xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชแจงศัลยกรรม “เฟซออฟ” ไม่มีในไทย เสี่ยงร่างกายปฏิเสธเนื้อเยื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศิริราชยันการทำ “เฟซออฟ” แบบผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้า ยังไม่พบในเมืองไทย เพราะมีความเสี่ยงสูงจากภูมิคุ้มกันในร่างกายปฏิเสธเนื้อเยื่อของคนอื่น กรณี สุรชัย สมบัติเจริญ เป็นการผสมผสานการฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ และการผ่าตัดเล็กเพื่อดึงหน้าให้ดูดีขึ้นเท่านั้น แนะเลือกศัลยกรรมแบบไหนถึงปลอดภัย สอบถามข้อมูลได้ที่สมาคมศัลยแพทย์ฯ ทั้ง 2 แห่ง

กระแสความนิยมของของคนในยุคนี้ ที่ให้ความสำคัญกับการทำศัลยกรรม ทั้งเพื่อให้ใบหน้าอ่อนเยาว์หรือแก้ไขข้อบกพร่องนั้น หากไม่มีการศึกษาค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจนั้น ก็อาจจะสร้างหายนะให้กับตนเอง ได้รับอันตรายจากการรับบริการ “หมอกระเป๋า” ที่หิ้วยาไปฉีดได้ในทุกที่ หรือร้านเสริมสวยลักลอบให้บริการเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลินิกศัลยกรรมเถื่อน ที่ใช้การเสนอราคาถูก เป็นปัจจัยในการจูงใจคนให้มารับบริการ

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะกระแสความนิยมศัลยกรรมความงามขยายในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดความต้องการในตลาดอย่างมหาศาล ขณะที่การให้ซัปพลายจากผู้ให้บริการไม่เพียงพอนั้น เรียกได้ว่ากลายเป็นช่องว่างให้มือสมัครเล่นที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ตามมาตรฐานทางการแพทย์ มีโอกาสเข้ามาเปิดธุรกิจศัลยกรรมความงามกันอย่างมากมาย มีการแข่งขันทุ่มงบโฆษณาผ่านสื่อกันอย่างหนัก

มาจนถึงการทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า หรือ “เฟซออฟ” ที่กำลังตกเป็นข่าวว่า ที่ปรึกษาด้านความงามของนายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง มีการระบุว่าการทำเฟซออฟสามารถถอยวัยมาอยู่ที่ 35 ปี และมีสถานพยาบาลเพียง 2 แห่งในโลก และที่นี่เป็นที่เดียวในเอเชีย หรือทำแล้วอยู่ได้นานตลอดชีวิต

ซึ่งเรื่องนี้จะมีความผิดเข้าข่ายการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณทางการแพทย์เกินจริง ตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ตามที่มีผู้ร้องเรียนหรือไม่นั้น อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนมีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการทำศัลยกรรมความงามตกแต่ง เพื่อแก้ปัญหาความบกพร่องทางด้านความงาม ที่มีความหลากหลายวิธีการ และมีความปลอดภัย เหมาะสมกับใบหน้าของแต่ละคน และได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่คาดหวังนั้น ต้องพิจารณาตั้งแต่การเลือกแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทาง
ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ในกรณีนี้ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยกับ “ Special Scoop” ว่า ความนิยมในการทำศัลยกรรมในปัจจุบันนั้นมีคน 2 กลุ่ม คือ คนเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป ที่มีใบหน้าเปลี่ยนและต้องการรักษาให้ใบหน้าอ่อนเยาว์ดูดี ส่วนอีกกลุ่มคือ คนที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี แต่ต้องการปรับรูปหน้า ปรับปรุงใบหน้าให้สวยงามเรียวกระชับตามเทรนด์ ซึ่งในทางการแพทย์มี 2 กรรมวิธีที่จะทำให้ใบหน้าอ่อนเยาว์หรือดูดีขึ้น

สำหรับในกรรมวิธีรูปแบบแรก คือ ใช้วิธีการ “ผ่าตัด” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ทางเลือก คือ 1. การผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ 2. การผ่าตัดแผลเล็กที่ใช้วัสดุช่วยเพื่อดึง เช่น การใช้ไหมดึงหน้าที่ออกแบบมาสำหรับการดึงหน้ายกกระชับ และแบบที่ 3. นั้นเป็นวิวัฒนาการใหม่ ซึ่งถือว่ายังก้ำกึ่งอยู่ว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ คือ “การร้อยไหมเส้นสั้น” ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าจะทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ได้

ส่วนกรรมวิธีในรูปแบบที่สอง คือ “ไม่ผ่าตัด” แบ่งเป็น 2 ทางเลือก คือ 1. การใช้ “เลเซอร์หรือความร้อน” กระชับผิวหนัง และสารต่างๆ ที่ฉีดเข้าไป เพื่อให้ใบหน้าดูเต่งตึงขึ้น และ 2. การฉีด “โบทูลินั่ม ท็อกซิน” Botulinum toxin หรือที่รู้จักกันดีในเครื่องหมายการค้าว่า “โบท็อกซ์”

แนะการเลือกวิธีการสวยที่ดูดีให้เหมาะสมกับลักษณะของแต่ละคน

ทั้งนี้การจะเลือกทำศัลยกรรมใบหน้าว่ากรรมวิธีไหนเหมาะสม และเลือกแบบไหนที่จะทำให้ได้รับอันตรายน้อยที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับความชราของลักษณะใบหน้าในแต่ละคน คนที่มีอายุในวัยเดียวกัน อาจมีความหย่อน ริ้วรอยย่น และใบหน้ามีความตึงต่างกันได้

นั่นเพราะในบางกรณีเกิดความหย่อนของเนื้อเยื่อ ที่มีการห้อยตกลงมาอย่างชัดเจน จากเดิมที่ใบหน้าดูเรียว จะเริ่มเป็นสี่เหลี่ยม หากใช้วิธีการ “ไม่ผ่าตัด” อาจจะไม่เห็นผล เท่ากับการ “ผ่าตัด” ยกกระชับ ส่วนคนที่ใบหน้าหย่อนเล็กน้อยในบางส่วน เช่น บริเวณคางที่เดิมเรียวแต่เริ่มกว้างมากขึ้น อาจใช้วิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผล ใช้การยกระชับด้วยโบท็อกซ์หรือบางคนเมื่อมีอายุอาจใช้โบท็อกซ์ร่วมกับฟิลเลอร์ เพื่อลดริ้วรอยที่อยู่ในผิวหนังได้บ้าง
ภาพ : เว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย
สำหรับกรณีเฟซลิฟต์ (Face Lift) เป็นเทคนิคทางการแพทย์โดยรวมที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งแปลตรงตัวก็คือ การดึงหน้ายกขึ้นให้มีความกระชับมากขึ้น และในแต่ละวิธีนั้นมีความหลากหลายต่างกัน

ส่วนเฟซล็อก (Face Lock) หรือเฟซออฟ (Face Off) ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดนั้น วิธีการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการเริ่มนำมาใช้ในการผ่าตัดของต่างประเทศกับคนไข้ประมาณ 30 ราย โดยใช้วิธีเฟซทรานสแพลนต์ (Face Transplant) คือการนำผิวหน้าคนอื่นมาใส่ให้กับอีกคน

อย่างไรก็ตามวิธีการนี้มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งด้านภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ปฎิเสธเนื้อเยื่อของคนอื่น ทำให้หลังการผ่าตัดต้องมีการกินยากดเชื้อ ซึ่งด้วยข้อจำกัดที่มีปัญหาตามมานี้เอง ทำให้ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นมาตรฐานในศัลยกรรมตกแต่ง รวมถึงไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ หากจะนำมาใช้ก็เฉพาะกับคนไข้ที่มีความจำเป็น เช่น กรณีที่มีแผลเป็นจำนวนมาก หรือกระดูก กล้ามเนื้อบนใบหน้าหายไป

ดังนั้น เฟซออฟ ที่เป็นข่าวในเมืองไทยเมื่อเร็วๆนี้  จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนใบหน้าจากการ “ผ่าตัด” แต่เป็นการผสมผสานวิธีการ ทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เห็น  ถ้าศีรษะล้านแก้ด้วยการปลูกผม และโกนหนวด จะทำให้รูปหน้ายาวขึ้น ส่วนริ้วรอยต่างๆ แก้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ และการผ่าตัดเล็กเพื่อดึงหน้าให้ดูดีขึ้น

ข้ออันตรายที่ควรรู้

ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำศัลยกรรม ว่าเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก คือผู้ให้บริการ ซึ่งต้องมีความรู้ดี ได้รับการฝึกอบรมมา และมีความเชี่ยวชาญ สามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสม และรู้วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

“ที่ต้องระวัง เพราะถ้าผู้ให้บริการไม่ได้รับการฝึกอบรมมา รู้วิธีการไม่มาก จะส่งผลให้มีทางเลือกการให้บริการน้อยและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะแก้ไขไม่ได้หรือไม่ทันการ และมีโอกาสเกิดผลแทรกได้มาก เพราะวิธีที่มีความเสี่ยงมากก็จะมีผลแทรกซ้อนตามมามากด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันในวิธีการที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น การฉีดสารบางประเภทนั้น หากผู้ให้บริการขาดความรู้ความชำนาญก็อาจส่งผลแทรกซ้อนตามมาอย่างรุนแรง เช่น การฉีดฟิลเลอร์ที่ส่งผลข้างเคียงถึงขั้นตาบอด ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นการเลือกผู้ที่ให้บริการเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญมาก ซึ่งในบางครั้งอาจมีการคิดค้น เปิดตัว “สาร” ใหม่ออกมา แล้วประชาสัมพันธ์ว่าให้ผลลัพธ์ชัดเจนทำให้ใบหน้าดูดี แต่ในความเป็นจริงยังไม่เป็นที่ยอมรับ หรือได้รับอนุญาตให้ใช้ตามโฆษณา ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยง
ภาพ : เว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย
ที่สำคัญคือ การเลือกสถานที่ต้องปลอดภัย และเคร่งครัดเรื่องความสะอาด จึงจะลดปัญหาผลแทรกซ้อนที่มีการติดเชื้อขึ้นในอนาคตได้ ส่วน “ผู้รับบริการ” ก็ต้องศึกษาถึงวิธีการที่จะใช้ รวมถึงสถานที่ในการให้บริการด้วย

“คนรับบริการต้องหาข้อมูลเช่น ศัลยกรรมความงามบางแห่งระบุว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้าน เฟซออฟเฉพาะทาง ต้องหาเพิ่มเติมอีกว่า อบรมเฟซออฟมาจากที่ไหน ระยะเวลานานเท่าไร เพราะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า มีความชำนาญทางด้านนี้

แต่อย่างไรก็ดีการผ่าตัดทำศัลยกรรม ก็เช่นเดียวกับการขับรถ ที่บางคนมีความชำนาญมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขับรถชนได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ก็ต้องมีความระมัดระวังด้วย ต้องมีการออกกฎหมายควบคุมให้มากขึ้น”

การควบคุมด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวถึงกฎหมายที่ใช้ควบคุมอยู่ในขณะนี้ ถือว่าข้อบังคับมีความเข้มข้นอยู่แล้ว ทั้งกฎหมายทั่วไป และกฎหมายทางการแพทย์ ที่ใช้ควบคุมแพทย์ในระดับหนึ่ง ร่วมกับสถานพยาบาล

แต่ปัญหาคือ กฎหมายทางแพทย์เป็นกฎหมายกว้างๆ ที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับทุกประเทศ โดยระบุว่า “ผู้ที่จบแพทย์มา สามารถให้บริการทางการแพทย์ได้ทุกเรื่อง” จึงส่งผลต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะแพทย์ผู้ให้บริการบางราย หากไม่ได้รับความรู้และการฝึกอบรมที่เพียงพอ อาจส่งผลต่อมาตรฐานของการให้บริการที่ลดลง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ “แพทย์” จะต้องรู้จักตัวเองว่ามีความรู้ ความสามารถระดับไหน

การที่กฎหมายเปิดโอกาสให้แพทย์ที่จบด้านไหนมาก็ตาม หากมีความสามารถก็ทำได้ เป็นการเปิดช่องว่างที่อ้างว่ามีการฝึกอบรมเพิ่มพูนประสบการณ์มาแล้ว แต่ในความเป็นจริงฝึกอบรมทางด้านศัลยกรรมมาเพียง 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน เท่านั้นก็ขึ้นชื่อว่ามีความรู้เฉพาะทางด้านศัลยกรรมความงาม ซึ่งในสถานการณ์จริง ความรู้ วิธีการ และการแก้ปัญหาที่ใช้นั้นมีความหลากหลายและเฉพาะทางตามความถนัดของแพทย์แต่ละคน

กรณีแพทย์จบใหม่ ผ่านการศึกษาเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติแบบกว้างๆ มาด้วยระยะเวลา 6-7 ปี จึงไม่สามารถลงลึกในการรักษาเฉพาะทางได้อย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการฝึกอบรมด้านนี้ให้กับแพทย์จบใหม่ แต่ในความเป็นจริงต้องใช้เวลานานถึง 15 ปี เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ยกระดับเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งได้ โดยแพทย์จบใหม่ที่จะเรียนต่อด้านศัลยกรรมการตกแต่ง ต้องใช้เวลาเรียน 3-5 ปีเป็นอย่างน้อย

หลังจบแพทย์แล้ว เรียกว่าต้องมีวุฒิภาวะพอสมควร จึงจะได้เรียนต่อเพิ่มเติมความรู้จนถึงระดับได้ใบรับรองว่าเป็น “แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมความงาม” และแม้จะได้ใบรับรองแล้ว ก็ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนของการเพิ่มจำนวนแพทย์นั้น ปัจจุบันมีสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง 9 แห่ง คือ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาฯ รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎฯ รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.วชิระ รพ. ขอนแก่น และ รพ.เชียงใหม่ ซึ่งในแต่ละปีมีแพทย์ผ่านการอบรมเฉพาะทางจบมาประมาณ 22 คน



 
คนอยากสวยหาข้อมูลโดยตรงจาก 2 สมาคมด้านศัลยกรรมความงาม

ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวว่า นอกจากแพทย์จะมีระบบควบคุมกันเองแล้ว ทางด้านผู้รับบริการนั้น ก็สามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องได้จาก 2 สมาคมคือ สมาคมศัลยกรรมการตกแต่งประเทศไทย และสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวย ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายที่จะไปติดตามควบคุมได้เหมือนแพทยสภา แต่มีจุดประสงค์หลัก คือ การให้ความรู้กับประชาชน โดยทั้ง 2 แห่งมีสมาชิกเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี

ที่ผ่านมาพยายามให้ความรู้ผ่านเว็บไซต์ และให้สื่อช่วยกระจายความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการฉีดสารต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับหากไม่ได้เป็นเรื่องในกระแส หรือเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ก็มักจะไม่ได้รับความสนใจในการติดตาม หรือนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำศัลยกรรม

ดังนั้นคนที่ต้องการทำศัลยกรรมต้องคิดถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก อย่าตัดสินใจเพราะคำโฆษณาเกินจริง จากคำแนะนำจากเพื่อน คนที่ไม่มีความรู้ หรือตัดสินใจเพราะราคาถูก ทั้งนี้สามารถค้นหาข้อมูล ศัลยแพทย์ตกแต่งด้วยชื่อที่ทำงานหรือด้วยจังหวัด ได้จากเว็บไซต์ www.plasticsurgery.or.th หรือ www.surgery.or.th หรือสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ได้ที่โทร. 0-2716-6214

“สมาคมยังให้ความรู้ใหม่ๆที่มีการอัปเดต กับสมาชิกแพทย์ในวิชาชีพด้วย รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างสมาชิกในสมาคม ทำให้ได้เพิ่มเติมความรู้ วิธีการใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกันของวงการแพทย์ ซึ่งหากมีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งมีการคิดชื่อวิธีนั้น ถ้าจะให้มีการยอมรับต้องมีการตรวจสอบ และผ่านการประเมินอย่างชัดเจน และต้องมีการตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางการแพทย์ให้ต่างประเทศรับรู้และเพื่อให้เป็นมาตรฐานการยอมรับ ซึ่งจะมีการระดมความเห็น วิจารณ์กันถึงข้อเท็จจริง และต้องติดตามผลเป็นระยะเวลานานพอสมควร” ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น