xs
xsm
sm
md
lg

อดีตทีมขุนพลศก. ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ หวั่นชาติพัง! อัดยับ ‘ปู’ ดื้อตาใสรู้ว่าพลาดแต่ไม่แก้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตขุนพลเศรษฐกิจข้างกาย ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ทั้ง ‘สมคิด-ทนง-ดร.โกร่ง-ธีระชัย-ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-สมพล’ พร้อมภาคเอกชน ดาหน้าอัดแนวทางบริหารประเทศของรัฐบาล ‘ปูแดง’ ผิดพลาด พาประเทศลงเหว โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมบริหารกันจนเละ โรคคอร์รัปชันระบาด แถมดื้อตาใส รู้ว่าพลาดแต่ไม่ยอมแก้ไขทั้งด้านเกษตร-อุตสาหกรรม ทุกปัญหาสะท้อนทีมเศรษฐกิจยุคนี้ไร้ฝีมือ มีหน้าที่แค่ตรายางพรรคเพื่อไทย ไม่สนเศรษฐกิจชาติวิบัติ เตือนประชาชนรับมือวิกฤตเศรษฐกิจด่วน!

อาการถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งวิกฤตจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา หรือเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่รอการฟื้นตัว รวมไปถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายด้านจะออกมาเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อหาทางรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อันเนื่องจากนโยบายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการจะทำนั้นสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจ แต่เสียงเตือนเหล่านั้นกลับถูกเมินเฉยอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะเสียงเตือนของมือดีด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีทั้งทีมเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และยังมีทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 และ 2 ซึ่งคนเหล่านั้นได้พยายามสะท้อนปัญหาและคาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอยซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อีกทั้งเป็นการชี้ให้เห็นการบริหารของทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบันกำลังดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี คีย์แมนเศรษฐกิจเหล่านี้มีทั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลทักษิณ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในรัฐบาลทักษิณ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกมานั่งแทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในรัฐบาลทักษิณ

นอกจากนี้ยังมี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นต้น

ดังนั้น วันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากจะใช้แนวทางแก้ปัญหาด้านการเมืองแบบสุดซอยแล้ว ยังสร้างปมปัญหาทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่ที่บรรดาอดีตขุนพลทีมเศรษฐกิจของสองพี่น้องชินวัตรเองยังสุดทน ต้องออกมาป่าวประกาศให้สังคมรับรู้

สมคิดฉะยิ่งลักษณ์บริหารพลาด 3 เด้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวในงานสัมมนาทางเศรษฐกิจในหัวข้อ “จับชีพจรประเทศไทย” เมื่อ 17 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านพ้นไปว่า เท่าที่เห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ รู้สึกเป็นห่วงและอยากส่งสัญญาณเตือนภัยตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะปัญหาที่สะสมมานานและไร้การแก้ไขอย่างจริงจังเริ่มออกอาการ ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าจะฉุดรั้งให้ประเทศก้าวเข้าสู่ความถดถอยหากไม่มีการแก้ไข จะกลายเป็นอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ที่เศรษฐกิจถดถอยและมีความล้มเหลวในทุกมิติ จากบาป 3 ประการ

ประการแรก คือ การบริหารประเทศที่ผิดพลาด

ประการที่สอง คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง

และประการที่สาม คือ เมื่อรู้ว่าประเทศก้าวเข้าสู่ความถดถอยแต่ขาดการปฏิรูปแก้ไข ทำให้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ระบบเศรษฐกิจล้มเหลว ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

ส่วนประเทศไทยจะเป็นแบบเดียวกับฟิลิปปินส์หรือไม่นั้น อาจให้คำตอบไม่ได้ แต่เริ่มเห็นอาการทรุดของเศรษฐกิจพร้อมๆ กันของ 4 เสาหลัก คือ ภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ ภาคการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาล ในระยะสั้นนั้น ไม่เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ แต่หากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นขึ้นได้เช่นกัน แต่เป็นการเติบโตที่เปราะบาง
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
‘ทนง’ สอนมวย ‘ปูแดง’ ใช้เงินให้เกิดประโยชน์

นายทนง พิทยะ กล่าวในงานสัมมนาทางเศรษฐกิจในหัวข้อ “จับชีพจรประเทศไทย” เมื่อ 17 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านพ้นไปเช่นเดียวกัน โดยบอกว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในภาวะซึมตัวและเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สาเหตุมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยในส่วนของปัจจัยภายในนั้น ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจประเทศขาดศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตในระยะยาว ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบประเทศไทยก็ไม่ต่างจากคนที่เป็นเบาหวาน

“รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐอาจจะมองผิดแนวทาง ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัจจุบันเราไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน ทุกคนมีงานทำ แถมยังต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ทั้งดอกเบี้ยก็ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เงินเฟ้อก็ไม่ได้สูง แต่เศรษฐกิจกลับโตน้อย จึงต้องถามว่านโยบายที่ทำมาถูกต้องหรือไม่”

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่มีคนพูดตัวเลขผลขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาทนั้น หากเงินจำนวนนี้ถูกเปลี่ยนเป็นการชำระดอกเบี้ย เท่ากับว่ารัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้ถึง 2 ล้านล้านบาท และถ้าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตร จะสามารถแจกจ่ายให้กับประชากรในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เช่น การซื้อเครื่องจักรซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต ทั้งยังลดประชากรในภาคเกษตรลง และหันไปสู่ภาคอื่นๆ เช่น ภาคบริการและอุตสาหกรรมเพิ่ม
ดร.ทนง พิทยะ
‘ธีระชัย’ ฉะ 7 ปัญหา ‘ยิ่งลักษณ์’ ทำศก.ชาติเสียหาย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณขายกิจการชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์ และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 18 มกราคม 2556 กลายเป็นอีกหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ผ่านทั้ง facebook และสื่อต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินของรัฐบาล ทั้งส่วนที่กระทบต่อธนาคารแห่งประเทศไทยและแนวทางการบริหารของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขุนคลังยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ชี้ชัดสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะถดถอยว่าเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยในประเทศมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลผลักดันนโยบายประชานิยม

ปัจจัยที่หนึ่ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมกระทบต้นทุนและราคาขายของผู้ส่งออก ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะกว่าผู้ส่งออกจะปรับตัว กว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเพิ่มมูลค่าสินค้า ก็ต้องใช้เวลา

ปัจจัยที่สอง โครงการจำนำข้าว รัฐบาลไม่ได้เร่งขายข้าวออกไป การกักเก็บเอาไว้ในสต๊อก ไม่ได้ช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออก ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกระยะหนึ่งเช่นกัน เพราะเท่าที่ดูแนวโน้มการประมูลขาย จะใช้เวลาอีกนาน

ปัจจัยที่สาม โครงการรถคันแรก ทำให้ผู้ที่ผ่อนซื้อ มีภาระต้องจ่ายค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย และค่าดอกเบี้ยรวมทั้งเงินต้น ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกหลายปี ภาระเหล่านี้จะกดดันกำลังซื้อสินค้าด้านอื่นๆ ตามมา

ปัจจัยที่สี่ หนี้ครัวเรือน เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบกระตุ้น ก็ควรจะปล่อยให้แบงก์ชาติเขาดำเนินนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง เพื่อถ่วงดุล แต่รัฐมนตรีคลังกลับพยายามกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยต่ำ และการที่ดอกเบี้ยต่ำนี้เอง ทำให้ประชาชนกู้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกหลายปี ซึ่ง กระทบกำลังซื้อ

ปัจจัยที่ห้า การลงทุนภาคเอกชนไม่ขยายตัวมากอย่างที่หวัง นักธุรกิจส่งออก ที่มีภาระค่าแรงสูงขึ้น แต่สภาวะตลาดไม่สดใส คงยังไม่คิดขยายการลงทุน โรงงานที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ ที่มีภาระค่าแรงสูงขึ้น ก็พบว่าพ่อค้าสามารถนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาแข่งขันตีตลาดได้มากขึ้น ก็คงยังไม่คิดขยายการลงทุน

ปัจจัยที่หก ฟองสบู่ที่เกิดจากเงินทุนไหลเข้า ปัจจัยนี้เห็นว่าเป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุด ก็คือการที่กระทรวงการคลังปล่อยให้มีเงินทุนไหลเข้ามามากจนเกินไป โดยไม่มีมาตรการควบคุม และกว่าจะยอมเตรียมการควบคุมเรื่องนี้ เงินก็กลับเป็นภาวะไหลกลับออกไปเสียแล้ว เงินทุนไหลเข้า ทำให้ตลาดหุ้นบูม กดดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดพันธบัตรให้ต่ำ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมซ้ำซ้อน คนที่กำไรหุ้น ก็เก็งกำไรคอนโดกันซ้ำซ้อน ช่วงที่เงินทุนไหลเข้า อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด ทำให้ภาพลักษณ์ของกระทรวงการคลังดูดีไปด้วย จนกระทั่งเริ่มก่อปัญหา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นๆ ยิ่งกระทบส่งออก แทนที่กระทรวงการคลังจะใช้อำนาจออกมาตรการเพื่อชะลอเงินไหลเข้า กลับคิดในทาง “คุณ น่ะ ทำ” (ไม่ใช่คุณธรรม) คือพยายามพูดให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย โดยเข้าใจว่าดอกเบี้ยระยะสั้น เป็นตัวการที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า

แต่ก็สายไปเสียแล้ว เงินทุนได้กลับเข้าสู่โหมดไหลออกเสียแล้ว ทิ้งไว้เพียงสภาพตลาดหุ้นที่แฟบลง ตลาดพันธบัตรที่ดอกเบี้ยระยะยาวกลับสูงขึ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าสภาวะฟองสบู่ มาบัดนี้แบงก์ก็เริ่มไหวตัวและระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ

ปัจจัยที่เจ็ด คือพันธนาการต่อโครงการพื้นฐาน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การใช้เงินของรัฐบาลนั้น นอกเหนือจากสวัสดิการรัฐซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าๆ กันแต่ละปีแล้ว หากจะมีการใช้เงินพิเศษเป็นก้อนๆ มักจะเน้น 2 อย่าง คือการพัฒนาความเก่งของประชากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงไม่ค่อยจะขัดข้องต่อโครงการลงทุนพื้นฐานของรัฐบาล แต่ยังมีข้อท้วงติงว่าต้องเป็นโครงการที่คุ้มค่า ซึ่งการลงทุนแบบนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทางหนึ่ง

สุดท้ายถามว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร หากฟังแต่รัฐมนตรีคลัง ก็เกรงว่าประชาชนจะวางแผนเตรียมตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น อย่างไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ
ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล
‘หม่อมอุ๋ย’ ซัดจำนำข้าว-รัฐบาลห่วยแตก

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเลือกเข้ามาทำหน้าที่แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่จับตาเรื่องโครงการรับจำนำข้าวมาตลอด ล่าสุดออกมาเปิดเผยตัวเลขขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวว่า การรับจำนำข้าว 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ขาดทุนไปแล้วอย่างน้อย 425,000 ล้านบาท จากการรับจำนำข้าวทั้งหมด 48,870,000 ล้านตัน และหากคิดอย่างละเอียดจะขาดทุนกว่า 470,000 ล้านบาท

วันนี้จะปล่อยให้รัฐบาลแก้ปัญหาเองไม่ได้ เท่าที่เห็นคุณภาพของคนในรัฐบาลนี้ ถ้าแก้ปัญหาเองประเทศจะเสียหายมาก และไม่อยากให้การแก้ปัญหาพยายามปัดผิดให้พ้นตัว แล้วบอกว่าตัวเองไม่ผิด เนื่องจากจะส่งผลเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม

“เมื่อเริ่มโครงการนี้ในเดือนตุลาคม 2554 ท่านนายกฯ คงมองไม่เห็นว่าจะเกิดผลสูญเสียต่องบประมาณของชาติมากมายขนาดนี้ เพียง 2 ปีสูญเสียไปแล้วไม่น้อยกว่า 425,000 ล้านบาท ส่วนชาวนาได้รับผลประโยชน์ไปไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่กลับมีผู้อื่นที่มิใช่ชาวนาใช้ช่องโหว่ทำการคอร์รัปชันหาประโยชน์เข้าตนเองไปมากกว่า 110,000 ล้านบาทในเวลา 2 ปี”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
‘ดร.โกร่ง’ เตือน ‘ปูแดง’ ไม่ฟังจำนำข้าวทำรัฐบาลหายนะ

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงปัญหาความวุ่นวายโครงการจำนำข้าวที่กำลังบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยยอมรับว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าวมาตั้งแต่แรกเริ่มโครงการแล้ว ซึ่งเคยเขียนบทความเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นการเตือนว่าโครงการดังกล่าวอันตรายที่สุด และได้ถ่ายเอกสารให้นายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอแนะไปว่าไม่ควรทำ

พร้อมกันนั้นยังตอกย้ำไว้ว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะพังก็คงเป็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพราะแค่ชื่อโครงการจำนำก็ผิดแล้ว ซึ่งราคาจำนำต้องต่ำกว่าราคาจริง แต่การให้ราคาจำนำสูงกว่า คงไม่มีใครมาไถ่ถอน ข้าวที่มาจำนำก็มีทั้งของจริง และสต๊อกลม ไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ ซึ่งถ้ารัฐยังขายข้าวไม่ได้ ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก เรื่องนี้ก็ได้บอกให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้ว

“ถ้ารัฐบาลจะพังก็พังเพราะเรื่องนี้แหละ เพราะมันเป็นโครงการที่ควบคุมคอร์รัปชันไม่ได้ ให้แน่มาจากไหนก็ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าจะถอยก็ต้องยกเลิกไปเลย”
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
‘ณรงค์ชัย’ ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สุขภาพของประเทศไทยในเวลานี้ แม้ไม่เป็นโรคร้าย ก็ไม่ได้แข็งแรง สาเหตุเพราะเศรษฐกิจมีความอ่อนไหวง่าย เนื่องจากมีการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมากเกินไป สะท้อนผ่านระบบการค้าขายที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤตจึงได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกันประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ รวมทั้งโครงสร้างประชากรเริ่มมีความไม่สมดุล โดยประชากรวัยทำงานลดน้อยลง

สำหรับอาการที่น่าเป็นห่วงของประเทศ คือ เรื่องภาระหนี้ ซึ่งเกรงว่าอนาคตไทยอาจติดกับดักหนี้ได้ ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ โดยหนี้ครัวเรือนนั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนใกล้ 80% ของจีดีพี สาเหตุเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายของสังคมเปลี่ยนไป เริ่มใช้จ่ายเกินตัวมากขึ้น ขณะที่ความสามารถการหารายได้มีจำกัด
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
‘สมพล’ ตอกโรคคอร์รัปชัน

นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลทักษิณ และอดีตประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้กำลังเป็นโรคทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเวลานี้กำลังเป็นที่พูดถึงกันมาก ขณะที่ภาครัฐเองก็มีข้อบกพร่องในเชิงของการบริหารงานเป็นอย่างมากด้วย ซึ่งต้องบอกว่าสังคมไทยนั้น เงิน คือ อำนาจ และคนในสังคมก็มักบูชาคนที่มีเงินและมีอำนาจโดยไม่สนใจว่าผู้คนเหล่านั้นได้เงินหรืออำนาจมายังไง

การบริหารงานของภาครัฐที่น่าจะมีข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคลากรภาครัฐ ซึ่งในที่นี้หมายถึงเรื่องการเมืองและระบบข้าราชการทั้งหมด โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่า ความไม่ชัดเจนเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับบุคคลที่เป็นข้าราชการที่ไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญของประเทศ ทั้งที่ตำแหน่งนั้นควรเป็นตำแหน่งของผู้ที่มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งจะเห็นว่าคนที่เป็นมืออาชีพและอยู่ในตำแหน่งที่ควรได้ในปัจจุบันมีน้อยมาก

“การใช้จ่ายของภาครัฐก็เช่นกัน จะเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ที่รุนแรงกว่าคือ ประสิทธิภาพของการใช้จ่าย เพราะเราใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยเป็นอย่างมาก และที่จ่ายไปก็มีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันภาครัฐแม้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่มาก แต่การปฏิบัติจริงมักสวนทางกับที่กำหนดไว้”
สมพล เกียรติไพบูลย์
เอกชนตอกบริหารพลาดซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท V-SERVE GROUP และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ถดถอยเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ โดยเศรษฐกิจโลกทำให้ผู้ซื้อของเราลดลง เห็นได้จากตัวเลขส่งออกเดือนกันยายนติดลบ 7% ขณะที่ในประเทศไทยขีดความสามารถในการแข่งขันของเรากำลังมีปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการประชานิยมค่าแรง 300 บาท ทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น และกระทบไปยังต้นทุนสินค้าภาคเกษตร

อย่างเกษตรกรที่ปลูกยางพาราต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากผู้ที่รับจ้างกรีดยางกำหนดส่วนแบ่งไว้ที่ 40-60% แน่นอนว่าค่าแรงของกลุ่มเกษตรจะสูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม เพราะคนที่เลือกทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องตากแดดร้อนเหมือนกับกลุ่มที่รับจ้างในภาคเกษตร ทำให้ค่าแรงในส่วนของภาคเกษตรสูงกว่าภาคอุตสาหกรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง หรือคนที่เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมถูกตัดค่าล่วงเวลา ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงทำให้การบริโภคในประเทศหดตัวลง และยังมีโครงการรถคันแรกเป็นตัวฉุดกำลังซื้ออีกทางหนึ่ง

หากเปรียบเทียบทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลทักษิณนั้น รองประธานสภาอุตสาหกรรมกล่าวว่า สถานการณ์ไม่เหมือนกัน ยุคนายกฯ ทักษิณ เศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น และประเทศเพื่อนบ้านของเรายังไม่แข็งแรง แต่ตอนนี้เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ลูกค้าล้ม ตลาดหาย คู่แข่งมีมากขึ้น เวียดนามก็ผลิตสินค้าได้ไม่แพ้ไทย หรือพม่าก็เริ่มเปิดประเทศ รวมถึงอินเดียก็กลับมาส่งออกข้าวได้อีกครั้ง

จริงๆ แล้วทีมเศรษฐกิจนั้นอยู่ที่ภาคเอกชน เพราะเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลออกนโยบายมาแล้วเพิ่มต้นทุนให้เอกชน หากดำเนินการในช่วงที่เศรษฐกิจขาขึ้นคงไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ต้นทุนถูกผลักมาที่เอกชนและคู่แข่งขันในปัจจุบันก็มีมากขึ้น อีกทั้งนโยบายของรัฐที่ออกมาส่วนใหญ่อยู่ในรูปการเมืองและเป็นมาตรการเชิงรุกหลังจากเกิดเหตุน้ำท่วม เพื่อหวังเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ แต่ออกมาในจังหวะที่ไม่ดี ทำให้เอกชนเดินตามไม่ทัน และถูกซ้ำเติมด้วยเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา

มาตรการบางอย่างที่รัฐบาลออกมาอย่างเช่นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง แม้จะดูเป็นเรื่องที่ดี ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้เกิดผลในด้านบวกมากนัก เพราะหลายบริษัทยังประสบปัญหาขาดทุนจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากส่วนนี้
ดร.ธนิต โสรัตน์
ทีมเศรษฐกิจยุคนี้เลือกพรรคก่อนชาติ

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารของภาคเอกชน ประเมินสาเหตุที่อดีตขุนพลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นเพราะคนเหล่านี้ทนไม่ไหวกับการบริหารประเทศแบบนี้

“พวกเขาก็เหมือนโจรกลับใจ ต้องเลือกว่ากลัวนายเก่าจะโกรธหรือกลัวชาติจะล่มจม ที่ทนเห็นประเทศไทยกำลังแย่ลงทุกขณะในเวลานี้ เราไม่ได้เชียร์ใคร ว่าใครดีกว่าใคร แต่ถ้าใครที่ทำให้เศรษฐกิจของชาติย่ำแย่ลง ก็เป็นสิทธิที่จะต้องท้วงติง เพราะทางข้างหน้ารัฐบาลนี้กำลังนำพาเอาเศรษฐกิจของชาติลงเหวในอีกไม่ช้า”

นาทีนี้คงไม่ใช่เรื่องใครจะมาแย่งหน้าที่ใคร เพราะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันนี้อย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือที่ปรึกษาอย่างนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ สถานการณ์ในเวลานี้ต้องบอกว่าฝีมือยังไม่ถึง เมื่อเปรียบเทียบกับขุนพลเศรษฐกิจยุคทักษิณ ครั้งนั้นนโยบายแต่ละอย่างจะมีการวางเป็นยุทธศาสตร์ออกมา ในนโยบายหนึ่งจะใช้หลายหน่วยงานหรือหลายกระทรวงเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน มีรูปแบบในทางปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ทำให้หลายนโยบายเป็นที่ตอบรับของภาคประชาชน

ในรัฐบาลนี้ทีมเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยยังพอมีอยู่ มีตัวเลือกเหลือเพียงนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งสองอยู่ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กจากสิงคโปร์

ช่วงแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. ถูกเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ถูกจับให้นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นที่ทราบกันว่าทั้งสองมีทัศนคติที่ไม่ตรงกันมาตั้งแต่สมัยอยู่ตลาดทุน สุดท้ายนายธีระชัยก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป นายกิตติรัตน์ก็เข้ามาทำหน้าที่แทน

นโยบายสำเร็จรูปที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ตั้งแต่แรกถูกผลักดันออกมา ภายใต้สภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวย และยังคงเดินหน้าต่อท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ตัวรัฐมนตรีไม่ต้องคิดนโยบายหรือปรับเปลี่ยนนโยบายให้เข้ากับสถานการณ์ มีหน้าที่เดินหน้าโครงการที่พรรควางไว้เท่านั้น

‘ประชานิยม’ กดเศรษฐกิจเดี้ยง

ดังนั้น การบริหารของรัฐมนตรีเหล่านี้ก็คือการทำตามโจทย์ที่พรรคเขียนไว้ โดยไม่สนใจสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยติดหล่มไปด้วย การประเมินสถานการณ์ผิดจากนโยบายรับจำนำข้าวที่หวังว่าไทยกุมกำลังการผลิตไว้ 1 ใน 3 ของโลก จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น แต่ทุกอย่างผิดคาดเมื่อประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่เคยประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกข้าวได้กลับมาส่งออกได้อีกครั้ง ราคาที่รัฐบาลรับจำนำข้าวตามนโยบายประชานิยมจึงทำให้ 2 ฤดูกาลผลิตที่ผ่านมารัฐบาลขาดทุนจากโครงการนี้ไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ยังคงไม่ยอมรับกับผลขาดทุนดังกล่าว

แม้กระทั่งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่รัฐบาลบังคับใช้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา จึงกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รายไหนที่อยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป ฐานเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาได้รับค่าแรง 300 บาท แต่ต้องเสี่ยงกับภาวการณ์ถูกเลิกจ้าง รวมไปถึงถูกปรับลดสวัสดิการต่างๆ ขณะที่ราคาสินค้าทุกชนิดปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ค่าครองชีพพุ่งขึ้นตามมา หักลบกันระหว่างรายได้ที่เพิ่มขึ้นกับค่าครองชีพ สุดท้ายไม่ต่างอะไรกับการไม่ปรับค่าแรง 300 บาท หรืออาจแย่กว่าเดิม

ตามมาด้วยนโยบายรถคันแรก ที่เป้าหมายถูกกำหนดมาเพื่อเอาใจค่ายรถยนต์ที่ไม่พอใจจากการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และขู่จะย้ายฐานการผลิต รัฐบาลจึงออกนโยบายรถคันแรกออกมา ด้วยการใช้ภาษีสรรพสามิตมาเป็นส่วนลดของราคาจำหน่าย (ไม่เกิน 1 แสนบาท) ประชาชนต่างแห่กันไปจับจองมากกว่า 1 ล้านคัน เงินที่จมไปกับการจองรถและเงินที่ต้องผ่อนชำระค่างวดพร้อมๆ กัน กลายเป็นตัวฉุดให้กำลังซื้อของคนในประเทศหายไปทันที

ขณะนี้เราไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจนกำลังซื้อของคนในประเทศเหล่านั้นหายไป อีกทั้งปัญหาเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศก็มีข้อจำกัดทั้งเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ประเทศคู่แข่งเดิมที่เคยประสบปัญหาก็สามารถกลับขึ้นมาแข่งขันกับไทยได้เหมือนเดิม นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐที่อาจประสบปัญหาเรื่องงบประมาณหรือโครงการต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าหรือผิดแนวทาง

ตรงนี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจของไทย ซึ่งคนไทยทุกคนต้องเตรียมรับมือให้ดี!

กำลังโหลดความคิดเห็น