โฉมหน้าเด็กอาชีวะไทย หลังบิ๊กตู่สั่งเดินหน้านโยบายควบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชน ยึดโมเดลการพัฒนาเด็กอาชีวะ เป็นแรงงานสร้างชาติ ตามแบบ 2 ประเทศ “สิงคโปร์-เยอรมัน” ขณะเดียวกันได้ 13 บิ๊กเอกชนร่วมขับเคลื่อน อาชีวะทวิภาคี เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพรองรับการเปิด AEC และความต้องการภายในประเทศ ใช้งบ 4,400 ล้านบาทหนุนการควบรวม มั่นใจวิธีการนี้กู้ภาพลักษณ์ เด็กอาชีวะ หรือ “นักเรียนนักเลง” ได้สำเร็จ
จากภาวะของการขาดแคลนแรงงาน กึ่งฝีมือ ที่มีมานาน เพราะค่านิยมที่จะเข้าเรียนสายสามัญ เพื่อมุ่งต่อมหาวิทยาลัยในระดับปริญญา รวมถึงปัญหาบุคลากรที่จบในสายวิชาชีพ อาชีวศึกษาขาดทักษะการทำงานเฉพาะด้าน จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนไม่อยากเข้ามาเรียนในสายนี้ รวมไปถึงการจ้างงานของภาคเอกชo ที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามหาทางออกในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มข้นในหลักสูตรด้วยการจัดการอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี หรือส่งเสริมการเรียนต่อในสายอาชีวะ เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรให้มีมากขึ้น
แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาไปได้ เมื่อเทียบกับดีมานด์แรงงานในประเทศ และโอกาสที่มีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เห็นได้จากอัตราของผู้จบการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานกึ่งฝีมือในปัจจุบันนั้น มีจำนวนน้อยกว่าดีมานด์ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้ความต้องการแรงงานในสายอาชีวะอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนคนต่อปี แต่ปรากฏว่ามีเด็กไทยที่จบชั้น ม.3 แล้วเลือกเรียนต่อสายอาชีวะมีเพียง 40% ขณะที่สายสามัญสูงถึง 60%
ใช้ ม.44 ควบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชน
ล่าสุด เมื่อรัฐบาล คสช.ได้ผุดนโยบาย “ประชารัฐ” และหนึ่งในนั้นเป็นโครงการ “สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา” ซึ่งในแผนนี้มีเรื่องเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีคำสั่งที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน
รวมถึงได้ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เรื่อง จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน เป็นหน่วยงานภายใน ทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาและดูแลโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบโรงเรียน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารจัดการสถานศึกษาอาชีวะภาคเอกชนเกิดความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับนโยบาย ศธ.
ในแผนการควบรวมจะเริ่มนับหนึ่งจากการปรับให้ “อาชีวศึกษาเอกชน” มาอยู่รวมกันภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานการศึกษาในด้านการอาชีวศึกษา รวมถึงการปรับโครงสร้างใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะมีการเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้รูปแบบการควบรวมที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความสำเร็จ จะทำอย่างไรต่อปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องในการดำเนินการ เช่น การทำให้หลักสูตรสอดรับกัน เพราะแต่ละสถาบันอาจมีวิธีการเรียนการสอนที่ต่างกัน โดยเฉพาะปัจจัยด้านบุคลากร สถานะของอาจารย์ผู้สอนของสถาบันเอกชนจะยังคงปฏิบัติงานต่อ หรือปรับสถานะมาเป็นข้าราชการ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้อยู่ในแผนตามหลักการ 5-5-5 ดังที่ “ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้กล่าวถึงโดย 5 ข้อแรกนั้นคือ 1. การยุบรวมอาชีวะรัฐและเอกชนต้องยึดความสบายใจของผู้ทำงานทั้งส่วนกลาง และสถานศึกษา 2. ความเป็นเอกภาพในการจัดการอาชีวศึกษา 3. ความมีอิสระในการบริหาร 4. การทำงานโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน และ 5. เน้นการรวมเพื่อเสริมกันและกัน
และในส่วนของ 5 ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย 1. ภารกิจวิชาการและความร่วมมือ 2. ภารกิจด้านการบริหารงบประมาณและกองทุน 3. ภารกิจด้านการบริหารงานทั่วไป 4. ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคล และ 5. ภารกิจด้านกฎหมายและโครงสร้าง รวมทั้งต้องสนองนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ 5 เรื่อง คือ 1. ความร่วมมือกับภาคเอกชน 2. การจูงใจให้มาเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น 3. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาท 4. การพัฒนาอาชีวะเฉพาะทาง และ 5. การพัฒนาอาชีวะสู่มาตรฐานสากล
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดโรดแมปในการควบรวบอย่างชัดเจน แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มต้นในระยะแรกด้วยการปฏิบัติงานร่วมกันภายในเดือนมกราคม 2559 และในระยะที่ 2 ลงมือปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2559 และระยะที่ 3 เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งภารกิจเร่งด่วน คือ การออกระเบียบ หรือ คำสั่งทางการบริหารเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยจะมีการวางแผนพัฒนาครู วางแผนการรับนักเรียน นักศึกษา ในปีการศึกษา 2559 ทั้งนี้ได้หารือกับสำนักงบประมาณเพื่อเตรียมการด้านงบประมาณ ปี 2559 และปี 2560
จัดสรรงบ 4,400 ล้านเพื่ออาชีวะ
ส่วนความคืบหน้าของการเดินตามแผนระยะแรก คือ การเสนอร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ถ่ายโอนภารกิจ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคลากร ต่อพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงแผนในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่ง สอศ.จะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้แก่วิทยาลัยอาชีวะเอกชน ร้อยละ 80 ในแต่ละภาคเรียน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เสนอมา
โดยเริ่มตั้งแต่ในภาคเรียนที่ 1 ภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และภาคเรียนที่ 2 ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนจะมีการตรวจสอบการเพิ่มและลดของผู้เรียน เพื่อให้เพิ่มหรือคืนเงินอีกครั้งก่อนถึงภาคเรียนถัดไป และในส่วนของงบอุดหนุนรายหัวของปีงบประมาณ 2559 ที่เหลือ สช.จะดำเนินการโอนให้กับสอศ.เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2560 ที่ สช.ได้เตรียมตั้งวงเงินงบประมาณของอาชีวเอกชนไว้แล้ว ประมาณ 4,400 ล้านบาทนั้น จึงถือเป็นงานที่ สอศ.ต้องมาดำเนินการต่อซึ่งนับว่าเป็นความพยายามอีกระดับ ในการที่รัฐบาลหันมาสนใจและกำหนดนโยบายที่ชัดเจน
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญและยกระดับอาชีวศึกษาเพื่อเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องโดยในอดีตได้มีความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างบริษัทเอกชนและอาชีวศึกษาของรัฐซึ่งมีต้นแบบมาจากต่างประเทศ
บ.เอกชนร่วมปั้นอาชีวะ ยึดโมเดลสิงคโปร์-เยอรมัน
การยกระดับอาชีวศึกษาของไทยในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมปและหลักการที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ คือให้แรงงานฝืมือไทยเป็นที่ยอมรับนั้น ซึ่งได้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยโต้โผสำคัญที่เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คือ เอสซีจี และตามมาด้วยตัวแทนจาก 13 บริษัทเอกชน ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพฯ บมจ.ช.การช่าง บ.ซัมมิท โฮโต บอดี้ อินดัสตรี บมจ.ซีพีออลล์ บมจ.ไทยเพรสซิเดนท์ฟูดส์ ธนาคารกสิกรไทย บ.น้ำตาลมิตรผล บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บ.ฤทธา บ.สรรพสินค้าเซ็นทรัล บมจ.ไออาร์พีซี บ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล บ.ฮอนด้า ออโตโมบิล
สำหรับความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างคาดหวังจะสามารถผลิตแรงงานด้านอาชีวะที่มีทักษะเฉพาะทางตรงสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือ ที่อยู่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น วิธีการนี้ถือว่าเป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา สามารถเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมการศึกษาในมหาวิทยาลัย มาเป็นอาชีวศึกษาจนประสพผลสำเร็จ โดยในหลายปีที่ผ่านมานั้น การสร้างวิทยาเขตอาชีวศึกษาสถาบัน ITE ของประเทศสิงคโปร์ ที่มีการลงทุนด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ถือว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาการดำเนินงานด้านอาชีวศึกษาของภูมิภาคอาเซียน
ขณะเดียวกันประเทศเยอรมนี เป็นอีกต้นแบบที่ได้รับการยอมรับกันดีว่า เป็นโมเดลของการพัฒนาอาชีวศึกษา โดยเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ มีการออกแบบหลักสูตรในสถานศึกษาแบบอาชีวะทวิภาคี ที่มีการร่วมมือระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานในระบบอาชีวศึกษา รวมถึงประกอบอาชีพในอนาคต มีการเสริมสร้างศักยภาพ เพิ่มทักษะการทำงานหลังจบและเริ่มทำงานไปแล้ว
ที่ผ่านมา อาชีวศึกษาไทยและสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ ก็มีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องบุคลากร โดยมีการร่วมมือในลักษณะนี้มาแล้ว แต่เป็นลักษณะเพื่อตอบสนองกับความต้องการแรงงานของสถานประกอบการเอกชนเอง โดยเฉพาะการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งความร่วมมือของอาชีวะรัฐและสถานประกอบการเอกชนนั้น นับว่าเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ได้ประโยชน์ (Win Win) ทั้งต่อเด็กที่ได้เรียนรู้ในสถานการณ์การทำงานจริง และสถานประกอบการเอกชนที่รับนักเรียนเข้าไปฝึกงานนั้น ก็ได้บุคลากรที่ตรงกับงาน
ดังนั้นเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายในการควบรวมอาชีวะเอกชนกับอาชีวะรัฐ นั่นหมายถึง การดำเนินการตามนโยบายมีความเป็นเอกภาพทางการศึกษามากขึ้น เช่น นำระบบการเรียนแบบทวิภาคี ที่ประกอบด้วย อาชีวะรัฐและสถานประกอบการร่วมมือกัน มาเป็นต้นแบบ และเข้ามาช่วยลดจุดด้อยต่างๆ ของอาชีวศึกษาเอกชน จะทำให้ระบบการเรียนของอาชีวศึกษามีศักยภาพกว่าที่ผ่านมา
อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ที่ต้องสร้างรายได้ แต่กลับไม่เป็นที่นิยม มีจำนวนนักเรียนน้อย เพราะวิทยาลัยอาชีวศึกษารัฐบางแห่งรับนักเรียนโดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่ง นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้อาชีวศึกษาเอกชนบางแห่งต้องปิดตัวลง ซึ่งแม้ว่าอาชีวะเอกชนมีจุดประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจทางการศึกษา แต่เอกชนก็สามารถแบ่งเบาภาระรัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้จากข้อมูลผู้เข้าเรียนทั้งระดับ ปวช. และ ปวส.ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ 425 แห่ง มีผู้เรียน 670,457 คน ในขณะที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจำนวน 461 แห่งนั้น พบว่ามีผู้เรียนเพียง 287,184 คน แบ่งเป็น 276 แห่ง หรือ 59% มีผู้เรียนน้อยกว่า 500 คน และ 64 แห่งมีผู้เรียน 1-100 คน 63 แห่ง มีผู้เรียน 101-200 คน, 58 แห่งมีผู้เรียน 201-300 คน, 52 แห่ง มีผู้เรียน 301-400 คน และ 39 แห่งมีผู้เรียน 401-500 คน
อย่างไรก็ดีนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คสช. ในการควบรวมสถานอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน แม้จะมีจุดแข็งเพื่อช่วยเหลืออาชีวะเอกชนที่ขาดศักยภาพให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะตีกัน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือจำนวนมากที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาอยู่นี้ก็ตาม แต่ก็มีคำถามตามมาว่านโยบายนี้จะประสบความสำเร็จและคุ้มค่าตามเป้าประสงค์หรือไม่ เพราะรัฐต้องนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือเอกชน ทั้งความคุ้มค่าที่ได้รับกับเด็กที่เรียนอาชีวะ และการผลิตบุคลากรให้ได้คุณภาพตามเป้าหมายของรัฐบาลต่อไป