xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกไม่ขึ้นทีวีดิจิตอล กสทช.ไม่เข็ดแจกคูปองเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสทช.เหลวซ้ำซาก ปมทีวีดิจิตอล ทางออกหลังถูกฟ้องหมื่นล้าน แจกคูปองเพิ่ม ทั้งที่จุดรับแลกเหลือน้อยเต็มที เหตุผู้รับแลกกล่องหลายรายเจ็บตัวจนต้องเลิก ด้านนักวิชาการชี้ทีวีดิจิตอลเมืองไทยเกิดช้าไป 20 ปี จนทีวีดาวเทียมเบ่งบาน ขณะที่รายใหญ่ประเมินคนไทยยังเลือกรับชมรายการทีวีผ่านดาวเทียมเป็นหลัก ตราบใดที่ยังมี Must Carry ดับฝันทีวีภาคพื้นดินที่อุปสรรคเพียบ

คูปองแลกกล่อง Set top box เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แจกให้กับครัวเรือนต่างๆ ในรอบสุดท้ายจะหมดอายุในวันที่ 31 มกราคม 2559 นี้

ทั้งนี้นโยบายการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวี ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2557 จำนวน 13,571,296 ใบ หลังจากที่มีการเปิดประมูลใบอนุญาตผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 24 ช่อง เมื่อ 26-27 ธันวาคม 2556 และเริ่มทดลองการออกอากาศเมื่อ 1 เมษายน 2557

แค่ระยะเวลาในการแลกคูปองยังไม่หมดเขต ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตไปก็ต้องยอมแพ้ยุติการออกอากาศไปแล้ว 1 รายคือบริษัทไทยทีวีของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ส่งผลให้ช่องไทยทีวีและช่องโลก้า หยุดออกอากาศเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2558 ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถชำระเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 จำนวน 285 ล้านบาทได้ตามกำหนด

ที่เหลือต่างก็ต้องทนแบกภาวะขาดทุนไปทุกเดือน จนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 7 รายประกอบด้วย ช่อง ONE 31, ช่อง PPTV, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่อง GMM 25, ช่อง ไบรท์ทีวี, ช่อง NOW26 และช่องเนชั่น ทีวี ได้ยื่นฟ้อง กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมายในการพัฒนาโครงข่ายทีวีดิจิตอลและออกมาตรการเยียวยาความเสียหายด้วยการให้มีการเลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป พร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้แต่ละสถานีรวมเป็นเงินอย่างน้อย 9,550 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหา 10 แนวทาง ซึ่ง กสทช.จะพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ภายใต้กรอบอำนาจตัดสินใจ เช่น ใบอนุญาตสามารถเปลี่ยนผู้ถือครองได้หรือไม่ การขยายระยะเวลาการจ่ายค่างวดที่ 3 ที่กำหนดจ่ายในเดือนพฤษภาคมนี้

ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าวหนึ่งในนั้นคือ ให้ กสทช.มีการแจกคูปองเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ออกมากล่าวว่า จะมีการแจกคูปองเพิ่มเติมสำหรับครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว และมีผู้อยู่อาศัยจำนวน 80,000 ครัวเรือน และเห็นชอบในหลักการสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้าน และมีผู้อยู่อาศัยแต่ไม่มีเจ้าบ้าน จำนวน 2.4 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ยังเตรียมพิจารณาแจกคูปองเพิ่มเติม จำนวน 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1.กลุ่มที่ตกค้างตามทะเบียนราษฎรเดิม 2.กลุ่มครัวเรือนที่ด้อยโอกาส 3.กลุ่มที่อยู่ในแผนยุติโทรทัศน์ระบบอนาล็อกก่อน 3 ปี

นับเป็นการยอมอ่อนข้อของ กสทช.ในฐานะผู้คุมกฎต่อภาคเอกชนที่ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล และยังสะท้อนถึง กสทช. ยังมีปัญหาในการกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศทีวีดิจิตอลของไทย ที่แม้ทีวีดิจิตอลจะออกอากาศมาได้ปีเศษแต่ปัญหาในการเข้าถึงทีวีดิจิตอลยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

แม้ว่าหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาของ กสทช.คือการแจกคูปองเพิ่มจากเดิมให้เฉพาะบ้านที่มีเจ้าบ้านอยู่อาศัย มาเป็นการแจกเพิ่มในบ้านที่ไม่มีเจ้าบ้านอยู่อาศัย รวมถึงกลุ่มด้อยโอกาสต่างๆ แต่แนวทางนี้ยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผล
ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยื่นฟ้อง กสทช.
ทีวีดิจิตอลมาช้าไป 20 ปี

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ กล่าวว่า สำหรับเมืองไทยแล้วทีวีดิจิตอลมาช้าเกินไป เราช้าไปประมาณ 20 ปี ที่จริงควรจะมาตั้งแต่เริ่มมีเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมแล้ว เมื่อมาช้าตลาดของทีวีดาวเทียมเติบโตจนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ การผลักดันเรื่องทีวีดิจิตอลจึงเป็นเรื่องยาก

อีกทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก มีการออกอากาศในหลายแพลตฟอร์ม ผู้ชมมีความหลากหลาย เลือกชมเฉพาะรายการที่ชื่นชอบ และสามารถสื่อสารกลับไปยังผู้ประกอบการได้ แต่ทีวีในระบบภาคพื้นดินทำไม่ได้ ประการต่อมาการออกอากาศพร้อมกันหลายๆ ช่องทำให้เกิดปัญหาเรื่องของเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา ทั้งที่จริงควรเปิดเป็นรอบๆ ดูความพร้อมของสถานการณ์ก่อน

ทั้งนี้นักวิชาการหลายคนเคยท้วงติงแนวทางการผลักดันทีวีดิจิตอลของ กสทช.มาตลอด แต่เสียงท้วงติงเหล่านั้นไม่ได้รับการตอบสนอง

เราเคยเตือนมาแล้วหลายครั้ง แต่ กสทช.ไม่ฟัง ทุกอย่างจึงเสียหาย โครงข่ายยังไม่มีความพร้อมแล้วจะเดินหน้า วิธีแก้ปัญหาใช้อำนาจบังคับให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมต้องพ่วงช่องทีวีดิจิตอลขึ้นไปด้วย คนเลยไม่เห็นความแตกต่างของระบบภาคพื้นดิน ทั้งที่จริงต้องแยกจากกันระหว่างภาคพื้นดินกับดาวเทียม ตอนนี้เคเบิลทีวีรายเล็กๆ ตายเรียบร้อย

การแบก 24 ช่องในตอนนี้ก็เป็นภาระของผู้ประกอบการเคเบิลและดาวเทียม ต่อไปจะเป็น 48 ช่อง หากไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับกิจการทีวีในประเทศไทย

ดูดาวเทียมครบ-คุ้ม

นอกจากนี้แม้ กสทช.จะเร่งแก้ปัญหาด้วยการแจกคูปองเพิ่ม แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ผู้ชมส่วนใหญ่ยังยึดติดกับรูปแบบในการรับชมแบบเดิม

“ลูกค้า 10 คนจะเลือกระบบภาคพื้นดินแค่ 1 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ” เจ้าของธุรกิจจานดาวเทียมและรับแลกกล่อง Set top box กล่าว

ดังนั้นการที่ กสทช.จะแจกคูปองเพิ่มก็ไม่ได้หมายถึงจำนวนผู้ชมในระบบภาคพื้นดินจะมากขึ้น ตราบใดที่สถานีส่งยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ทุกอย่างต้องเดินไปพร้อมกัน นี่โครงข่ายไม่ครบแล้วจะแจกคูปองเพิ่ม ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

เรียนตามตรงว่าตราบใดที่ยังบังคับให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวียังต้องนำเอาสัญญาณของทีวีดิจิตอลพ่วงเข้าไปด้วย ยิ่งจะเป็นตัวรั้งไม่ให้ทีวีดิจิตอลระบบภาคพื้นดินเติบโตเหมือนอย่างที่ กสทช.ตั้งใจเอาไว้ เพราะดูทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีก็ดูทีวีดิจิตอลได้ทั้งหมด การมองปัญหาไม่รอบด้านย่อมทำให้วิธีการแก้ปัญหาไม่ได้ผล

เช่นเดียวกับเจ้าของกิจการที่รับแลกกล่อง Set top box รายหนึ่งกล่าวว่า การแจกคูปองทั้งก่อนหน้านี้และที่จะแจกใหม่เพิ่มนั้น ไม่ได้หมายถึงผู้รับจะนำไปแลก Set top box ทั้งหมด ก่อนหน้านี้มีเพียง 40-50% เท่านั้นที่นำมาแลก นั่นเป็นช่วงแรกที่มีการรณรงค์ให้แลกกล่องมีทั้งโฆษณาจาก กสทช. ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลและผู้ประกอบการรับแลกกล่อง แต่ตอนนี้ทุกอย่างหายไป มีโฆษณาออกมาบ้างเป็นครั้งคราว ดังนั้นไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการใช้สิทธิ์แลกคูปองอย่างคึกคักเหมือนช่วงแรก

ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งแลกกล่องเพื่อนำไปเชื่อมต่อกับทีวีในบ้านที่เป็นรุ่นเก่าหรือบางส่วนนำไปเป็นส่วนลดซื้อทีวีใหม่ที่รับดิจิตอลได้ในตัว อีกส่วนหนึ่งแลกมาแล้วนำไปขายต่อ 200-300 บาท และอีกจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยให้คูปองหมดอายุโดยไม่ได้ทำอะไรเลย

ตรงนี้ไม่มีใครทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าใช้สิทธิ์เท่าไหร่ ใช้จริงหรือขายออกไปเท่าไหร่ ปล่อยทิ้งเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ชี้วัดได้ถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านในทีวีระบบภาคพื้นดินหรือไม่นั้นคือยอดจำนวนผู้ชมรายการโทรทัศน์ที่จะมีการสำรวจออกมาว่า มีจำนวนผู้ชมรายการทีวีในระบบภาคพื้นดิน 6.2 ล้านครัวเรือน ที่เหลือเป็นระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวี
คูปองแลก Set top box
แลกกล่อง Set top box เหลือน้อย

ขณะเดียวกันจุดบริการในการแลกคูปองมีน้อยลง ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ประกอบการที่เคยขึ้นทะเบียนกับทางกสทช. หลายรายประสบปัญหาจนต้องเลิกกิจการไป

“ที่บริษัทนำกล่องเข้ามาราว 2,000 กล่อง เราก็ประเมินสถานการณ์ว่าจะสั่งของเพิ่มหรือไม่ แต่เมื่อเห็นเรื่องการขึ้นเงินกับ กสทช.ที่มีความล่าช้ามากกว่า 3 เดือน เราจึงตัดสินใจไม่นำกล่อง Set top box เข้ามาอีก จะเรียกว่าเลิกก็ได้ เพราะทุกอย่างมีต้นทุนทั้งเรื่องการรับประกัน 2 ปี การสำรองเครื่องหรือต้นทุนพนักงานต่างๆ อีกทั้งกำไรมีน้อยไม่คุ้ม”

เขากล่าวต่อไปว่า ใครที่ตัดสินใจเลิกช้าก็มีโอกาสเจ็บตัวได้มาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการบริหารงานของ กสทช. ที่ผิดพลาด ดำเนินการอย่างเร่งรีบและปล่อยให้เกิดการสะดุดทางการเงิน ตอนนี้อาจจะเหลือเพียงรายใหญ่เท่านั้นที่ยังแบกภาระนี้ไหว ส่วนรายเล็กอื่นๆ ถอยกันหมด

อย่างจุดรับแลกเดิมที่เคยเฟื่องฟู แลกได้ใน 7-11 ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว คงต้องไปตามห้างใหญ่ๆ เท่านั้นที่ยังพอมีจุดแลกอยู่

คนที่แลกกล่อง Set top box ไป ส่วนใหญ่เลือกที่จะแลกเครื่องที่มีมูลค่า 690 บาทเท่าคูปอง ซึ่งคุณภาพของกล่องจะไม่ทนทาน เป็นกล่องเล็ก ทำจากพลาสติก พอใช้ไประยะหนึ่งจะมีปัญหาทั้งเรื่องอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เสื่อมเร็ว ตรงนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการรับประกัน ไม่ต้องหวังเรื่องเครื่องสำรองอย่างที่ กสทช.กำหนดไว้ หากเกิดปัญหาขึ้นกับกล่องดังกล่าวทำใจได้เลยว่าต้องทิ้งแล้วซื้อใหม่

ขณะที่ช่างที่รับติดตั้งเสาอากาศและจานดาวเทียมในต่างจังหวัดกล่าวว่า ลูกค้าตามต่างจังหวัดก็ยังเน้นไปที่การติดตั้งจานดาวเทียมเป็นหลัก น้อยมากที่จะมาขอให้ไปติดตั้งเสาอากาศเพื่อรับชมทีวีดิจิตอล ทั้งนี้เป็นเพราะราคาค่าติดตั้งเสาอากาศค่อนข้างสูงจนราคาใกล้เคียงกับการติดตั้งจานดาวเทียม

ต่างจังหวัดจะต้องขึ้นเสาอากาศสูง เนื่องจากอยู่ไกลจากสถานีส่ง พื้นที่ใดที่ต้องขึ้นเสาสูงก็ยิ่งแพง อย่างเสา 15 เมตรบวกของและค่าแรงก็ตก 2,300 บาท ติดจานดาวเทียมก็ราคาประมาณนี้ อีกทั้งจำนวนช่องรายการยังถูกจำกัดแค่เฉพาะภาคพื้นดิน ซึ่งน้อยกว่าช่องรายการในทีวีดาวเทียม คนต่างจังหวัดเน้นอย่างเดียวคือขอให้ชัด ดูได้ ช่องเยอะ ไม่ต้องถึงระดับ HD

ตอนนี้สถานีรับส่งสัญญาณไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างกรมประชาสัมพันธ์และ อสมท ก็ยังไม่สามารถเพิ่มสถานีได้ตามแผน ดังนั้นคนต่างจังหวัดจึงยังคงเน้นไปที่การรับชมผ่านทีวีดาวเทียมเป็นหลัก ลดปัญหาความยุ่งยากและเรื่องค่าใช้จ่าย

ขณะที่การฟ้องร้องกันของผู้ประกอบการ 7 รายฟ้องเรียกค่าเสียหายกับ กสทช. ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการไม่ได้ประเมินถึงสถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ไม่ได้ศึกษาการเปลี่ยนไปของเทคโนโลยี ไม่ศึกษาสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีแผนหรือทางออกไว้รองรับสถานการณ์เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่นการปิดตัวลงของทีวีดิจิตอล ไม่ศึกษาถึงความพร้อมของระบบ ทำให้การตัดสินใจของ กสทช.ที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ประสบปัญหา รวมไปถึงกฎ Must carry ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทีวีภาคพื้นดินไม่เติบโตและเป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น