xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกพลังมวลชนบนถนนราชดำเนิน หวั่น “สุเทพ” พ่ายโดน “บิ๊กทหาร” หักหลัง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิเคราะห์ชัยชนะ กปปส. เคลื่อนขบวนสู่สมรภูมิเอก “ราชดำเนิน” ชัยภูมิ-ประวัติศาสตร์นำสู่ชัยชนะ ฝ่ายความมั่นคงเชื่อหลังวันที่ 5 พ.ค. จะมีเหตุการณ์รุนแรง นำสู่ทหารประกาศกฎอัยการศึก แต่ถ้าหากไม่ การต่อสู้ของ กปปส. อาจชนะยาก เว้นแต่กลับสู่เจรจาแบบ “มาร์ค” แต่จะชนะแค่ 40% จับตา “ทหารหักหลังสุเทพ”?

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ร้อนแรงไม่แพ้อากาศเดือนเมษายน

ร้อนเพราะคดีความ 2 คดีใหญ่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่เป็นธรรมที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ และคดีทุจริตจำนำข้าวในมือ ป.ป.ช. กำลังจะชี้มูลในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว

ร้อนเพราะ ส.ส. อีสานต่างระดมมวลชนทุกจังหวัด พร้อมทั้งการโฟนอินมาปลุกพลังคนเสื้อแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อรับมือผลการตัดสินของทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.

ร้อนเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ดีๆ ก็ประกาศตัวเป็นคนกลาง เจรจากับทุกฝ่าย ขัดกับแนวทางของ กปปส.

และร้อนเพราะนายสุเทพประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับนายอภิสิทธิ์ ยืนยันจะต่อสู้ต่อไปด้วยแนวทางของการไม่เจรจา และต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พร้อมเคลื่อนพลกลับมาที่ตั้งสำคัญที่ “ถนนราชดำเนิน” เดินหน้าศึกครั้งสุดท้าย

ทำไมต้องราชดำเนิน?

“ราชดำเนิน” หัวใจของการต่อสู้ของประชาชน

ดร.ประยูร อัครบวร อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 กล่าวว่า ราชดำเนินถือเป็นหัวใจของการต่อสู้ทางการเมือง ทุกครั้งฝ่ายชนะจะใช้ราชดำเนินเป็นหลัก

ขณะที่สวนลุมเป็นพื้นที่ที่เป็นเหมือนที่พักผ่อนมากกว่า โดยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของประชาชนแล้ว สวนลุมอาจเป็นที่ที่เหมาะ แต่สำหรับในการศึกแล้ว สวนลุมถือเป็นกองทัพสัประยุทธ์ แต่ไม่ใช่กองทัพหลวง

“กองทัพหลวงทุกครั้งจะต้องอยู่ที่ที่มั่น ที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการต่อสู้คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ในแง่ประวัติศาสตร์แล้วใครที่ยึดสมรภูมิตรงนี้ได้ตอนจบก็จะชนะ” ดร.ประยูรกล่าว

ด้านแหล่งข่าวอดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา กล่าวเช่นเดียวกันว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญที่ควรจะยึดไว้เป็นสมรภูมิหลัก

โดยเฉพาะการต่อสู้ในสมัย 14 ตุลาคม 2516 ของนักศึกษาที่ทุกคนต่างต่อสู้เพื่อ 2 ประการสำคัญคือ เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อรัฐธรรมนูญ

“ทุกคนมาด้วยใจ เป็นการสู้แบบยอมตาย เป็นการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์ที่สุด พอได้รัฐธรรมนูญมาแล้ว ก็ยิ่งถือว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญสำหรับนักศึกษาที่ต่อสู้แบบยอมตาย”

เป็นการยอมตายเพื่อยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่วันนี้ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่าเป็นการต่อสู้ที่บริสุทธิ์ที่สุด

การเคลื่อนทัพ กปปส.ของนายสุเทพ กลับมาที่ราชดำเนินจึงมีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนเพื่อต้องการให้ได้การเมืองที่ดี ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองใหม่ แล้วจึงนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“การต่อสู้วันนี้ถ้าเปลี่ยนผ่านไปได้ เหมือนกับบ้านเมืองจะได้บทเรียนอีกครั้ง ประชาธิปไตยของไทยจะเดินหน้าไปอีกมาก”

สิ่งนี้คือปรัชญาการต่อสู้ที่สำคัญ ที่ครั้งนี้ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้อีกครั้ง

ในส่วนของยุทธวิธี เมื่อนายสุเทพนำ กปปส. เคลื่อนทัพกลับมา ก็จะเป็นการเข้าร่วมทัพกับกองทัพธรรม ประสานกำลังการต่อสู้มากขึ้นอีกมาก

ดังนั้น ราชดำเนินมีความสำคัญอย่างยิ่งทางการต่อสู้ทางการเมือง

“แต่อย่าไปมั่นใจว่าราชดำเนินจะนำไปสู่ชัยชนะเสมอไป”

การที่ กปปส. จะชนะหรือแพ้ ไม่ใช่อยู่ที่สมรภูมิรบเพียงอย่างเดียว เมื่อวันนี้ชัยชนะของนายสุเทพมีได้ประการเดียวคือ ทหาร

“คดีที่กำลังจะตัดสินทั้งสองคดี เป็นคดีร้ายแรง โดยเฉพาะคดีที่ ป.ป.ช. จะตัดสิน ถ้าชี้มูลความผิดจะมีการส่งเรื่องไปให้ศาลอาญาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดี ซึ่งคดีนี้เนื่องจากเป็นคดีทุจริต คุณยิ่งลักษณ์จะต้องติดคุกถ้ามีความผิด” แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าว

ขณะเดียวกัน ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองว่า ฝ่ายของนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย คงจะไม่ยอมรับความผิด

และใช้วิธีเดิมๆ คือประกาศไม่ยอมรับการตัดสิน และสู้ด้วยการตีความกฎหมายไปคนละทางกับที่ถูกตัดสิน

การเมืองจะหาจุดจบได้ยาก

“ฝ่ายมั่นคง” จี้ถามทหาร “เมื่อไรจะออก”

ส่วน กปปส. ยืนยันได้ว่า จุดจบเดียวของ กปปส. คือทหาร และเชื่อว่า ทหารกับนายสุเทพมีข้อตกลงกันมานานแล้วว่าจะต่อสู้ด้วยกันอย่างไร

เพียงแต่เมื่อฝ่ายหนึ่งคือนายสุเทพทำตามที่ตกลงกันไว้แล้วทุกอย่าง คือชุมนุมตามหลักอหิงสา และไม่เล่นประเด็นที่จะเกี่ยวข้องกับเบื้องสูง ดังนั้นเหลือแค่ว่า อีกฝ่ายหนึ่งในข้อตกลงจะออกมาเมื่อไร

“ผมเชื่อว่าทหารมีการตกลงกับคุณสุเทพไว้แล้ว ตอนนี้คุณสุเทพก็ทำมาแล้วตามข้อตกลงถึง 6 เดือน ตอนนี้ก็อยู่แค่ทหารจะทำเมื่อไร”

คำถามที่มีตอนนี้จึงมีคำถามเดียวคือ “When” เมื่อไร?

“เมื่อไรที่ทหารประกาศกฎอัยการศึก เมื่อนั้น กปปส. ถึงจะได้ชัยชนะ เป็นทางเดียว มองไม่ออกถึงทางชนะอื่นอีกแล้ว และสถานการณ์ทางการเมืองจึงจะคลี่คลาย บ้านเมืองก็ไปต่อได้”

ปัญหาตอนนี้คือทหารยุคนี้ ความเข้มแข็งเด็ดขาดไม่มี และยังตีโจทย์ไม่แตก ตกหลุมบ่อในเกมของฝ่ายตรงข้าม

“ทหารยุคนี้ ไม่เหมือนทหารรุ่นพี่ เป็นทหารขี้ปอด ตีประเด็นไม่แตก ติดกับดักที่เขาพูดว่า การเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง วันนี้มันไม่ใช่เรื่องการเมืองแล้ว มันเป็นเรื่องของบ้านเมือง”

ดีเดย์คือหลังวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่จะมีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว

ถ้าทหารไม่ออกรอบนี้ นายสุเทพจะตกที่นั่งลำบาก

“เมื่อตกลงกันแล้ว ไม่ทำตามการตกลง นายสุเทพก็เท่ากับถูกหักหลัง ดังนั้นตอนนี้คือดูท่าทีทหาร ขณะที่นายสุเทพกำลังจะทำศึกครั้งสุดท้าย คือนำมวลชนมาช่วยให้ฝ่ายกองกำลังได้ความชอบธรรมในการออกมาประกาศกฎอัยการศึก หรือปฏิวัติ แต่ถ้าทหารไม่ออกคือจบกัน”

แต่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อไร ทหารก็มีเหตุผลที่จะประกาศกฎอัยการศึก

ปรับกระบวนรบ-วนกลับมาเคลื่อนใหม่

ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การนำทัพออกจากสวนลุม กลับมาที่ราชดำเนินครั้งนี้ของนายสุเทพ นอกจากเป็นเรื่องเหตุผลทางชัยภูมิ และเหตุผลทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการวนกลับกระบวนการเคลื่อนไหวด้วย เรียกว่าเป็นการขยับฐานะการต่อรองใหม่

กล่าวคือ การต่อสู้ของนายสุเทพขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแล้ว ด้วยมวลมหาประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมถึง 1 ล้านคน และขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ 5 ล้านคน การย้ายไปอยู่สวนลุมทำให้ฐานะการต่อรองทางการเมืองลดลงไปส่วนหนึ่ง การเคลื่อนตัวไปสุดแล้ว ฐานะการต่อรองจะลดลงไปเรื่อยๆ

แต่การผลักดันรัฏฐาธิปัตย์จำเป็นจะต้องใช้ฐานะการต่อรองทางการเมืองที่สูง

ดังนั้น นายสุเทพ ต้องเปลี่ยน ให้การขับเคลื่อนกลับมาวนใหม่ เป็นกระบวนการการเคลื่อนมวลชนใหม่ขึ้นมา ด้วยการเรียกระดมพลครั้งใหญ่ครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้

อย่าลืมว่าการระดมพลเกินเป้าครั้งแรกของนายสุเทพก็เกิดขึ้นที่ราชดำเนิน ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน แต่คนเข้าร่วมอย่างถล่มทลาย

ครั้งที่สองก็ที่ราชดำเนิน ยาวไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็มีคนเข้าร่วมมากมายมหาศาลถึง 5 ล้านคน

ศึกครั้งสุดท้ายครั้งนี้ คือการที่นายสุเทพหวังจะปลุกมวลชนขึ้นมาใหม่ ให้มวลมหาประชาชนมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้อีกครั้ง

เป็นศึกวัดมวลชน โดยหวังให้มีการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญทางการเมืองอีกครั้ง ไว้ที่นี่

ถนนราชดำเนิน!

กำลังโหลดความคิดเห็น