“บิ๊กตู่” สั่งขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ‘สายอาชีวะ’จะถูกพลิกโฉมเทียบชั้น ‘สิงคโปร์’ ด้านรองเลขาธิการฯ เผย สอศ.ขานรับนโยบายชู motto “ผู้เรียนอาชีวศึกษาคือผู้ทรงคุณค่าของสังคม” ปรับกระบวนทัศน์ก้าวเข้าสู่อาชีวศึกษาแบบเทเลอร์เมด สถานประกอบการได้พนักงานมีคุณภาพตามคุณลักษณะที่ต้องการ ส่วนเด็กจบปั๊บมีงานทำทันที มั่นใจอีก 2 ปีเด็กอาชีวะทวิภาคี เปี่ยมด้วยคุณภาพ ก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางของอาชีวศึกษาอาเซียน หรือ ‘Asian Hub’
จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสายวิชาชีพ ทั้งด้านปริมาณของนักศึกษาและคุณภาพนั้น เกิดจากการทำงานระหว่าง 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างคนต่างทำงาน ทั้งระบบการศึกษาไทยทุกๆ รูปแบบ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและพัฒนาคนของประเทศ และอีกส่วนคือ สถานประกอบการ องค์กรบริษัทที่รับบุคลากรเข้าไปทำงาน ไม่ได้มีการวางแผนร่วมกัน
เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นปัญหาในวันนี้เท่านั้น เพราะยังเป็นปัญหาในอนาคตภายภาคหน้าอีกด้วย เพราะไม่สามารถมองเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศว่า ความต้องการของตลาดแรงงาน ต้องการ “คน” ที่จบออกจากสถาบันการศึกษาไปทำงานในแต่ละสายงาน ในจำนวนเท่าไหร่ ที่ไหนและช่วงเวลาไหน
จากสภาพที่เกิดขึ้นนี่เอง ที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการผ่าตัด เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของอาชีวะครั้งใหญ่เพื่อก้าวไปสู่การเป็น ‘อาชีวะสร้างชาติ’ ‘ผู้เรียนอาชีวศึกษาคือผู้ทรงค่าของสังคม’ และ‘asian hub’ ตามนโยบายการปฎิรูปการศึกษาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา และนำมาใช้ในการขับเคลื่อนกำลังคนของประเทศให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานในอนาคต เฉกเช่นเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ได้พัฒนาระบบการศึกษาโดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษาหรือในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อผลิตช่างฝีมือป้อนให้กับตลาดแรงงานต่อไป
“ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง” รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกับ “Special Scoop” ว่า นโยบายในการพัฒนาสายวิชาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งการเรียนแบบทวิภาคีถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอาชีวศึกษา
กรณีศึกษาของการเรียนแบบทวิภาคี ที่นำมาใช้สำหรับการผลิตคนทำงาน ในต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้แรงงานได้วางแผนร่วมกันภายใต้แนวทาง “ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด” หมายถึง ต้องการคนแบบไหน สายอาชีพอะไร จำนวน และเวลาที่ต้องการคนเป็นช่วงไหน และรายได้เท่าไหร่ โดยไม่จ้างคนด้วยวุฒิแต่จ้างด้วยศักยภาพและความสามารถ
ตัวอย่างของประเทศที่ใช้วิธีการนี้ที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศเยอรมนี มีการนำแนวทางนี้มากำหนดออกเป็นกฎหมายว่าทุกบริษัทห้างร้านต้องเข้ามาจัดการศึกษาร่วมด้วย ส่วนในประเทศอื่นเป็นเรื่องที่ยอมรับกันว่าสถานประกอบการกับสถาบันศึกษาต้องกำหนดแนวทางนี้ร่วมกัน ส่วนประเทศในแถบยุโรป อเมริกา และสิงคโปร์นั้นก็ประสบความสำเร็จหลังจากที่นำแนวทางนี้มาใช้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มงบประมาณจัดตั้งสถาบันเทคนิคการศึกษา หรือสถาบันไอทีอี (Institute of Technical Education : ITE) ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดการศึกษาสำหรับผู้ต้องการทักษะทางช่าง และช่างผีมือ มีการสอนในหลักสูตรต่างๆ ควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สถาบันไอทีอีแต่ละแห่งนั้นมีหลักสูตรที่เก่งเฉพาะด้าน เช่น หลักสูตรธุรกิจและบริการ หลักสูตรวิศวกรรม หลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตรสารสนเทศและการสื่อสารเทคโนโลยี หลักสูตรพยาบาลและบริการสุขภาพ หลักสูตรความงามและสุขภาพ และหลักสูตรเพื่อเป็นผู้ประกอบการ
หลังดำเนินตามยุทธศาสตร์นี้ไม่นานนัก ประเทศสิงคโปร์ก็ประสบความสำเร็จและได้ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งทางด้านการศึกษาของเอเชียตลอดมาจนถึงวันนี้
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน กำลังจะก้าวไปสู่การพัฒนาด้านวิชาชีพ และเพื่อยกระดับไปให้ถึงจุดนั้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ถึงแผนพัฒนาการศึกษา ว่าได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขยายเป้าหมายการศึกษาระบบอาชีวะทวิภาคี ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพและการรับเข้าทำงาน ระหว่างนักศึกษาและผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยยึดหลักการคือการต่อยอดทักษะเสริมอาชีพที่ 2 เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ และผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของงาน รองรับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์ รถไฟไทย-จีน และการท่องเที่ยว หรือเพิ่มขีดความสามารถในการซ่อมรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ หรือบิ๊กไบค์ได้ หรือสามารถซ่อมและประดิษฐ์ทีวีดิจิตอลได้
จากการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าผลดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในระยะสั้น ไว้ว่าจะมีผู้ประกอบการ 1 แสนคนต่อนักศึกษาอาชีวะ 1 ล้านคนภายในปี 2558 อีกทั้งวางเป้าหมายระยะยาวไว้ว่าภายใน 5 ปีจะต้องทำให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข จบการศึกษาไปแล้วประกอบอาชีพได้ มีทักษะที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จุดเปลี่ยน ปฏิรูปอาชีวศึกษาแบบยั่งยืน
ดังนั้นการปฎิรูปการศึกษาด้านอาชีวะจะนำไปสู่ “ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด” ถือเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เป็นโมเดลสำหรับปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทย เพื่อให้คนที่จบอาชีวะในวันนี้และวันข้างหน้า จะต้องมีคุณภาพที่สามารถทำงานได้ รวมถึงมีปริมาณคนที่จบในแต่ละสายงานนั้นตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงงาน
สิ่งที่แตกต่างของการจัดการศึกษาด้านอาชีพในรูปแบบนี้ คือ การจัดการอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี (DUAL SYSTEM) เป็นความร่วมมือของ “ภาคเอกชน” ทั้งสถานประกอบการ และบริษัทห้างร้านกับ “สถานศึกษา” เพื่อที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การประเมิน รวมถึงการสร้างทักษะของนักเรียนอาชีวะให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน
ทุกอย่างที่อยู่ในระบบการเรียนแบบทวิภาคี จะมีการแชร์กันครึ่งๆ ระหว่างภาคเอกชนและสถานศึกษา ทั้งในด้านของบุคลากรผู้สอน เวลาในการเข้าเรียน ตลอดจนงบประมาณที่นำมาใช้สำหรับการจัดหาคุรุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอนให้ผู้เรียนฝึกเรียนในภาคปฏิบัติเพื่อให้ตรงตามสายอาชีพ ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบเรียนรูปแบบนี้เอกชนจะเป็นผู้สนับสนุนให้สถานศึกษา
นอกจากนั้นในด้านผู้เรียนเองก็จะมี 2 สถานภาพในบุคคลเดียวกัน คือ เป็นนักเรียน นักศึกษาในโรงเรียน และในขณะเดียวกันก็เป็นพนักงานฝึกหัดของสถานประกอบการด้วย และหลักสูตรนี้จะต้องใช้เวลาเรียนรายวิชาสามัญ รายวิชาชีพพื้นฐาน และฝึกปฏิบัติเบื้องต้น ที่สถานศึกษา สัปดาห์ละ 1-2 วัน ส่วนรายวิชาชีพสาขางาน จะเรียนและฝึกปฏิบัติจริงที่สถานประกอบการ 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ
ที่สำคัญกลุ่มนี้ยังมีรายได้ระหว่างเรียน และจบมาแล้วยังมีงานทำ เพราะการฝึกงาน 1 ปี และยังได้คุณภาพตรงกับสถานประกอบการต้องการ จึงจ้างให้ทำงานต่อหลังจากที่จบการศึกษาเลย
ในอดีตเคยลองผิดลองถูก
ดร.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแบบเรียนระบบทวิภาคี ได้เริ่มลองผิดลองมานานแล้วเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ทำแบบมีปัญหา คือ คิดอยู่ แต่ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะสถานศึกษาไม่ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนที่เห็นว่าเป็นเรื่องของรัฐที่จะผลิตคนมีคุณภาพป้อนให้กับตลาดแรงงาน
แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ได้นำระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาคีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ถือเป็นช่วงที่เรียกได้ว่า เป็นการพลิกโฉมคุณภาพอาชีวะด้วยเครือข่าย ที่มีการพลิกโฉมแบบแรงๆ
ในปัจจุบันเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ เรียกได้ว่าพลิกโฉมได้แรงสุดๆ เพราะในช่วงจังหวะเวลานี้ ถือว่าสัญญาณชัดเจนมาก โดยท่านนายกฯ ได้ให้แนวทางมาดำเนินการที่อยู่ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ผู้เรียนอาชีวศึกษา คือผู้ทรงคุณค่าของสังคม” รวมถึงดำเนินนโยบายให้อาชีวศึกษาพัฒนาคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยใช้ระบบภาคีเครือข่ายร่วมกับภาครัฐและเอกชน
นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างการทำงาน เพื่อทำงานในเชิงระบบในกระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา และมีคณะทำงาน คือทบวงกรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและสนับสนุนอยู่ 9 กระทรวง รวมถึงสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย องค์กรวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ใช้กำลังคน
การพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ของอาชีวศึกษาในยุคนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งมีการตั้งอนุกรรมการ กรอ.อศ.กลุ่มอาชีพ ที่สอดคล้องกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมและสภาวิชาชีพ ขึ้นมาเป็นกลุ่มนำร่องใน 10 สายอาชีพ อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยแนวทางของรัฐบาลที่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะให้พัฒนากระบวนการอย่างยั่งยืน จากกลุ่มนำร่องที่มีการร่วมมือกันเมื่อปี 2556 ได้ปรากฏให้เห็นผลชัดเจนถึงความสำเร็จที่ภาคเอกชนสามารถให้ข้อมูลกับอาชีวศึกษาได้ ถึงความต้องการคนทำงาน ทั้งในด้านปริมาณและคุณสมบัติ ที่สถานการศึกษาจะได้นำมาปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนให้ตรงกับดีมานด์ ซึ่งผลจากการดำเนินครั้งนี้ ยังขยายไปถึงวิธีการจ้างคนทำงานของบริษัทเอกชนแบบใหม่ ที่ใช้เกณฑ์จ่ายค่าจ้างโดยพิจารณาจากคุณสมบัติการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ใช้เกณฑ์จ่ายค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
ล่าสุดยังขยายกลุ่มอาชีพออกมาอีกเป็น 25 กลุ่มอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน ตามที่สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมและสภาวิชาชีพเห็นชอบ
นอกจากนั้นยังมีการเสนอให้ตั้งกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีวศึกษาขึ้นมา ทำให้ปัจจุบันนี้กลุ่มย่อยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีวศึกษานั้น ทางสภาอุตสาหกรรมได้ขอรับเป็นเจ้าภาพ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง่ชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาร่วมด้วย
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศจีนและสิงคโปร์ โดยประเทศเหล่านี้มักจะได้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่มาจากการต่อยอดจากผู้เรียนในกลุ่มนี้
นับว่าความลงตัวจากนโยบายรัฐที่มีความชัดเจนไฟเขียว ในความร่วมมือเครือข่ายภาคเอกชนและรัฐในครั้งนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงการผลิตคนสายอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ ตรงกับตลาดแรงงานได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือ ช่วยยุติคำครหาที่ว่า สถานการศึกษาผลิตนักศึกษาสายอาชีพที่มีปริมาณมากและไม่มีคุณภาพ
หัวใจสำคัญของการปฏิรูปอาชีวศึกษา
การที่อาชีวศึกษาพัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคน ด้วยระบบเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน โดยใช้ระบบทวิภาคีเป็นหลัก
มีสิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การศึกษาอาชีวศึกษาไม่ใช่การศึกษาในระบบ ปวช. ปวส. ในระบบการศึกษาเท่านั้น แต่การศึกษาของอาชีวศึกษาในปัจจุบัน จะต้องมีการขยายเป็นการอาชีวศึกษาเพื่อทุกคน หรือเรียกว่า ระบบการศึกษาเพื่ออาชีพตลอดชีวิต ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเปิดรั้วให้คนทั่วไปทุกๆ ระดับอายุ ทั้งที่มีงานประจำหรือว่างงาน มีโอกาสเข้ามาเรียนฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งมีทั้งหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรนอกระบบ ในระบบ ซึ่งต้องเป็นแบบทวีภาคีด้วยเช่นกัน
ประการที่สอง คือ การพัฒนาระบบการตอบแทนแบบมาตรฐานวิชาชีพ หรือระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ค่าตอบแทนสอดคล้องกับความสามารถของแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน และส่งเสริมค่านิยมในการเรียนสายอาชีพ
ประการที่สาม การพัฒนาสาระและสาขาวิชาการต่างๆ รวมถึงกำลังพลในระบบนี้ จะต้องพัฒนาในรูปคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน
ประการที่สี่ ต้องพัฒนาองค์กรให้สอดคล้อง คือ การจัดโครงสร้างเดิมที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แล้วมีหน่วยงานย่อยอื่นๆ โดยเปลี่ยนมาเป็นจัดกลุ่มงานทั้งในราชการและเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ
สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนก้าวต่อไปนี้ ระบบของการอาชีวศึกษาที่เป็นความร่วมมือ และการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงวัตถุประสงค์ของการผลิตคนอาชีวะ ที่มีการสร้างมาตรฐานใหม่จากเดิมที่ว่า ทุกคนจบออกไปมีความสามารถในการประกอบอาชีพนั่นคือ 1.ผลิตคนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ตามมาตรฐานที่สถานประกอบการต้องการ 2.การบ่มเพาะให้คนที่จบอาชีวะพร้อมจะยกระดับขึ้นเป็นผู้ประกอบการอีกด้วย
ดร.อกนิษฐ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ต้องเปลี่ยนวิชันอาชีวะ และต้องปรับลุคใหม่เลย โดยการปฏิรูปต่างๆ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนสถานที่เรียน ซึ่งจากเดิมที่เรียนทฤษฎีนั่งอยู่แต่ในห้องเรียน จากนี้ต่อไปคือ การเรียนเป็นเรื่องเป็นโปรเจกต์เลิร์นนิ่ง รวมทั้งเด็กต้องเข้าไปเรียนรู้ในโรงงาน และเปลี่ยนการสอนจากการสอนที่ฟังครูอย่างเดียวมาให้เด็กคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมคนรุ่นใหม่ และปฏิรูปการสอบจากเน้นข้อเขียนอย่างเดียวโดยเสริมเรื่องการลงมือในภาคปฏิบัติเข้ามาร่วมในการประเมินด้วย
การเรียนของอาชีวะที่มีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นระบบทวิภาคีนั้น ได้ร่วมกับสถานประกอบการ เรียกได้ว่ายกโรงงานมาไว้ในวิทยาลัยเลยก็ว่าได้
“ถ้าเข้าไปในวิทยาลัยอาชีวะในกลุ่มเครื่องยนต์จะเห็น โตโยต้าเซ็นเตอร์ อีซูซุเซ็นเตอร์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะเห็นพานาโซนิค ซันโย ส่วนกลุ่มเกษตรจะเห็นโรงงานให้นักศึกษาฝึกงานของซีพี เบทาโกร เข้าไปในวิทยาลัย”
รูปแบบที่สอง คือ วิทยาลัยไปตั้งในโรงงาน ซึ่งเป็นการนำเด็กไปเรียนในสถานที่และสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งมีโรงงานจำนวน 9,800 แห่งที่รับเด็กอาชีวะเข้าไปเรียน อาทิ การขึ้นป้ายสถานศึกษา วิทยาลัยการอาชีพแม่สอด แต่ตั้งอยู่ในโรงงาน
รูปแบบที่สาม คือ การตั้งวิทยาลัยในชุมชน หรือ Social Shop เป็นบริการซ่อมถึงบ้าน บริการถึงที่อาชีวะดิลิเวอรีเพื่อปวงชน ซึ่งถือว่าคือแหล่งการเรียนโดยใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด
นอกจากนี้นักเรียนอาชีวะหลักสูตรทวิภาคี ยังมีรายได้ระหว่างเรียน และจบมาแล้วยังมีงานทำ เพราะการฝึกงาน 1 ปี และยังได้คุณภาพที่ตรงกับสถานประกอบการต้องการจึงจ้างให้ทำงานต่อเลย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างนำร่องที่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้คณะ กรอ.อศ.ทั้ง 26 กลุ่มขอให้มีการเรียนการสอนแบบทวิภาคีหรือหลักสูตรเข้มข้นที่ให้มีการฝึกงานอย่างน้อย 6 เดือน
นี่คือการเรียนอาชีวะแบบใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว
เป้าหมายในอนาคต
ปัจจุบัน โครงสร้างหลักสูตรให้เป็นการจัดการเรียนการสอนในระบบและในระบบทวิภาคีแบบ 100% นั้นมีเริ่มนำร่องอยู่ 5 แห่ง และอยู่ในโครงการทวิภาคี 42 แห่ง ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะยกระดับขึ้นมาเป็นการเรียนระบบทวิภาคีทั้งหมดและตั้งเป้าจะมีวิทยาลัยในระบบทวิภาคี 50 แห่ง
กลุ่มที่ 2 ซึ่งมีการเรียน การสอนในระบบทวิภาคีได้แล้วร้อยละ 50 มีอยู่ประมาณกว่า 100 แห่ง
กลุ่มที่ 3การสอนในระบบทวิภาคีได้แล้วร้อยละ 25
สอศ.ได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า “สถานศึกษาของอาชีวศึกษา” จะสามารถผลิตคนที่อยู่ในระบบทวิภาคีทั้ง 3 รูปแบบ เพื่อมาป้อนตลาดแรงงานได้ภายใน 3 ปีนี้ ซึ่งจะสามารถพลิกโฉมกำลังคนแบบทวิภาคีได้มากว่าร้อยละ 50 นี่คือเป้าหมาย ซึ่งในปีที่ 5 และปีที่ 6 จะทยอยออกมา พร้อมทั้งส่งผลลัพธ์ให้เห็นถึงคุณภาพคน ตรงต่อความต้องการตลาดแรงงานได้อย่างสมบูรณ์และชัดเจนภายในเวลา 9 ปี
ดังนั้นหากว่าสามารถดำเนินการไปสู่การผลิตคนได้ตามเป้าหมายนั้น เชื่อว่าการเรียนด้านอาชีวะจะสามารถสร้างชาติได้อย่างแท้จริง เห็นได้จากการทำกิจกรรมโครงการออกค่ายอาสาทำประโยชน์ให้แก่สังคม โดยนำความรู้และทักษะในสายอาชีพที่เรียนสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้ โดยเฉพาะโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ศูนย์ให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์การเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยทีมนักเรียนนักศึกษาและครูอาชีวะ ออกให้บริการประชาชนที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโครงการจิตอาสา ที่ปลูกจิตสำนึกนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ให้ช่วยชาติได้แม้ว่ายังศึกษาอยู่ก็ตาม
ต่อไปคนจะไม่มองข้ามอาชีวศึกษา เพราะแนวโน้มต่อไปของประเทศไทย จะใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ เด็กจะหันมามองการเรียนด้านเทคนิคสายอาชีพมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเรียนสายสามัญ มาทางนี้ก็ได้ปริญญาตรี และยังเป็นก้าวที่มั่นคง เรียนจบแล้วมีงานทำเลย
ดร.อกนิษฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากสายวิชาชีพที่เกี่ยวกับช่างแล้ว สายวิชาชีพที่มาแรง ได้รับการตอบรับที่ดีจากสถานประกอบการ คือ สายวิชาชีพทางพาณิชย์ บัญชี บริหารธุรกิจ ค้าปลีก กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม ลอจิสติกส์ นั้นเป็นสายงานที่สถานประกอบการคัดคนไปทำงานได้เลย โดยไม่ต้องไปเทรนนิ่ง ซึ่งเป็นหลักสูตรสั่งตัดที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกคนทำงานได้อย่างใจ
นับว่าการปฏิรูปอาชีวศึกษาในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้แบบยั่งยืน เพราะเด็กอยู่ในสถานประกอบการที่ผู้ประกอบการสามารถปั้นได้ดั่งใจอยู่แล้ว ส่วนเด็กได้บรรจุงานตั้งแต่ระดับ ปวช. ตัวอย่างเด็กที่เรียนการโรงแรม จะได้รับการบรรจุตั้งแต่จบ ปวช. ปวส. และยังได้เรียนต่อระบบทวิภาคีในระดับปริญญาตรี ในสถานประกอบการอีกด้วย ซึ่งปรากฏว่าเด็กได้อายุงานตั้งแต่ก่อนเรียนจบ ได้วุฒิปริญญาตรีด้วย เพราะฉะนั้นเด็กที่จบปริญญาตรีมาก็ต้องมาเป็นลูกน้องเด็กที่เรียนทวิภาคี ซึ่งรับเงินเดือนมากกว่า ตำแหน่งสูงกว่า
ที่สำคัญผลงานของเด็กอาชีวะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งชนะเลิศระดับอาเซียน และชนะเลิศระดับโลก เพื่อนำมาแสดงในงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้ความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรม และมีการจดสิทธิบัตร อนุบัตร หลังจากนั้นสภาอุตสาหกรรมจะนำผลงานเหล่านี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์อีกด้วย
ดร.อกนิษฐ์ กล่าวตอนท้ายว่า ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของนานาประเทศนั้น ประเทศไทยยังเป็นหัวหอกของการพัฒนาอาชีพอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยเตรียมจะก้าวไปสู่เป้าหมายเป็นฮับอาชีวะอาเซียน ตั้งแต่ระดับประเทศในกลุ่ม CLMV มีประเทศกัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม เช่นเดียวกับการเป็นฮับอาชีวะในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีนั้น ประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางหลักในการพัฒนาครูอาจารย์ในกลุ่มอาชีวศึกษาอาเซียน โดยเฉพาะการวางแผนเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานอาชีวะ การผลิตกำลังคนจำแนกตามสาขา และระดับฝีมือของพื้นที่ และประเทศต่างๆ
สำหรับในหลักการของการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย ให้เป็นศูนย์กลางของอาชีวศึกษาในอาเซียน ได้วางแผนดำเนินการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) เพื่อไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ สนองนโยบายความต้องการกำลังคนของประเทศและเตรียมประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั่นเอง