xs
xsm
sm
md
lg

ศึกนอก-ศึกในถล่ม “บิ๊กตู่” เข้าล็อกขั้วอำนาจเก่าดึงต่างชาติแทรก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจัยลบกระหน่ำเศรษฐกิจไทยโงหัวไม่ขึ้น ทั้งกำลังซื้อหาย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกติดลบ ตบท้ายด้วยภัยแล้ง ซ้ำเติมให้แย่ยิ่งกว่าเดิม แถมโดนทั้ง EU ใบเหลืองประมงไทย ICAO ลดอันดับความปลอดภัยสายการบิน ตามด้วยกลุ่มต้าน คสช.ที่เปลี่ยนไปใช้นักศึกษาแทน เดินสายล่อให้จับ จนเข้าทางหน่วยงานต่างชาติพร้อมใจออกโรงแทรกกิจการภายในประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัว 14 นักศึกษา ด้านนักสังเกตการณ์แนะบิ๊กตู่ปรับท่าที เร่งชี้แจงต่างชาติ ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ

ยิ่งนานวันรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มที่จะถูกทดสอบกับบทบาทอาสาที่เข้ามาเพื่อยุติวิกฤตทางการเมืองของประเทศมากยิ่งขึ้น เป้าหมายที่ต้องการเพื่อยุติการปะทะกันของมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย และต้องการปฏิรูปประเทศไทยก่อนเปิดให้มีการเลือกตั้งในโอกาสต่อไป

แม้จะสามารถหยุดยั้งโอกาสของการปะทะกันของฝ่ายที่สนับสนุนอดีตรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับฝ่ายเห็นต่าง ภายใต้การขับเคลื่อนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ในขณะนั้น) เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แต่การเข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนโยบายประชานิยมที่เคยทำไว้เริ่มออกฤทธิ์

การเข้ามารับช่วงบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น งานแรกที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาการติดค้างเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา ประสบความสำเร็จด้วยดีหลังจากที่รัฐบาลก่อนติดค้างชาวนามากว่า 6 เดือน และขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 มาได้จนประเทศเดินหน้าต่อ และภายใต้การเข้ามาเพื่อต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ย่อมต้องเข้ามาแก้ปัญหาในทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

สารพันปัญหาในประเทศไม่ฟื้น

ตอนนี้รัฐบาลต้องแบกปัญหาทั้งหมด ทั้งผลของนโยบายประชานิยมจากรัฐบาลเพื่อไทย และผลของสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ซบเซานับตั้งแต่มีการชุมนุมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 แม้ในปี 2558 ก็ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก นั่นคือเรื่องกำลังซื้อของคนในประเทศ

“คนเมืองถูกล็อกการใช้จ่ายด้วยโครงการรถยนต์คันแรก ที่คืนเงินภาษีสรรพสามิตไม่เกิน 1 แสนบาท เริ่มตั้งแต่กันยายน 2554 แต่เริ่มกันจริงจังในปี 2555 หลังจากพ้นสถานการณ์น้ำท่วม มียอดใช้สิทธิ์เกินกว่า 1 ล้านคัน คนกลุ่มนี้กำลังซื้อหายไปทันที” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ให้เหตุผล

ตามมาด้วยกำลังซื้อของภาคเกษตรที่หายไปจากการไม่ต่ออายุโครงการรับจำนำข้าว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ทำให้รายได้จากผลผลิตหายไปมาก

นอกจากนี้ในช่วงที่มีการใช้โครงการประชานิยม ภาคประชาชนได้ก่อหนี้สินไว้มากขึ้น รวมไปถึงการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน แม้จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลงแต่ราคาก๊าซปรับตัวขึ้น ทำให้ทั้งค่ารถโดยสารเอกชนและแท็กซี่ได้รับอนุญาตให้ปรับราคาขึ้น ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย เมื่อกำลังซื้อในประเทศหดตัวลง เศรษฐกิจอื่นๆ จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ประการต่อมาการส่งออกของไทยมีปัญหาทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปราะปาง เศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัว ทั้งยุโรป สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น โดยยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมติดลบ 5% นั่นคือผู้ผลิตสินค้าของไทยขายของได้น้อยลง หมายถึงรายได้ที่จะได้มาก็น้อยลงตามไปด้วย

ตามมาด้วยภัยแล้งที่ปีนี้หนักกว่าทุกปี จากภาวะเอลนีโญ ทำให้มีฝนตกน้อยมาก ส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยจนไม่เพียงพอต่อการระบายออกเพื่อใช้ในทางเกษตรกรรม จนรัฐบาลต้องประกาศให้เกษตรกรหยุดการทำนาในหลายพื้นที่

ตัวภัยแล้งจะยิ่งเป็นตัวซ้ำเติมรายได้ของเกษตรกร เมื่อไม่สามารถเพาะปลูกได้ รายได้ก็จะไม่มีเข้ามา ยิ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกรเดือดร้อนหนักขึ้นกว่าเดิม

นี่คือสถานการณ์ภายในประเทศที่บั่นทอนกำลังซื้อของคนในประเทศให้ลดลงไปอีก และจะส่งผลต่อไปถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร
ยุโรปกดดันเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศที่มีผลต่อด้านเศรษฐกิจของไทย นอกเหนือไปจากกำลังซื้อของต่างชาติจะหดหายไปจากวิกฤตการเงินทั้งในสหรัฐฯ ยุโรปและจีน ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยลดลงแล้ว ประเทศไทยยังถูกหน่วยงานต่างประเทศออกมาเตือนเพื่อให้แก้ไขและปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน

21 เมษายน 2558 สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกใบเหลืองต่อประเทศไทย ด้วยเหตุที่ประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ไม่เพียงพอ หากประเทศไทยไม่ดำเนินการแก้ไขจนถูก EU สั่งห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก เฉพาะที่ยุโรปมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของสินค้าประมงจากไทยสูงกว่า 2.4 แสนล้านบาท

เส้นตายที่รัฐบาลไทยให้เวลาผู้ประกอบการเรือประมงของไทยดำเนินการให้ถูกต้องนั้นสิ้นสุดลงเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หากเรือประมงลำใดที่ยังไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนต้องถูกจับกุม จนทำให้เรือประมงจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ออกเรือ พร้อมกับการขยับขึ้นของราคาสินค้าอาหารทะเล

นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้แจ้งต่อกรมการบินพลเรือนของไทยถึงการลดอันดับมาตรฐานการบินของไทยเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2558 จนทำให้ประเทศปลายทางอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ออกมาตรการคุมเข้มสายการบินจากประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำไม่สามารถให้บริการได้ แต่ยังให้สายการบินปกติที่มีตารางบินแน่นอนสามารถให้บริการต่อไปได้

จากนั้น 18 มิถุนายน 2558 ทาง ICAO ได้ขึ้นเครื่องหมายธงแดงกับประเทศไทย หลังจากที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขมาตรฐานด้านการบินของประเทศไทยได้ทันตามกำหนด จากนั้นองค์กรความร่วมมือด้านการบินในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA) ที่พิจารณาแผนการแก้ปัญหาของไทย ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ออกมา ยังเหลืออีกหน่วยงานหนึ่งที่จะเข้ามาประเมินมาตรฐานการบินของไทย คือ องค์กรบริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) ที่จะเข้ามา 13-17 กรกฎาคมนี้

การลดมาตรฐานการบินของไทยถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการบิน เพราะหากองค์กรที่ประเมินเหล่านี้ออกมาตรการห้ามสายการบินจากประเทศไทยบินเข้าประเทศก็จะทำให้สายการบินต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และจะกระทบไปถึงการท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย วงเงินความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวถึงมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท

อีกทั้งยังมีกรณีของประเทศกรีซ ที่ผิดนัดการชำระหนี้ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มูลค่า 1,500 ล้านยูโรเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้กรีซกลายเป็นประเทศพัฒนาชาติแรกในประวัติศาสตร์ที่ผิดนัดชำระหนี้ IMF แม้กรณีของกรีซจะมีผลต่อประเทศไทยโดยตรงไม่มากนัก แต่การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของคนในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสำหรับประเทศไทย ที่อาจไม่มั่นใจในสถานการณ์จนไม่อยากเดินทางมาท่องเที่ยวในที่ต่างๆ รวมถึงประเทศไทย
เรือประมงของไทยต้องจดทะเบียนขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง หลัง EU ให้ใบเหลืองประเทศไทย
องค์กรต่างชาติแทรกการเมืองไทย

ภายใต้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่มีทีท่าฟื้นตัวแล้ว รวมถึงประเทศไทยถูกกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยแล้ว ยังมีมิติทางด้านการเมืองที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง และกลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีกิจกรรมต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างต่อเนื่อง จนถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2

แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เมื่อมีองค์กรระหว่างประเทศเริ่มออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม

30 มิถุนายน 2558 โดย สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากข้อหาที่ถูกตั้งขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างสันติ ระบุเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะต้องได้รับการค้ำชูและศาลทหารไม่ควรถูกนำมาใช้กับพลเรือน

ในวันเดียวกันสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอาญาต่อนักศึกษาซึ่งถูกจับกุมเนื่องจากการชุมนุมโดยสงบในที่สาธารณะในกรุงเทพฯ และปล่อยตัวพวกเขาจากสถานที่ควบคุมโดยทันที สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

2 กรกฎาคม 2558 องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยสำนักงานเลขาธิการใหญ่ ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เรียกร้องทางการให้ปล่อยตัวนักศึกษาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกข้อหากับนักศึกษาทั้งหมด โดยระบุว่านักศึกษาทั้ง 14 คน เป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2558

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้พิจารณาแล้วเห็นว่านักศึกษาทั้ง 14 คนถือเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งถูกลิดรอนเสรีภาพเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ

แนะประยุทธ์ปรับท่าที-เร่งชี้แจง

“ตอนนี้องค์กรระหว่างประเทศได้ออกมากดดันเรื่อง 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมตัวไปกันหลายหน่วยงาน ดังนั้น คสช.จึงไม่ควรประเมินสถานการณ์นี้ต่ำเกินไป ต้องดำเนินการในเชิงรุกให้กระทรวงการต่างประเทศออกมาชี้แจงถึงเหตุผลในการจับกุมเพื่อให้นานาประเทศเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่” นักสังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าว

ข้อกังวลในเรื่องการสืบอำนาจนั้นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าเรามี Road Map เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะคืนอำนาจ เปิดให้มีการเลือกตั้ง

การเดินเกมลดความน่าเชื่อถือของ คสช. ได้เปลี่ยนจากตัวนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยมาเป็นนักศึกษาแทน นับว่าเป็นการวางแผนมาอย่างดี มีการสร้างกิจกรรมเพื่อให้ฝ่ายความมั่นคงจับกุม จากนั้นมีทีมสนับสนุนเข้ามาเรียกร้องให้ปล่อยตัว เช่น คณาจารย์ต่างๆ ตามมาด้วยหน่วยงานอย่าง UNHCR และองค์กรนิรโทษกรรมสากล

ดังนั้นท่าทีของพลเอกประยุทธ์ต่อสถานการณ์นี้คงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น หรือลดการรุกขององค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเข้ามาด้วยความตั้งใจดีหรือได้รับการให้ข้อมูลผิดๆ ต่อกรณีนี้
แถลงการณ์ขององค์การระหว่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว 14 นักศึกษา
อยู่หรือไปคนไทยตัดสิน

ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เชื่อว่ารัฐบาลเอาอยู่ การทำงานของรัฐบาลแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของความมั่นคง อย่างกรณีของ 14 นักศึกษานั้นเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบฯ เป็นผู้ดูแล อีกส่วนเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างเรื่อง ICAO หรือ EU กับเรื่องการทำประมง ตรงนี้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหา

“อย่างกรณีของ 14 นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ใครก็รู้ว่าต้องมีคนที่เสียประโยชน์คอยหนุนหลัง ซึ่งมีความพยายามหลายครั้ง ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายผลด้วยการใช้สื่อที่อยู่ในเครือข่ายของอำนาจเก่า”

นอกจากนี้คนของพรรคการเมืองนั้นมักไปร่วมงานเลี้ยงตามสถานทูตต่างๆ เพื่อป้อนข้อมูลด้านลบของ คสช.ให้กับเจ้าหน้าที่ของสถานทูต ประกอบกับการเดินเกมของคุณทักษิณก็มีการใช้ล็อบบี้ยิสต์จากต่างประเทศมาเพื่อกดดันประเทศไทย

ดังนั้นเราจึงได้เห็นองค์กรระหว่างประเทศที่ออกมากดดันรัฐบาลให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาที่ออกมาต่อต้าน คสช. พร้อมกัน 3 หน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(OHCHR) ที่เคยทำเรื่องการลี้ภัยให้กับ ตั้ง อาชีวะ มาก่อน จนได้สัญชาติและไปอาศัยอยู่ที่นิวซีแลนด์

นี่คือการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทยอย่างชัดเจน

การเข้ามากดดันของหน่วยงานระหว่างประเทศนั้น ถือเป็นเป้าหมายของทักษิณ เห็นได้จากเป้าหมายเดิมที่มีการจ้างคนไปปาระเบิดที่หน้าศาลอาญาและรับสารภาพว่าทำไปเพื่อให้ต่างชาติเข้ามา ครั้งนี้ใช้นักศึกษาเป็นตัวเดินล่อให้จับกุม ทั้งนี้ด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นนักศึกษาที่คนทั่วไปมองว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมือง และเรียกร้องด้วยอุดมการณ์ในความเป็นประชาธิปไตย เมื่อมีการปรับรูปแบบเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ด้วยแนวทางนี้จึงถือเป็นความลงตัว อีกทั้งคนในเพื่อไทยในระดับแกนนำ ล้วนแล้วแต่เติบโตมาจากคนเดือนตุลาคม มีเครือข่ายและสายสัมพันธ์กับขบวนการนักศึกษาอย่างกว้างขวาง และยังสะดวกต่อการเข้ามาขององค์การระหว่างประเทศ เพราะถือว่าในครั้งนี้ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายการเมืองใดฝ่ายการเมืองหนึ่ง

ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับรัฐบาลว่าจะเลือกปฏิบัติอย่างไร เพราะในหลายประเทศที่ถูกกดดันในลักษณะนี้ บางประเทศก็ไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทุกอย่างก็จบไป

สำคัญที่สุดคือต้องบริหารประเทศให้คนในประเทศยอมรับและให้การสนับสนุนเท่านั้น แต่ก็เป็นปัญหาอีกเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น ถูกหลายปัจจัยเข้ามากระทบ จนประชาชนได้รับผลกระทบจากภาวการณ์เช่นนี้

ตอนนี้ต้องยอมรับความจริงว่าทีมงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจให้ออกมาเป็นบวกได้ ขึ้นอยู่กับพลเอกประยุทธ์ว่ากล้าที่จะเปลี่ยนทีมงานด้านเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแรงสนับสนุนที่เคยมีก็จะค่อยๆ น้อยลง

กำลังโหลดความคิดเห็น