึงจะสามารถผลิตได้มาก
อีกทั้งเด็กที่จบออกมาจะต้องมีคุณภาพ และช่วยเหลือคนไข้ได้ ดังนั้นการเปิดคณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องมีความพร้อมทุกๆ ด้าน ไม่ว่าเงินทุนที่ค่อนข้างสูง บุคลากรอาจารย์ แหล่งการเรียนรู้ หาข้อมูลสำหรับเด็ก หรือ แม้แต่สถานที่ฝึกงาน ซึ่งแผนการเหล่านี้ต้องเสนอให้ทางสภาการพยาบาลเห็นชอบและตรวจสอบก่อน โดยจะมีการประเมินทุกปีจากผู้สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นการประเมินภาพรวมทั้งหมดของสถาบัน ว่าควรได้รับการรับรองกี่ปี
“พยาบาลบัณฑิตจากมหา’ลัยสวนดุสิต จะค่อนข้างมีคุณภาพ เทียบกับบัณฑิตมหา’ลัยชั้นนำได้ ซึ่งดูจากเกณฑ์การสอบใบประกอบวิชาชีพจากสภาการพยาบาลที่ได้ค่อนข้างมาก ซึ่งการเปิดคณะพยาบาลของมหา’ลัยราชภัฎ ถือเป็นการขยับตัวของราชภัฏต่าง ๆ เพื่อตอบสนองทางด้านวิชาชีพเพิ่มขึ้น” เลขาธิการสภาการพยาบาล บอก
ขึ้นค่าตอบแทนแก้ปัญหาสมองไหล
ผศ.อังคณา ระบุอีกว่า ผู้ที่จบพยาบาลบัณฑิตในปัจจุบัน จะเริ่มสตาร์ทเงินเดือนเท่ากับปริญญาตรี ทั่วไป ยกเว้นที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเอกชน อาจจะได้มากกว่า หรือการเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่จะมีเงินรายได้สูงกว่า มีสวัสดิการดีกว่า แต่ในส่วนของพยาบาลที่เป็นลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุข จะค่อนข้างเสียเปรียบ ทั้งรายได้และสวัสดิการ
“ถ้าภาครัฐมีตำแหน่งราชการให้โดยเฉพาะพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คนเหล่านี้จะมีโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพ รวมทั้งพิจารณาค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ก็จะสามารถแก้ไขและป้องกันการไหลออกหรือ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนวิชาชีพนี้ได้”
ทั้งนี้การจะปั้นพยาบาลคนหนึ่งให้มีคุณภาพภายใต้องค์ประกอบต่างๆ ที่ผสมผสานกัน ไม่ว่าจะจบการศึกษาพยาบาลจากสถาบันใดก็ต้องสอบผ่านเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพจากสภาการพยาบาลจึงจะก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ได้ ตรงนี้แค่เป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นพยาบาลเท่านั้น
แต่การจะสร้างความเชื่อมั่นหรือการยอมรับให้กับคนไข้ได้หรือไม่? พยาบาลทุกคน ทุกสถาบัน ก็ต้องพิสูจน์กันในสนามจริงเมื่อเข้าไปปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลทั้งของภาครัฐหรือเอกชนต่อไป