กูรูด้าน E-Commerce และ Online Marketing ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวไปสู่เป้าหมายในสนามรบออนไลน์ โดยสอนวิธีการขายแบบสเต็ปบายสเต็ป นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการตลาด เลือกขายสินค้า P- Product ที่มีความแตกต่างจากสินค้าที่วางขายทั่วไป ช่องทางการขาย P- Place สร้างหน้าร้าน บนโซเชียลมีเดียที่เหมาะสม อาทิ การใช้สื่อผสมจับคู่ระหว่างไอจีกับไลน์ และเฟซบุ๊กกับไลน์ การขายบนแอปพลิเคชัน (Marketplace online) ซึ่งสร้างโอกาสสำหรับผู้ขายและปลอดภัยสำหรับผู้ซื้อ ตลอดจนการกระตุ้นการขาย ด้วย P Promotion เพื่อให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยงบประมาณที่ไม่สูง
จากปัจจุบันที่คนสนใจมาทำธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งมีทั้งรูปแบบเข้ามาเปิดหน้าร้านออนไลน์บนโซเชียลมีเดียเอง และบางส่วนก็มุ่งเปิดร้านบน Marketplace online หรือเว็บไซต์ตลาดกลางซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีทั้งแบรนด์จากต่างประเทศ อย่าง อีเบย์ อเมซอน อาลีบาบา ลาซาด้า ซาโลร่า OLX รวมถึง Marketplace ของไทย อย่าง TARAD.com topvalue.co.th และ THAITRADE.COM ที่ดูแลภายใต้หน่วยงานของภาครัฐ อย่างกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามการขายบนแพลตฟอร์ม Marketplace นั้น มีข้อดี เพราะช่วยผู้ประกอบการที่ลองผิดลองถูกจากขายออนไลน์เองมานานแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีระบบสนับสนุนอย่างครบวงจรกับผู้ค้า นับตั้งแต่รายการสั่งซื้อสินค้า ระบบการจ่ายเงิน การจัดการกับคลังสินค้า ราคา โปรโมชัน การจัดส่งสินค้า รวมถึงการจัดงานมหกรรมลดราคาสินค้าในช่องทางออนไลน์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับ marketplace online ในต่างประเทศ อย่าง ebay และ amazon ที่จัดแคมเปญโปรโมชันลดราคาสินค้าในช่วงปลายปี
ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4G ที่พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนของคนไทย จะป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ปี 2559 ให้เป็นปีแห่งการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญกับจุดเปลี่ยนในครั้งนี้ และหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขยายช่องทางการขายออนไลน์ใน 2 แพลตฟอร์มควบคู่กันไปนั้น จะไปสู่เป้าหมายเพิ่มยอดขายขึ้นได้ตามเป้าหมาย รวมถึงโกอินเตอร์ขยายตลาดส่งออกได้ไม่ยาก
ยุคปรับตัวอีคอมเมิร์ซ ควบคู่เอ็มคอมเมิร์ซ
ผศ.ดร.ภิเษก ชัยนิรันดร์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย และผู้บรรยายเรื่อง online marketing ในหลายๆ สถาบัน กล่าวกับ “special scoop” ว่าอีคอมเมิร์ซในไทยเริ่มมาตั้งแต่ก่อนปี 2000 โดยมีการพัฒนา และขยายตัวมาเรื่อยๆ การเติบโตมีอย่างต่อเนื่องแต่อยู่ในอัตราที่ไม่สูง ไม่ร้อนแรงมาก ส่วนเอ็มคอมเมิร์ซคือการค้าขายผ่านมือถือ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมใน 2-3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่การเริ่มระบบ 3G โดยมีแนวโน้มว่าจะร้อนแรงขึ้นและเป็นที่นิยมมาก เพราะเรามีเทคโนโลยี 4G ที่กำลังจะเกิดขึ้น
แต่ในวันนี้ สถานการณ์ของอีคอมเมิร์ซ หรือ การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในทุกๆ ช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ยังไปไม่ไกลเมื่อเทียบกับต่างประเทศ นั่นเพราะจุดอ่อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นว่าใช้งบการลงทุนน้อยทำให้ขาดความพยายาม มาเร็วไปเร็ว
ขณะเดียวกันบางรายขายได้แต่ไม่จริงใจ ทำวงการเสียหาย ซึ่งมีทั้งโกงเงินลูกค้า สินค้าปลอม และส่งสินค้าไม่ตรงกับที่สั่ง เพราะของขาดสต๊อก ส่งผลให้นักชอปออนไลน์ขยาดไม่กล้าซื้อ
การทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซปัจจุบัน ร้านค้าต้องทำแพลตฟอร์มให้เป็นเอ็มคอมเมิร์ซควบคู่กันไป เพราะปัจจุบันคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้นโอกาสในการขยายตัวของเอ็มคอมเมิร์ซจึงมีแนวโน้มสูงมาก แพลตฟอร์มจึงต้องมีการทำทั้งสองแบบ ทั้งเป็นเว็บไซต์ปกติ และรูปแบบของ Mobile ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีพร้อมให้ใช้บริการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ผู้ขายรายย่อย เช่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังมีทางเลือกในการเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าในแอปพลิเคชันที่มีลักษณะเป็น Marketplace เช่น Lazada.com หรือ Tarad.com ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ขายรายย่อยจำนวนมากเข้ามาขายสินค้าเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อ
โดยข้อดี คือ มีการกำหนดมาตรฐานที่ดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขายออนไลน์ในช่องทางนี้ประสบความสำเร็จ คือ การรับประกันเรื่องสินค้าให้กับผู้ซื้อได้ 100% ชำระเงินแล้วต้องได้ของแน่นอน ส่งสินค้าตรงกับที่สั่ง ซึ่ง Marketplace บางรายยังรับเป็นตัวกลางในเรื่องของการชำระเงิน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
กลยุทธ์สู่ความสำเร็จผ่านโซเชียลมีเดีย
ในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เปิดพื้นที่ขายในสังคมออนไลน์เองนั้น จะมีต้นทุนในการทำธุรกิจต่ำกว่าการตั้งร้านค้า คนที่เริ่มต้นในช่องทางนี้ใช้งบประมาณในหลักพันบาทก็สามารถทำได้ แต่จุดนี้ก็เป็นข้อเสีย เพราะเมื่อต้นทุนต่ำการเข้าง่าย การออกก็ง่ายเช่นกัน ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีที่ใช้แพลตฟอร์มนี้จึงมีอัตราออกจากธุรกิจสูง
ส่วนวิธีการเลือกสินค้าอย่างไรให้ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งแรกที่สุดคือต้องเลือกตัวสินค้า สินค้าประเภทใดก็สามารถขายได้บนอีคอมเมิร์ซ แต่ที่สำคัญคือต้องเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปที่วางขายในท้องตลาด เพื่อให้มีคนสนใจ ยกตัวอย่างในปัจจุบัน นิยมขายสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ผู้ขายต้องไปค้นคว้าสินค้าของจีนที่ขายกันอยู่ในเว็บไซต์ยอดนิยมต่างๆ เช่น alibaba.com, aliexpress.com หรือ Taobao.com เพื่อศึกษาว่ามีสินค้าอะไรแปลกใหม่ และสามารถนำมาขายในไทย
อันดับต่อมา คือ การเตรียมความพร้อมของระบบ ซึ่งผู้ขายต้องวิเคราะห์และเลือกเว็บไซต์การขายของตัวเอง ยกตัวอย่างหากไปโพสท์จำหน่ายสินค้าใน Tarad.com หรือ weloveshopping.com ก็อาจมีข้อเสียคือเว็บไซต์จะหน้าตาเหมือนกับผู้ขายรายอื่น เพราะเป็น Package สำเร็จรูป ไม่สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ของตนเอง ทางเลือกที่ดีคือควรสร้างเว็บไซต์ให้แตกต่าง ซึ่งในเว็บไซต์ที่กล่าวมาก็มีบริการจัดทำเว็บไซต์แบบเฉพาะให้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการทำเว็บไซต์ นั่นคือการดีไซน์เว็บ อีกหลักการของการทำเว็บไซต์ ควรมีลักษณะที่สะอาดตา จัดพื้นที่สีขาวให้พอเหมาะ มีภาพสินค้าชัดเจนรายละเอียดสินค้าอ่านและเข้าใจง่าย ระบบการสั่งซื้อมีขั้นตอนที่กระชับ และไม่ควรเกินกว่า 3 ขั้นตอน และต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการบันทึกข้อมูลลูกค้า เพื่อจะได้ไม่ต้องกรอกทุกรายละเอียดในการซื้อครั้งต่อไป เป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการสั่งซื้อให้ลูกค้าพึงพอใจ
เทคนิคการโฆษณาโดนใจลูกค้า
ผศ.ดร.ภิเษก กล่าวอีกว่า การโฆษณาเพื่อกระตุ้นยอดขายบนสื่อออนไลน์ ที่ดีที่สุดคือการทำ SEO (Search engine optimization) เพื่อทำให้เว็บไซต์ของเราอยู่ในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาใน Google ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตามหากติดอันดับต้นๆ โอกาสในการขายสินค้าจะมีมาก เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้ Google ในการค้นหาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดีการทำ SEO ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ทำธุรกิจรายใหม่ จึงอาจต้องหาทางเลือกในการพึ่งพาซื้อโฆษณาบน Google AdWords จะทำให้มีโอกาสอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหาเช่นกัน แต่อยู่ในส่วนของโฆษณา ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ดีกว่าเว็บไซต์สินค้าเราตกไปอยู่ในผลการค้นหาหน้าหลังๆ
สำหรับการซื้อโฆษณาของ Google AdWords นั้น มีข้อได้เปรียบอยู่ที่คำที่เลือกใช้เป็น Keyword ในการค้นหา หากมีการเฉพาะเจาะจง โอกาสจะพบจากการค้นหาง่ายกว่าการใช้คำกลางๆ ซึ่งจะมีผลการค้นหาออกมาจำนวนมาก ไม่โดดเด่น ยกตัวอย่าง หากจะขายเสื้อผ้าเด็ก ถ้าใช้คำว่าเสื้อผ้าเด็ก ผลการค้นหาจะขึ้นมาเป็นตัวเลือกมากมาย จนผู้บริโภคตัดสินใจยาก แต่ถ้าใช้คำที่เฉพาะขึ้นมาเช่น เสื้อผ้าเด็กผู้หญิง หรือชุดเด็กแฟนซี ก็อาจจะทำให้ตัวเลือกน้อยลง โอกาสในการขายมากขึ้น สำหรับมูลค่าการลงทุนใน Google Ads นั้นไม่มีอัตราตายตัว ขึ้นอยู่กับคำ (Keyword) ที่ใช้ ถ้าไม่เป็นที่นิยมราคาอาจจะถูกกว่าคำที่เป็นที่นิยม รวมทั้งการคิดอัตราค่าโฆษณาขึ้นอยู่กับจำนวนคลิกด้วย
การโฆษณาใน Social Media ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงปัจจุบันนี้ เฟซบุ๊ก เป็นอันดับต้นยอดนิยม จำนวนคนใช้ล่าสุดมีถึง 26 ล้านคน ในอดีตเฟซบุ๊กจะนิยมทำในแฟนเพจ ซึ่งเจ้าของเพจ หรือเจ้าของร้านใช้การโฆษณาหรือจัดกิจกรรมให้กับสมาชิกไปในคราวเดียว
แต่ปัญหาของเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ปัจจุบันคือ new feed ของแต่ละคนมักไม่แสดงการโพสต์ของแฟนเพจ ส่วนใหญ่จะแสดงแต่โพสต์ของเพื่อน การขึ้น new feed ของแฟนเพจ มีอัตราที่ต่ำมาก เหลือเพียงประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งจากในอดีตที่มีสถิติถึง 10% ปัญหานี้ทำให้การเข้าถึงของลูกค้ายากขึ้น โอกาสในการโฆษณาหรือให้ลูกค้ามีส่วนร่วมก็ลดลงไปด้วย การแก้ปัญหาจึงอาจต้องยอมซื้อเฟซบุ๊ก แอดฯ ซึ่งก็เป็นลักษณะการโฆษณาบนเฟซบุ๊ก
ส่วนข้อดีคือสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ เพศ อายุ อาชีพ หรือเลือกเป็น Location คือต้องการกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในละแวกใด ราคาในการซื้อโฆษณาก็เป็นอัตราไม่ตายตัวเช่นกัน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ที่นิยมใช้กันคือ จำนวนครั้งที่คลิก (Cost per click) และจำนวนครั้งที่โฆษณาถูกแสดงขึ้นมา (Cost per Impression)
ผศ.ดร.ภิเษก กล่าวว่า การซื้อโฆษณาคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจ อย่างไรก็ดีคนที่เลือกวิธีนี้ก็มีจำนวนมาก และมีการแข่งขันสูง ซึ่งเฟซบุ๊กจะมีข้อได้เปรียบ คือ กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน ยิ่งสโคปลงมามากเท่าไรก็ยิ่งดี ยกตัวอย่าง กำหนดลูกค้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือจะสโคปเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ้าผู้ขายมองว่าจะดูแลเฉพาะลูกค้าพื้นที่นี้ การสโคปที่ชัดเจน ยิ่งมีโอกาสที่ลูกค้าจะเห็นมากขึ้นตามลำดับ
ส่วนแนวโน้มการซื้อโฆษณาในเว็บไซต์อื่นๆ ที่ในอดีตจะเป็นที่นิยม เช่น การโฆษณาเสื้อผ้าเด็กในเว็บไซต์ แม่และเด็ก หรือบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เริ่มทยอยลดความสำคัญลงไป เพราะพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคหันไปค้นหาสินค้าจาก Google หรือ เฟซบุ๊กแทนนั่นเอง
ปั่นกลยุทธ์บอกต่อ (Viral + Word of Mouth)
อีกกลยุทธ์ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การสร้างกระแสด้วยกลยุทธ์การบอกต่อกันไปในวงกว้างทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะทำให้เกิดการดึงคนจำนวนมาก และยังมีความน่าเชื่อถืออีกด้วย เช่น เปิดร้านอาหาร จะเกิดกระแสบอกต่อได้นั้น ต้องทำให้เกิดรีวิว และนำไปโพสต์ในเว็บไซต์ pantip ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่การโฆษณาที่สำคัญ แต่เนื่องจาก pantip ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาตรง จึงต้องอาศัยการรีวิว และตามหลักการต้องให้ลูกค้าจริงไปบอกต่อ เพราะจากผลการสำรวจ คำพูดของลูกค้าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเชื่อถือมากที่สุด
รองลงมาคือบล็อกเกอร์ต่างๆ ลูกค้าจึงมีอิทธิพลมาก คุณสมบัติคล้ายคลึงกันที่จะพบใน เฟซบุ๊ก แฟนเพจ คือเปิดให้มีการวิจารณ์ (Comment) ซึ่งลูกค้าสามารถมาติชมสินค้าหรือบริการของเราได้ที่หน้าเพจ ถ้ามีผลบวกจากลูกค้ามากๆ ก็จะทำให้กิจการดีเป็นที่นิยม
สำหรับบล็อกเกอร์ก็เป็นที่นิยม เช่นในธุรกิจเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ร้านอาหาร มักจะนิยมใช้บล็อกเกอร์มาบอกเล่าประสบการณ์ แต่การทำลักษณะนี้ต้องมีเงินทุน และสุดท้ายคำวิจารณ์ของผู้ซื้อก็ยังคงมีอิทธิพลมากกว่า เช่นผู้บริโภคนิยมศึกษาคำวิจารณ์ใน Trip advisor หรือ agoda หากจะซื้อบริการท่องเที่ยว หรือโรงแรม เพราะเชื่อว่าจะได้ความเห็นที่ตรงไปตรงมาจากผู้ใช้บริการ ดังนั้นฟีดแบ็กจากลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการประสบความสำเร็จ
กลยุทธ์สร้างการบอกต่อในโซเชียลมีเดีย ที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวและถ่ายภาพอาหารโพสต์บนเฟซบุ๊กของคนไทยนั้น ก็เป็นเรื่องง่ายๆที่สามารถนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การบอกต่อของผู้ขายได้ เช่นในธุรกิจร้านอาหาร ควรต้องมีโลโก้ หรือสัญลักษณ์ของร้านอยู่ในมุมที่ถ่ายภาพได้ เช่นบนผ้าปูโต๊ะ ที่ภาชนะใส่อาหาร แม้แต่ที่กล่องหรือซองตะเกียบ เป็นเทคนิคที่จะสร้างการรับรู้ และจดจำแบรนด์ของลูกค้า ในธุรกิจท่องเที่ยวก็เช่นกัน การถ่ายรูปสถานที่ท่องเที่ยว หรือที่พัก เจ้าของธุรกิจก็สามารถจัดมุมสวยเฉพาะเพื่อการถ่ายรูป เพื่อบริการลูกค้า โดยให้มีสัญลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างความจดจำได้ในตัว
ขณะที่ทวิตเตอร์ ในมุมมองของอาจารย์เห็นว่ามีส่วนไม่มากนักในแง่ของการโฆษณา เพราะคนใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ใช้เพื่อแสดงความรู้สึก การบ่นเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวัน การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในทวิตเตอร์อาจไม่เหมาะ อาจมีความเสี่ยงในการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี หากไม่ถูกสถานการณ์
และที่กำลังมาแรง คือ การทำการตลาดบนไลน์นั้นสำคัญมาก เพราะปัจจุบันคนใช้ไลน์มีจำนวนสูงใกล้เคียงกับเฟซบุ๊ก แต่การใช้ไลน์นั้นมักจะเน้นรูปภาพ ร้านอาหารก็อาจจะใช้การถ่ายรูปเมนูลงไป ธุรกิจเสื้อผ้าก็สามารถลงภาพสินค้า เพื่อให้คนจดจำ อยากเห็น อยากมา อยากซื้อ แต่การใช้รูปภาพในการโฆษณาในไลน์ต้องใช้ภาพที่ดีๆ มุมสวยงาม ให้ความสำคัญกับคุณภาพของภาพถ่าย
ลูกค้าออนไลน์ชอบชอปสะดวก รวดเร็ว
ผศ.ดร.ภิเษก กล่าวอีกว่า พฤติกรรมของลูกค้าปัจจุบัน ต้องการวิธีที่สะดวก และรวดเร็ว ลูกค้าจำนวนมากไม่สั่งซื้อสินค้าตามขั้นตอนที่ระบุในเว็บไซต์ แต่ใช้วิธีก๊อบปี้รูปภาพสินค้าที่จะซื้อจากเว็บ ส่งไลน์สั่งซื้อไปหาผู้ขาย โอนเงินผ่านธนาคาร จบใน 3 สเต็ป เพื่อความรวดเร็วและสะดวก
อินสตาแกรม มีคนนิยมใช้อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มากเท่าเฟซบุ๊ก หรือไลน์ กระแสที่นิยมในอินสตาแกรมคือการฟอลโลว์เซเลบหรือดารา ดังนั้นกลยุทธ์การขายที่มักจะใช้ในอินสตาแกรมคือการใช้เซเลบเป็นผู้โฆษณาสินค้า อาศัยคนติดตามที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยากได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกับเซเลบหรือดาราที่คนชื่นชอบ การขายสินค้านอกจากทางเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก ก็สามารถเปิดหน้าร้านในอินสตาแกรมไปด้วย โดยใช้สื่อผสมคือหน้าร้านบนอินสตาแกรม และเปิดช่องทางสื่อสารในไลน์ เพราะการพูดคุยทางไลน์เป็นทางเลือกที่นิยม
ข้อควรระวังของการซื้อของผ่านอินสตาแกรมคือต้องดูที่น่าเชื่อถือ เพราะการเปิดหน้าร้านบนอินสตาแกรมนั้นง่ายกว่าบนเว็บไซต์ ไม่ต้องมีการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ จึงอาจเป็นช่องทางให้เกิดการฉ้อโกงได้
ทั้งนี้เฟซบุ๊กและไลน์เป็นช่องทางค้าขายบนแมสคือสินค้าขายได้ทุกกลุ่ม แต่กรณีอินสตาแกรมอาจจะเจาะเฉพาะกลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอ
ผศ.ดร.ภิเษก กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาหลักของอีคอมเมิร์ซเมืองไทยที่คนไม่ยอมซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะกลัวเรื่องการชำระเงิน กลัวถูกโกง และที่รองลงมาคือกลัวสินค้าปลอม ซึ่งสามารถพบเห็นได้อยู่บ่อยๆ แม้ในเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง แต่หากมีความระมัดระวัง ซื้อกับแหล่งที่เชื่อมั่นได้ก็สามารถป้องกันได้ การที่อีคอมเมิร์ซประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เพราะระบบมีความปลอดภัยมากกว่า และผู้คนก็คุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านแค็ตตาล็อก หรือโบรชัวร์มาแล้ว จึงสามารถพัฒนาไปใช้อีคอมเมิร์ซได้ง่าย
ดังนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นมือใหม่ในอีคอมเมิร์ซ จะต้องเข้าใจหลักพื้นฐานด้วยว่า การขายสินค้าอะไรก็ตามต้องใช้ความขยันหมั่นเพียร รู้จักแก้ไขปัญหา การค้าขายบนออนไลน์ไม่ได้หมายความว่าต้องขยันน้อยลง หรือจะรวยเร็วขึ้น เพียงแต่สามารถเริ่มได้ง่ายกว่า ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เจ้าของกิจการยังต้องทุ่มเท และแสวงหาโอกาสให้ตนเอง แก้ปัญหาให้ลูกค้า สร้างบริการที่รวดเร็วและมั่นใจ อย่าทำการค้าแบบคิดง่ายๆ เช่นส่งสินค้าล่าช้า เอาสินค้าที่ไม่ตรงกับที่สั่งส่งไปอย่างขอไปที เป็นต้น
ด้วยปัจจัยต่างๆ และการเติบโตของเทคโนโลยี 4G ตลอดจนการขยายฐานผู้ใช้สมาร์ทโฟน ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการชอปออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้ค้าออนไลน์ที่ตั้งใจดำเนินธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องของยอดขายและการขยายฐานลูกค้าของบริษัทเช่นกัน