xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปตำรวจต้องขุดรากถอนโคน 6 ข้อหลัก คิวแรกตีกรอบ “ผบ.ตร.” ห้ามการเมืองยุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฉวงการตำรวจยุคระบอบทักษิณ ยึดครอง สตช.การทำธุรกรรมทุกประเภทกลายเป็นธุรกิจ เกิดวงจรอุบาทว์ “โกงกิน-ทำสิ่งผิดกฎหมาย-เพื่อได้เงินมาซื้อตำแหน่ง” จนระบาดไปทุกระดับ ทุกพื้นที่ ด้านอดีตรอง ผบช.น.ชี้จะปฏิรูปโครงสร้างตำรวจสำเร็จได้ ต้องขุดรากถอนโคน โดยเฉพาะตำแหน่ง “ผบ.ตร.” ต้องหลุดพ้นอำนาจการเมือง อีกทั้งปรับเงินเดือนตำรวจให้สูงเท่า DSI รื้อวัฒนธรรมส่งส่วย และปลูกฝังจริยธรรมใหม่ให้วงการตำรวจ!

1 ใน 6 เรื่องสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทย ที่ กปปส.โดยการนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ที่เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือการ “ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ” และได้รับการตอบรับอย่างมากจากสังคมว่าเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนจริงๆ ที่จะต้องรื้อองค์กรตำรวจออกและสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะวันนี้ ตำรวจไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชน ตำรวจเป็นดั่งคนที่มีแต่ผลประโยชน์ที่เรียกเก็บจากประชาชน และที่แสบคือตำรวจกลายเป็นผู้รับใช้นักการเมืองไปเต็มๆ

ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดสัมมนาเรื่อง “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย” โดยการนำเสนอผลวิจัยเผยแพร่ผลสำรวจและประสบการณ์เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจคือ ดัชนีที่วัดความเห็นของประชาชนในประเทศนั้นๆ ที่มีต่อการคอร์รัปชันในประเทศต่างๆ หรือการนำมาตรวัดคอร์รัปชันโลก (Global Corruption Barometer) มาสำรวจสถานการณ์การรับรู้ของคนไทยว่าเป็นอย่างไร 12 คำถาม โดยเฉพาะคำถามที่ว่า คุณเห็นว่าสถาบันใดในประเทศไทยมีการคอร์รัปชันมากที่สุด และจากประสบการณ์ของคุณ หน่วยงานภาครัฐใดที่คุณเคยติดสินบนมาปรับใช้สำรวจในประเทศไทย

พบว่า “ตำรวจและพรรคการเมือง” เป็นองค์กรที่คอร์รัปชันมากที่สุดในไทยปี 2556!

แถมคนไทยเคยติดสินบนให้ตำรวจมากที่สุดในบรรดาองค์กรรัฐในปีเดียวกัน ขณะที่พรรคการเมืองคอร์รัปชันมากสุด ประเมินจ่ายใต้โต๊ะเพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณ

สิ่งนี้เป็นสิ่งบ่งบอกได้อย่างดีว่า คนในประเทศไทยเวลานี้มีการรับรู้อย่างทั่วไปว่า “ตำรวจ” เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยปัญหาการคอร์รัปชันพอๆ กับสถาบันนักการเมือง และเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขแบบรื้อราก ไม่แปลกที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และอดีตตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนเสนอให้รื้อโครงสร้างตำรวจโดยด่วน และต้องรื้อไปถึงระดับวัฒนธรรมตำรวจ ที่หยั่งรากลึกด้านผลประโยชน์...จนทุกวันนี้

 
6 ข้อเสนอปรับโครงสร้าง “ตำรวจ”

พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเสนอแนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้กับ กปปส. กล่าวว่าการปฏิรูปตำรวจนั้นเป้าหมายคือต้องทำให้ตำรวจกลับมายืนข้างประชาชน เป็นตำรวจของประชาชน

โดยที่ผ่านมาพบว่าปัญหาจริงๆ ของตำรวจนั้น อยู่ที่ “คน” ที่เป็นตัวสร้างปัญหาไม่ใช่ตัวองค์กรตำรวจที่มีปัญหา เมื่อคนมีปัญหาก็ต้องแก้ไขเน้นไปที่ 6 ประเด็นใหญ่

ประเด็นแรก ต้องปฏิรูปที่มาของ ผบ.ตร. (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)

พลตำรวจตรี วิชัย กล่าวว่า ที่มาของ ผบ.ตร.นั้น เป็นประเด็นที่มีปัญหาที่สุด เพราะการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ทุกวันนี้ อยู่ในมือนักการเมืองเต็มๆ กล่าวคือ การแต่งตั้ง ผบ.ตร.จะมีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน แม้ว่าคณะกรรมการ กตช.จะเป็นผู้กลั่นกรองว่าใครควรจะได้เป็น ผบ.ตร.แต่ท้ายที่สุดคนเสนอชื่อผบ.ตร.ก็คือนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น ผบ.ตร.จึงมักเป็นคนของฝ่ายการเมือง!

“ปกติคนจะขึ้นเป็น ผบ.ตร.ก็จะมีรองอันดับ 1 รองอับดับ 2 รองอันดับ 3 รองอันดับต่างๆ ถ้าฝ่ายการเมืองเลือกรองอันดับ 1 ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ก็ต้องบอกว่า ผบ.ตร.คนนี้ก็จะเป็นผบ.ตร.ที่มีศักดิ์ศรีของตัวเอง คือได้ขึ้นตามลำดับขั้นตามปกติที่ควรจะเป็น แต่ที่ผ่านมามันไม่ใช่ ฝ่ายการเมืองจะเลือกรองอันดับท้ายๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างบุญคุณ พอรองอันดับท้ายๆ ได้ขึ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.ก็ต้องทำงานตอบแทนนักการเมืองอย่างเต็มที่”

ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้สำเร็จ ต้องแก้จุดนี้เป็นอันดับแรก

“สำคัญที่ว่า คนที่จะมาเป็นรัฐบาลถัดไป จะยอมแก้หรือเปล่า เพราะมันต้องกล้าที่จะเปลี่ยน กล้าตัดสินใจ กล้าปฏิรูป เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่อยากเปลี่ยน เพราะนักการเมืองทุกคนก็อยากได้ตำรวจไว้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ถ้าวันนี้มีความตั้งใจ และมีความกล้าจริงๆ ก็เชื่อว่าจะปฏิรูปตำรวจได้ผล แต่ต้องเริ่มจากการแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จก่อน”

ทั้งนี้ พลตำรวจตรี วิชัย มองว่า ผบ.ตร.ถ้าจะให้ดีนั้น ควรมีที่มาเหมือนกับองค์กรศาล หรือองค์กรอิสระ เพื่อให้ตำรวจสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างแท้จริง

“ตำรวจถ้านายกฯ ไม่ได้เลือกมา ก็จับนายกฯ ได้ เอาผิดฝ่ายการเมืองได้ ตรงนี้คือศักดิ์ศรีของตำรวจ คือหน้าที่ที่แท้จริง คือต้องสามารถจัดการกับคนที่ผิดกฎหมายได้ไม่ว่าใคร”

ต่อจากนั้นจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างตำรวจบางโครงสร้างใหม่

ประเด็นนี้สอดคล้องกับแหล่งข่าววงในวงการตำรวจ ที่เปิดเผยว่า ถ้าจะแก้โครงสร้างตำรวจต้องแก้ที่หัวขบวน คือตำแหน่ง ผบ.ตร.เพราะเมื่อนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ นั่นก็ทำให้องค์กรตำรวจพัง!

“การโยกย้ายตำรวจ ปัจจุบันนี้ ผบ.ตร.ไม่ได้มีอำนาจแต่งตั้งเลย อย่าง 100 คน แต่งตั้งได้จริงๆ แค่ 10-20 คน ที่เหลือนักการเมืองสั่งมาทั้งหมด จะเอาใคร แล้ว ผบ.ตร.ก็ไปบีบตำรวจชั้นผู้น้อยให้ทำรายชื่อ ทำเป็นเสนอขึ้นมาจากด้านล่าง แต่ที่จริงกำหนดมาหมดแล้วจากนักการเมือง บีบให้ตำรวจระดับล่างเสนอชื่อขึ้นมาเพื่อไม่ให้น่าเกลียดเท่านั้น ผบ.ตร.ทุกวันนี้กระจอกมาก ทุกคนทำอะไรข้ามหัวไปหมด เพราะก้าวไปถึงฝ่ายการเมืองได้ง่าย”

พูดให้ชัดๆ ก็คือ วันนี้ฝ่ายการเมืองสั่งให้คนนอกเข้ามาปะปนกับตำรวจปราบจลาจล ผบ.ตร.ก็ยังไม่รู้เรื่อง ผบ.สถานการณ์ก็ไม่รู้เรื่อง นักการเมืองสั่งมาก็ต้องยอม!

ตรงนี้คือปัญหาที่ชัดว่าองค์กรตำรวจวันนี้อ่อนแอเพียงไร

“ในอดีตใครจะขึ้นตำแหน่งจะมีการดูแลผู้ใหญ่ หรือ ผู้บังคับบัญชาตำรวจเป็นหลัก แต่พอมาถึงยุคสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ วัฒนธรรมนี้เริ่มเปลี่ยน คือมีตำรวจที่วิ่งเข้าหานักการเมืองให้ช่วยเหลือเพราะสนิทกัน และมาหนักเอายุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ คือวัฒนธรรมการวิ่งเข้าหานักการเมืองของตำรวจชั้นผู้น้อยเพื่อให้ได้ตำแหน่งดีๆ เกิดขึ้นอย่างหนักในสมัยนี้ และมีการซื้อขายตำแหน่งที่ตำรวจชั้นผู้น้อยจะต้อง “จ่าย” ให้นักการเมืองในราคาสูงมาก” แหล่งข่าวในวงการตำรวจระบุ

อีกทั้งในยุคที่ระบอบทักษิณเข้ามามีอำนาจใน สตช.ได้นั้น การซื้อขายตำแหน่งของตำรวจกลายเป็นธุรกิจ และที่สำคัญการเมืองเข้ามาแทรกใน สตช.ถึงขนาดที่การจัดซื้อจัดจ้างของทุกหน่วยงาน การเมืองจะเข้ามาบอกว่าจะซื้ออะไร ผลประโยชน์ในการซื้อขายก็เป็นของนักการเมือง เงินก็ไม่ได้เข้า สตช.ดังนั้นเห็นได้ชัดว่าตำรวจต้องหาเงินมาซื้อตำแหน่ง และเท่านั้นไม่พอยังต้องตอบแทนนักการเมืองด้วย

แต่เงินซื้อตำแหน่งราคาสูงพวกนั้นมาจากไหน?

“ตำรวจชั้นผู้น้อยเลยต้องรับสนับสนุนจากบ่อนการพนัน บาร์ หรือสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ เพราะต้องมีเงินไปซื้อตำแหน่ง และต้องมีเงินส่งให้เจ้านายในโรงพักเป็นขั้นๆ ไปด้วย”

ในส่วนของคดีอะไรที่เป็นคดีอาญา เช่นขับรถชนคนตาย ผู้เสียหายต้องใช้เงิน 1 แสน แต่พนักงานสอบสวนจะบอกว่าต้องใช้ 2 แสนบาท เพื่อทำคดีให้มีการสั่งไม่ฟ้อง

หากินกันอย่างนี้จนเป็นเรื่องปกติ!

ดังนั้นการจะผ่าตัดโครงสร้างตำรวจที่วัฒนธรรมผลประโยชน์หนาแน่นขนาดนี้ ก็คือต้องแก้ที่หัว คือต้องหาคนดี คนดีที่กล้าจะมาผ่าตัดจริงๆ เสียก่อน เพื่อตัดช่องที่จะให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรตำรวจอย่างเบ็ดเสร็จเช่นทุกวันนี้ ต่อจากนั้นจะแก้ไขอะไรก็ควรทำอย่างจริงจัง

 
ตำรวจขึ้นตรงผู้ว่าฯหัวเมืองใหญ่-ตั้งอธิบดีภาค

ส่วนประเด็นที่สอง ในการปฏิรูปตำรวจนั้น พลตำรวจตรีวิชัยบอกว่า ควรเริ่มปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ตามข้อเสนอของ กปปส.ตอนนี้ที่หลายฝ่ายเสนอว่าให้ตำรวจขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดไปเลยนั้น ส่วนตัวยังเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ควรให้ตำรวจไปอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ หรือจังหวัดที่มีการจัดการตนเองได้

ทั้งนี้เพราะจังหวัดเหล่านี้มีศักยภาพที่จะดูแลตำรวจได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ กทม.ที่มีศักยภาพในการดูแลตำรวจได้ดีทั้งเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ โดยที่ผ่านมา มีการให้ตำรวจโอนย้ายมาอยู่กับหน่วยดับเพลิงของ กทม. แต่ตำรวจไม่อยากมา แต่ตอนนี้ปรากฏว่าคนที่ย้ายมาอยู่หน่วยดับเพลิงไม่อยากกลับเข้าไปทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว

“อันนี้ตอบโจทย์ว่าต้องแก้ปัญหาตำรวจชั้นประทวน กับสัญญาบัตรหรือไม่อย่างไร ก็ตอบตรงๆ ว่านายตำรวจชั้นประทวนเขาไม่ได้ต้องการเป็นสัญญาบัตรก็มี แต่เขาต้องการการดูแลที่ดี คนที่ย้ายมาอยู่กับดับเพลิง กทม.ปรากฏว่าได้เงินเดือนดี สวัสดิการดี คนที่ย้ายมาก็ไม่อยากย้ายกลับ”

ตรงนี้คือตัวอย่างที่ชัด ว่าการโอนอำนาจบางส่วนของตำรวจไปให้เขตพื้นที่ใหญ่ๆ มีข้อดียังไง ที่สำคัญตำรวจที่อยู่กับเขตพื้นที่นั้นๆ ก็จะต้องทำงานให้สอดรับกับนโยบายการหาเสียงของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกเทศมนตรีเมืองนั้นๆ ด้วย

“ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หาเสียงว่าจะไม่ให้มีการพนันในพื้นที่ กทม.อีก เมื่อนโยบายออกมาอย่างนี้ แล้วโดนใจประชาชน ประชาชนก็เลือกผู้ว่าฯ คนนี้มาทำงาน เมื่อมาทำงานแล้ว มีอำนาจในการดูแลตำรวจได้เอง ทั้งการออกระเบียบ การตั้งงบประมาณ นโยบายก็ส่งตรงลงไปชัดเจน เช่นว่าไม่เอาการพนัน ดังนั้นเชื่อว่าปัญหาการเก็บส่วยการพนันก็จะลดลงไปด้วย”

ประเด็นที่สาม การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจควรจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กล่าวคือมีอธิบดีประจำภาค เพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ มีการตั้งงบประมาณได้ ไม่ต้องโยกย้ายตำรวจกันง่ายๆ ส่วนอธิบดีส่วนกลางให้ดูแลหน่วย 191, กองปราบปราม, ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจป่าไม้, ตำรวจน้ำ, ตำรวจเศรษฐกิจ ฯลฯ

ทำอย่างนี้ได้ รัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะเข้าแทรกแซงตำรวจได้!
และตำรวจจะกลับมาที่ปรัชญาเดิม คือตำรวจต้องอยู่กับประชาชน ต้องดูแลประชาชน นี่คือหลักใหญ่ของการทำงานของตำรวจที่หลงลืมกันไป

เงินเดือนตำรวจต้องเท่า DSI
 
ประเด็นที่ 4 คือการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนให้ตำรวจ

“พลตำรวจทุกวันนี้ได้เงินเดือน 9 พันกว่าบาท แต่ต้องไปซื้อปืนเอง ซื้อกุญแจมือเอง เงินก็ไม่พอใช้ ดูอย่างญี่ปุ่น เขาให้เงินเดือนครู และตำรวจสูงมาก และเงินเดือนที่สูง ถ้าตำรวจทำผิดก็จะมีการลงโทษที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่า ต้องรับผิด 3 เท่า”

เงินเดือนสูง ลงโทษหนัก!ให้มันรู้ไป ตำรวจจะดีไม่ได้

“ดีเอสไอเงินเดือนสูงได้ ต้องให้ตำรวจเงินเดือนสูงด้วย แล้วปรับเป็นบทลงโทษที่หนักขึ้นถ้าตำรวจทำผิด”

ประเด็นที่ 5 การรับตำรวจจะต้องเปลี่ยน จากเดิมที่รับตำรวจจบระดับ ม.3 หรือ ปวส. ถือว่าอายุยังน้อย ยังเป็นวัยรุ่น วุฒิภาวะยังน้อย เมื่อต้องมาถือกฎหมายก็เลยมีปัญหาในการใช้กฎหมายในมือในทางที่ผิด

ดังนั้นต่อไปการรับตำรวจ ควรรับคนอายุ 25 ปีขึ้นไป และควรแยกรับคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไป เพราะจะได้ตำรวจที่มีความรู้ และมีวุฒิภาวะ

“วุฒิภาวะมันจำเป็นนะ จำเป็นเพราะตำรวจคือคนที่ต้องถือปืน ต้องถืออาวุธ ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญ”

 
ไม่ยุบ ร.ร.นายร้อย แค่ปรับบทบาทฝึกหน่วยรบ

พลตำรวจตรี วิชัย ยอมรับว่า แนวความคิดนี้คือที่มาของการเสนอ “ยุบ” โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่กลายเป็นว่าคนเข้าใจผิดว่าจะยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจทิ้งเลย แต่จริงๆ ไม่ใช่ การยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ว่า คือเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้เป็นสถาบันเฉพาะทาง

กล่าวคือ ที่ผ่านมาคนที่จะมาเป็นตำรวจก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกคน แต่ต่อไปไม่ต้อง ตำรวจควรแยกการรับคนออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เน้นไปที่คนจบปริญญาตรี โดยเฉพาะคนจบสาขานิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ คนที่ทำงานสายตรวจก็พยายามเอาคนที่จบรัฐศาสตร์ไปทำ เพราะหน้าที่สำคัญคือการดูแลประชาชน ส่วนคนที่จบสาขานิติศาสตร์ก็ให้มาดูแลด้านกฎหมาย คืองานสืบสวน สอบสวน

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้น ควรรับคนมาฝึกเป็นหน่วยกองกำลังพิเศษ ฝึกเป็นหน่วยที่เชี่ยวชาญการรบพิเศษ เพื่อไปทำงานในตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือหน่วยปราบจลาจล

คือไม่ได้ยุบโรงเรียนนายร้อยจริงๆ เพียงแต่ปรับบทบาทแบบเฉพาะทางขึ้นมา

“หน่วยปราบจลาจลสำคัญ จริงๆ หลักการควบคุมฝูงชนจะมี 4 ประการสำคัญ คือ ดูแลความมั่นคง ตำรวจจะต้องคอยสืบว่าใครคิดล้มรัฐบาล ใครทำลายองค์กรอิสระ ฯลฯ แล้วหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ, ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม เพราะผู้ชุมนุมก็คือประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับตำรวจ, ดูแลอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และดูแลบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เอากฎหมายมาทำเกินหน้าที่ ตรงนี้ต้องชัด”

ต้องชัดว่าหน้าที่ของตำรวจคือต้องดูแลประชาชน!

“หลักการตรงนี้สำคัญ จะทำให้ผู้ชุมนุมไม่เกลียดตำรวจ และตำรวจก็เป็นคนของประชาชน ไม่ใช่คนของนักการเมือง”

ปฏิรูปจริยธรรม!

สำหรับประเด็นที่ 6 นั้น เป็นแนวคิดของนายตำรวจน้ำดีหลายคน ที่มองว่าการจะปฏิรูปโครงสร้างตำรวจนั้น ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปจริยธรรมของตำรวจ

โดยการปฏิรูปจริยธรรมของตำรวจนั้นจะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เริ่มต้นคือโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และไม่ควรยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ควรปรับเงื่อนไขการรับนักเรียนเป็นนักเรียนต้องจบระดับปริญญาตรี และทำการปลูกฝังจริยธรรมตำรวจให้มากในช่วงนี้

แต่ปัญหาที่ท้าทายอยู่ตรงที่ว่า ที่ผ่านมาก็มีการปลูกฝังจริยธรรมตำรวจตั้งแต่เริ่มต้นอย่างนี้ แต่พอมาเข้าระบบโรงพัก ก็กลายเป็นถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์

หรือระบบเลี้ยงนาย!

ใครดูแลนายดี คนนั้นได้ดี เข้าถึงหลังบ้านนาย จัดกับข้าวไว้ให้นายตอนเช้า ต้องดูแลกันอย่างนี้ถึงได้ดี

“วัฒนธรรมองค์กรแก้ยาก จะต้องอาศัยผู้บังคับบัญชาที่ดีจริงๆ ถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ ทุกวันนี้ตำรวจระดับผู้การจังหวัด ภูธร ก็เป็นคนของนักการเมืองหมด ตรงนี้แก้ยากจริงๆ”

แนวคิดการกระจายอำนาจตำรวจไปสู่ท้องถิ่น จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะหากแต่ละจังหวัดดูแลตำรวจได้เอง การโยกย้ายก็น้อยลง เมื่อการโยกย้ายน้อยลง ตำรวจต้องอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องทำงานให้ประชาชนรัก เพราะจะได้ไม่ถูกร้องเรียน เอาประชาชนเป็นหลัก อย่างนี้ตำรวจก็จะเป็นเหมือน ส.ส. คือต้องดูแลประชาชนอย่างแท้จริง

ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ตำรวจคิดว่าประชาชนเป็นศัตรู!

ทั้งที่ประชาชนไม่ใช่ศัตรูของตำรวจ และตำรวจควรยืนเคียงข้างประชาชนถึงจะถูกต้อง

กำลังโหลดความคิดเห็น