xs
xsm
sm
md
lg

แฉช่องโหว่ทุจริตทีวีดิจิตอล ช่อง 3 สุดแสบแทงกั๊กดึงโฆษณาอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรมคนไทยกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล หลังช่อง 3 ดึงเรื่องไม่ยอมนำรายการบน Analog ออกอากาศบนทีวีดิจิตอล ผู้ชมต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มตัวแยกสายอากาศเพื่อชมทั้งระบบ Digital และ Analog ไม่งั้นดูละครช่อง 3 ไม่ได้ คนในวงการแฉเหตุที่ช่อง 3 ไม่ยอมขึ้น เพราะครองส่วนแบ่งโฆษณาในระบบเดิมแค่รายเดียว ขณะที่ทีวีดิจิตอลโฆษณาและคนดูยังน้อย ชี้ช่องโหว่ทุจริตเพียบ Set Top Box ต้นทุนไม่เกิน 500 บาท กำไรเพียบ แนะจับตาบ้านที่ติดจานดาวเทียมและเคเบิลที่ไม่ใช้สิทธิคูปองอาจถูกสวมสิทธิได้

ยังคงเป็นเรื่องที่ปวดหัวสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอล จาก 6 ช่องเป็น 24 ช่องในเวลานี้ แม้ผู้ประกอบการจะเริ่มแพร่ภาพกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา หลังจากที่ประมูลได้มาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งแต่ปลายปี 2556

แต่ดูเหมือนการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้กลับล่าช้ากว่าที่คิด จนกระทั่งผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องรวมตัวกันในนามสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ออกมาเรียกร้องให้ กสทช.เร่งดำเนินการแก้ปัญหา มิเช่นนั้นอาจจะไม่จ่ายเงินค่าสัมปทานในครั้งต่อไป พร้อมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับคูปองมูลค่า 690 บาท พร้อมเรียกร้องให้มีการแจกคูปองที่ 1,000 บาทตามเดิม

ทุกวันนี้ผู้ชมโทรทัศน์ส่วนใหญ่ยังชมรายการในระบบเดิม(Analog) 6 ช่องราย ผ่านเสาอากาศแบบก้างปลา ส่วนผู้ชมที่ติดตั้งจานดาวเทียมหรือเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีจะได้รับชมช่องรายการของทีวีดิจิตอลที่ออกอากาศใหม่ 24 ช่องเพิ่มขึ้นตามกฎของ กสทช.

ขณะที่ขั้นตอนหรือมาตรการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนทั้งประเทศเปลี่ยนไปรับชมทีวีดิจิตอลนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง นั่นคือการแจกคูปองให้กับทุกครัวเรือน มูลค่า 690 บาท เพื่อนำไปแลกซื้อกล่อง Set Top Box เพื่อรับสัญญาณ DVBT2 ของทีวีดิตอล ที่เลื่อนกำหนดการแจก ล่าสุดอาจจะเริ่มต้นได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้

ความล่าช้าดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายใหม่ อันดับแรกคือมีผู้ชมทีวีดิจิตอลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ประการต่อมาเมื่อมีผู้ชมยังไม่มากนัก เม็ดเงินโฆษณาที่จะเป็นรายได้หลักฟรีทีวีในทีวีดิจิตอลมีน้อยมาก จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มกังวลถึงสถานะของบริษัท เพราะต้นทุนในการผลิตรายการยังคงเกิดขึ้นทุกวัน ถึงเวลานี้ก้าวเข้าเดือนที่ 4 แล้ว

ปัญหาอยู่ที่ช่อง 3

ที่เป็นปัญหาในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้มากที่สุดคือช่อง 3 เพราะฟรีทีวีเดิมช่องอื่นๆ คือ ช่อง 5, 7, 9,11 และช่องไทยพีบีเอส ได้ออกอากาศคู่ขนานกันไประหว่างระบบ Analog กับระบบดิจิตอล แต่ช่อง 3 ระบบ Analog กลับไม่นำเอารายการดังกล่าวออกอากาศคู่ขนานเหมือนกับช่องอื่นๆ แม้จะติดขัดในเรื่องของชื่อนิติบุคคลที่เข้าประมูลทีวีดิจิตอลเป็นคนละชื่อกับช่อง 3 ปกติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตต่อ กสทช.ได้

เมื่อช่อง 3 ปกติไม่นำเอารายการที่มีผู้ชมหลักเป็นข่าวและละครขึ้นทีวีดิจิตอล ทั้งๆ ที่บริษัทลูกของช่อง 3 ประมูลทีวีดิจิตอลได้ถึง 3 ช่องรายการ จึงทำให้เกิดปัญหากับผู้ชมรายการและกระทบไปถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายอื่น

คนที่เป็นแฟนข่าวและละครของช่อง 3 ปกติก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนไปดูช่องรายการบนทีวีดิจิตอล ดังนั้นเรื่องของกล่อง Set Top Box ยังไม่มีความจำเป็นสำหรับผู้ชมกลุ่มนี้ จึงทำให้ฐานผู้ชมรายการฟรีทีวีไม่ได้เข้าไปเพิ่มในทีวีดิจิตอลมากนัก
ช่อง 3 ปัจจุบันออกอากาศทั้ง 4 ช่อง
ทุกข์ของผู้ชม

ตอนนี้ใครที่ซื้อกล่อง Set Top Box มาก่อนที่ กสทช.จะแจกคูปอง ก็จะไม่สามารถรับชมรายการของช่อง 3 ในระบบ Analog ได้ โดย 3 ช่องรายการของช่อง 3 บนทีวีดิจิตอลจะเป็นรายการอื่นที่ไม่ซ้ำกับรายการช่อง 3 Analog

ดังนั้นหากต้องการชมช่อง 3 Analog ก็ต้องสลับสายอากาศกันไปมาระหว่างเครื่องรับทีวีและกล่อง Set Top Box สร้างความยุ่งยากในการรับชมอยู่ไม่น้อย บางบ้านต้องซื้อกล่องแยกสัญญาณสายอากาศมาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถรับชมช่อง 3 Analog และทีวีดิจิตอลได้ หรือถ้าใครมีกำลังทรัพย์พอซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ในตัวที่มีสัญลักษณ์น้องดูดีก็จะรับชมคู่กันได้ แต่นั่นหมายถึงต้องลงทุนราว 1 หมื่นบาท

“ถ้าจะให้จบปัญหานี้จริงคงต้องใช้จานดาวเทียมหรือเป็นสมาชิกเคเบิลที่ต้องนำเอาสัญญาณของทีวีดิจิตอลมาออกอากาศให้ตามกฎของ กสทช.”แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์กล่าว
กล่องแยกสายอากาศเพื่อแก้ปัญหารับชมทีวีดิจิตอลและช่อง 3 ในระบบ Analog
ช่อง 3 บอกพร้อมปีหน้า-แต่เลื่อนได้อีก

ปมปัญหาของช่อง 3 จึงเป็นเรื่องที่ กสทช.พยายามบีบให้ช่อง 3 นำเอารายการปกติบน Analog มาออกอากาศบนทีวีดิจิตอลเหมือนกับช่องอื่นๆ โดยล่าสุดยืดระยะเวลาออกอากาศในระบบปกติให้จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2557 แม้ช่อง 3 จะพยายามต่อสู้ทางกฎหมายแต่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอของ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลสั่งชะลอการบังคับใช้ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สั่งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่โทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แคร์รี) ในวันที่ 25 พ.ค. 2557 ไว้ก่อน

ดังนั้นคงต้องรอดูว่าเมื่อครบกำหนด 100 วัน ตามที่ กสทช.อนุญาตไว้ ช่อง 3 ในระบบ Analog จะรับชมต่อไปได้หรือไม่ และช่อง 3 ปกติจะนำเอารายการขึ้นสู่ทีวีดิจิตอลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารของช่อง 3 ออกมาแถลงแล้วว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับการออกอากาศบนทีวีดิจิตอลของช่อง 3 นั้น จะเป็นต้นปี 2558 โดยเป็นการเลื่อนจากเดิมที่เตรียมการไว้ในเดือนตุลาคม 2557 พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า หาก กสทช.ไม่มีความพร้อมในการดำเนินการก็อาจเลื่อนการออกอากาศบนทีวีดิจิตอลออกไปอีก

7 หมื่นล้านต้นเหตุที่ไม่ไปดิจิตอล

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิตอลที่เดินหน้าต่อไปค่อนข้างยากในเวลานี้ ปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของช่อง 3 ที่ไม่ยอมออกอากาศคู่ขนานกับทีวีดิจิตอล ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องเม็ดเงินโฆษณา 7 หมื่นล้านบาท ฟรีทีวีในระบบ Analog มีเพียง 4 ช่องหลักที่แย่งเม็ดเงินโฆษณากันคือช่อง 3, 5, 7, 9 ส่วนช่อง 11 มีส่วนแบ่งน้อยมาก โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 7 ครองส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาไป 70%

บน Analog รายได้จากโฆษณา 7 หมื่นล้าน หารกัน 4 ราย ช่อง 3 และ 7 ครองส่วนแบ่งมากที่สุด หากจะขึ้นไปบนทีวีดิจิตอลที่มีผู้ประกอบการอีก 24 ราย เงิน 7 หมื่นล้านก็ต้องหาร 24 เท่ากับรายได้ของช่อง 3 ย่อมต้องลดลง

อีกทั้งการออกอากาศแบบคู่ขนานกับระบบดิจิตอลนั้นจะทำให้อัตราค่าโฆษณาของช่อง 3 ลดลงไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากฐานผู้ชมในทีวีดิจิตอลยังมีน้อย ที่ผ่านมาช่อง 7 ที่ออกอากาศคู่กับทีวีดิจิตอลนั้นอัตราค่าโฆษณาก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้นการที่ช่อง 3 ยังดึงเอาระบบ Analog ไว้จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเพียงรายเดียว เนื่องจากช่อง 7 ขึ้นทีวีดิจิตอลแล้ว เพราะโฆษณาส่วนใหญ่ยังไม่ตามไปที่ทีวีดิจิตอล

นี่จึงเป็นปัญหาหลักที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลต้องล่าช้าออกไป

Set Top Box กำไรล้วนๆ

อีกปัญหาหนึ่งนั่นก็คือการแจกคูปองเพื่อแลกซื้อกล่อง Set Top Box ที่ผ่านมาเกิดข้อครหาขึ้นในเรื่องของมูลค่าคูปองที่เดิมกำหนดไว้ที่ 1,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ถูกท้วงติงจนลดลงมาเหลือ 690 บาท

นักวิชาการด้านวงการโทรทัศน์กล่าวว่า หลายคนอาจมองว่า 690 บาทน้อยเกินไป เพราะกล่อง Set Top Box ที่ขายกันตามท้องตลาดในเวลานี้มีราคาเกิน 1,000 บาทขึ้นไปทั้งนั้น ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าคูปองดังกล่าวเป็นเพียงdkiสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับคูปองไปแล้วอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่ก็จ่ายน้อยลงเพราะ กสทช.สนับสนุนบางส่วน

หากแจกคูปองที่ 1,000 บาท ก็จะทำให้ผู้ประกอบการกล่อง Set Top Box เหล่านี้ไม่ลดราคาลงมา คนที่อยู่ในวงการนี้ทราบดีว่าต้นทุนกล่อง Set Top Box อยู่ที่เท่าไหร่ คูปองที่ 690 บาทนั้นสามารถซื้อกล่อง Set Top Box ได้ เพียงแต่ฟังก์ชันในการใช้งานอาจจะไม่สะดวกมากนัก หากต้องการฟังก์ชันที่สะดวกมากขึ้นก็ต้องเพิ่มราคา

อย่างกล่องรับสัญญาณของเจ้าดัง ที่ไม่มีฟังก์ชันอะไรพิเศษ ไม่มีหน้าจอบอกหมายเลขช่อง เดิมขายกันที่ 1,490 บาท ตอนนี้ก็ลดราคาลงมาแล้วเหลือแค่ 1 พันต้นๆ กล่องประเภทนี้ทำหน้าที่เพียงเพื่อให้รับชมรายการบนทีวีดิจิตอลได้เป็นหลัก ส่วนใครที่ต้องการความพิเศษอื่น เช่น ช่องเสียบ USB หรือสามารถบันทึกรายการได้ก็ต้องจ่ายเพิ่ม

หากเป็นไปตามประกาศเดิมที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเสนอขายกล่องรับสัญญาณที่ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 250 ล้านบาทนั้น เท่ากับเป็นการล็อกสเปdให้กับรายใหญ่ ซึ่งในประเทศไทยมีไม่กี่ราย และรายที่มีคุณสมบัติถึงนั้นก็เคยมีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มการเมืองเก่าที่เพิ่งพ้นอำนาจไป ตรงนี้คงต้องขึ้นกับ กสทช.ว่าจะเปิดกว้างให้กับรายเล็กๆ ด้วยหรือไม่

ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เรียนตามตรงต้นทุนของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลนี้ ไม่ว่าจะเจ้าใหญ่หรือเล็กก็ไม่ผลิตเองทั้งสิ้น เกือบทั้งหมดว่าจ้างผู้ผลิตในประเทศจีนดำเนินการให้ ต้นทุนจริงไม่เกิน 500 บาทต่อกล่อง หากไปแจกคูปองที่ 1,000 บาทเหมือนเดิมก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ผู้ขายกล่องรวยมากขึ้นกว่าเดิม

“ลองคำนวณง่ายๆ คูปองที่ 690 บาท กำไร 200 บาทต่อกล่อง คูปองที่จะแจกทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน นั่นเท่ากับมีกำไรราว 4,400 ล้านบาท แล้วถ้ายังขายที่ราคา 1,000 บาท ลองคิดดูกำไรเป็นเท่าไหร่ ยิ่งถ้าล็อกสเปกให้รายใหญ่เป็นหลักแล้วย่อมสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการรายอื่น”

ล่าสุด กสทช.เตรียมยกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการแลกกล่อง Set Top Box ได้แก่ ทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 1-250 ล้านบาท เงินหลักประกัน 5% จุดบริการแลกคูปอง 5 แห่งต่อจังหวัด จุดบริการหลังการขาย 2 แห่งต่อจังหวัด มี Call Center เพื่อรับเรื่องร้องเรียน แจ้งปัญหาต่างๆ
กล่อง Set Top Box อุปกรณ์ในการรับชมทีวีดิจิตอล
กสทช.สร้างปัญหา

ปัญหาที่จะตามมาอีกประการหนึ่งที่เป็นผลจากกฎเกณฑ์ของ กสทช.นั่นคือข้อกำหนดที่ให้เวลาในการโฆษณาโดยฟรีทีวีกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 12 นาที ขณะที่โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาที โดย กสทช.บังคับให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวีต้องนำเอาสัญญาณของฟรีทีวีขึ้นตามกฎ Must Carry

ฟรีทีวีโฆษณาได้ 12 นาที ดาวเทียม เคเบิล โฆษณาได้ 6 นาที แล้วอย่างนี้การนำเอาสัญญาณของฟรีทีวีออกบนจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีก็จะมีปัญหาเรื่องการผิดกฎเกณฑ์ที่ กสทช.เป็นคนกำหนดเอง ถามว่าใครจะมานั่งตัดโฆษณาของฟรีทีวีออกไป ที่ผ่านมากฎ Must Carry ก็เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่แล้ว บังคับให้ต้องเอาช่องรายการทั้งหมดขึ้นออกอากาศ 24 ช่อง และจะเป็น 36 ช่องในอนาคต

การนำเอาสัญญาณของฟรีทีวีขึ้นไปด้วยทำให้ผู้ประกอบการดาวเทียมและเคเบิลมีต้นทุนมากขึ้น และเสียช่องสัญญาณในการออกอากาศไป ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเคเบิลท้องถิ่นที่ลงทุนไม่มากนัก ช่องสัญญาณทำได้เพียง 60 ช่อง ต้องเอา 36 ช่องเพิ่มเข้าไปจึงเหลือเพียง 24 ช่องที่เป็นของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาในทางธุรกิจเพราะไม่จูงใจให้กับลูกค้าได้เหมือนเดิม และอาจถึงขั้นยกเลิกสมาชิก

นอกจากนี้หลักเกณฑ์ของ กสทช.ยังเปิดช่องการทุจริต หากไม่ปรับลดเรื่องคุณสมบัติของผู้ขายกล่อง Set Top Box ที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาทขึ้นไป และโอกาสของการทุจริตก็ยังมีอีกนั่นคือเรื่องคูปอง แม้จะลดราคาลงมาที่ 690 บาทแล้วก็ตาม

อย่าลืมว่า 22 ล้านครัวเรือน อาจมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่เต็มจำนวน เนื่องจากมีผู้ชมในประเทศไม่น้อยที่เปลี่ยนการรับชมรายการทีวีจากเสาอากาศแบบก้างปลามาเป็นจานดาวเทียมเสียส่วนใหญ่ บางรายก็เป็นสมาชิกของเคเบิลทีวี คูปองที่แจกไปจะต้องมีส่วนหนึ่งที่ไม่มีการใช้สิทธิตรงนี้ หากมีการนำเอาคูปองในส่วนนี้มาขึ้นเงิน กสทช.จะตรวจสอบเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะการจะลงไปสำรวจทั้ง 22 ล้านครัวเรือนย่อมเป็นไปไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น